xs
xsm
sm
md
lg

อันเนื่องใน “เวลาแห่งปีใหม่”

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


.............พุทธทาสภิกขุ

ณ บัดนี้ จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริม ศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะ ความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ผู้เป็นพุทธบริษัท ให้เจริญงอกงามในทางแห่งพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย

ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภเหตุอันเป็นอภิลักขิตสมัย กล่าวคือเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งท่านทั้งหลายก็ทราบกันดีอยู่แล้ว

ธรรมเทศนาในวันนี้จะได้แสดงโดยหัวข้อว่า “อัปปะมัตตา นะ มิยยันติ เย ปะมัตตา ยะถา มะตา” ซึ่งแปลว่า “บุคคลผู้ไม่ประมาทแล้ว ย่อมไม่ตาย บุคคลผู้ประมาทแล้ว ย่อมเป็นเหมือนผู้ตายแล้ว” ดังนี้

โอกาสเช่นวันปีใหม่นี้ เป็นเรื่องเนื่องด้วยเวลา ความสำคัญที่เกี่ยวกับเรานั้น ก็ย่อมเกี่ยวกับความประมาทและความไม่ประมาท เพราะว่าเวลาเป็นสิ่งที่ล่วงไปไม่อยู่ในอำนาจของผู้ใด

บุคคลผู้มีอะไรเกี่ยวข้องกันกับเวลา ก็จำเป็นจะต้องประพฤติกระทำให้ถูกต้องกับเรื่องของเวลา

ธรรมเทศนาเกี่ยวกับความไม่ประมาท จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเวลา หรือว่าถ้ามีเรื่องเกี่ยวกับเวลาแล้ว เราก็จะต้องพูดกันถึงเรื่องความไม่ประมาท จึงจะสามารถเอาชนะสิ่งที่เรียกว่า “เวลา” นั้นได้

การเอาชนะเวลานั้น หมายความว่า ไม่มีปัญหาหรือว่าความทุกข์ยากใดๆ เกิดขึ้นเกี่ยวกับเวลา

อย่างน้อยที่สุดก็เพราะว่า เราได้สามารถทำสิ่งที่ควรจะทำให้สำเร็จลุล่วงไปทันแก่เวลา ไม่มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะเวลา และถ้ามากกว่านั้น หรือมากถึงที่สุดแล้ว ก็หมายความว่า เรามีจิตใจชนิดที่อยู่เหนืออำนาจของเวลา เพราะเหตุว่าเราไม่ต้องการอะไร

สิ่งที่เรียกว่า “เวลา” นั้น มันเกิดมีความหมาย หรือเกิดมีอำนาจขึ้นมาได้ ก็เพราะความต้องการของคนที่ต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ ถ้าเกิดไม่ต้องการอะไรขึ้นมาแล้ว เวลาก็ไม่มีความหมายอะไร

อย่างพระอรหันต์เป็นผู้ไม่ต้องการอะไร เวลาก็ไม่มีความหมายอะไร ไม่ได้ต้องการที่จะมีชีวิตอยู่อย่างนี้ แล้วเวลาจะทำอะไรได้ ขอให้ลองคิดดูเถิด

สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้นเล่า ก็เป็นของลมๆ แล้งๆ แต่ว่ามันก็มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีความต้องการ

มนุษย์รู้จักบัญญัติกฎเกณฑ์อันเกี่ยวกับเวลา เช่นว่า เท่านั้นวัน เท่านั้นเดือน เท่านั้นปี เป็นต้น

ก็เพราะมีความเกี่ยวข้องกัน สำหรับที่จะต้องรู้อะไรบางอย่างที่มนุษย์จำเป็นที่จะต้องรู้อันเกี่ยวกับเวลา เช่นว่า อายุล่วงมาเท่าไร และอีกประมาณสักเท่าไหร่จะต้องตาย อย่างนี้เป็นต้น

และการนับเวลาก็คือการเอาสิ่งที่เนื่องกันอยู่กับมนุษย์นั้นเองเป็นหลัก เช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ หรือโลกนี้มีความสัมพันธ์หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป็นรอบๆ อย่างไร ก็เอาสิ่งนั้นแหละเป็นหลักเกณฑ์

ทีนี้เวลาก็บัญญัติขึ้นมา จากฤดูฝน ฤดูหนาว ฤดูแล้ง ซึ่งผันแปรไปตามความเปลี่ยนแปลงของโลกของดวงอาทิตย์ ของดวงดาวต่างๆ จึงทำให้เกิดความสัมพันธ์กันขึ้นในระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่เรียกว่า เวลา และสิ่งที่จะใช้เป็นกฎเกณฑ์สำหรับบัญญัติเวลานั้นๆ

ดังนั้น เราจะต้องทำกับมันให้ดีๆ อย่าให้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น เพราะสิ่งเหล่านั้น จึงจะได้ไม่ทุกข์ การที่จะทำอะไรให้ดีๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็คือ การทำจิตใจนั่นเอง

เราจะต้องทำจิตใจชนิดที่จะต้องไม่มีความทุกข์เพราะสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะสิ่งที่เรียกว่า “เวลา”

ตัวเวลาเองนั้น มันไม่รู้ไม่ชี้กันกับการบัญญัติของมนุษย์ แต่มนุษย์นั้น กลับต้องรู้ต้องชี้เพราะว่าตัวมีหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรให้ทันแก่เวลา หรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้มันเป็นระเบียบสักหน่อย มันจึงจะก้าวหน้าไปด้วยดี เราจึงมีการทำอะไรๆ เกี่ยวกันกับเวลาที่เรียกว่า “วันปีใหม่” เช่นวันนี้ ก็มีการตักบาตรปีใหม่ เพื่อเป็นการแสดงว่าขึ้นปีใหม่แล้ว ก็ทำบุญเนื่องด้วยปีใหม่

ถ้าเราจะทำบุญเองด้วยปีใหม่ ก็ต้องให้มันมีความหมายเป็นพิเศษไปกว่าการทำบุญกันตามธรรมดา การทำบุญในวันปีใหม่นี้ อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทำด้วยความรู้สึกนึกคิดชนิดที่เป็นความไม่ประมาท ที่ว่าได้ล่วงมาปีหนึ่งแล้ว ก็จะได้ทำให้ดีในปีต่อไป

(คัดลอกบางตอนมาจาก “พระธรรมเทศนาในวันปีใหม่ ที่ 1 มกราคม 2514” ณ สวนโมกขพลาราม ใน “มาเลื่อนชั้นตัวเองกันเถิด” โดย ท่านพุทธทาสภิกขุ)
กำลังโหลดความคิดเห็น