ประเทศสยามหรือไทยนั้น ตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 ตั้งใจจะเป็นระบอบรัฐธรรมนูญหรือระบอบประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงต้องมีรัฐบาลทหารหรือรัฐบาลที่ทหารหนุนหลัง มาสลับฉาก อยู่เสมอ แต่ สิ่งที่ต่อเนื่องกว่า ยืนยงกว่า และชอบธรรมกว่าประชาธิปไตย และเผด็จการ และไม่เคยสะดุดหยุดล้มเลย ตลอด 85 ปี ที่ผ่านมา ก็คือ “ราชาธิปไตย” คือ การปกครองอันมีสถาบันกษัตริย์ และ มี องค์พระมหากษัตริย์ เป็น “แก่นสาร” หรือเป็น “เสาหลัก” ของระบอบ
กล่าวให้กระจ่างยิ่งขึ้น ราชาธิปไตยในรอบ 85 ปีของเราที่ผ่านมานี้ เป็น ”ปรมิตตาญาสิทธิราชย์” หรือ Limited Monarchy โดยอยู่เคียงคู่หรืออยู่ใต้กำกับรัฐธรรมนูญ -ประชาธิปไตย และ เคียงคู่กับระบอบเผด็จการ-อำนาจทหาร ด้วย
ตลอด 70 ปี อันยาวนานของรัชกาลที่ 9 มีการยึดอำนาจสลับกับการเลือกตั้ง ความชอบธรรมในทางการเมืองที่ประชาชนมีให้แก่ระบอบเลือกตั้งและระบอบยึดอำนาจนั้น มีเกือบจะเท่าๆ กัน และกล่าวได้ชัดถ้อยชัดคำว่า มีให้ “ไม่มาก”เลย น่าเสียใจ ครับ แทนนักประชาธิปไตย และแทนคณะราษฎร
ในทางกลับกัน เป็นที่พิศวง และผู้คนในยุค 2475-2493 นั้น ย่อมไม่ฝันจะได้เห็น คือ พระมหากษัตริย์ ทั้งที่ทรงเป็นองค์บุคคล และ ที่เป็นสถาบัน และที่เกือบจะต้องสิ้นสุด หรือยุติไป หลายครั้ง กลับยืนหยัดอยู่ได้ ผ่านร้อนผ่านหนาว กลับมา “ยิ่งใหญ่” อีกได้ กล่าวได้ว่า “ปรมิตตาญาสิทธิราชย์” ขณะนี้ ยิ่งใหญ่ เป็นที่ยอมรับกว่า “สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ของ ร 7 เป็นล้นพ้น
ขอให้ย้อนคิดถึงวันคืนอันสุดแสนจะ ”วิกฤต” ของราชาธิปไตย เมื่อ 24 มิถุนายน ปี 2475 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงจำยอมรับอำนาจของคณะราษฎร ยอมประทับอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ และ ลองคิดต่อถึงวันคืนที่ “มืดมน” ของกบฏบวรเดช ที่ปฐมกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญพระองค์นี้ ต้องถูกรัฐบาลสงสัยว่าทรงมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย ที่สุด ทรงสละราชสมบัติ อย่างรันทดเมื่อปี 2477 กล่าวเพื่อให้กระจ่างที่สุดได้ว่า สถานะ และ ความอยู่รอดของสถาบันพระมหากษัตริย์สยามในขณะนั้น “ง่อนแง่น” มาก จะล้มมิล้มแหล่ ก็ว่าได้ ต่อมา เลวร้ายกว่านั้น ยังมีกรณีล้นเกล้า ร 8 สววรคตอย่างคาดไม่ถึง และ ต้องทราบกันนะครับว่า ร 9 เสด็จขึ้นครองราชย์ต่อในภาวะที่ยังไม่เป็นที่กระจ่างว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราชสววรคตด้วยเหตุอันใด และ ใน ขณะที่เสด็จกลับมาเตรียมการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น การเมืองไทยก็ยิ่งออกห่างจากอุดมคติประชาธิปไตยไปอีกไกลโพ้น เมื่อคณะทหารได้ขึ้นเถลิงอำนาจแทนคณะราษฎรอย่างเปิดเผย ภาวการณ์ที่กล่าวมาล้วนไม่เป็นคุณต่อพระมหากษัตริย์และราชาธิปไตย ยิ่งกว่านั้น ในสมัยจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอมรวมกัน 16 ปี จาก ปี 2500-2516 นั้น ก็ เป็นที่ปรากฏชัดว่าบ้านเมืองมีรัฐธรรมนูญอยู่เพียงสองสามปี สถานภาพพระมหากษัตริย์จึงไม่มีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรรองรับอยู่เป็นเวลานานมาก
ทว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ และ ราชาธิปไตย กลับยังอยู่ เป็นที่ยอมรับ เป็นที่ศรัทธา มากขึ้น ทบเท่าทวีขึ้น แทบไม่มีอะไรมาหยุดยั้งได้ บทบาทของพระมหากษัตริย์ และอำนาจของพระองค์ท่าน โดยเฉพาะในยามที่การเมืองวิกฤต หรือ บ้านเมือง “ร้อนร้าย” อันสำคัญยิ่ง แต่ก็เป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์ไม่ได้ให้ไว้อย่างชัดเจน กลับกลายเป็นที่ยึดกุมของทุกฝ่าย ทุกส่วนของสังคม รวมทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายทหาร และราชการ แทบทุกฝ่ายล้วนเชื่อฟัง ล้วนปฏิบัติตาม เดินย่างตามรอยพระยุคลบาท อย่างน่าอัศจรรย์
สถาบันพระมหากษัตริย์อันน่าจะเป็นเพียงประมุขของรัฐที่เป็นทางการ ที่น่าจะเป็นเพียงพิธีกรรม พิธีการ หรือเป็นแค่ความสง่างามทางประเพณี กลับได้ “หัวใจ” ของทวยราษฎร์ไป การที่ทรงงานอย่างไม่หยุดพัก อย่างตรากตรำ หนักหน่วง จนดูไม่ เหมือน”มนุษย์ธรรมดา” เพื่อพสกนิกร และเพื่อบ้านเมือง ของพระองค์ท่าน ประกอบกับหลักธรรมราชา หรือ ทศพิธราชธรรม และ หลัก ธรรมาธิปไตย อันยิ่งใหญ่ที่ทรงประพฤติ จึงได้รับความนิยม-ชมชอบ จากราษฎร มากขึ้น ทบทวียิ่งขึ้น ราษฏรทั่วประเทศจึงต่างถวายความจงรักภักดี และ สุดท้าย บูชา สักการะพระองค์ท่านอย่างสุดหัวใจ
ก็นี่แหละครับ ความพิลึกอันสุดแสนจะพรรณนา ของประวัติศาสตร์ 2475 ซึ่งโดยความตั้งใจ โดยเจตนารมณ์ แล้ว คณะราษฎรต้องการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ล้มราชาธิปไตย แต่คงเหลือพระมหากษัตริย์เอาไว้ในฐานะประมุขแห่งรัฐที่ไม่มีอำนาจหรือไม่มีบทบาทในกิจบ้านการเมือง แต่ผลลัพธ์: เหลือจะคะเนได้ ในที่สุดคณะราษฎรเองก็ยืนระยะให้ยาวนานไม่ได้ แตกแยก แตกหักกันเอง ต้องจบฉากไปเองอย่างสมบูรณ์แบบหลังปี 2500 แต่ที่จริง นับแต่ ปี 2490 มา คณะผู้ก่อการนี้ก็แทบจะไม่เหลือบทบาทและอำนาจแล้ว เมื่อ อดีตนายกรัฐมนตรีปรีดี พนมยงค์ ต้องลี้ภัยหนีออกนอกประเทศ และจอมพล ป พิบูลสงครามแม้จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่ ก็ด้วยอาศัยกำลังทหาร เป็นสำคัญ
ในเวลาต่อมา จากปี 2500มา “คณะปฏิวัติ” ที่แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับคณะราษฎร และใช้ทหารหรือกองทัพล้วนๆ เป็นฐาน โดยแทบไม่เห็นความสำคัญของรัฐธรรมนูญ อันประกอบด้วยจอมพลสฤษดิ์- ถนอม -ประภาส ครองอำนาจต่อมา แม้คณะนี้จะล้มในเวลาต่อมาอีก คือในปี 2516 จากพลังนักศึกษาและ มีมูลเหตุจากปัจจัยภายในอื่นๆ ประกอบ แต่ฝ่ายนักการเมืองพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ที่ปกครองประเทศอยู่ตั้งแต่ช่วงปี 2516 จนเกือบถึงปัจจุบัน ก็ ไม่อาจจะลงหลักปักฐานที่มั่นคงได้ กลับต้องปกครองประเทศสลับกับคณะทหารชุดแล้วชุดเล่าที่มาจากการยึดอำนาจตลอดในช่วง ปี 2516 จนถึง ปัจจุบัน แต่ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจจากการเลือกตั้งหรือผู้มีอำนาจจากการยึดอำนาจ แทบทุกฝ่ายทุกกลุ่มล้วนไม่กล้าแตะต้อง ก้าวล่วง หรือ ท้าทาย องค์พระมหากษัตริย์ ล้วนต้องเข้าเฝ้าขอความเห็นชอบและความสนับสนุนจากสถาบัน ล้วนต้องรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ จึงเข้าดำรงตำแหน่งได้ อย่างสง่างาม
ผิดหรือไม่ ครับ ลองคิดดูครับ ถ้าเราจะกล่าวว่า 24 มิถุนายน 2475 นั้น ในความเป็นจริง และมองอยู่เฉพาะในตอนนี้ นะครับ คือการเปลี่ยนผ่านจาก “ราชาธิปไตยแบบ ร 7 “ ซึ่งไม่ค่อยได้รับการยอมรับและประกอบภารกิจที่ไม่ได้ผลมากนัก กลายมาเป็น “ราชาธิปไตยแบบ ร 9 “ ซึ่ง แม้จะต้อง อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ-ประชาธิปไตย โดยสลับตลอดเวลากับระบอบทหาร-การยึดอำนาจ แต่ก็ชอบธรรมและได้ผลยิ่ง
สถานะของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นยิ่งใหญ่กว่าทฤษฎีรัฐธรรมนูญที่กล่าวว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผมคิดว่าควรจะเรียกระบอบของเราว่าเป็น “ราชาธิปไตย” หรือกล่าวให้ละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้นก็ได้ว่าเป็น”ปรมิตตาญาราชาธิปไตย” ที่ไม่ว่า ระบอบเลือกตั้ง-ประชาธิปไตย หรือ ระบอบเผด็จการ-ยึดอำนาจ ก็ตาม ล้วนต้องขอพึ่งพิง และ ขอการรับรองหรือความเห็นชอบเสมอ