xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นรถไฟทางคู่9สัญญารวด “สมคิด”สั่งเชื่อมเมืองรอง หวังบูมท่องเที่ยว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รฟท.ปิดดีลรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง 9 สัญญา มูลค่า 6.9 หมื่นล้าน รวมระยะทาง 702 กม. “สมคิด”สั่ง “การรถไฟฯ” ปฏิรูปองค์กร ผลักดันลงทุนรถไฟทางคู่ทั่วประเทศ สั่งศึกษาเชื่อมรถไฟไปยังเมืองรอง หนุนท่องเที่ยว บูม ศก.ตั้งเป้า 4-5ปี พลิกโฉม ชิพโหมดคมนาคมขนส่งจากถนนสู่ราง

วานนี้ (28 ธ.ค.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 5 เส้นทางกับบริษัทผู้รับเหมาทั้ง 9 สัญญา รวมระยะทาง 702 กิโลเมตร งบประมาณทั้งสิ้น 69,531 ล้านบาท โดย นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ภายหลังจากการลงนามแล้ว จะให้ผู้รับจ้างเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 ให้แล้วเสร็จตามแผนภายในปลายปี 2565 รถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทางแล้วเสร็จ จะมีระยะทางเพิ่มขึ้นอีก 995 กิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้น 24.6 %ของเส้นทางรถไฟทั้งประเทศ ซึ่งสามารถพลิกโฉมการขนส่งทางรถไฟได้อย่างชัดเจน เพราะจะทำให้มีความจุของทางรถไฟเพิ่ม สามารถรองรับขบวนรถเพิ่มขึ้นได้ไม่น้อยกว่า 2 เท่าตัว มีความปลอดภัยในการขนส่งผู้โดยสาร และสินค้าเพิ่มขึ้น สามารถเพิ่มความรวดเร็วและความตรงต่อเวลา ในการเดินขบวนรถไฟได้อีกด้วย

นายอานนท์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการลงนามสัญญาก่อสร้าง 5 เส้นทาง จำนวน 9 สัญญา ประกอบด้วย 1.รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 136 กิโลเมตร สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา - คลองขนานจิตร วงเงิน 7,560 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน และสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ วงเงิน 9,290 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 42 เดือน โดยมี บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.อิตาเลี่ยนไทยฯ) และ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-อาร์ที เป็นผู้รับจ้าง

2.รถไฟทางคู่ ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - ชุมพร ระยะทาง 168 กิโลเมตร สัญญาที่ 1 ช่วงประจวบคีรีขันธ์ - บางสะพานน้อย วงเงิน 6,465 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 33 เดือน และสัญญาที่ 2 ช่วงบางสะพานน้อย - ชุมพร 5,992 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดยมีกิจการร่วมค้า เคเอส - ซี และ กิจการร่วมค้า เอสทีทีพี เป็นผู้รับจ้าง

3.รถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม - หัวหิน ระยะทาง 169 กิโลเมตร สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม - หนองปลาไหล วงเงิน 8,198 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองปลาไหล - หัวหิน วงเงิน 7,520 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดยมีบริษัท เอ เอส แอสโซซิเอส เอนยิเนียริ่ง 1964 จำกัด และ บริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง
4.รถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ ระยะทาง 145 กิโลเมตร สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ - โคกกระเทียม วงเงิน 10,050 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 48 เดือน และสัญญาที่ 2 ท่าแค - ปากน้ำโพ วงเงิน 8,649 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 36 เดือน โดยมีกิจการร่วมค้า ยูเอ็น-เอสเอชและ บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับจ้าง

และ 5.รถไฟทางคู่ ช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร วงเงิน 5,807 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 30 เดือน โดยมี บมจ.อิตาเลี่ยนไทยฯ เป็นผู้รับจ้างสัญญา

ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีว่า จะเป็นการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ครั้งใหญ่ และจะทำให้เกิดการชิฟโหมดการขนส่งและเดินทางจากถนนและเครื่องบิน เป็นระบบราง ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รถไฟอ่อนแอ เพราะรัฐบาลสนับสนุนการลงทุนน้อยกว่าถนนและทางอากาศ แต่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญ เพราะเห็นว่า ระบบรถไฟมีต้นทุนที่ต่ำสามารถลดความเหลื่อมล้ำประชาชน ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติได้ ทั้งนี้ รัฐบาลเห็นว่าการเปลี่ยนขนส่งจากถนนสู่รางเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นจะต้องก่อสร้างเส้นทางสายหลักเป็นระบบทางคู่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จากนั้นจะต้องเชื่อมต่อสายหลัก กับไปยังเมืองรอง และระหว่างเมืองรองกับเมืองรอง ซึ่งจะยกระดับทั้งการเดินทาง ขนส่ง และท่องเที่ยว ที่จะสามารถเชื่อมโยงกันระหว่างถนน รถไฟ เครื่องบินและเรือ ได้อย่างสะดวก

นายสมคิดกล่าวว่า ในปี 2561 ร.ฟ.ท. กรมทางหลวง(ทล.) กรมทางหลวงชนบท(ทช.) ท่าเรือ สนามบิน หารือร่วมกันเพื่อทบทวนแผนการขยายและต่อเชื่อมโครงข่าย โดยหลักการ หากโครงการใดเอกชนสามารถลงทุนได้ ให้เปิดให้เอกชนลงทุน ส่วนที่เอกชนไม่สนใจเพราะอาจจะไม่มีกำไร รัฐค่อยเข้าไปดำเนินการเอง ซึ่งรถไฟนั้นมีสินทรัพย์มูลค่ามหาศาล หากบริหารจัดการดี จะมีรายได้มหาศาล ดังนั้นรถไฟควรเร่งปฏิรูปองค์กร เชื่อว่าอีก 4-5 ปี จะมีการเปลี่ยนแปลง ส่วนเอกชน ควรกล้าที่จะลงทุน ถ้าไม่กล้าคนอื่นจะเข้ามาลงทุนแทนแน่นอน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า รถไฟทางคู่ ระยะแรก อยู่ระหว่างการก่อสร้างแล้ว 2 เส้นทาง คือ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย และชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น วันนี้ ลงนามสัญญาเพื่อเริ่มก่อสร้าง อีก 5 เส้นทาง ระยะทาง 702 กม. และในปี 2561 จะเสนอรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 9 เส้นทาง และรถไฟสายสีแดง จำนวน 2 เส้นทาง วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท ขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะต่อขยายจากเส้นทางสายใต้ 3 เส้นทาง ได้แก่ ชุมพร-สุราษฎร์ธานีวงเงิน 24,293.54 ล้านบาท ,สุราษฎร์ธานี-หาดใหญ่.วงเงิน 51,823.28 ล้านบาท แ ละหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 57,374.70 ล้านบาท
สายเหนือ 3 เส้นทาง ได้แก่ ปากน้ำโพ-เด่นชัยวงเงิน 62,624.17 ล้านบาท ,เด่นชัย-เชียงราย -เชียงของ ซึ่งเป็นเส้นทางสายใหม่ และ เด่นชัย-เขียงใหม่ วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท ส่วนสายตะวันออกเฉียงเหนือ อีก 3 เส้นทาง คือ ขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน26,662.40 ล้านบาท ,ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,431.22 ล้านบาท และช่วง บ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 65,738.91 ล้านบาทซึ่งเป็นเส้นทางสายใหม่

นอกจากนี้จะเสนอ ครม.อนุมัติ รถไฟสายสีแดงเข้ม รังสิต-มธ.รังสิต วงเงิน 7,596.94 ล้านบาท สายสีแดงอ่อน ศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 17,671.61 ล้านบาท
นายอาคมกล่าวว่า เส้นทางรถไฟ ปัจจุบันมีประมาณ 4,000 กม. จะดำเนินการก่อสร้างเพิ่มอีกกว่า 1,000 กม. จะเป็นการเติมเส้นทางคู่เข้าไป ทำให้เกิดความสะดวก ย่นระยะเวลาเดินทาง มีความปลอดภัย ทั้งการขนส่งสินค้า เพื่อชิฟโหมดการขนส่งจากรถยนต์ ไปสู่รถไฟ และผู้โดยสาร ซึ่งตามนโยบายของ รองนายกฯเศรษฐกิจ ที่ต้องการให้เชื่อมต่อเส้นทางรถไฟ จากสายหลักกับสายรอง ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังวางแผน เพื่อต่อเชื่อมเส้นทางรถไฟท้องถิ่นกับทางรถไฟสายหลัก โดยเห็นว่า การต่อเชื่อมควรเป็นเส้นทางที่มีกายภาพเหมาะสม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยวร่วมด้วย เช่น จากกรุงเทพ-ลพบุรี-ปากน้ำโพ-พิษณุโลก-ลำปาง-เชียงใหม่นั้น ด้านซ้าย หากสามารถต่อไปยังกำแพงเพชร จะเชื่อมกับแหล่งท่องเที่ยว อุทยานมรดกโลก ศรีสัชนาลัยได้ หรือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีนครราชสีมาเป็นชุมทางทปัจจุบันมีเส้นทางอีสานเหนือ คือ หนองคาย ,อีสานใต้ ไปยังอุบลราชธานี อีสานกลาง คือ บ้านไผ่-นครพนม จะเติมเต็มช่วงอุดรธานี-ร้อยเอ็ด -สุรินทร์-ศรีสะเกษ เป็นโครงข่ายย่อย โดยจะศึกษาเรียร้อยภายในปี 2561.
กำลังโหลดความคิดเห็น