xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงานวิจัย “กดจุดเดียว” ลดความดันโลหิตสูงได้ !!!?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

องค์การอนามัยโลกได้เคยเผยแพร่รายงานว่าความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างยิ่งสำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และโรคเส้นโลหิตสมองโดยมีการคาดการณ์ว่าภาวะความดันโลหิตสูงจะมีมากถึง 25% หรือคิดเป็นประชากรประมาณ 1,560 ล้านคนทั่วโลกภายในปี พ.ศ. 2568 [1]

“ในช่วงทศวรรษที่ผ่านไปการศึกษาระบาดวิทยาแสดงข้อมูลที่ชัดเจนว่าโรคความดันโลหิตสูงมีอุบัติการณ์สูง ขี้นมากในประชากรไทยในผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปี วัยกลางคน และโดยเฉพาะประชากรสูงอายุเกิน 65 ปี ซึ่งมีอัตราการเพิ่มตัวอย่างรวดเร็ว เป็นกลุ่มที่พบอุบัติการณ์โรคความดันโลหิตสูงเป็นทวีคูณ ความดันโลหิตสูงเป็นโรคเงียบและมักไม่ค่อยมี อาการ อาการแรกสุดอาจเป็นภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคหัวใจวายเฉียบพลัน หรือไตพิการ และมักเกิดร่วมกับภาวะโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต กลุ่มโรคอ้วนลงพุง ฯลฯ” [2]

โรคความดันโลหิตสูง (hypertension) หมายถึง ระดับความดันโลหิตซิสโตลิก (systolic blood pressure,SBP) ที่คนทั่วไปมักเรียกว่า “ความดันตัวบน” มากกว่า 140 มิลลิเมตรปรอท และ/หรือความดันโลหิตไดแอสโตลิก(diastolicbloodpressure, DBP) ซึ่งคนทั่วไปมักเรียกว่า “ความดันตัวล่าง” มากกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท

เมื่อโรคความดันโลหิตสูงจะเกิดขึ้นร่วมกับภาวะโรคอื่น ทางแก้ไขก็ควรจะแก้ปัญหาต้นเหตุที่แท้จริง มิใช่แก้ไขในเรื่องความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นปลายเหตุแต่เพียงอย่างเดียว

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าความดันโลหิตสูงมาจากภาวะอ้วนเกิน การลดน้ำหนักด้วยการควบคุมการรับประทานอาหารและออกกำลังกายก็จะลดความอ้วนลงได้ และจะส่งผลทำให้ความดันโลหิตก็จะลดลงมาเอง อันเป็นการลดความดันโลหิตสูงจากต้นเหตุที่แท้จริง ถ้ามาจากโรคเบาหวานแล้วส่งผลทำให้หลอดเลือดหนาตัวขึ้น ก็ควรจะต้องแก้ไขต้นเหตุของโรคเบาหวานด้วยการลดแป้งงดน้ำตาลเพื่อเอาชนะโรคเบาหวานให้ได้ โรคความดันโลหิตสูงก็จะดีขึ้นเอง

นอกจากนี้ทุกครัวเรือนควรจะมีเครื่องวัดประจำบ้านเอาไว้อย่างน้อย 1 เครื่อง เพื่อจะได้เปรียบเทียบว่ามีความตรงกับที่วัดต่อหน้าหมอหรือพยาบาลตามคลีนิกหรือโรงพยาบาลหรือไม่?

ที่ทุกครัวเรือนควรจะมีเครื่องวัดความดันโลหิตเอาไว้ที่บ้านก็เพราะว่า...

“ค่าความดันโลหิตในขณะวัดที่บ้านมักจะมีค่าน้อยกว่าที่วัดเมื่อมาพบแพทย์”[3]

ภาวะความดันโลหิตสูงเฉพาะเมื่อวัดต่อหน้าหมอนั้นถูกเรียกว่า ความดันโลหิตสูงต่อหน้าชุดขาว (ของหมอและพยาบาล) ภาษาอังกฤษเรียกว่า “White Coat Hypertention” ที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะมีตัวแปรจากหลายสาเหตุ เช่น ช่วงเวลาการวัดความดัน จิตวิทยาในเรื่องความวิตก กังวล ฯลฯ ดังนั้นทุกครัวเรือนควรจะต้องมีเครื่องวัดความดันโลหิตในบ้านว่าคนๆนั้นเป็นโรความดันโลหิตสูงแท้จริงหรือไม่?

เมื่อแน่ชัดว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว หลายคนอาจจะมีความวิตกกังวลในช่วงเวลาความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นมากในช่วงเวลาหนึ่งจนทำให้เส้นโลหิตสมองแตกได้ แล้วจะทำอย่างไร?

ในหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ (Lifestyle Medicine) ซึ่งจัดขึ้นโดย สถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต นั้นมีการสอนหลากศาสตร์เพื่อให้ผู้ที่เข้าเรียนหลักสูตรลดการใช้ยาด้วยบูรณาการแห่งปัญญานั้น ได้มีการสอนหัตถการกดจุดทั้งแบบอายุรเวท แพทย์ไทยประยุกต์ การกดจุดและฝังเข็มของแพทย์แผนจีน และผสมผสานเข้ามาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังรวมถึงการสอนการกดจุดและฝังเข็มเพื่อลดความดันโลหิตสูงด้วย

จุดกดที่น่าสนใจสำหรับการลดความดันโลหิตสูง (แบบชั่วคราว)นั้นปรากฏอยู่ในตำแหน่งการกดจุดของแพทย์แผนจีนที่มีชื่อว่า “ไท่จง” (Taichong Acupoint)

จุด “ไท่จง” อยู่ด้านหลังเท้าตรงปลายสุดของร่องกระดูกนิ้วโป้งและนิ้วชี้!!!

ก่อนหน้าที่จะมีงานวิจัยที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ มีงานวิจัยอยู่ 1 ชิ้นระบุว่าการกดจุดไท่จงไม่ได้มีผลในการลดความดันโลหิตในคนไข้ได้ด้วยการ “ฝังเข็ม” [4] แต่กลับปรากฏว่ามีงานวิจัยอีก 9 ชิ้นสามารถฝังเข็มช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ [5] -[13] ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการฝังเข็มหรือกดจุดไท่จงนั้น ขึ้นอยู่กับเทคนิกของแต่ละคนด้วย

งานวิจัยที่จะกล่าวถึงในบทความนี้ คือเบาะแสล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์เสริมและแพทย์ทางเลือก Evidence-based Complementary and Alternative Medicine เมื่อปี 2559 ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยของไต้หวันในเรื่องประสิทธิภาพ”การกดจุด”เพื่อลดความดันโลหิตสูง [14] งานวิจัยชิ้นนี้มีความแตกต่างจากงานวิจัยส่วนใหญ่ของแพทย์แผนจีนที่เน้นการฝังเข็มมากกว่ารกดจุด ซึ่งหมายความว่าคนธรรมดาก็มีโอกาสจะกดจุดดังกล่าวได้ง่ายกว่าการฝังเข็ม

งานวิจัยชิ้นนี้ได้เลือกลุ่มประชากรที่มีความดันโลหิตสูงที่มีค่าระดับความดันโลหิตซิสโตลิก (systolic blood pressure,SBP) อยู่ที่ 150-180 มิลลิเมตรปรอท อายุระหว่าง 40-75 ปี หลีกเลี่ยงบรรยากาศคลีนิกเพื่อไม่ให้เกิดภาวะความดันสูงจากจิตวิทยา

เมื่อได้ทำการคัดกรองแล้วได้กลุ่มตัวอย่างที่ผ่านคุณสมบัติเพื่อมาวิจัยรวมทั้งสิ้น 80 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆละ 40 คนเท่ากัน

กลุ่มแรก เพื่อทดลองกดจุดไท่จงที่หลังเท้าขวา
และกลุ่มที่สอง เพื่อทดลองกดจุดที่ไม่ได้มีผลใดๆ (Sham Acupoint) ที่หลังเท้าขวาเช่นกัน เพื่อใช้เปรียบเทียบผลกับกลุ่มแรก

สำหรับวิธีการกดจุดในงานวิจัยครั้งนี้ใช้วิธีการกดเหมือนกันคือ ใช้นิ้วโป้งมือขวา “กดค้าง 5 วินาที แล้วปล่อย 1 วินาที” โดยใช้แรงกดประมาณ 3 กิโลกรัม จะได้กด 30 ครั้งใน 3 นาที

การทดลองในงานวิจัยชิ้นนี้ ทำการวัดความดัน 4 ช่วงเวลาคือ 1. วัดความดันโลหิตก่อนทำการกดจุด 2.วัดความดันเมื่อกดจุดทันที 3.วัดความดันโลหิตเมื่อกดจุดไปเป็นเวลา 15 นาที 4.วัดความดันโลหิตเมื่อกดจุดไปเป็นเวลา 30 นาที

ผลปรากฏว่ากลุ่มแรกซึ่งถูกกดจุดไท่จงความดันโลหิตลดลงทันที และลดลงต่อเนื่องทั้ง 15 นาที และ 30 นาที ภายหลังการกดจุดแล้วความดันยังอยู่ในระดับลดลงไป 30 นาที โดยที่ไม่ได้มีการวัดความดันโลหิตต่อหลังจากนั้น ในขณะที่กลุ่มที่สองถูกกดซึ่งถูกกดจุดที้ไม่ได้มีผลใดๆ กลับมีระดับความดันโลหิตแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

งานวิจัยชิ้นนี้จะได้ผลจริงหรือไม่ท่านผู้อ่านลองนำไปปฏิบัติดู ทั้งนี้จะต้องระลึกเอาไว้ด้วยว่าผู้ถูกกดจะต้องหยุดทำกิจกรรมอย่างอื่น เช่น การคุยโทรศัพท์ การพูดคุย เล่นเกม ฯลฯ ที่มีผลกระทบต่อระดับความดันโลหิต

และถ้าจุดไท่จงใช้ได้จริงแล้ว ก็เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับคนรอบข้างผู้ที่มีความดันโลหิตสูงที่ต้องการลดความดันในระยะเวลาอันสั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตราย หลังจากนั้นก็ต้องหาสาเหตุของความดันโลหิตที่สูงเพิ่มขึ้นในขณะนั้นว่าเกิดจากอะไร ไม่ว่าจะเป็น ภาวะเครียด อารมณ์โกรธ ท้องผูก ฯลฯ และรีบแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ได้โดยเร็วที่สุดภายหลังการกดจุดไท่จง

ที่สำคัญคือการกดจุดไท่จงดังกล่าวข้างต้นนั้นไม่ยาก ใครๆก็สามารถทำได้ แม้แต่แพทย์แผนไทยก็สามารถที่จะมาประยุกต์ในการลดความดันของผู้ที่มารับบริการได้เช่นกัน

แต่ถ้าใครอยากจะเรียนการกดจุดอีกหลายจุดที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของตัวเราและคนในครอบครัวมากกว่านี้ และรวมถึงศาสตร์สุขภาพอื่นๆอีกมาก ก็สามารถสมัครเรียนหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ ของสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย รุ่นที่ 2 ซึ่งจะเปิดรับสมัครอีกครั้งในต้นปี พ.ศ. 2561 นี้

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] World Health Organization.Global Health Observatory (GHO) Data: Raised Blood Pressure—Situation and Trends.2016.http://www.who.int/gho/ncd/risk_factors/blood_pressure_prevalence_text/en/[Ref list]
[2] ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ศุภชัย ไชยธีระพันธ์, แนวทางการรักษาโรความดันโลหิตสูง ในเวชปฏิบัติทั่วไป, สมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย, ฉบับปรับปรุง 2558
[3] ธาริณี พังจุนันท์ และนิตยา พันธุเวทย์, ประเด็นสารรณรงค์ วันความดันโลหิตสูงโลก 2556, สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค
[4] Kaneko S., Watanabe M., Takayama S., et al. Heart rate variability and hemodynamic change in the superior mesenteric artery by acupuncture stimulation of lower limb points: a randomized crossover trial.Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine.2013;2013:6. doi: 10.1155/2013/315982.315982 [PubMed][Ref list]
[5] Huang C. P., Lin J. C., Chen G. W., Li T. C., Chen M. F. Immediately decreased effect of blood pressure by acupuncture on essential hypertension.Journal of Integrated Chinese and Western Medicine.2004;6(1):29-40.
[6] Wu H. L., Li X. Q., Wang X. The immediate effect on blood pressure of acupuncture at Taichong (LR 3) in 65 cases of hypertension patient with hyperactivity of liver-yang. Journal of Traditional Chinese Medicine. 2008;49(7):622-624.
[7] Hao P. Y., Wang X., Wen W. Q., Wu H. L. Clinical observation on 30 hypertension patients of liver yang hyperactivity treated by acupuncture at Taichong (LR 3) Journal of Traditional Chinese Medicine. 2009;50(11):999-1001.
[8] Kim L.-W., Zhu J. Acupuncture for essential hypertension. Alternative Therapies in Health and Medicine. 2010;16(2):18-29. [PubMed]
[9] Yang D.-H. Effect of electroacupuncture on Quchi (LI 11) and Taichong (LR 3) on blood pressure variability in young patients with hypertension.Zhongguo Zhen Jiu. 2010;30(7):547-550. [PubMed]
[10] Chen Y. L. Investigation the cardio-protective effects and molecular mechanisms of catgut embedding and electro acupuncture therapy in Taichong point of spontaneous hypertensive rats [Ph.D. Dissertation] Taichung, Taiwan: China Medical University; 2011.
[11] Wang J., Xiong X., Liu W. Acupuncture for essential hypertension. International Journal of Cardiology. 2013;169(5):317-326. doi: 10.1016/j.ijcard.2013.09.001.[PubMed] [Cross Ref]
[12] Lai X. H., Wang J. Y., Nabar N. R., et al. Proteomic response to acupuncture treatment in spontaneously hypertensive rats. PLoS ONE. 2012;7(9) doi: 10.1371/journal.pone.0044216.e44216 [PMC free article] [PubMed] [Cross Ref]
[13] Wang J.-Y., Tang C.-Z., He Z.-Q., et al. Effect of moderate acupuncture-stimulation of ‘Taichong’ (LR 3) on blood pressure and plasma endothelin-1 levels in spontaneous hypertension rats.Zhen Ci Yan Jiu.2011;36(1):36-39. [PubMed]
[14] Lin G-H, Chang W-C, Chen K-J, Tsai C-C, Hu S-Y, Chen L-L. Effectiveness of Acupressure on the Taichong Acupoint in Lowering Blood Pressure in Patients with Hypertension: A Randomized Clinical Trial.Evidence-based Complementary and Alternative Medicine : eCAM. 2016;2016:1549658. doi:10.1155/2016/1549658.


กำลังโหลดความคิดเห็น