xs
xsm
sm
md
lg

โวยคำสั่งคสช.รีเซตสมาชิกพรรค ปชป.จ่อยื่นตีความขัดรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ต.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวว่า ตามที่ คสช.ได้มีคำสั่งที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธ.ค.60 นั้น สาระสำคัญของคำสั่งดังกล่าว ระบุถึง การผ่อนคลายการดำเนินกิจกรรมให้พรรคการเมือง ทั้งพรรคเดิม และพรรคที่จะตั้งใหม่ แบ่งเป็น 4 ห้วงระยะเวลา คือ 1 . ตั้งแต่ ออกคำสั่งฉบับนี้ จนถึง 1 มี.ค. 61 , 2 . ตั้งแต่ 1 มี.ค. 61 จนถึง 1 เม.ย.61, 3 .ตั้งแต่ 1 เม.ย. 61 จะเป็นการปลดล็อกใหญ่ , 4 .การปลดล็อกด้วยการยกเลิกคำสั่ง และประกาศคสช. ฉบับที่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกตั้งโดยเสรี
อย่างไรก็ตาม กิจกรรม หรือกระบวนการต่างๆ ในแต่ละห้วงเวลา เช่น การจัดทำทะเบียน การตรวจสอบสมาชิกใหม่ การแสดงตน รวมถึงการบริจาคเงิน อาจมีบุคคลหลายกลุ่ม หลายฝ่ายได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งคสช. มีเจตนาให้ประชาชนทุกภาคส่วน ได้มีส่วนร่วม ในกระบวนการอย่างแท้จริง ทั้งในการแสดงตัวตน แสดงการบริจาคเงินให้ชัดเจน เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนส่วนหนึ่งก็ไม่ได้บริจาคเงิน ไม่ได้แสดงตนด้วยตัวเอง ในเมื่อนักการเมืองต้องการจะช่วยปฏิรูปประชาธิปไตย ให้เกิดความโปร่งใส ก็น่าจะยอมรับได้
ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีคำสั่งนี้ คสช.ได้รับคำร้องการให้ความเห็น การเสนอแนวทางที่เหมาะสม และเป็นไปได้ การพิจารณาข้อกฎหมาย และผลกระทบต่างๆ รวมทั้งการประเมินสถานการณ์ และการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ นโยบายต่างๆ อย่างรอบด้าน ควบคู่ไปกับโรดแมปที่นำไปสู่การเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไขเวลา ขั้นตอนการปฏิบัติ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ ความมั่นคงของประเทศ ให้เกิดเสถียรภาพมากที่สุด จึงจำเป็นต้องออกคำสั่งดังกล่าว ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งทุกฝ่ายสามารถ อ่านรายละเอียดได้
นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง คำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ว่า ตนต้องท้วงติงเรื่องนี้ เพื่อความถูกต้อง ปกป้องสิทธิของสมาชิกพรรคฯ เนื่องจากคนเหล่านี้เป็นสมาชิกโดยชอบด้วยกม. ไม่มีเหตุผลที่จะออกคำสั่ง ตาม ม.44 มาสร้างภาระ นำไปสู่การตัดสิทธิการเป็นสมาชิกพรรคฯ ตนไม่สนใจว่า คำสั่งนี้ออกมา เพื่อช่วยเหลือพรรคที่จะตั้งใหม่ ไม่สนใจว่าใครจะได้เปรียบ เสียเปรียบ ไม่สนใจว่าเป็นการปลดล็อกทางการเมือง หรือขยายเวลา แต่ที่ต้องท้วงติง ก็เพื่อรักษาสิทธิให้สมาชิกพรรคการเมืองทุกพรรค โดยเฉพาะ สมาชิก 2.8 ล้านคนของพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความผูกพันกับพรรคมาเป็นเวลานาน การออกคำสั่งที่ไม่ชอบธรรม สร้างภาระให้กับสมาชิกพรรค เสมือนรีเซตสมาชิกพรรคฯ ซึ่ง มาตรา 26 ของรธน.กำหนดชัดว่า การบัญญัติกฎหมาย ต้องไม่เพิ่มภาระให้ประชาชน ดังนั้นหากสมาชิกพรรคการเมืองใดเห็นว่า ไม่เป็นธรรม ก็มีสิทธิเสนอเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัย เพื่อถ่วงดุลผู้มีอำนาจในขณะนี้ เพราะคำสั่งคสช. ไม่ได้อยู่เหนือความถูกต้อง จึงต้องสื่อให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า ความน่ากลัวของผู้มีอำนาจ คือการใช้อำนาจอย่างบ้าคลั่ง ไม่รู้หลักผิดชอบ ความเป็นธรรม เป็นอันตราย หากไม่ฟังคำท้วงติงจากหลายฝ่าย
"ผมได้พูดคุยกับ คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ดูประเด็นข้อกฎหมายในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามพรรค เห็นว่าอาจขัดรธน. มาตรา 26 ที่สามารถเสนอเรื่องให้ศาลรธน.วินิจฉัยได้ ตามช่องทางในรธน. มาตรา 213 แม้ว่าคำสั่ง คสช. ยังมีอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ตรวจสอบไม่ได้ การต่อสู้ครั้งนี้ จะแพ้ไม่เป็นไร เพราะเป็นการต่อสู้กับอำนาจที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งผมกำลังหารือกับคุณนิพิฏฐ์อยู่ว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อแสดงให้เห็นถึงการปกป้องสมาชิกพรรค ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม" นายราเมศ กล่าว
นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคปชป. กล่าวว่า การใช้ ม.44ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องนอกเหนือความคาดหมาย ในยุคที่การเมืองอยู่ในช่วงไม่ปกติ จึงขอฝากบอกสมาชิกพรรคปชป.ทั่วประเทศ ว่าไม่ต้องขวัญเสีย พรรคฯยังมีอุดมการณ์มั่นคง 10 ข้อ เหมือนเดิม เรามุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อประเทศชาติ รับใช้ประชาชน พวกเราต้องอดทนและจับมือกันร่วมฝ่าฟันไปให้ได้
นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า คำสั่ง ม.44 เพื่อผ่อนคลายปัญหาพรรคการเมืองนั้น ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้สะเด็ดน้ำ เพราะอาจเกิดปัญหาใหม่ตามมา เช่น ข้อสังเกตว่า เป็นการเซตซีโร่พรรคการเมือง หรือไม่ จะกระทบวันเลือกตั้งหรือไม่ เป็นการเอื้อประโยชน์พรรคใหม่บางพรรคหรือไม่ ทั้งหมดนี้ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
"ผมรู้สึกว่า เรื่องนี้เป็นแค่ปรากฏการณ์เปลือกนอกของปมปัญหาใหญ่ทางการเมือง ที่ยังจัดระบบระเบียบไม่ลงตัวสักอย่าง พะรุง พะรัง และวุ่นเป็นลิงแก้แห ยาวไป วนไป จนยากจะคาดการณ์ว่า หลักไมล์สุดท้ายของปัญหาเหล่านี้อยู่ตรงไหนกันแน่" นายสุริยะใส กล่าว และว่า โจทย์การเมืองไทย นับวันยิ่งซับซ้อน ซ่อนเงื่อนมากขึ้น ขณะที่รัฐบาล ก็อ้างแต่โรดแมป ที่ไม่ได้มีความแน่นอนอะไร ปีหน้าถ้าสถานการณ์ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงดีขึ้น การเมืองไทยก็ยังเป็นหนังซีรีส์ ที่ไม่มีบทจบ
กำลังโหลดความคิดเห็น