xs
xsm
sm
md
lg

เพื่อถิ่นอินเดีย : 100 ปีชาตกาล อินทิรา คานธี (ตอน 3/3)

เผยแพร่:   โดย: ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ


ในสองตอนแรกผู้เขียนได้อธิบายชีวประวัติอินทิรา คานธีอย่างละเอียด พร้อมชี้ให้เห็นด้วยว่า แม้เธอจะเติบโตในตระกูลเนห์รูที่ร่ำรวยและมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่เธอก็มีชีวิตที่สลับซับซ้อนและน่าคับแค้นอย่างไร สำหรับตอนสุดท้าย ผู้เขียนจะอธิบายการดำเนินนโยบายภายในและการต่างประเทศของเธอในฐานะนายกรัฐมนตรี และนัยสำคัญของการดำเนินนโยบายของเธอ รวมถึงความเป็นตัวตนของเธอที่มีต่อการเมืองอินเดียร่วมสมัย ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจว่าเพราะเหตุใดความนิยมในตัวเธอจึงมีสูงมากอย่างผิดปกติ แม้เธอจะเป็นที่เกลียดชังด้วย คงไม่ผิดด้วยหากจะกล่าวว่า อินทิราเป็นผู้นำประเทศที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของโลกในช่วงสงครามเย็น

การดำเนินนโยบายภายในและการต่างประเทศของอินทิรา คานธีมีสาระสำคัญอะไรบ้าง และมีนัยสำคัญต่ออินเดียร่วมสมัยอย่างไร

การดำเนินนโยบายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศของอินทิราทำให้เธอถูกตีตราว่าเป็นเรียลิสท์ (realist) แม้วรรณกรรมจำนวนมากมิได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นเรียลิสท์ของเธอมากนัก แต่ก็กล่าวได้ว่าการที่เธอเผชิญกับภาวะการเมืองแห่งความเป็นจริงในเชิงปฏิบัติได้จริงโดยปราศจากอารมณ์หรืออุดมการณ์นั้น ทำให้การตีตราดังกล่าวดูไม่แปลกเลย แท้จริงแล้ว อินทิราเคยอธิบายตนเองในทำนองเดียวกันว่า เธอนั้นแตกต่างจากพ่อซึ่งเป็น “นักบุญผู้พลัดหลงเข้าสู่การเมือง” แต่เธอเป็น “นักการเมืองผู้แกร่งกล้า” อินทิราทั้งแสวงหาอำนาจและรักษาอำนาจที่ได้มาในเวลาเดียวกัน ทว่า ครั้นเมื่อเธอมีอำนาจและห้อมล้อมด้วยผู้คนที่ประจบสอพลอ เธอก็ถลำเข้าสู่ความเป็นเผด็จการ ดังที่เธอได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในปี 1975 ก่อนจะชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 1980 และถูกสังหารในปี 1984

ในปี 1966 เมื่อเธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่สามของอินเดีย ภาวะภายในของอินเดียขณะนั้นเรียกร้องให้เธอต้องทำอะไรหลายอย่างเพื่อเสถียรภาพของอินเดีย ภัยแล้งในหลายพื้นที่เกือบจะกลายเป็นภาวะขาดแคลนอาหารทั้งประเทศ พรรคคองเกรสที่เคยต่อสู้เพื่อเอกราชอินเดียและกลายเป็นความหวังของชาวอินเดียหลังได้รับเอกราชกำลังสูญเสียความนิยมอย่างต่อเนื่อง พรรคคองเกรสแตกเป็นมุ้งเล็กมุ้งน้อย แต่ในขณะเดียวกันมุ้งเหล่านี้ก็จัดตั้งเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อประโยชน์ร่วมกันด้วย แม้หัวหน้ามุ้งต่างๆ ที่อิจฉากันเองจะสนับสนุนให้อินทิราเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็กระทำเพราะพวกเขามองว่า (1) เธอเชื่อมโยงกับเนห์รูซึ่งอาจจะทำให้พรรคได้คะแนนมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไป (2) เธอไม่สนิทสนมกับมุ้งการเมืองใดๆ เป็นพิเศษ ซึ่งทำให้แต่ละมุ้งไม่ต้องกังวลว่าเธอจะเป็นภัยต่อพวกเขา และ (3) เธอเป็นสตรีที่หัวอ่อนและอ่อนแอ ดังที่เธอเคยถูกปรามาสเป็นภาษาฮินดีว่า ‘chhokari’ (เด็กสาว) หรือ ‘gungi gudiya’ (ตุ๊กตาโง่)

อินทิราตระหนักอย่างแจ่มแจ้งว่า สิ่งที่ต้องทำลำดับแรกคือการแก้ปัญหาเรื่องอาหาร แท้จริงแล้วลาล บาฮาดูร ศาสตรี นายกรัฐมนตรีคนก่อนหน้าที่ดำรงตำแหน่งเป็นเวลาเพียง 19 เดือน ก่อนจะหัวใจวายถึงแก่อสัญกรรม ณ กรุงทาชเคนต์ ประเทศอุซเบกิสถาน ได้ตกลงขอความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลก และสหรัฐอเมริกา ภายใต้เงื่อนไขว่าอินเดียจักต้องปฏิรูปภาครัฐและภาคเกษตรกรรม มีมาตรการที่จะให้ภาคเอกชนมีบทบาททางเศรษฐกิจมากขึ้น และลดค่าเงินรูปี ในเดือนมีนาคมปี 1966 สองเดือนหลังเธอสาบานตนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อินทิราเดินทางเยือนวอชิงตัน เพื่อโน้มน้าวประธานาธิบดีลินดอน เบนส์ จอห์นสันให้ช่วยเหลืออินเดียทั้งทางอาหารและการเงิน จอห์นสันให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยอินเดียในด้านเทคโนโลยีอาหาร เมล็ดพันธุ์ และเงิน ในทางกลับกัน อินทิราต้องทำตามเงื่อนไขที่ศาสตรีได้ตกลงไว้แล้ว ซึ่งอินทิรายอมทำตาม และแม้ว่าจะช่วยให้ภาวะขาดแคลนอาหารบรรเทาลง (ซึ่งในภายหลังทำให้อินเดียมีอาหารพอเพียงตามรูปแบบการปฏิวัติสีเขียว) และเลี่ยงมิให้อินเดียต้องล้มละลาย แต่ชาวอินเดียรู้สึกโกรธเคืองเธอโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการลดค่าเงินรูปี นักการเมืองฝ่ายซ้ายวิพากษ์การกระทำของเธอในทำนองว่า สังคมนิยมอินเดียต้องถือกะลาขอทานจากทุนนิยมสหรัฐฯ

ความรู้สึกโกรธเคืองของชาวอินเดียต่อการลดค่าเงินรูปี รวมทั้งการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากฝ่ายซ้ายทำให้อินทิราต้องรีบทบทวนจุดยืนของพรรคทันที เธอรีบชูอัตลักษณ์ของพรรคที่พ่อเคยสร้างไว้ นั่นคือ สังคมนิยมแบบดัดแปลงที่ยึดหลักฆราวาสนิยม ผลที่ตามมาคือ เธอร่วมลงนามประณามสหรัฐฯ ในเรื่องเวียดนาม ซึ่งทำให้จอห์นสันโกรธไม่น้อย และการช่วยเหลือของสหรัฐฯ ต่ออินเดีย แม้จะเกิดขึ้น แต่ก็เป็นไปอย่างล่าช้า การเชิดชูฆราวาสนิยมก็ใช่ว่าจะทำให้เธอปลอดจากการวิพากษ์ พวกฮินดูสุดโต่งเริ่มผนวกกำลังต่อต้านเธอมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตราบจนทุกวันนี้ ก็เป็นลักษณะสำคัญที่ทำให้พรรคคองเกรสที่ยึดมั่นฆราวาสนิยมแตกต่างจากพรรคภารตียชนตาที่มีองค์ประกอบความเป็นฮินดูอย่างชัดแจ้ง ท่ามกลางการโจมตีจากทั้งฝ่ายขวาและซ้าย อินทิรารู้สึกโดดเดี่ยวทางการเมือง แต่เธอไม่เคยย่อท้อ เธอเริ่มตระหนักแล้วว่า การที่เธอยังไม่ได้ลงเลือกตั้งในฐานะผู้นำพรรคเองนั้น เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เธอต้องยอมต่อแรงกดดันของหลายฝ่าย ดังนั้นแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เธอจะต้องหาฉันทานุมัติท่ามกลางอุดมการณ์ทางการเมืองและความต้องการที่หลากหลาย อินทิราพยายามสื่อสารกับประชาชนโดยตรงในเรื่องราวต่างๆ รวมถึงเรื่องการตัดสินใจลดค่าเงินรูปี

ในเดือนมีนาคมปี 1967 อินทิราชนะเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง แม้พรรคคองเกรสจะสูญเสียคะแนนเสียงอีก แต่เธอพอใจกับชัยชนะนี้ เธอค่อนข้างมั่นใจแล้วว่าพลังประชาชนนี่แหละที่จะเป็นเครื่องมือขจัดคนที่ขวางทางเธอในพรรค เธอเลือกคนที่สวามิภักดิ์ต่อเธอดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง และในปี 1967 เริ่มเปิดศึกกับกลุ่มที่ต่อต้านเธอมาตลอดเมื่อสภาต้องเสนอชื่อประธานาธิบดีหลังจากสรเวปัลลิ ราธากฤษณันกำลังจะหมดวาระ กลุ่มที่คัดค้านเธอต้องการให้ราธากฤษณันเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง แต่อินทิราต้องการให้นักการศึกษาชาวมุสลิมชื่อ ดร. ซากีร์ ฮุสเซนเป็นประธานาธิบดี เธอมิได้รังเกียจราธากฤษณัน แต่เนื่องจากเขามักจะทำตัวคล้ายครูสอนเธอในเรื่องต่างๆ อินทิราจึงไม่ประสงค์จะมีประธานาธิบดีที่ทำตัวเป็นครูท่ามกลางความไร้เสถียรภาพของเธอและอินเดีย เธอประสงค์จะมีประธานาธิบดีที่เธอควบคุมได้ และแล้วเธอก็ทำสำเร็จโดยใช้ประเด็นฆราวาสนิยมโจมตีฝ่ายที่ต่อต้านการที่เธอสนับสนุนฮุสเซน ครั้นเมื่อประธานาธิบดีฮุสเซนถึงแก่อสัญกรรม เช่นเดียวกันอีก เธอเลือกสนับสนุนวี.วี. คีรี แทนเอ็น. สัญชีวะ เรดดี เพราะบุคคลหลังคือคนที่กลุ่มเห็นต่างจากเธอสนับสนุน เธอเริ่มขจัดคนที่เห็นค้านเธอไปทีละคนสองคน หนึ่งในนั้นคือโมราร์จี เดซาย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของเธอ การกดดันของเธอทำให้เดซายลาออกจากตำแหน่งในปี 1969 ณ บัดนี้ นักการเมืองหลายคนที่เคยปรามาสเธอเป็นตุ๊กตาโง่หรือเด็กสาวนั้น ล้วนตระหนักแล้วว่าเป็นความเพ้อเจ้อที่พวกเขาสร้างกันขึ้นมาเองทั้งสิ้น

ในเวลาเดียวกัน อินทิรามุ่งสู่นโยบายสังคมนิยมหรือประชานิยมของเธอ ที่ชัดเจนมากคือการนำธนาคารพาณิชย์ 14 แห่งมาเป็นของรัฐในปี 1969 เธอมองออกแล้วว่า หากธนาคารจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชนบท เป็นเรื่องจำเป็นที่เธอจะต้องควบคุมธนาคารได้ ในเวลาเดียวกัน นี่ย่อมหมายถึงการตัดท่อน้ำเลี้ยงของนักการเมืองที่เธอเห็นเป็นอุปสรรคบั่นทอนการดำรงตำแหน่งของเธอด้วย ผลที่ตามมาคือ พรรคสวตันตระซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของรัฐบาลเธอหลังจากปี 1967 เป็นต้นมาต้องพังทลายเมื่อขาดแหล่งทุน ในขณะที่กลุ่มต่อต้านภายในพรรคและนักธุรกิจจำนวนหนึ่งก็ยอมสยบเธอบ้าง ในการเลือกตั้งปี 1971 เธอลงเลือกตั้งด้วยสโลแกน ‘Garibi Hatao’ (ขจัดความจน) ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านเธอประสงค์ที่จะ ‘Indira Hatao’ (ขจัดอินทิรา) ชัยชนะที่เธอได้รับอย่างถล่มทลายทำให้เธออยู่เหนือพรรคในฐานะผู้นำแห่งชาติ แลดูคล้ายผู้นำในระบบประธานาธิบดีมากกว่าผู้นำในระบบรัฐสภาแบบสหพันธรัฐนิยม แม้การแก้ปัญหาความยากจนจะมีผลน้อยมาก แต่ในช่วงแรกประชาชนกลับมองเธอเสมือนพระแม่ทุรคามาโปรด คนจนจำนวนไม่น้อยที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการธนาคารและไม่เคยเข้าธนาคารแม้แต่ครั้งเดียวในชีวิตเคารพรักเธอมาก พวกเขามองว่า สิ่งที่เธอได้กระทำนั้นเป็นสิ่งดีสำหรับคนจน ในขณะที่คนรวยกำลังได้รับบทเรียนอย่างสาสมเป็นครั้งแรก

ในด้านการต่างประเทศ ปี 1971 ถือเป็นปีที่อินเดียต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก สหรัฐฯ ที่นำโดยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ เฮนรี คิสซินเจอร์ ประสงค์จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะเห็นแล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างโซเวียตกับจีนกำลังย่ำแย่ บุคคลที่สหรัฐฯ ใช้เพื่อเปิดทางการสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนคือยะห์ยา ข่าน ผู้นำปากีสถานตะวันตก อินเดียรู้สึกหนักใจมากเพราะทั้งจีนทั้งปากีสถานคือประเทศศัตรู ทั้งคู่เคยรบกับอินเดียมาแล้ว และในสงครามระหว่างจีนกับอินเดียในปี 1962 ยวาฮัรลาลถึงกับต้องขอความช่วยเหลือจากประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดีแห่งสหรัฐฯ เพราะโซเวียตเห็นภาพใหญ่ของสงครามเย็นที่สัมพันธ์กับวิกฤตการณ์คิวบาสำคัญกว่าประเด็นอินเดีย ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างโซเวียตกับอินเดียกำลังแน่นแฟ้นขึ้นเรื่อยๆ เคนเนดีได้แสดงความเห็นใจโดยสั่งเรือบรรทุกเครื่องบิน ยู. เอส. เอส. เอนเตอร์ไพรส์ ให้ไปช่วยอินเดีย แต่เพิกถอนคำสั่งในวันต่อมาเพราะจีนประกาศหยุดยิง แม้สงครามดังกล่าวจะจบลงในระยะเวลาค่อนข้างสั้น แต่ก็มีผลทางจิตวิทยาอันรุนแรงต่อสถานภาพของยวาฮัรลาลและอินเดียในเวทีโลก

สหรัฐฯ ตอบแทนข่านโดยยกเลิกการคว่ำบาตรทางอาวุธต่อปากีสถาน และสนับสนุนข่านในการปราบปรามชาวปากีสถานตะวันออก ซึ่งล้วนเพิกเฉยต่อรายงานเกี่ยวกับความโหดร้ายที่เขียนขึ้นโดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ประจำการในปากีสถานตะวันออก การปราบปรามของข่านนั้น นอกจากจะทำให้ชาวปากีสถานตะวันออกจำนวนมากต้องเสียชีวิต และมีสตรีอีกจำนวนมากถูกทำร้ายข่มขืนแล้ว ยังทำให้ชาวปากีสถานตะวันออกต้องหนีไปพึ่งใบบุญอินเดียมากถึง 10 ล้านคน อินทิราจำเป็นต้องสร้างนโยบายเพื่อเผชิญกับวิกฤตการณ์นี้ เธอพยายามป่าวประกาศเรื่องนี้ให้โลกรู้ และพยายามแก้ปัญหานี้อย่างสร้างสรรค์ที่สุด เมื่อเธอเห็นแล้วว่า สหรัฐฯ และจีนสนับสนุนปากีสถานอย่างค่อนข้างหนักแน่น ซึ่งคงไม่ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางอื่นได้ เธอจึงตัดสินใจลงนาม ‘สนธิสัญญาสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ’ กับโซเวียตในวันที่ 9 สิงหาคม ปี 1971 เพื่อเป็นประกันว่าตนจะมีพันธมิตรคอยช่วยเหลือหากจีนหรือสหรัฐฯ คิดโจมตีอินเดีย และแล้วเธอก็อนุญาตให้อวามีลีกแห่งปากีสถานตะวันออกที่ประสงค์จะปลดแอกตนจากปากีสถานตะวันตกจัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นในกัลกัตตา (โกลกาตา) พร้อมกับอนุญาตให้อวามีลีกจัดตั้งกองกำลังมุกติบาหินี โดยมีทหารอินเดียคอยให้ความช่วยเหลือ

ในขณะเดียวกัน อินทิราเริ่มรณรงค์ทางการทูตเพื่อหล่อหลอมทัศนะของประชาคมโลกว่าทั้งหมดนี้คือวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่ส่งผลต่ออินเดีย ในต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 1971 อินทิราเดินทางเยือนนิกสันที่เป็นปรปักษ์และวิงวอนต่อสาธารณชนอเมริกันข้ามหัวนิกสันในเรื่องนี้ ซึ่งสภาคองเกรสสหรัฐฯ ได้รีบจัดหางบช่วยเหลือผู้ลี้ภัยนี้บ้าง อินทิรารู้แล้วว่าคงไม่มีรัฐบาลใดที่จะแม้เพียงประณามการกระทำของปากีสถาน นี่ย่อมหมายความว่าภาระวิกฤตการณ์ปากีสถานตะวันออกเป็นสิ่งที่อินเดียต้องแบกรับแต่เพียงผู้เดียว ในวันที่ 3 ธันวาคม ปี 1971 ภาวะตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานเริ่มหนักขึ้นเมื่อปากีสถานเริ่มโจมตีฐานที่ตั้งของมุกติบาหินีในอินเดียและบางหมู่บ้านของอินเดียด้วยปืนใหญ่ พร้อมกับระเบิดลานบินในปัญจาบ วันถัดมาอินทิรา “นักการเมืองผู้แกร่งกล้า” ประกาศสงครามกับปากีสถาน ทหารอินเดียใช้เวลาเพียง 12 วันบุกยึดกรุงธากา นายทหารอินเดียระดับผู้บังคับบัญชาเป็นผู้รับการจำนนของกองกำลังทหารปากีสถานมากกว่า 9 หมื่นนาย เมื่อชนะแล้ว อินทิรารีบประกาศหยุดยิงทันที เพื่อให้ประชาคมโลกเห็นว่าการใช้กำลังของอินเดียเป็นไปเพื่อความมั่นคงแห่งชาติของอินเดียเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าอินเดียจำเป็นต้องปกป้องตนเองจากการรุกรานเข้ามาของผู้ลี้ภัยชาวปากีสถานตะวันออกที่นำมาสู่ภาวะตึงเครียดทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหันต์ การให้เหตุผลเช่นนี้ย่อมหมายความด้วยว่า อินทิราต้องการให้วิกฤตการณ์นี้เป็นเรื่องภายในของภูมิภาคเอเชียใต้ แต่หากจีนกับสหรัฐฯ คิดโจมตีอินเดีย เธอก็มีโซเวียตคอยหนุนอยู่ ทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่อินทิราวางไว้ เรือบรรทุกเครื่องบิน ยู. เอส. เอส. เอนเตอร์ไพรส์ ที่เคนเนดีเคยส่งมาช่วยพ่อเธอสู้กับจีนเมื่อ 9 ปีก่อน มาบัดนี้แม้จะจอดรออยู่ในอ่าวเบงกอลเพื่อช่วยปากีสถานก็มิได้โจมตีอินเดีย เช่นเดียวกันจีนก็ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
ภาพแรก : อินทิรา คานธี กับ ริชาร์ด นิกสัน ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1971 (เครดิต : วิกิมีเดีย) ภาพที่สอง : พลโท เอ.เอ.เค. นิไอซี (ขวา) แห่งกองทัพปากีสถานลงนามจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อ พลโท เจ.เอส. อโรรา (ซ้าย) แห่งกองทัพอินเดีย ในวันที่ 16 ธันวาคม 1971 (เครดิต : วิกิพีเดีย)
ชัยชนะเหนือปากีสถานของอินทิรานอกจากจะทำให้ปากีสถานตะวันออกสถาปนาตนเป็นบังคลาเทศแล้ว ยังทำให้อินเดียกลับมามีสถานภาพอันน่าเกรงขามในเอเชียใต้ด้วย ต่อแต่นี้ไป อินทิราก็จะสำแดงความเป็นเจ้าในภูมิภาคนี้ ในศรีลังกาเธอร่วมมือกับผู้นำศรีลังกาปราบปรามกลุ่มซ้ายจัด และร่วมมือกับศรีลังกาในการประกาศให้คาบสมุทรอินเดียเป็นเขตสันติภาพปลอดกองกำลังนาวีของชาติมหาอำนาจ แม้เธอจะพยายามหาข้อตกลงระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับพยัคฆ์ทมิฬ แต่เธอก็เพิกเฉยต่อการฝึกพยัคฆ์ทมิฬและการติดอาวุธให้พยัคฆ์ทมิฬในอินเดียตอนใต้ ในทางตอนเหนือของเอเชียใต้ เมื่อสถาบันกษัตริย์ของเนปาลเริ่มรู้สึกรำคาญการพึ่งพาอินเดียด้านความมั่นคง เพราะมีแรงกดดันจากจีนด้วย อินเดียก็กดดันสำนักพระราชวังเนปาลให้ดำเนินการตามแบบของอินเดีย เมื่ออินทิราหมดความอดทนกับสิกขิม ราชอาณาจักรในอารักขาของอินเดีย ในหลายเรื่องโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับปัญหาชาติพันธุ์และความสัมพันธ์กับอินเดีย ในปี 1974–1975 เธอจึงผนวกสิกขิมเป็นรัฐที่ 22 ของอินเดียเสียเลย ทุกวันนี้ชาวเนปาลหลายคนยังกังวลอยู่ว่า อาจจะถูกอินเดียผนวกเข้าเป็นอีกรัฐหนึ่งของอินเดียก็ได้ ดังวลี ‘Sikkimization of Nepal’ สำหรับภูฏานที่ติดกับจีนและไม่มีทางออกทะเลเช่นเดียวกับเนปาลและสิกขิม อินทิราดำเนินความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องและสนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ เพราะภูฏานมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับอินเดีย

ในปี 1974 อินทิราตอบโต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ด้วยการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ อินเดียซึ่งไม่เคยลงนามด้วย มองว่าสนธิสัญญาดังกล่าวเลือกปฏิบัติ อนุญาตให้ 5 ประเทศ (สหรัฐฯ โซเวียต อังกฤษ ฝรั่งเศส และจีน) มีอาวุธนิวเคลียร์อย่างชอบธรรม ในขณะที่กีดกันมิให้ที่เหลือโดยเฉพาะอินเดียครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ การดำเนินการต่างประเทศของเธอเป็นที่นิยมชมชอบของผู้คนไม่น้อย โดยเฉพาะในปี 1971 เมื่อเธอเอาชนะปากีสถานได้อย่างเด็ดขาด การครอบงำในเอเชียใต้ของอินทิราประสบความสำเร็จในระดับสำคัญ แม้จะมีปากีสถานคอยท้าทายอยู่เป็นระยะๆ ‘ลัทธิอินทิรา’ ที่เลียนแบบ ‘ลัทธิมอนโร’ ของสหรัฐฯ หมายความอย่างสั้นๆ ว่า อำนาจจากภายนอกอย่าแหยมเข้ามาในเอเชียใต้หรือมหาสมุทรอินเดียเด็ดขาด นี่คือเหตุผลสำคัญด้วยว่าทำไมอินเดียในปัจจุบันจึงมองนโยบาย ‘One Belt One Road’ ของจีนด้วยความคลางแคลงใจ โดยเฉพาะเส้นทางจากจีนผ่านปากีสถาน

ความนิยมชมชอบในตัวอินทิราโดยเฉพาะที่มาจากชัยชนะของเธอต่อปากีสถาน ทำให้เธอเหลิงอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ เธอเริ่มห้อมล้อมด้วยผู้คนที่ประจบประแจงเธอ เดฟ กานต์ บารูอาห์ นักการเมืองจากอัสสัมเป็นที่รู้จักในฐานะนักการเมืองที่ประจบสอพลอเธอมากคนหนึ่ง เมื่อเขากล่าวว่า “อินเดียคืออินทิรา อินทิราคืออินเดีย” เอ็น.เค. เศษัน เลขาส่วนตัวของอินทิราเล่าให้ฟังในภายหลังว่า “ท่านนายกรัฐมนตรีกลายเป็นคนหยิ่งยโสอย่างยิ่ง … ท่านชอบที่คนเรียกว่าพระแม่ทุรคา” ความเป็นเผด็จการของเธอส่วนหนึ่งมาจากสัญชัย คานธี ลูกชายคนเล็กของเธอด้วย ซึ่งได้ผลาญเงินหลวงในหลายโครงการ

ในช่วงปลายปี 1974 ภาพลักษณ์ของอินทิราเริ่มมัวหมอง การขจัดความยากจนของเธอไม่เป็นไปตามสัญญาที่เธอให้ไว้ ในขณะที่สินค้ามีราคาแพงขึ้นเพราะราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น ในปี 1975 การประท้วงของกลุ่มคนต่างๆ สะท้อนความโกรธเคืองที่มีต่อรัฐบาลคอรัปชั่นและมีความประพฤติไม่เหมาะสม ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน พรรคของเธอต้องประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งซ่อมที่คุชราต และศาลฎีกาในอัลลาฮาบัดตัดสินว่าเธอกระทำผิดในการหาเสียงเลือกตั้งเพื่อที่นั่งในสภาล่างของเธอ หัวหน้าฝ่ายค้านได้ข่มขู่ที่จะใช้อารยะขัดขืนเพื่อบีบบังคับให้เธอลาออกจากนายกรัฐมนตรี และแม้แต่ที่ปรึกษาของพรรคก็ขอให้เธอลาออก แต่เธอกลับเชื่อสัญชัยแล้วชักชวนให้ประธานาธิบดีประกาศภาวะฉุกเฉินในวันที่ 26 มิถุนายน ปี 1975 ในภาวะดังกล่าวเธอสั่งจับกุมนักการเมืองหลายคนที่เคยร่วมกับมหาตมาคานธีและยวาฮัรลาลในการต่อสู้เรียกร้องเอกราช ในเวลา 21 เดือนของการประกาศภาวะฉุกเฉิน อินเดียพ้นจากความเป็นประชาธิปไตย มีการระงับสิทธิพลเมือง มีผู้ถูกจับกุมคุมขังนับพันคนรวมถึงสื่อมวลชนผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และสื่อก็ถูกคัดกรองอย่างหนัก

ในช่วงภาวะฉุกเฉิน อินทิราเริ่มใช้มาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ รวมถึงการกวาดล้างสลัมและทำหมันหมู่สำหรับผู้มีลูกสองคนแล้ว ด้วยหลายปัจจัย เธอประสบความสำเร็จในการกู้เศรษฐกิจอินเดียได้ในระดับหนึ่ง นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอยกเลิกภาวะฉุกเฉินและยุบสภาประกาศเลือกตั้ง เพราะเธอเชื่อว่ายังพอมีโอกาสที่จะชนะเลือกตั้งได้ แต่ก็เป็นไปได้ด้วยว่า เธอกังวลว่าหากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไปทหารคงจะทำรัฐประหารยึดอำนาจอย่างแน่นอน นักการเมืองที่ได้รับการปล่อยตัวหลังอินทิราประกาศยุบสภาได้รวมตัวกันและเอาชนะเธอในการเลือกตั้งปี 1977 ผลของการเลือกตั้งทำให้พรรคชนตานำโดยเดซายก้าวสู่อำนาจ เดซายผิดพลาดมาก เพราะแทนที่ตนจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ กลับเน้นที่จะคิดบัญชีกับอินทิราและพรรคพวก ทั้งๆ ที่หลายข้อกล่าวหาต่ออินทิราหรือสัญชัยมิอาจพิสูจน์ในศาลได้อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 1977 ถึงพฤศจิกายนปี 1978 อินทิราถูกจำคุกในข้อหาคอรัปชั่น ผลของการติดคุกนี้ทำให้ประชาชนที่หนึ่งปีก่อนหน้านี้เคยกลัวความเป็นเผด็จการของเธอรู้สึกสงสารเธอขึ้นมาทันที เดซายรีบชิงลาออกจากตำแหน่งก่อนจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ และจรัน ซิงห์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกไม่กี่สัปดาห์ก่อนจะยุบสภาประกาศเลือกตั้งใหม่

ในเดือนมกราคมปี 1980 อินทิราชนะเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในนามพรรคคองเกรส ไอ (ไอย่อมาจากอินทิรา) ที่เธอใช้เวลาก่อตั้งไม่นานนัก ในเดือนมิถุนายน 1980 สัญชัยเสียชีวิตเพราะเครื่องบินตก อินทิรารู้สึกเสียใจมาก เธอไม่เคยทำใจกับการจากไปของลูกชายคนโปรดนี้ได้เลย อีกครั้งหนึ่งแล้วที่บุคคลที่เธอรักมากต้องจากไป ตั้งแต่การจากไปของสัญชัย เธอดูเหมือนจะสูญเสียสัญชาตญาณอันเฉียบคมและการตัดสินใจอันเด็ดขาดไปไม่น้อยเลย ผลที่ตามมาอีกคือ อินทิราเรียกราจีฟ ลูกชายคนโตที่ยึดอาชีพนักบินให้มาเล่นการเมือง และเพราะการยืนกรานของแม่ ราจีฟจึงยอมหันมาเป็นนักการเมือง

การดำเนินการทางการเมืองของเธอหลังปี 1980 เป็นไปในลักษณะของการเมืองเพื่อความอยู่รอดเสียมากกว่า แม้ว่าอินทิรายังยืนยันความเชื่อแบบสังคมนิยมอยู่ แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจห้าปีฉบับที่หกกลับแตกต่างอย่างมากกับแผนในช่วงขจัดความจน โครงการและนโยบายประชานิยมถูกแทนที่ด้วยโครงการที่สอดคล้องกับเสถียรภาพทางการคลังมากขึ้น มีการมุ่งเน้นจำกัดค่าใช้จ่ายสาธารณะ การส่งเสริมรัฐวิสาหกิจซึ่งอินทิราเคยเรียกว่า “สิ่งน่าเศร้า” ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการกระตุ้นภาคเอกชนด้วยการลดหย่อนกฎเกณฑ์และปล่อยตลาดทุนให้เสรีกว่าเดิม ซึ่งระหว่างปี 1980–1985 ทำให้อินเดียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 5.7 นโยบายของเธอที่เน้นการปฏิบัติได้จริงดังกล่าวมานี้ ถือเป็นรากฐานในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจอินเดียอย่างสำคัญยิ่ง ช่วงปีท้ายๆ ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของอินทิราเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ประกอบด้วยความรุนแรงในอินเดียหลายส่วน เธอสั่งดำเนินปฏิบัติการดาวสีฟ้า ใช้กองทัพบุกจู่โจมวัดฮัรมันดีร์ ซาฮิบ (หรือวิหารทองคำ) ของชาวซิกข์ในเมืองอมฤตสระ เพื่อกวาดล้างผู้ก่อการร้ายชาวซิกข์ที่เรียกร้องให้สร้างประเทศใหม่สำหรับชาวซิกข์ที่เรียกว่าคาลิสถาน เพราะผู้ก่อการร้ายเหล่านี้กบดานอยู่ในวัด และด้วยการตัดสินใจนี้เองทำให้เธอถูกสังหารในวันที่ 31 ตุลาคม 1984 โดยองครักษ์ชาวซิกข์สองคน เบอันต์ ซิงห์ และสัตวันต์ ซิงห์

การดำเนินนโยบายภายในและการต่างประเทศของอินทิรามีนัยสำคัญต่ออินเดียร่วมสมัยอย่างน้อยที่สุด 4 ประการ ได้แก่

(1) อินทิราได้ทำให้นักการเมืองอินเดียเห็นแจ้งว่า นักการเมืองไม่จำเป็นต้องอิงอยู่กับฐานเสียงเดิมเสมอ นักการเมืองคือผู้กำหนดประเด็นปัญหาสำคัญอันสอดคล้องกับชีวิตประชาชน และนำเสนอทางออกต่อประเด็นปัญหานั้น ดังที่เธอได้กระทำให้เห็นในการเลือกตั้งปี 1971 นอกจากเธอจะกำหนดประเด็นความยากจน และชี้ให้เห็นมาตรการที่จะนำมาใช้แล้ว เธอยังสำแดงให้ประชาชนเห็นด้วยว่า ฝ่ายที่คิดต่างจากเธอมุ่งขัดขวางการแก้ปัญหาของเธออย่างไร ทั้งนี้ผู้อ่านจำต้องตระหนักด้วยว่า เธอหาญกล้าที่จะท้าทายนักการเมืองหลายคนที่มีประวัติชัดเจนในการต่อสู้เพื่อเอกราชอินเดีย การที่เติบโตในตระกูลเนห์รูในอานันท์ภวัน การที่เธอต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชอินเดีย และการที่เธอช่วยพ่อและสามีในด้านการเมือง คงเป็นส่วนสำคัญในการหล่อหลอมความมั่นใจและทักษะทางการเมืองในตัวเธอ ทุกวันนี้ ทักษะทางการเมืองหลายประการของเธอปรากฏอยู่ในตัวนเรนดรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียคนปัจจุบัน ในขณะที่โซเนีย (ในอินเดียจะไม่อ่านว่าซอนยา) และราหุล คานธี (ลูกสะใภ้และหลานชายของอินทิรา) ซึ่งเป็นทายาททางการเมืองของอินทิรากลับทำตัวคล้ายนักการเมือง เช่น เดซายที่หมกมุ่นอยู่กับการโจมตีอินทิราเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ดังที่เพื่อนนักวิชาการชาวอินเดียคนหนึ่งสะท้อนความเห็นของชาวอินเดียในปัจจุบันอย่างสำคัญว่า “โมดีไม่ได้เลิศไปเสียทุกเรื่องหรอก แต่ฝ่ายค้านนำโดยโซเนีย-ราหุลนอกจากจะไม่มีอะไรใหม่เสนอแล้ว ยังมุ่งโจมตีโมดีแต่อย่างเดียวด้วย”

(2) อินทิราได้สำแดงให้เห็นว่า ประชาชนอินเดียมีลักษณะขัดแย้งกันอยู่ไม่น้อย ในแง่หนึ่ง ชาวอินเดียเห็นชอบกับประชาธิปไตย แต่ในอีกแง่หนึ่ง พวกเขาก็เรียกร้องหาผู้นำที่แข็งกร้าว กล้าคิดกล้าทำ นี่เป็นลักษณะหนึ่งที่เห็นได้ชัดในตัวอินทิราและโมดี แม้การที่โมดีประกาศยกเลิกธนบัตรมูลค่า 500 และ 1,000 รูปี และนำระบบจัดเก็บภาษีสินค้าและการบริการเดียวมาแทนระบบภาษีต่างๆ ของแต่ละพื้นที่จะมีวัตถุประสงค์ต่างจากการที่อินทิรานำธนาคารพาณิชย์ 14 แห่งมาเป็นของรัฐ แต่ในแง่ของความแข็งกร้าวแล้ว โมดีแลดูคล้ายอินทิราไม่น้อยเลย จำต้องตระหนักด้วยว่า ยิ่งนับวันจีนซึ่งเป็นประเทศที่อินเดียจับตามองอย่างใกล้ชิดพัฒนาอย่างรวดเร็ว ชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยยิ่งเห็นความสำคัญของการมีผู้นำที่แข็งกร้าว เพื่อให้อินเดียพัฒนาทันจีนและก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจโลกด้วย

(3) อินทิราได้ทำให้อินเดียเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า การปฏิบัติได้จริงเพื่อความอยู่รอดของชาติหรือเสถียรภาพของชาติอยู่เหนืออุดมการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ในด้านเศรษฐกิจ แม้เธอจะใช้คำว่าสังคมนิยมเพื่อชูอัตลักษณ์ของพรรค แต่ในความเป็นจริง โดยเฉพาะในช่วงสมัยสุดท้ายของเธอ หลักปฏิบัตินิยมทำให้อินเดียเข้าสู่หนทางการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างช้าๆ ก่อนจะมีการปฏิรูปขนานใหญ่ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เมื่อสงครามเย็นจบลง ในด้านการต่างประเทศก็เช่นกัน เธอได้ทำให้เห็นแล้วว่า อุดมการณ์เป็นเรื่องรอง แม้อินเดียจะยึดหลักไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่เธอก็หันไปหาโซเวียตเพราะเธอมองเห็นว่า การมีพันธมิตรที่จะคอยหนุนอินเดียเป็นเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แม้การแก้ปัญหาระหว่างประเทศของอินทิราจะเป็นไปในลักษณะปฏิกิริยาตอบโต้โดยปราศจากยุทธศาสตร์แม่บท แต่การกระทำของเธอได้วางรากฐานให้การต่างประเทศอินเดียอย่างสำคัญยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นมหาอำนาจในเอเชียใต้ การมีกองกำลังอันน่าเกรงขาม หรือการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ที่ทันสมัย ล้วนเป็นฉันทานุมัติในหมู่นักการเมืองอินเดียวันนี้

(4) การที่อินทิราถูกสังหารโดยองครักษ์ชาวซิกข์บ่งบอกด้วยว่าการสร้างชาติของอินเดียยังเป็นความท้าทายที่สำคัญอยู่ แม้จะมีระบบสหพันธรัฐนิยมและความเป็นฆราวาสนิยมรองรับโดยรัฐธรรมนูญอินเดีย แต่ปัญหาว่าด้วยอัตลักษณ์ที่หลากหลายทางวัฒนธรรมยังมีผลถึงทุกวันนี้ องครักษ์ชาวซิกข์ที่มีหน้าที่ปกป้องอินทิราแต่กลับสังหารเธอนั้น คงจะถามตนเองด้วยว่า สิ่งใดสำคัญกว่ากันระหว่างการเป็นชาวอินเดียที่ได้รับมอบหมายให้เป็นองครักษ์นายกรัฐมนตรี กับการเป็นชาวซิกข์ที่จะต้องล้างแค้นอินทิราที่สั่งกองกำลังโจมตีศูนย์รวมจิตใจของซิกข์ ราจีฟก็ถูกสังหารเพราะเรื่องราวเกี่ยวกับชาติพันธุ์ทมิฬ ซึ่งสัมพันธ์กับทั้งศรีลังกาและอินเดียใต้ และวันนี้แม้ความขัดแย้งเกี่ยวกับซิกข์และทมิฬจะเบาบางลงไปบ้าง แต่ความพยายามของโมดีในการสร้างรัฐฮินดูคงจะประสบแรงต่อต้านไม่น้อย ชาวทลิต (ที่คนไทยนิยมเรียกว่าจัณฑาล) จำนวนมากก็หันไปปลดแอกตนเองออกจากศาสนาฮินดูโดยการเปลี่ยนไปยึดพุทธศาสนาตามแบบของ ดร. ภิมราว รามยี อัมเบ็ดการ์ กลุ่มชาติพันธุ์ในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียยังเป็นความท้าทายที่รัฐบาลอินเดียยังต้องเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอาเซียน

หลังจากอ่านทั้งสามตอนแล้ว ผู้อ่านแต่ละคนจะจดจำอินทิรา คานธีอย่างไรนั้น ไม่อาจทราบได้ แต่ที่ทราบแน่คือ หนึ่งวันก่อนเธอถูกสังหาร เธอได้กล่าวสุนทรพจน์ในเมืองภูพเณศวร รัฐโอฑิศา ว่า “วันนี้ฉันยังมีชีวิตอยู่ พรุ่งนี้ฉันอาจจะไม่อยู่แล้วก็ได้ ... ฉันจะรับใช้ชาติต่อไปจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย และเมื่อฉันตาย ฉันพูดได้ว่า โลหิตทุกหยาดของฉันจะเอิบอาบถิ่นอินเดียให้แข็งแกร่งขึ้น”
น่าจะเป็นภาพถ่ายของอินทิรา คานธี ในปี 1984 ปีที่เธอถูกสังหาร (เครดิต : India Today)
กำลังโหลดความคิดเห็น