xs
xsm
sm
md
lg

สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


พายุเทคโนโลยีกำลังพัดพาสายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงมาสู่โลกในปัจจุบัน และอนาคตในเกือบทุกด้าน ไม่เว้นแม้แต่รูปแบบของการสื่อสารที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

การปิดตัวของนิตยสารหลายฉบับนั้นทำให้หลายคนคิดว่าหนังสือกำลังจะตายในความหมายว่า คนอ่านหนังสือน้อยลงแต่ไม่หรอก เพราะคนยุคนี้เปลี่ยนแปลงจากอ่านบนกระดาษมาอ่านบนจอแทน แล้วผลพวงที่ตามมาในวงการพิมพ์ก็คือธุรกิจโรงพิมพ์ สายส่ง สำนักพิมพ์ และบรรณาธิการกำลังล่มสลาย

โลกก็มีวิวัฒนาการของมันแบบนี้จากจารึกบนผนังถ้ำ หน้าผา ลงบนแผ่นหิน กระดานชนวน กระดาษมาสู่จออิเล็กทรอนิกส์ทั้งในจอคอมพิวเตอร์และมือถือ คนบางคนอาจวิตกต่อสังคมก้มหน้าในทุกวันนี้ แต่แท้จริงแล้วการก้มหน้านี่เองที่เป็นการสื่อสารกับโลกภายนอก ดังนั้นถ้าถามว่ามันน่าตระหนกไหม น่าวิตกกังวลไหม ผมกลับคิดว่าไม่เลยผู้ใหญ่รุ่นนี้อาจจะมีความคุ้นชินกับหนังสือกระดาษ แต่คนรุ่นหลังกลับคุ้นชินกับคอมพิวเตอร์มากกว่าและวิวัฒนาการก็ย่อโลกทั้งโลกมาไว้ในจอมือถือนี่เอง

แต่ในฐานะคนที่เติบโตมากับการทำงานหนังสือพิมพ์มาทั้งชีวิต พ่อทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ตัวผมเองถูกชวนไปทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตั้งแต่ยังเรียนมัธยม และเข้ามาทำงานหนังสือพิมพ์ส่วนกลางทันทีที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกทม. ถ้าจะนับที่ทำเป็นอาชีพจริงๆ จนบัดนี้ก็ 34 ปีมาแล้วยังทำอาชีพนี้อยู่ ผ่านระบบการทำงานด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลายตั้งแต่ตัวเรียงตะกั่วมาจนถึงคอมพิวเตอร์ที่มีพัฒนาเปลี่ยนไปหลากรูปแบบในแต่ละห้วงเวลา ผมมองเห็นว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อด้อย

การเปลี่ยนแปลงทำให้รับรู้ได้ว่าโลกยุคใหม่การนำเสนอข่าวสารไม่ใช่การผูกขาดของคนที่เรียกตัวเองว่าสื่อมวลชนอีกแล้ว แต่ทุกคนมีเครื่องมือที่จะเผยแพร่ข่าวสาร ความคิด ทัศนคติไปสู่สังคมได้อย่างเท่าเทียมกัน

ในอดีตนั้นกระบวนการผลิตหนังสือจะต้องมีบรรณาธิการในการพิจารณาตัดสินในการนำลงตีพิมพ์หรือรวมเล่ม ถ้าเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวก็จะมีกระบวนการตั้งแต่นักข่าว รีไรเตอร์ หัวหน้าข่าว และบรรณาธิการ บรรณาธิกรณ์ เริ่มจากนักข่าวส่งข่าวมายังสำนักพิมพ์ รีไรเตอร์รับข่าวเรียบเรียงข่าว หัวหน้าข่าวตรวจสอบ บรรณาธิการตรวจทานส่งผ่านไปถึงบรรณาธิกรณ์หรือในวงการเรียกว่าซับเอดิเตอร์จับประเด็นพาดหัวข่าววางองค์ประกอบและลำดับความสำคัญของข่าว โดยทั้งหมดต้องผ่านการประชุมหารือกันเป็นองค์คณะที่ว่ามา

คนทำงานแต่ละคนต้องมีประสบการณ์การทำงานในระดับที่ต่างกัน รีไรเตอร์ก็จะผ่านมาจากนักข่าวที่มีประสบการณ์ระดับหนึ่งก่อนไปเป็นหัวหน้าข่าว บรรณาธิการมีชั่วโมงการทำงานที่บ่มเพาะสะสมมา

ต่อมาเมื่อมีข่าวออนไลน์อายุงานของคนทำงานสั้นลง บางคนทำงานไม่กี่ปีก็มานั่งรับข่าวเขียนข่าวรีไรต์ข่าว พาดหัวข่าว คนรุ่นใหม่บางคนที่เก่งที่ดีก็มีนะครับ แต่สะท้อนให้เห็นว่าชั่วโมงการทำงานและการผ่านประสบการณ์มันสั้นลง ด้านหนึ่งก็เพราะคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ก็ไม่คุ้นชินกับการนั่งทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ แต่ก็ยังพอถือได้ว่ามีระบบการกลั่นกรองระดับหนึ่งอยู่ แม้จะหลวมๆ และสั้นลงก็ตาม

ต่อมาถึงยุคที่คนเป็นสื่อในยุคของโซเชียลมีเดีย มีคนที่มีความรู้ในการจับประเด็นแสดงความเห็นวิเคราะห์ข่าวเกิดขึ้นเป็นเอกเทศจำนวนมาก มีคนติดตามจำนวนมาก คนเหล่านี้ถ้าเมื่อก่อนจะแสดงความเห็นก็ต้องส่งบทความไปให้บรรณาธิการคัดสรร แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้วสามารถแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียได้เลย ก็มีหลายคนที่ทำได้ดีน่าชื่นชมกลายเป็นเน็ตไอดอลเกิดขึ้นจำนวนมาก ผลที่ตามมาคือข้อมูลข่าวสารถูกส่งลงสู่สังคมด้วยเวลาที่เร็วและถี่ขึ้น

กระบวนการตั้งสำนักข่าวง่ายกว่าแต่ก่อน โดยเปิดตัวทางโซเชียลมีเดียและขยายเป็นเว็บ จึงมีสำนักข่าวเกิดขึ้นจำนวนมากทั้งของจริงและของเก๊ มีกระบวนการทำงานที่มีระบบบรรณาธิการและไม่มีระบบ มีความหลากหลายมากขึ้น และต้องยอมรับว่ามีสำนักงานของคนรุ่นใหม่ในโลกโซเชียลที่มีการคิดประเด็นขยายประเด็นได้ดีไม่น้อย แต่สำนักข่าวเว็บห่วยๆ ไร้ระบบคอยลอกข่าวจับประเด็นในโซเชียลมาพาดหัวโดยไม่สนใจว่าจริงหรือเท็จมีมากกว่า

ขณะเดียวกันระบบการตรวจสอบตรวจทานของระบบบรรณาธิการมันหายไป เพราะสื่อเดิมนั้นจะต้องตรวจสอบข่าวสารที่มาที่ไปให้ชัดเจนเสียก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าเน็ตไอดอลบางคนจะไม่มีระบบตรวจสอบนะครับ เท่าที่ติดตามหลายคนมีครับตรวจสอบข้อมูลก่อนจะแสดงความเห็น มีระบบความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล มีความสามารถในการเรียบเรียง แต่ประเด็นคือมันมีคนแบบนี้ไม่ได้ทุกคนหรอกครับ ในภาวะที่ทุกคนเป็นสื่อ

แต่การไม่มีระบบกลั่นกรองตรวจสอบก่อนเผยแพร่ข่าวเสียก่อนนั้น ภาระมันก็ตกมาที่ผู้เสพเองว่า เมื่อเราเสพข่าวนั้นแล้ว เราเชื่อตามทันทีหรือตั้งคำถามหรือตรวจทานจากแหล่งอื่นก่อนจะเชื่อถือหรือไม่ ผมคิดว่ามีหลายคนที่มีทักษะในการเสพสื่อโซเชียลแบบนี้นะ แต่ผมเชื่อว่าส่วนใหญ่ทำไม่ได้ พวกนี้แหละที่ตกเป็นเครื่องมือของเน็ตไอดอลปลอมๆหรือพวกเว็บข่าวปลอมที่ได้รับข่าวสารอะไรมาก็เชื่อหมด

แล้วสื่อระบบเก่าเมื่อสื่อสารผิดพลาดแล้วจะต้องแก้ไขชี้แจง แต่ในโซเชียลมีเดียการกล่าวหาอะไรกันก็ง่ายขึ้น คนที่มีคนติดตามมากพูดอะไรไปคนก็เชื่อ เมื่อส่งอะไรที่ผิดพลาดไป หลายคนไม่ยอมแก้ไข ผ่านแล้วผ่านเลยไม่รับผิดชอบอะไร

เคยมีคนถามผมว่า จะทำอย่างไรจึงจะแยกแยะได้ว่า อันไหนเป็นสำนักข่าวหลักที่เชื่อถือได้ อันไหนไม่น่าเชื่อถือ ผมเคยตอบแบบง่ายๆ ว่า ก็ดูว่าเราคุ้นชินกับชื่อสำนักข่าวหรือเปล่า แต่ถามว่าการตอบแบบนั้นถูกไหม ผมว่าก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เพราะอย่างที่ว่ามาว่ามีสำนักข่าวที่เกิดใหม่ในโลกโซเชียลที่ใช้ความคิดและมุมมองของคนรุ่นใหม่ก็นำเสนอแง่มุมและประเด็นข่าวได้ดีไม่น้อยกว่าสื่อหลักรุ่นเก่าที่หันมาทำสื่อผ่านโซเชียลมีเดียเหมือนกัน เพียงแต่สำนักข่าวพวกคลิกเบทลอกข่าวพาดหัวเรียกคลิกไม่สนใจจริงหรือเท็จนั้นมันมีมากเหลือเกินจนยากจะแยกแยะได้ ซึ่งต้องใช้ความสามารถและวิจารณญาณของคนอ่านในการแยกแยะด้วยตัวเอง

การรับข่าวสารวันนี้จึงเป็นเรื่องทักษะเฉพาะตัวเฉพาะทางของแต่ละคนที่จะต้องทำหน้าที่เหมือนเป็นบรรณาธิการให้กับตัวเอง ประสบการณ์ ความรู้ ระบบคิดของแต่ละคนนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เท่าเทียมกันได้

ผมไม่รู้ว่าจะรับมือกับกระบวนการสื่อสารที่ทุกคนเป็นสื่อได้อย่างไร รวมทั้งไม่รู้ว่าจะทำให้ทุกคนที่มีความสามารถเท่าเทียมกันในการรับข่าวสารได้ อาชีพบรรณาธิการอาจจะตายแล้ว แต่จะทำอย่างไรให้ความสามารถในบรรณาธิการมันเกิดขึ้นกับผู้รับข่าวสารทุกคน คิดว่าคงไม่มีทาง

https://www.facebook.com/surawich.verawan

กำลังโหลดความคิดเห็น