xs
xsm
sm
md
lg

‘ราหุล คานธี’ ลุ้นวาระขึ้นสู่อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์


ถ้าพูดถึงการเมืองอินเดีย ประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตยมีพลเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ตระกูล “คานธี” ยังถูกยอมรับว่าเป็นชื่อชั้นที่ยัง “ขายได้” ถ้าประวัติไม่เสื่อมเสียหายจนสิ้นสภาพ และทายาทคนล่าสุด “ราหุล คานธี” ได้ก้าวเข้าใกล้จุดสูงสุด

แม้เป้าหมายจะดูใกล้ ก็ยังห่างไกลความเป็นจริง เพราะการจะคว้าตำแหน่งผู้นำชาติที่มีมากกว่า 200 ชนเผ่าและภาษา ไม่ใช่เรื่องง่าย เพียงแต่ว่าตระกูลคานธีเป็นชื่อติดปากชาวบ้าน ไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการเมือง ผ่านวิกฤตมา 2-3 รุ่นแล้ว

ที่ผ่านมา มีผู้นำมาจากพรรคอื่น ได้สร้างผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาชนเช่นกัน รวมทั้งคนปัจจุบัน นายนเรนทรา โมดี เป็นคนติดดิน และผ่านการพบปะผู้นำชาติมหาอำนาจ มีลูกเล่นเข้าตา ชาวบ้านติดใจเช่นกัน ถ้าไม่มีวิกฤต อาจอยู่ได้นาน

แต่ “ราหุล คานธี” ย่อมต้องพยายามสุดฤทธิ์ เพราะเป็นคานธีคนสุดท้ายในวาระเช่นนี้ ถ้าจะรอรุ่นต่อไป ก็คงอีกนานหลายสิบปี คือรุ่นลูกและรุ่นหลาน การเมืองยุคดิจิตอลมีข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายได้ง่าย ไม่ใช่ความเชื่อแบบชนเผ่าอีกต่อไป

เมื่อเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค “ราหุล คานธี” เริ่มปราศรัยโจมตีนายโมดี โดยอ้างว่าพรรคบีเจพีของนายโมดีว่าเป็นพรรคแห่งความเกลียดชัง ขณะที่พรรคคองเกรสเป็นพรรคสะท้อนให้เห็นความสำคัญของความรัก แต่ก็ไม่ได้อธิบายว่าอย่างไร

จากนั้นก็ได้คุยอีกว่าตนเองได้นำอินเดียเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคแห่งความทันสมัย ขณะที่ความเป็นผู้นำของนายโมดีได้พยายามนำอินเดียย้อนยุคเข้าสู่ยุคกลาง หรือยุคโบราณ มีการใช้อำนาจกดขี่และความรุนแรงกับประชาชน

นักการเมืองหนุ่มยังเปรียบตัวเองว่าเป็นคนมีอุดมการณ์ ขณะที่บอกว่านายโมดีเป็นคนซึ่งดิ้นรนต่อสู้มุ่งเน้นการแสวงหาความมีชื่อเสียงเพื่อตัวเองเท่านั้น

ความได้เปรียบของ “ราหุล คานธี” คือได้เป็นหัวหน้าพรรคคองเกรส ซึ่งเป็นฐานสำคัญ และพรรคเคยมีผู้นำเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 3 คน เป็นผู้สืบสกุล “คานธี” แม้บางช่วงจำเป็นต้องยอมรับการขาดตอนเพราะปั้นทายาทรับช่วงไม่ทัน

มีช่วงหนึ่งทายาทเป็นคนเชื้อชาติอิตาเลียน นางโซเนีย คานธี ภรรยาม่ายของนายราจีฟ คานธี อดีตนายกฯ ซึ่งถูกฆาตกรรม เหมือนมารดา อดีตนายกฯ คนดัง นางอินทิรา คานธี ที่ถูก 2 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสังหารอย่างโหดเหี้ยม

ทั้งแม่และลูกตายโหง นางอินทิราถูกสังหาร ส่วนสัญชัย คานธี ขับเครื่องบินตกเสียชีวิต ราจีฟถูกผู้หญิงพกระเบิดอาร์ดีเอ็กซ์จุดระเบิดขณะที่ก้มลงกราบเท้า ทำให้นางโซเนียต้องรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคคองเกรสแทน แต่ไม่ได้นั่งเก้าอี้นายกฯ

ช่วงเวลาที่ขาดทายาทจากสกุล “คานธี” อินเดียมีนายกฯ คั่นช่องว่างรอคนในสกุล “คานธี” ต่อไป ถึงอย่างไรก็ยังขายได้ เมื่อ “ราหุล” เติบใหญ่ตามลำดับในพรรคอินเดีย เนชั่นแนล คองเกรส หรือพรรคคองเกรส ก็ถึงเวลาเป็นหัวหน้าสัปดาห์ก่อน

ถ้าประสบความสำเร็จ อินเดียจะมีผู้นำอีกรุ่นสืบทอด แม้ไม่ต่อเนื่องจากสกุล “คานธี” โดยเริ่มต้นจากทวดของ “ราหุล” นายเยาวหราล เนห์รู บิดาของนางอินทิรา คานธี ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกหลังจากอินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ

“ราหุล” เกิดในปี 1970 อายุย่างเข้า 48 ปี ขณะที่ราจีฟรับตำแหน่งนายกฯ ด้วยอายุเพียง 40 ปี ถือว่าเป็นผู้นำอินเดียซึ่งมีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

ถ้า “ราหุล” ได้เป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นรุ่นที่ 4 ของตระกูล เหมือนราชวงศ์มหาราชาทางการเมืองเช่นกัน ขณะนี้จึงเป็นเพียงฝ่ายค้าน หายใจรดต้นคอนายกฯ ประชาชนนิยมปัจจุบัน นายโมดี หัวหน้าพรรคภาราติยะ ชนตะ (บีเจพี)

นายโมดี ได้เฝ้ามองการเติบใหญ่ของ “ราหุล” มาโดยตลอด ตนเองเป็นผู้นำติดดิน มาจากคนวรรณะศูทรซึ่งต่ำชั้นในวรรณะอินเดีย และยังเรียก “ราหุล” ว่าเป็น “เจ้าชาย” เพราะถือว่าเป็นคนมีชนชั้น มีระดับสกุลรุนชาติ ในรัฐคุชราตของอินเดีย

จุดสำคัญที่จะทำให้นายโมดีอยู่ได้ยาวนานหรือไม่คือความสามารถในการจัดการเรื่องเศรษฐกิจ ที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 6.3 เปอร์เซ็นต์ แม้จะยังดูไม่เลวนัก แต่ก็ยังต่ำสุดใน 3 ปี และต่ำกว่าจีน ซึ่งสามารถขยายตัวได้ 6.8 เปอร์เซ็นต์

การเลือกตั้งท้องถิ่นในรัฐคุชราตซึ่งพรรคของโมดีพ่ายแพ้อย่างมากได้ทำให้พรรคบีเจพีเสียราคาไปมาก และหนุนส่งให้พรรคคองเกรสเข้าสู่จุดผู้ท้าชิงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นโมดียังมีเวลาในความพยายามฟื้นฟูความนิยมเพื่ออยู่ต่อ

ความได้เปรียบของโมดีคือการได้อยู่ในอำนาจ และสามารถทำแต้ม ถ้าไม่มีวิกฤตหนักหนาสาหัสเกินไป ขณะที่ราหุล คานธีต้องพยายามหาจุดอ่อนเพื่อเจาะยางผู้นำคนปัจจุบัน ซึ่งได้พิสูจน์ฝีมือให้เห็น แต่ว่าราหุลยังไม่มีโอกาสได้กระทำเช่นนั้น

ที่น่ากลัวก็คือ การที่อดีตนายกฯ สกุลคานธีต้อง “ตายโหง” 2 คน น่าจะสร้างความหวาดเสียวเรื่องอาถรรพ์ไม่น้อย ไม่ต่างจากตระกูลเคนเนดี้ของสหรัฯ เช่นกันซึ่งทั้งประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี และน้องชาย โรเบิร์ต ประสบชะตากรรมเดียวกัน

อินเดียมีปัญหาด้านก่อการร้าย ทั้งเป็นกลุ่มท้องถิ่นและกลุ่มอื่นๆ เช่นอัลกออิดะห์และกลุ่มไอซิสซึ่งพยายามแทรกซึมเข้ามาวางรากฐานและสร้างอิทธิพล ที่ผ่านมามีเหตุร้ายหลายครั้ง มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ดังเช่นกรณีบุกเข้าตีโรงแรมในมุมไบ

นอกจากนั้นยังมีปัญหาการเผชิญหน้าบริเวณชายแดนติดต่อกับประเทศจีน และปากีสถาน มีเหตุปะทะด้วยอาวุธเบาประปราย โดยทุกฝ่ายระวังไม่ให้ปัญหาบานปลายจนควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะกับจีนซึ่งมีประชากรมากพอฟัดพอเหวี่ยงกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น