ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลายๆ คนเมื่อนึกถึงกระบวนการพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ก็มักจะนึกถึงประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ที่ญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงตนเองจากประเทศที่พ่ายแพ้สงครามสิ้นเนื้อประดาตัวไปสู่ประเทศที่ร่ำรวยและพัฒนา หรือไม่ก็สาธารณรัฐเกาหลีหรือเกาหลีใต้ที่บ้านแตกสาแหรกขาดหลังสงครามเกาหลี ปี 1953 ที่แม้แต่ธนาคารโลกก็ตราหน้าอย่างสิ้นหวังว่าประเทศผู้ยากจนติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกแห่งนี้ ไม่มีหนทางพัฒนาเศรษฐกิจได้ แต่เกาหลีใต้ก็ทำสำเร็จในช่วงปลายของทศวรรษ 1980 แน่นอน อีกประเทศหนึ่งที่หลายๆ คนก็คงจะนึกถึงด้วยนั่นก็คือ จีน พญามังกรผงาดขึ้นจากสถานะคนป่วยแห่งเอเชียในช่วงปลายทศวรรษ 1978 และกลายเป็นมหาอำนาจกุมชะตาเศรษฐกิจโลกได้อย่างแท้จริงในช่วงต้นของสหัสวรรษใหม่ด้วยอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าร้อยละ 10 ต่อเนื่องกันยาวนานกว่า 20 ปี
แต่น้อยคนนักครับที่จะนึกถึง อินเดีย
หลายๆ คนพิจารณาด้วยซ้ำว่าอินเดียคือประเทศที่มีแต่คนยากจน ด้อยพัฒนา ขาดแคลน และล้าหลัง แต่ผมอยากจะบอกคุณผู้อ่านว่า สำหรับผมแล้วอินเดียคือประเทศที่พัฒนาการทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในโลกครับ ถ้าไม่เชื่อ ผมจะเล่าให้ฟังครับ
บริษัทอินเดียตะวันออกของสหราชอาณาจักร หรือ British East India Company เริ่มต้นกระบวนการเข้ายึดครองอินเดียในปี 1757 และครอบครองทั้งดินแดนภารตะได้ในปี 1958 ก่อนที่จะถ่ายโอนอำนาจการบริหารจัดการอาณานิคมแห่งนี้ให้กับรัฐบาลอังกฤษในนาม British Raj ภายหลังการออกกฎหมาย Government of India Act 1858 ในวันที่อังกฤษเข้ายึดครองอินเดีย อังกฤษได้ยึดครองประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก เพราะในเวลานั้น มูลค่าผลผลิตของทั้งโลก หรือ GDP ของทั้งโลก 23-24% มาจากดินแดนชมพูทวีปแห่งนี้ (ในความเป็นจริง ในที่สุดอังกฤษจะได้ครอบครองประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกถึง 2 ประเทศเพราะในปี 1860 อังกฤษก็รบชนะสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 กับราชวงศ์ชิงของจีน และในขณะนั้นผลผลิตของอินเดียกับจีนรวมกันประมาณ ครึ่งหนึ่งของ GDP ของโลกใบนี้)
แน่นอน เมื่ออินเดียตกเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ ทรัพยากรของอินเดียไม่ได้ถูกใช้ผลิตเพื่อประชาชนอินเดียอีกต่อไป หากแต่ถูกขูดรีดทรัพยากรทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรบุคคล ไปเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้เจ้าอาณานิคม นั่นคือ อังกฤษและสหราชอาณาจักร
อินเดียได้รับเอกราชภายหลังการแบ่งแยกประเทศออกเป็นส่วนๆ โดยอังกฤษในปี 1947 ในปีนั้น มูลค่าผลผลิตของอินเดียคิดเป็นเพียง 3% ของมูลค่าผลผลิตของทั้งโลก จากประเทศที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 1 หรือ 2 ของโลกในปี 1858 อังกฤษใช้เวลาเพียงไม่ถึง 90 ปีทำให้อินเดียกลายหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอินเดียในช่วง 47 ปีสุดท้ายของการครอบครองโดยอังกฤษอยู่ที่ร้อยละ 0.0001% ต่อปีระหว่างปี 1900 ถึงปี 1947 ประชาชนอินเดียร้อยละ 90 ดำรงชีวิตอยู่ใต้เส้นขีดความยากจน อัตราการรู้หนังสือของคนอินเดียอยู่ที่ร้อยละ 17 และอายุขัยเฉลี่ยของชาวอินเดียอยู่ที่ 27 ปีเท่านั้น นั่นคือสถานการณ์ในวันที่อินเดียตกต่ำถึงขีดสุด
แต่ตลอด 70 ปี ของกระบวนการสร้างชาติ ปัจจุบันอินเดียมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 7.5 - 7.8% ต่อปี และกลายเป็นประเทศที่มีเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของโลก อินเดียกำลังกลับมาทวงแชมป์ครับ
ด้านคุณภาพชีวิต ปัจจุบันประชาชนชาวอินเดียที่ดำรงชีวิตใต้เส้นขีดความยากจน ลดลงจากร้อยละ 90 ในปี 1947 เหลือร้อยละ 22 ในปี 2015 ในขณะที่อัตราการรู้หนังสืออ่านออกเขียนได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นร้อยละ 75 และอายุขัยเฉลี่ยก็ยืนยาวขึ้นเป็น 66 – 68 ปี ปัจจุบันอินเดียคือประเทศที่ผลิตแพทย์ และวิศวกรจำนวนมากที่สุดในโลก
สำหรับผม นี่คือความสำเร็จของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอินเดียครับ
แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ ถ้าเราจะพิจารณาเรื่องของการพัฒนาประเทศในอนาคต การพัฒนาการทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีระดับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก้าวไกลครับ และถ้าจะดูว่าประเทศไหนมีเทคโนโลยีก้าวหน้าก้าวไกลที่สุด ผมแนะนำให้พิจารณาครับ ว่าประเทศไหนมีเทคโนโลยีอวกาศเป็นของตนเอง ประเทศนั้นคือ ประเทศที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าก้าวไกลครับ เพราะเทคโนโลยีอวกาศคือการผสมผสานศาสตร์ทุกแขนงเข้าด้วยกันครับ ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะ การแพทย์ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ฯลฯ และต้องไม่ลืมนะครับว่าการจะส่งยานขึ้นไปบนวงโคจรต้องการศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากร คน การทำงาน และเงินทุนขึ้นสูง ดังนั้นประเทศไหนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของตนเองได้ ก็เชื่อเถอะครับว่าเขามีโอกาสในการพัฒนาสูง
จนถึงปัจจุบันมีเพียง 2 ประเทศในโลกเท่านั้นครับที่ส่งยานอวกาศไปสำรวจดาวอังคารได้ แน่นอน ประเทศแรกคือ สหรัฐอเมริกา และประเทศที่ 2 ที่ทำได้สำเร็จเกิดขึ้นในปี 2014 ครับ เมื่อยาน Mangalyaan อ่านออกเสียงแบบไทยว่า มังคลายาน ได้เข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารและเริ่มต้นส่งข้อมูลกลับมายังโลก จากชื่อยานอวกาศคงไม่ต้องให้ผมเฉลยนะครับว่า อินเดียทำสำเร็จครับ และที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้นก็คือ งบประมาณของ Indian Mars Orbiter Mission อยู่ที่เพียง 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้นครับ (อินเดียสร้างจรวดและยานเดินทางไปดวงจันทร์ด้วยงบประมาณที่ต่ำกว่า Hollywood สร้างหนังสถานีอวกาศ เรื่อง Gravity ที่นำแสดงโดย Sandra Bullock เพียงหนึ่งเรื่อง สหรัฐฯ สร้างได้แค่หนัง แต่อินเดียสร้างยานอวกาศของจริงครับ) ดังนั้นในแง่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า อินเดียไม่เป็นรองใคร แต่ในแง่ของ Cost-Efficiencies Technology ก็ไม่มีใครเอาชนะอินเดียได้ครับ
และที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สะใจมากที่สุดในเรื่องของกลยุทธ์ก็คือ ในเมื่อปี 1858 อินเดียบอบช้ำเพราะวิสาหกิจ British East India Company ที่นำความอัปยศและการตกเป็นเมืองขึ้นมาให้ แต่เชื่อมั้ยครับว่า นักธุรกิจนาม Sanjiv Mehta ได้ซื้อบริษัทแห่งนี้มาอยู่ในมือของชาวอินเดียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว…