xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงานวิจัยการ “สูบกัญชา”ทำให้เพิ่มหรือลดความเสี่ยงมะเร็งกันแน่ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ณ บ้านพระอาทิตย์”
“ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์”

เมื่อกระแสข้อมูลข่าวสารรับทราบว่ากัญชาอาจเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่นำมาเสริมในการรักษาโรคมะเร็งได้ ก็ปรากฏว่ามีผู้คนมากมากแอบลักลอบมาครอบครองและหาทางใช้กัญชากับผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างผิดกฎหมาย ด้วยความหวังว่าจะทำให้คนในครอบครัว ญาตสนิทมิตรสหาย ได้หายป่วยจากโรคร้ายนี้ได้

และความน่าเป็นห่วงในสถานการณ์เช่นนี้มีอยู่ว่าการที่กัญชายังไม่สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายได้ ก็กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจของคนกลุ่มหนึ่งที่สามารถลักลอบนำกัญชาและน้ำมันกัญชามาขายให้กับผู้ป่วย และสำหรับคนที่ไม่มีศีลธรรมแม้รู้ว่ากัญชาเหล่านั้นปนเปื้อนเชื้อราเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยก็ยังแอบลักลอบนำมาขาย อีกทั้งยังมีผู้ป่วยถูกหลอกด้วยตัวยาที่มีสารสำคัญต่ำกว่ามาตรฐาน ด้วยเพราะการสกัดเหล่านั้นไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการสกัดเจือจางสารสำคัญในน้ำมันกัญชาแต่ก็กลับนำมาขายเพื่อทำกำไรสูงสุดแต่กลับไม่ค่อยได้ผล หรือได้ผลน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลทำให้ต้องนำมาใช้ในปริมาณที่มากผิดปกติ พ่อค้าเหล่านี้ทำมาหากินทำกำไรอย่างมหาศาลกับผู้ป่วยอย่างอำมหิตโหดเหี้ยม

ตราบใดถ้าไม่รีบแก้ไขกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ ปัญหากัญชาและสารสกัดกัญชาที่ไม่ได้คุณภาพและไม่ได้มาตรฐานแต่ราคาแพงที่นำมาใช้กับผู้ป่วยก็ยิ่งทวีความรุนแรงต่อไป

ผลประโยชน์ตามกลไกตลาดอุปสงค์และอุปทาน เมื่อกัญชาในประเทศไทยเป็นสิ่งผิดกฎหมายของที่ลักลอบก็ย่อมต้องมีราคาแพงกว่าตลาดโลกอยู่แล้ว

ยิ่งมีผู้คนรับรู้ประโยชน์ของกัญชามากขึ้น ก็มีความต้องการกัญชามากขึ้น ก็ยิ่งหาสินค้าได้ยากขึ้น ต้องแอบลักลอบอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น ทำกำไรมากขึ้น คุณภาพต่ำลง แถมยังให้เกิดการทุจริตจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐอย่างเป็นระบบมากขึ้น คนเหล่านี้ละโมบโลภมากจะไม่พอใจที่มีคนกลุ่มอื่นหรือคนหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวขับเคลื่อนรณรงค์ให้กัญชาสามารถนำมาใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ เพราะกลัวจะเสียผลประโยชน์ใต้ดินส่วนตนที่ทำกำไรมากมายมหาศาลอยู่ในขณะนี้

สารสำคัญที่ทั่วโลกกำลังสนใจในการใช้เพื่อช่วยผู้ป่วยมะเร็งคือสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สารเตเตร้าไฮโดรแคนนาบินอยด์ หรือที่เรียกย่อๆว่า THC ซึ่งออกฤทธิ์ทางจิตประสาท และสารสำคัญแคนนาบิไดออล หรือ CBD ซึ่งไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ซึ่งตราบใดที่กัญชายังเป็นสิ่งผิดกฎหมายก็จะไม่มีองค์กรใดสามารถใช้เครื่องมือตรวจวัดและรับรองคุณภาพและปริมาณสารสำคัญในกัญชาที่ผู้ป่วยกำลังแอบลักลอบใช้อยู่ได้เลย

รายงานของวารสารทางการแพทย์โรคมะเร็ง Journal of Clinical Oncology ตั้งแต่ พ.ศ.2534การสำรวจแบบสอบถามของผู้ใช้กัญชากว่า 1,045 คน ทำให้ทราบคุณประโยชน์ของกัญชาเบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปรากฏคือ “ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต” ได้แก่ ลดอาการคลื่นไส้อาเจียน ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยระงับอาการปวด และทำให้นอนหลับ [1] และประชาคมแพทย์รักษาโรคมะเร็งในสหรัฐอเมริกาAmerican Society of Clinical Oncology (ASCO) ได้ผลสำรวจแพทย์ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้กัญชากับผู้ป่วยมะเร็งที่ทำการคีโมนั้นสำหรับ “การบริหารจัดการอาการของผู้ป่วย”[2]

รวมประเทศแคนนาดาก็มีการใช้สารสกัดกัญชาในอัตราส่วน THC 1 ส่วน ต่อ CBD 1 ส่วนเพื่อมาลดอาการปวดของผู้ป่วยมะเร็งระยะแพร่กระจาย รวมถึงการนำมาใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคที่เกิดจากการอักเสบของปลอกประสาทในระบบประสาทส่วนกลาง (Multiple Sclerosis) [3]

นั่นก็หมายความว่าอย่างน้อยที่สุดกัญชาก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นการแพทย์เสริมการแพทย์แผนปัจจุบันที่รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในบางประเทศแล้ว

เฉพาะที่กล่าวมาข้างต้นก็ควรจะเพียงพอที่จะปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้แล้ว!!!

แต่ความคาดหวังของผู้ที่ใช้กัญชาทุกวันนี้มีมากไปกว่านั้น เพราะพบเบาะแสในงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ในกัญชาอาจจะสามารถต้านเนื้องอกหรือมะเร็งได้ ด้วย 3 กลไกสำคัญ ได้แก่

(1) ทำให้เซลล์มะเร็งตาย
(2) ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
และ (3) ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ของเซลล์มะเร็ง ซึ่งรวมถึงมะเร็งระยะลุกลามและแพร่กระจายด้วย [4] - [7]

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นทำให้สถาบันการศึกษาและบริษัทยาทั่วโลกหันมาวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาจำนวนมากอย่างก้าวกระโดดและรวดเร็ว เพราะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งเฝ้ารอความหวังอีกจำนวนมาก

แต่ผู้ป่วยโรคมะเร็งรวมถึงญาติพี่น้องทั้งหลายคนจะรองานวิจัยไม่ได้เช่นกัน แค่เพียงรู้ “เบาะแส” ว่า “มีโอกาสเป็นไปได้” ก็พร้อมจะทดลองและเสี่ยงผิดกฎหมายเพื่อจะรักษาชีวิตผู้ป่วยในทุกวิถีทาง

คำถามที่ผู้ป่วยและญาติทั้งหลายสงสัยกันมากที่สุดคือใช้วิธีไหนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด?

ทุกวันนี้มีผู้ป่วยคนไทยแอบลักลอบใช้ในหลายวิธี บางคนดำใบหรือดอกสดมาต้มดื่ม บางคนนำมาสูบ แต่ที่กำลังนิยมใช้กันมากที่สุดในเวลานี้คือรูปแบบของ “น้ำมันกัญชา”

แต่สารสกัด “น้ำมันกัญชา” ที่แอบสกัดหรือแอบใช้กันอยู่ในตลาดมืดในเวลานี้  ไม่มีใครสามารถตรวจสอบปริมาณสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ได้ ยิ่งมีการ “ผสม”กับน้ำมันชนิดอื่น เช่น น้ำมันมะพร้าว เพื่อทำให้เหลวตัวพอที่จะใช้งานได้ ผลก็คือผู้ป่วยยิ่งไม่สามารถตรวจสอบการเจือจางของสารสำคัญได้จริง (ยังไม่นับว่าถ้าผู้ผลิตเจือจางจนมีน้ำมันมะพร้าวเป็นส่วนใหญ่ ผู้ป่วยจะไม่มีทางทราบความจริงได้เลย) ปัจจัยนี้เองทำให้ปริมาณสารสำคัญมีความไม่แน่นอนในการรักษา รวมถึงผลข้างเคียงไม่ว่าจะมากหรือน้อยเกินไป

ส่วนวิธีการใช้น้ำมันกัญชาในทุกวันนี้ก็มีหลายรูปแบบ เช่น หยอดใต้ลิ้น กินผ่านแคปซูล เหน็บที่ทวารหนัก ทาผิวบริเวณเป้าหมาย ฯลฯ ที่กล่าวมาข้างต้นก็ล้วนแล้วแต่เป็นการพลิกแพลงประยุกต์ตามองค์ความรู้และความเชื่อของแต่ละบุคคล แต่เป้าหมายในวิธีการใช้ที่แตกต่างก็ด้วยมีความหวังว่าวิธีการใช้ที่ว่านั้นจะนำไปสู่การทำให้ “สารแคนนาบินอยด์ไปถึงเซลล์เป้าหมายได้ตรงและเร็วที่สุด”

อย่างไรก็ตาม สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่มีทั้งในกัญชามีผลข้างเคียงอยู่หลายประการ ได้แก่ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตตก ตาแดง หลอดลมขยายตัว กล้ามเนื้อคลายตัว [8] [9] และลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร” [10] ซึ่งหมายความว่าการใช้กัญชาจะต้องมีความรู้และความเข้าใจในผลข้างเคียงเหล่านี้มิให้เกิดอันตรายกับผู้ป่วยด้วย โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในรูปของ “สารสกัดเข้มข้นที่ได้จากน้ำมันกัญชา”

ทั้งนี้รายงานของกรณีการศึกษาของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวและมะเร็งสมองที่ปรากฏในวารสารทางการแพทย์ แม้จะมีผลบางประการว่าสารแคนนาบินอยด์ที่มีมากในกัญชาอาจมีผลตอบสนองทำให้ผู้ป่วยมะเร็งดีขึ้น แต่สุดท้ายก็ทำให้ผู้ป่วยทั้งหมดเสียชีวิตอยู่ดี ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าลำพังเพียงกัญชาอย่างเดียว ในลักษณะ “ยาเดี่ยว” อาจไม่สามารถเป็นคำตอบในการ “รักษาโรคมะเร็ง” ที่เกิดขึ้นในมนุษย์ได้ [11] [12] [13]

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยโรคมะเร็งยังไม่หมดหวังเสียทีเดียว เพราะแม้ผู้ป่วยโรคมะเร็งจากรายงานในกรณีศึกษาของวารสารทางการแพทย์จะเสียชีวิตทั้งหมดในการทดลองในโรงพยาบาล แต่กลับปรากฏรายงานข่าวสารของผู้ป่วยที่หายป่วยจากโรคมะเร็งซึ่งใช้กัญชาหรือกัญชงด้วยนั้นต่างงดเนื้อสัตว์ งดผลิตภัณฑ์จากสัตว์ งดน้ำตาล งดแป้ง ดื่มผักปั่นหรือสมุนไพร หรือ เครื่องเทศฤทธิ์ร้อนหลายชนิด [14] [15]

แม้แต่การใช้สมุนไพรไทยที่มีการเข้ากัญชาเป็นตำรับนั้น ก็มีโอกาสที่จะใช้ได้มีประสิทธิภาพผ่านภูมิปัญญาในอดีตมากกว่าในยุคปัจจุบันก็ได้ หากมีการวิจัยให้มีความชัดเจน [16] [17]

ความยุ่งยากและสลับซับซ้อนในเรื่องปริมาณของสารสำคัญในการสกัดกัญชา ตลอดจนความไม่แน่ถึงวิธีการทำให้สารแคนนาบินอยด์ไปถึงเป้าหมายหมายเซลล์มะเร็งให้ได้อย่างดีที่สุดได้อย่างไร ก็มีผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยได้ตั้งคำถามว่าจะสามารถใช้การสูบกัญชาแทนได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยมะเร็งปอด หรือระบบทางเดินหายใจ?

ผลงานวิจัยหลายชิ้นมีความขัดแย้งกัน บางงานวิจัยระบุว่ากัญชาเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น [18] ในขณะที่งานวิจัยอีกจำนวนหนึ่งกลับระบุว่าการสูบกัญชาไม่ได้สัมพันธ์กับโรคมะเร็งปอด [19][20][21]

ในทางตรงกันข้ามบางงานวิจัยกลับระบุว่าการสูบกัญชากลับเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก [19] เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งคอหอยส่วนปาก (Orophyngeal Cancer) แต่เสี่ยงต่อโรคมะเร็งที่ลิ้นลดลง [22]

ผลการศึกษาดัวกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการสูบกัญชายังมีผลการวิจัยไม่ชัดเจน และมีความขัดแย้งกันอยู่ว่าจะเพิ่มหรือลดความเสี่ยงโรคมะเร็งกันแน่!!!

ในขณะที่ผลการศึกษาในระดับเซลล์และโมเลกุลของประเทศแคนาดาได้สรุปว่ารูปแบบการสูบกัญชานั้นปรากฏหลักฐานที่มีน้ำหนักว่ามีสารก่อมะเร็งเกิดขึ้น [23] ในขณะที่การศึกษาเชิงระบาดวิทยายังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นที่ยังไม่มีความชัดเจนจากงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น จึงยังไม่สมควรแนะนำ “การสูบกัญชา” มาเป็นรูปแบบการรักษาโรคมะเร็งในขณะนี้ และการใช้รูปแบบอื่นอาจจะเหมาะสมกว่า

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
แห่งมหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1]Abrams DI: Integrating cannabis into clinical cancer care. Curr Oncol 23 (2): S8-S14, 2016.[PUBMED Abstract]
[2] Doblin RE, Kleiman MA: Marijuana as antiemetic medicine: a survey of oncologists' experiences and attitudes. J Clin Oncol 9 (7): 1314-9, 1991. [PubMed]
[3] Howard P, Twycross R, Shuster J, et al.:Cannabinoids. J Pain Symptom Manage 46 (1): 142-9, 2013. [PubMed]
[4] Guzmán M: Cannabinoids: potential anticancer agents. Nat Rev Cancer 3 (10): 745-55, 2003. [PubMed]
[5] Blázquez C, Casanova ML, Planas A, et al.: Inhibition of tumor angiogenesis by cannabinoids. FASEB J 17 (3): 529-31, 2003. [PubMed]
[6] Vaccani A, Massi P, Colombo A, et al.: Cannabidiol inhibits human glioma cell migration through a cannabinoid receptor-independent mechanism. Br J Pharmacol 144 (8): 1032-6, 2005. [PMC free article] [PubMed]
[7] Ramer R, Bublitz K, Freimuth N, et al.: Cannabidiol inhibits lung cancer cell invasion and metastasis via intercellular adhesion molecule-1. FASEB J 26 (4): 1535-48, 2012. [PubMed]
[8] Grotenhermen F, Russo E, eds.: Cannabis and Cannabinoids: Pharmacology, Toxicology, and Therapeutic Potential. Binghamton, NY: The Haworth Press, 2002.
[9] Guzmán M: Cannabinoids: potential anticancer agents. Nat Rev Cancer 3 (10): 745-55, 2003. [PUBMED Abstract] https://www.nature.com/articles/nrc1188
[10] Aviello G, Romano B, Izzo AA. Cannabinoids and gastrointestinal motility: animal and human. Eur Rev Med Pharmacol Sci. 2008 Aug;12 Suppl 1:81-93. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18924447
[11] Guzmán M, Duarte MJ, Blázquez C, et al.: A pilot clinical study of Delta9-tetrahydrocannabinol in patients with recurrent glioblastoma multiforme. Br J Cancer 95 (2): 197-203, 2006. [PMC free article] [PubMed]
[12] Velasco G, Sánchez C, Guzmán M: Towards the use of cannabinoids as antitumour agents. Nat Rev Cancer 12 (6): 436-44, 2012. [PubMed]
[13] Singh Y, Bali C. Cannabis Extract Treatment for Terminal Acute Lymphoblastic Leukemia with a Philadelphia Chromosome Mutation. Case Reports in Oncology. 2013;6(3):585-592. doi:10.1159/000356446. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3901602/
[14] สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช, เว็บไซต์ MGR Online, กัญชารักษามะเร็ง!! เปิดประสบการณ์ลับ ผู้ป่วยมะเร็งตับ หมอบอกตายแน่ แต่กัญชาช่วยไว้ได้! ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2559 16:11 น. (แก้ไขล่าสุด 12 สิงหาคม 2559 07:47 น.), แหล่งที่มา : URL: https://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9590000079216.
[15] Lincoln Horsley, THE SHARON KELLY STORY: HOW SHE BEAT HERLUNG CANCER WITH CANNABIS OIL. Cure Your Own Cancer Website, 1/8/2015
https://www.cureyourowncancer.org/the-sharon-kelly-story-how-she-beat-her-lung-cancer-with-cannabis-oil.html
[16] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,บทเรียนกรณีศึกษาน้ำมันกัญชง (Hemp Oil)ในผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว "มะเร็งหายแต่สุดท้ายกลับเสียชีวิต" !?, บทความในผู้จัดการสุดสัปดาห์ เผยแพร่เว็บไซต์ manageronline วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560
https://mgronline.com/daily/detail/9600000116067
[17] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,เปิดบันทึก “กัญชา” ใน 10 ตำรับยาแพทย์แผนไทยในรัชกาลที่ 5,บทความในผู้จัดการสุดสัปดาห์ เผยแพร่เว็บไซต์ manageronline วันที่ 24 พฤศจิกายน 2560
https://mgronline.com/daily/detail/9600000118625
[18] Berthiller J, Straif K, Boniol M, et al.: Cannabis smoking and risk of lung cancer in men: a pooled analysis of three studies in Maghreb. J Thorac Oncol 3 (12): 1398-403, 2008. [PubMed]
[19] Sidney S, Quesenberry CP Jr, Friedman GD, et al.: Marijuana use and cancer incidence (California, United States). Cancer Causes Control 8 (5): 722-8, 1997. [PubMed]
[20] Mehra R, Moore BA, Crothers K, et al.: The association between marijuana smoking and lung cancer: a systematic review. Arch Intern Med 166 (13): 1359-67, 2006. [PubMed]
[21] National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine: The Health Effects of Cannabis and Cannabinoids: The Current State of Evidence and Recommendations for Research. Washington, DC: The National Academies Press, 2017. [PubMed]
[22] Marks MA, Chaturvedi AK, Kelsey K, et al.: Association of marijuana smoking with oropharyngeal and oral tongue cancers: pooled analysis from the INHANCE consortium. Cancer Epidemiol Biomarkers Prev 23 (1): 160-71, 2014. [PMC free article] [PubMed]
[23] Health Canada: Marihuana (Marijuana, Cannabis): Dried Plant for Administration by Ingestion or Other Means. Ottawa, Canada: Health Canada, 2010.Available online. Last accessed October 18, 2017.


กำลังโหลดความคิดเห็น