xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟฟ้าไอคอนสยาม เส้นไม่ใหญ่จริง ทำไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


รถไฟฟ้าสายสีทองมีความยาวเพียง 1.8 กิโลเมตร วิ่งจากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสเชิงสะพานตากสินมาที่ถนนเจริญนคร สุดทางตรงหน้าโรงพยาบาลตากสิน ประกอบด้วย 3 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน

บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ชนะการประมูลก่อสร้างในวงเงิน 1,070 ล้านบาท วันที่ 15 ธันวาคมนี้ จะมีการเซ็นสัญญากับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด รัฐวิสาหกิจ ของ กทม.เจ้าของโครงการ และจะเริ่มก่อสร้างต้นปีหน้า มีกำหนดเสร็จภายใน 24 เดือน ซึ่งจะต้องมีการปิดการจราจรบางส่วนบนถนนกรุงธนบุรี ถนนเจริญนคร และถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน

รถไฟฟ้าสายนี้เป็นความต้องการของไอคอนสยาม ซึ่งเป็นโครงการศูนย์การค้า โรงแรม คอนโดมิเนียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์บริเวณคลองสาน ถนนเจริญนคร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของโครงการที่จะมาเที่ยว มาพักในโรงแรม หรือมาซื้อห้องชุดในโครงการ เพราะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอสได้

ประโยชนส่วนรวมที่จะได้จากรถไฟฟ้าสายสีทอง ในเรื่องการเดินทางที่สะดวกสบายขึ้น เป็นเพียงผลพลอยได้เล็กๆ น้อยๆ เทียบไม่ได้กับผลประโยชน์ที่ไอคอนสยามจะได้ ส่วนธุรกิจห้องแถวซึ่งมีอยู่มากมายในบริเวณนั้น ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งระหว่างก่อสร้าง และเมื่อสร้างเสร็จแล้ว

ไอคอนสยาม ผลักดันให้ กทม.สร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง โดยจะออกค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ 2 พันล้านบาทให้ เพราะตัวเองเป็นผู้ได้รับประโยชน์ กทม.จึงใช้เป็นข้ออ้างในการก่อสร้างว่า เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน

แต่รถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ไม่ใช่ของฟรีที่ไอคอนสยามสร้างให้อย่างที่ กทม.บอก เพราะไอคอนสยาม ขอสิทธิสัมปทานใช้พื้นที่สถานีขบวนรถทั้งหมดของรถไฟฟ้าสายนี้ สำหรับการโฆษณาประชาสัมพันธ์เป็นเวลานาน 20 ปี ซึ่งมูลค่าการใช้ประโยชน์พื้นที่โฆษณานี้อาจจะเท่ากันหรือมากกว่าค่าก่อสร้างที่ไอคอนสยามออกให้ก็ได้

รถไฟฟ้าสายสีทอง จึงไม่ใช่ของฟรีที่ไอคอนสยามออกเงินสร้างให้ แต่เป็นรถไฟฟ้าที่ไอคอนสยามออกเงินสร้างให้ก่อนแล้วให้ กทม.ผ่อนชำระคืน 20 ปี ในรูปของ ค่าเช่าพื้นที่โฆษณาที่ควรจะเป็นรายได้ของ กทม.

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ถ้าไม่ใช่เป็นความต้องการของไอคอนสยาม ไม่มีทางได้เกิด เพราะมีระยะทางสั้นๆ ไม่ถึง 2 กิโลเมตรในพื้นที่ที่เป็นย่านที่อยู่อาศัยที่ไม่หนาแน่น ศูนย์การค้าขนาดเล็ก วัด และโรงพยาบาลรัฐ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีระบบขนส่งมวลชน

นอกจากเชื่อมต่อขนผู้โดยสารจากรถไฟฟ้าบีทีเอสมายังไอคอนสยามแล้ว รถไฟฟ้าสายสีทองนี้ ไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ แม้ กทม.และบริษัท กรุงเทพธนาคม จะบอกกับสาธารณะว่า รถไฟฟ้าสายสีทองนี้ จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงในอนาคต สายหัวลำโพง บางบอน มหาชัย และจะมีการขยายรถไฟฟ้าสายสีทองให้ยาวต่อไปอีก 1 กิโลเมตร บนถนนสมเด็จเจ้าพระยาไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยายเส้นทางบางซื่อ-ราษฎร์บูรณะ

เมื่อพิจารณาข้อมูลทางกายภาพที่ตั้งของรถไฟฟ้าสายสีทองกับรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง พบว่า ไม่มีทางเชื่อมต่อกันได้เลย รถไฟฟ้าสายสีแดงหัวลำโพง มหาชัยอยู่ทางทิศตะวันออกตามแนวทางรถไฟ รถไฟฟ้าสายสีทองอยู่ทางทิศตะวันตกริมแม่น้ำเจ้าพระยาห่างกันเกือบหรือมากกว่า 10 กิโลเมตร

รถไฟฟ้าสายสีม่วงจากบางซื่อไปยังเขตราษฎร์บูรณะ เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินจะโผล่ขึ้นมาเป็นรางยกระดับบริเวณดาวคะนองห่างจากรถไฟฟ้าสายสีทอง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าลอยฟ้าราวๆ 4-5 กิโลเมตร นึกไม่ออกว่า จะเชื่อมต่อกันได้อย่างไร

กรุงเทพมหานครก็รู้ว่ารถไฟฟ้าสายสีทองไม่เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ยกเว้นรถไฟฟ้าบีทีเอส แต่จำเป็นต้องให้ข้อมูลว่า เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงกับสายสีม่วง เพื่อให้โครงการมีความสมเหตุสมผลในการก่อสร้างเท่านั้นเอง

ถ้าไม่ใช่เพราะเป็นรถไฟฟ้าที่ไอคอนสยามต้องการให้สร้าง โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองไม่มีทางได้เกิด เพราะไม่อยู่ในแผนแม่บทขนส่งมวลชนระบบราง หรือแผนแม่บทรถไฟฟ้าของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.เลย เป็นโครงการที่ กทม.ทำเองตามความต้องการของไอคอนสยาม

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทอง ยังเป็นโครงการที่ผิดกฎหมาย เพราะขัดกับมติ คณะรัฐมนตรี วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ที่มีมติกำหนดให้โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องสร้างเป็นระบบใต้ดินในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางภายในบริเวณ 25 ตารางกิโลเมตร และควรเป็นระบบใต้ดินในพื้นที่ 87 ตารางกิโลเมตร แต่เพราะเป็นรถไฟฟ้าที่ไอคอนสยามต้องการ ครม. คสช.จึงทำให้ถูกกฎหมายเสีย โดยมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคมปีนี้ ตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยซึ่งกำกับดูแล กทม.ยกเว้นรถไฟฟ้าสายสีทองไม่ต้องปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อ พ.ศ. 2537 ให้สร้างเป็นรถไฟฟ้ายกระดับได้

โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองหรือรถไฟฟ้าสายไอคอนสยาม จึงสะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ อิทธิพล บารมี ของเจ้าของโครงการได้อย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น