xs
xsm
sm
md
lg

มอบของขวัญSMEs คลอด10มาตรการ-อัดฉีด2แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


"สมคิด" นั่งหัวโต๊ะถกร่วมแบงก์รัฐ เอกชน กระทรวงอุตฯ สั่งทำมาตรการยกระดับSMEs ฐานราก "อุตตม" เตรียมคลอด 10 มาตรการชงครม.ปลายธ.ค.นี้มอบของขวัญปีใหม่ SMEs กว่า 1 ล้านรายมีเฮ! เข้าถึงการช่วยเหลือทุกระดับทั้งมาตรการที่ไม่ใช่การเงินและการเงิน โดยแบงก์รัฐเตรียมสินเชื่อไว้รองรับถึง 2 แสนล้านบาท พร้อมกางแผนปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย(SMEs เกษตร ) และ ยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงท่องเที่ยวหรือ CIV Plus

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างการเป็นประชุมมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0 ร่วมกับผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้บริหารแบงก์รัฐ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) หอการค้าไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) สมาคมเอสเอ็มอี เข้าร่วมประชุม เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ว่า การประชุมครั้งนี้ก็เพื่อหามาตรการที่จะช่วยเหลือ SMEs ที่จะลงไปยังระดับฐานรากมากขึ้นโดยเฉพาะเอสเอ็มอีขนาดเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน และรวมถึงมาตรการที่ไม่เกี่ยวกับการเงินที่จะทำให้มีความเข้มแข็งและสร้างผู้ประกอบการใหม่ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวและการเกษตรของไทย

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ภายในเดือนธันวาคมนี้จะเสนอแพคเกจมาตรการส่งเสริมและช่วยเหลือ SMEs รวม 10 มาตรการให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบและอนุมัติเพื่อมอบเป็นของขวัญให้กับ SMEs ในปี 2561 โดยจะมีทั้งแพคเกจการช่วยแหลือที่ไม่ใช่การเงินและมาตรการด้านการเงินที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินของรัฐรวมเกือบ 2 แสนล้านบาทซึ่งเม็ดเงินดังกล่าวคาดว่าจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 1 ล้านล้านบาทและมาตรการทั้งหมดคาดว่าจะให้ความช่วยเหลือSMEs ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย

" มาตรการเงินที่จะช่วยเหลือ SMEs เฉพาะแบงก์รัฐปีหน้าก็รวมแล้วถึง 2 แสนล้านบาทคาดว่าจะช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่น้อยกว่า 2 แสนรายแต่หากรวมกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ส่วนใหญ่ก็เริ่มหันมาจับลูกค้า SMEsก็จะมากถึง 3 แสนล้านบาทซึ่งบางมาตรการแบงก์รัฐอาจต้องมีการขอชดเชยดอกเบี้ยให้กับแบงก์รัฐ เนื่องจากจะเป็นการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ คาดว่าใช้เงินงบประมาณไม่มาก บางแบงก์สามารถปล่อยสินเชื่อได้เอง โดยไม่ต้องขอรับการชดเชยจากรัฐบาล"นายอุตตมกล่าว

สำหรับ 10 มาตรการสำคัญจะแบ่งเป็นแพคเกจที่เกี่ยวกับการเงินที่จะสนับสนุน SMEs ในปี 2561 รวมเกือบ 2 แสนล้านบาทได้แก่ 1.แพคเกจเสริมแกร่ง เพิ่มทุน ครอบคลุมทุก SMEs วงเงินเดิมมีการเสนอไว้ 70,000 ล้านบาทแต่การประชุมครั้งนี้รองนายกฯได้สั่งให้เพิ่มเป็น 90,000ล้านบาทที่คาดว่าจะก่อให้เกิดการจางงาน1.1แสนคนช่วย SMEs ได้ราว 7 หมื่นราย ประกอบด้วย กองทุนฟื้นฟู Micro SME คนตัวเล็กไม่มีหลักประกันดำเนินงานโดยสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม(สสว.) 20,000 ล้านบาท,SMEs ขนาดเล็กในชุมชนวงเงิน 50,000ล้านบาทและสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร อุปกรณ์หรือTransformation Loan 20,000ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีวงเงินที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอีอื่นๆ ได้แก่ บมจ.กรุงไทยวงเงิน 50,000 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 40,000 ล้านบาท ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธกส.) 15,000ล้านบาท ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์) 5,000 ล้านบาท

ส่วนมาตรการอื่นๆที่ไม่เกี่ยวกับการเงิน 9 มาตรการได้แก่ 1. การขยายบริการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม(ITC) ทั่วประเทศ 23 แห่งเพื่อยกระดับนวัตกรรม SMEs สู่การผลิตเชิงพาณิชย์ซึ่งขณะนี้เปิดแล้ว 9 แห่งและจะเพิ่มในปีหน้า อีก 14 แห่ง 2. ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ SMEs จำนวน 248 แห่งทั่วประเทศเพื่อรวมความช่วยเหลือทุกหน่วยงานผ่านระบบดิจิทัล บริการครบจบในจุดเดียว 3. Train The Coach ที่จะพัฒนาโค้ชเพื่อช่วยให้ SMEs ปรับตัวสู่ยุค 4.0 ประกอบด้วย Biz Transformer,Tech Expert,Biz Mentor 4. SME BIG DATA พัฒนาฐานข้อมูล SME ที่จะให้เข้าถึง SMEs 3ล้านราย

5.Big Brothers -ประชารัฐหรือพี่เลี้ยงน้องเพื่อบ่มเพาะแนวคิดธุรกิจและเทคโนโลยีผลักดัน SMEs สู่เวทีโลกตามแนวทางประชารัฐ 6. Digital Value Chain ผลักดันSMEs สู่การเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าในระดับสากล 7. Financial Literacy หรือโครงการเสริมแกร่ง SMEs รอบรู้ด้านการเงินเพื่อเตรียมพร้อมให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและปรับปรุงระบบบัญชีเพื่อผลักดันสู่ระบบบัญชีเดียว 8. SME StandDard Up ยกระดับ SMEs สู่มาตรฐานที่เหมาะสม พร้อมสร้างระบบมาตรฐานเฉพาะ 9. การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ เศรษฐกิจฐานรากดึงธุรกิจรายใหญ่ช่วยสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นตามแนวทางประชารัฐ

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาSMEs ในปี 2561 จะมุ่งกลุ่มฐานรากมากขึ้นโดยเฉพาะการยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชนซึ่งจะมุ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของโรงงาน โดยจะมีการดำเนินโครงการยกระดับอุตสาหกรรมชุมชนเชื่อมโยงการท่องเที่ยว(CIV Plus) โดยมีเป้าหมายการสร้างรายได้เพิ่มให้ชุมชนทั่วประเทศจากการท่องเที่ยวโดยกระทรวงฯจะร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยคาดหวังว่าจะยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชนให้มีรายได้เพิ่มไม่น้อยกว่า 25%

นอกจากนี้ยังจะมีโครงการปั้นนักธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปไทย(SMEs เกษตร) ตามแนวประชารัฐที่จะดำเนินการทุกภาค โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 600 กลุ่มทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นเกษตรแปรรูป 300 กลุ่มที่จะสร้างให้เป็นผู้ประกอบการ เกษตรอุตสาหกรรม 300 กลุ่มที่เน้นการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ผลที่คาดหวังคือการสร้างผู้ประกอบการเกษตรแปรรูปและ SMEs เกษตรเพิ่มึ้นได้ไม่น้อยกว่า 30% ส่งผลให้เศรษฐกิจชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 40%
กำลังโหลดความคิดเห็น