ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ถือได้ว่ามีความน่าเชื่อถือและมีอิทธิพลทำให้เกิดความหวาดกลัวและเข้าใจผิดอย่างมหันต์ว่าไขมันอิ่มตัวเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เพราะทำให้คอเลสเตอรอลสูงขึ้น และเป็นผลทำให้มนุษยชาติหันมาใช้ไขมันไม่อิ่มตัวในการปรุงอาหาร นั่นก็คืองานวิจัยการทดลองโรคหลอดเลือดหัวใจของมลรัฐมินิโซต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2516
งานวิจัยที่ว่าน่าเชื่อถือนี้ก็เพราะงานวิจัยดังกล่าวได้ใช้การสำรวจกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ถึง 9,423 คน และบางทีอาจจะเป็นงานวิจัยในมนุษย์ที่ใช้ประชากรมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในการ “ลดคอเลสเตอรอล” ด้วยการใช้ไขมันไม่อิ่มตัวประเภทที่มีกรดไขมันไลโนเลอิก หรือที่เรียกว่า ไขมันโอเมก้า 6 มาบริโภคทดแทนไขมันอิ่มตัวมากขึ้น ซึ่งกรดไขมันชนิดนี้พบมากในน้ำมันพืชส่วนใหญ่ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว ฯลฯ
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวคงจะทำให้หลายคนฝ่ายสนับสนุนไขมันไม่อิ่มตัวถึงกับจุกและพูดไม่ออก เพราะกลุ่มคนเดียวกันนี้ได้เคยใช้งานวิจัยชิ้นเดียวกันนี้มารณรงค์ให้ประชากรโลกมาบริโภคกลุ่มไขมันไม่อิ่มตัวเพื่อลดคอเลสเตอรอลมาเป็นเวลาประมาณ 45 ปีที่ผ่านมา
กินไขมันไม่อิ่มตัวเพิ่มมากขึ้นทำให้คอเลสเตอรอลลดลง 13.8% เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมนั้นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น!!!
แต่ความจริงอีกด้านหนึ่งที่ไม่ถูกเปิดเผยตลอด 45 ปีที่ผ่านมาในงานวิจัยชิ้นเดียวกัน คือคอเลสเตอรอลที่ลดลงทุกๆ 30 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร กลับเพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้น 22%!!!!
ความจริงครึ่งแรกถูกนำมาใช้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในโลกใบนี้หันมาเปลี่ยนใช้ไขมันไม่อิ่มตัวมานาน 45 ปี
แต่ความจริงครึ่งหลังที่ว่าคอเลสเตอรอลที่ลดลงจากการใช้ไขมันไม่อิ่มตัวกลับเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้น เพิ่งจะมีการเปิดเผยความจริงนี้ในวารสารทางการแพทย์ชั้นแนวหน้าของอังกฤษ บีเอ็มเจ (BMJ Journals)โดยคณะของ ดร.คริสโตเฟอร์ อี. รัมส์เดน เมื่อปี พ.ศ.2559 นี้เอง
การทบทวนงานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้ยังระบุด้วยว่า การหันมากินไขมันไม่อิ่มตัวเพื่อลดคอเลสเตอรอลให้ลดลงนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวหรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายแต่ประการใด
งานวิจัยชิ้นดังกล่าวนี้ยังได้กล่าวถึงการวิเคราะห์อภิมานจากการทบทวน 5 งานวิจัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งครอบคลุมกลุ่มตัวอย่าง 10,808 ราย สรุปได้ว่าไม่พบประโยชน์ใดๆต่อโรคหลอดเลือดหัวใจในกลุ่มลดคอเลสเตอรอลให้ลดลงด้วยไขมันไม่อิ่มตัว
ทั้งนี้เมื่อมีการวิเคราะห์แยกรายละเอียดของการทดลองของมลรัฐมินิโซต้าก็จะพบว่า
(1) กลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยกว่า 65 ปี ถ้าคอเลสเตอรอลต่ำจะมีสัดส่วนการเสียชีวิตสะสมน้อยกว่าประชากรที่มีคอเลสเตอรอลสูง (เล็กน้อย)
(2) ผลจะเกิดตรงกันข้ามในกลุ่มประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ถ้าคอเลสเตอรอลต่ำจะมีสัดส่วนการเสียชีวิตมากกว่าประชากรที่มีคอเลสเตอรอลสูงอย่างเห็นได้ชัดเจน [1]
จากงานวิจัยข้างต้นจึงเป็นสาเหตุทำให้นักวิจัย 3 คน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับสุขภาพและโรคหัวใจทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสวิสเซอร์แลนด์ ภายใต้การนำของ มาลโฮตรา อะซีม และคณะ ได้เขียนตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ “British Journal of sports medicine” เพื่อสรุปเป็นหัวข้อบทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 ว่า :
“ไขมันอิ่มตัวไม่ได้ทำให้เกิดการอุดตันหลอดเลือด : โรคหลอดเลือดหัวใจคือเงื่อนไขที่เกิดจากสภาพการอักเสบเรื้อรัง, การลดความเสี่ยงดังกล่าวสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการเปลี่ยนแปลงการดำเนินวิถีชีวิต” [2]
นอกจากจะมีการสรุปตามวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ บีเอ็มเจ (BMJ Journals)โดยคณะของ ดร.คริสโตเฟอร์ อี. รัมส์เดน เมื่อปี พ.ศ. 2559 ซึ่งได้เปิดเผยความจริงอีกครึ่งหนึ่งของงานวิจัยการทดลองโรคหลอดเลือดหัวใจของมลรัฐมินิโซต้า ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2511 - พ.ศ. 2516 แล้ว ยังได้เปิดเผยงานวิจัยอื่นๆตามมาอีกด้วย ดังเช่นข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
“จากงานวิจัยการวิเคราะห์อภิมานที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ บีเอ็มเจ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2558 พบว่า
(1) ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างไขมันอิ่มตัวกับสาเหตุการเสียชีวิตทุกชนิด
(2) ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างไขมันอิ่มตัวกับโรคหลอดเลือดหัวใจ
(3) ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างไขมันอิ่มตัวกับเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
(4) ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างไขมันอิ่มตัวกับโรคหลอดเลือดสมองตีบ
(5) ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างไขมันอิ่มตัวกับโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในผู้ใหญ่ที่สุขภาพแข็งแรง
แต่ไขมันทรานส์มีความสัมพันธ์กับสาเหตุการเสียชีวิตโดยรวม การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจ” [3]
จากวารสารโภชนาการคลีนิกของอเมริกัน The American Journal of Clinic Nutrition ฉบับเมื่อเดือนมิถุนายน 2547 ในการสำรวจผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนจำนวน 2,243 คน กับความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวกับการบริโภคไขมันชนิดต่างๆ และคาร์โบไฮเดรตพบว่า :
"ในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่บริโภคไขมันต่ำ เมื่อมาบริโภคไขมันอิ่มตัวเพิ่มขึ้นจะพบว่าจะทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวลดลง ในขณะที่การบริโภคคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นกลับเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจแข็งตัวสูงเพิ่มขึ้น” [4]
จากวารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ บีเอ็มเจ (BMJ Journals) ฉบับลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 ซึ่งได้ค้นคว้าศึกษางานวิจัยจำนวนมากอย่างเป็นระบบ เฉพาะที่ปรากฏในสารบบของวารสารทางการแพทย์ Pubmed สำรวจครอบคลุมประชากรผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป จำนวน 68,094 คน พบว่า
“ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ยิ่งมีแอลดีแอล (LDL) ที่คนทั่วไปมักเรียกว่าไขมันเลวอยู่ในระดับสูงกลับมีความเสี่ยงเสียชีวิตลดลง การค้นพบครั้งนี้ทำให้สมมุติฐานที่ว่าคอเลสเตอรอลโดยรวมโดยเฉพาะ แอลดีแอลสูงเพิ่มขึ้นจะทำให้เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจนั้นไม่ได้เป็นความจริง
ยิ่งไปกว่านั้นในประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนที่มีแอลดีแอลสูงกลับมีอายุยืนหรืออายุยืนกว่าคนที่แอลดีแอลต่ำ ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้เกิดคำถามว่าทฤษฎีเกี่ยวกับคอเลสเตอรอลและแอลดีแอลในผู้สูงวัยยังจะสามารถใช้แนะนำต่อไปได้จริงหรือไม่ และสมควรที่จะมีการทบทวนเรื่องดังกล่าวต่อไป”[5]
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นมาลโฮตรา อะซีม และคณะ ได้ระบุเอาไว้ใน “British Journal of sports medicine” ฉบับเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2560 ว่าวิธีที่ดีที่สุดในการวัดความเสี่ยงคือ
"สัดส่วนระหว่างคอเลสเตอรอลรวมหารด้วย เอชดีแอล" (HDL ซึ่งคนทั่วไปเรียกว่าไขมันตัวดี) ยิ่งตัวเลขน้อยยิ่งดี และการที่จะลดสัดส่วนตัวเลขดังกล่าวได้ก็คือ
“การลดแป้งขัดขาวและบริโภคไขมันชนิดดีต่อสุขภาพแทน”
นอกจากนี้การออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือ 22 นาทีต่อวัน ตลอดจนการลดความเครียด รับประทานอาหารที่ดีก็จะช่วยลดการอักเสบของหลอดเลือดได้ [2]
มาถึงประเด็นคำถามต่อมาว่าไขมันอิ่มตัวที่ว่าไม่เป็นอันตรายต่อโรคหลอดเลือดหัวใจนั้น จะหมายถึงไขมันอิ่มตัวทุกชนิดหรือไม่? เพราะไขมันอิ่มตัวมีตั้งแต่ ไขมันจากเนื้อสัตว์ ไขมันจากนม ไขมันจากเนย ซึ่งเป็นกลุ่มไขมันที่มีคอเลสเตอรอลและฮอร์โมนจากสัตว์ หรือไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันมะพร้าวซึ่งเป็นไขมันที่ไม่มีคอเลสเตอรอล แต่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายสังเคราะห์คอเลสเตอรอลและเอชดีแอล( HDL : ไขมันตัวดี)เพิ่มขึ้นได้?
สำหรับประเด็นนี้ วารสารโภชนาการคลีนิกของอเมริกัน The American Journal of Clinic Nutrition ฉบับเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 โดย มาร์เซีย ซี เดอ โอรีเวียร่า ออตโต้ และคณะ ได้ทำการสำรวจติดตามผลกลุ่มประชากรอายุระหว่าง 45-84 ปี จำนวน 5,209 คน โดยติดตามผลต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2543 -2553 พบว่าเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจจำนวน 314 คน พบว่า
"(1) การบริโภคไขมันอิ่มตัวจากนมและผลิตภัณฑ์นมช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยพบว่า ทุกๆการบริโภคนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้น 5 กรัมต่อวัน จะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้ 21% ในขณะที่การบริโภคนมและผลิตภัณฑ์จากนมเพิ่มขึ้นทุกๆ 5% ของพลังงานจะสามารถลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้ถึง 38%
(2) การบริโภคไขมันอิ่มตัวจากเนื้อสัตว์จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้น โดยทุกๆการบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 5 กรัมต่อวัน จะทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 26% ในขณะที่การบริโภคเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นทุกๆ 5% ของพลังงานจะสามารถเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจได้ถึง 48%
(3) การสำรวจในส่วนที่เกี่ยวกับไขมันอิ่มตัวจากเนยและจากพืช กลุ่มตัวอย่างค่อนข้างแคบและบริโภคน้อย แต่เห็นว่าการบริโภคไขมันจากเนยและพืชไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจแต่ประการใดเช่นกัน" [6]
แม้เนื้อสัตว์จะเป็นไขมันอิ่มตัวแต่กลับสร้างปัญหากับโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งสอดคล้องกับวารสารทางการแพทย์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ JAMA Internal Medical เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 นายแพทย์หมิงยาง ซ่ง และคณะ ซึ่งสำรวจประชากรจำนวนกว่า 131,000 คน ตลอดระยะเวลา 26-32 ปี ได้รวบรวมจากการศึกษาของ Nurses' Health Study (ระหว่าง พ.ศ. 2523 - 2554) และ การศึกษาของ Health Professional Follow-up Study (1986-2012) ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้เพื่อหาข้อเท็จจริงว่ากลุ่มประชากรที่กินโปรตีนจากพืชและสัตว์นั้น มีสาเหตุการเสียชีวิตโดยรวมทั้งหมดอย่างไร และสาเหตุการเสียชีวิตเฉพาะโรคอย่างไร? และพบว่า
“การบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 10% ของพลังงาน จะมีความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น 8%” [7]
อย่างไรก็ตามว่ายังไม่แน่ชัดว่าอาหารที่เกิดจากโปรตีนและไขมันเนื้อสัตว์มีกลไกทำให้เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดลือดหัวใจได้อย่างไร แต่อย่างน้อยกรรมวิธีการปรุงอาหารเนื้อสัตว์ที่ทั่วโลกนิยมใช้ไขมันไม่อิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เนื้อสัตว์เพิ่มความเสี่ยงในเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจซึ่งแตกต่างจากไขมันอิ่มตัวจากนม ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันมะพร้าว
อีกสมมุติฐานหนึ่งที่มีโอกาสจะเป็นไปได้ว่าการบริโภคเนื้อสัตว์โดยตรงจะทำให้เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ก็เพราะมีงานวิจัยเกี่ยวกับ แอล-คาร์นิทีน (L-Carnitine) ซึ่งเป็นสารที่สังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโน 2 ชนิดคือ ไลซีน และเมธไทโอนีน [8] ซึ่งสามารถเกิดขึ้นตามธรรมชาติจากอาหารที่เป็นเนื้อแดง สารแอล-คาร์นิทีนนี้จะถูกย่อยโดยจุลินทรีย์ในลำไส้ได้ไตรเมทิลซึ่งส่งผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงในเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ [9]
จากการวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นสรุปได้เกี่ยวกับอาหารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นได้แก่ ไขมันทรานส์ ไขมันไม่อิ่มตัว ไขมันจากเนื้อสัตว์ น้ำตาลและแป้งขัดขาว ใครลดสิ่งเหล่านี้ได้ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง และหากร่วมกับการออกกำลังกาย 22 นาทีต่อวัน หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์ ตลอดจนพยายามความเครียดแล้วก็จะยิ่งช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดลือดหัวใจให้ลดลงได้ดีขึ้น
จะเห็นได้ว่าข้อมูลจากงานวิจัยที่กล่าวมาข้างต้นนี้แม้ดูเหมือนว่าอาจจะกระทบผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรมไขมันทรานส์ ไขมันไม่อิ่มตัว เนื้อสัตว์ น้ำตาลและแป้งขัดขาว แต่ความเป็นจริงแล้วกิเลสการการติดรสชาติความอร่อยในอาหารเหล่านี้ ก็ยังคงทำให้อาหารที่เป็นโทษเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้
แต่ข้อมูลจากงานวิจัยข้างต้นที่น่าจะมีผลกระทบอยู่ไม่น้อยคือกลุ่มผลประโยชน์ของยาลดคอเลสเตอรอล!!!
เพราะหากประชาชนรู้ว่าเมื่อเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัยคอเลสเตอรอลหรือแอลดีแอลที่ลดลงอาจจะไม่ใช่ดัชนีชี้วัดสุขภาพที่ดีของหลอดเลือดอีกต่อไป ในทางตรงกันข้ามงานวิจัยจำนวนมากพบว่าหากอายุมากขึ้นเกิน 50 ปี ขึ้นไป การที่คอเลสเตอรอลในเลือดลดลง หรือแม้แต่แอลดีแอลที่ลดลงกลับเพิ่มอัตราการเสียชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้น หรือแม้หากประชาชนส่วนใหญ่หันมาใช้ตัวเลขจากข้อมูลสัดส่วนคอเลสเตอรอลหารด้วยเอชดีแอลแทนแล้วควบคุมเอาไว้ไม่ให้เกิน 5.00 ก็น่าเชื่อได้ว่าจะมีคนต้องหยุดหรือเลิกใช้ยาลดคอเลสเตอรอลไปจำนวนมาก
คนทั่วไปมักจะกลัวคอเลสเตอรอลอุดตันในหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง แต่ปัญหาที่แท้จริงกลับอยู่ที่ว่าหลอดเลือดมีการอักเสบเรื้อรังหรือไม่มากกว่า (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกินอาหารผิด การขาดการออกำลังกาย อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีมลพิษ และความเครียด)
ในอีกด้านหนึ่งประชาชนทั่วไปอาจไม่รู้ว่าคอเลสเตอรอลเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย และตับของเราสังเคราะห์เองเป็นส่วนใหญ่เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนสำคัญของสมอง เยื่อหุ้มเซลล์ ฉนวนหุ้มปลายประสาท อีกทั้งยังเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์ออกมาเป็น ฮอร์โมนหลายชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนเพศหญิงและเพศชาย ฮอร์โมนต้านความเครียดและการอักเสบ ฯลฯ ดังนั้นหากเรามีอายุมากขึ้นจนเข้าสู่การเป็นผู้สูงวัย ร่างกายจะสังเคราะห์ได้หลายอย่างได้น้อยลงรวมถึงการสังเคราะห์คอเลสเตอรอลให้ลดลงด้วย จนมีความเสี่ยงเสียชีวิตได้มากขึ้น ด้วยเหตุผลนี้ผู้สูงวัยจึงควรรักษาและสงวนระดับคอเลสเตอรอลให้ลดลงช้าที่สุดจึงจะเข้าสู่ความเสี่ยงเสียชีวิตช้าลง
จากการวิเคราะห์ของสำนักวิจัยชื่อดัง GBI Research พบว่า เมื่อปี พ.ศ. 2554 กลุ่มยาลดคอเลสเตอรอลในเลือด “สแตติน (Statin)” ทั่วโลกมียอดขายสูงถึง 20,500 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 6.5 แสนล้านบาท) แต่คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2561 ยอดขายจะลดลงเหลือ 12,200 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4 แสนล้านบาท) [10]
ถึงแม้ว่าการใช้ยาลดคอเลสเตอรอลทั่วโลกมีแนวโน้มจะค่อยๆ ลดลง เพราะการตื่นรู้ของประชาชนที่มีมากขึ้น แต่ตัวเลขผลประโยชน์ที่ยังเหลืออยู่ก็ยังมากมายมหาศาลอยู่ก็เพราะคนส่วนใหญ่ยังรู้ข้อมูลเหล่านี้ไม่มาก และแพทย์จำนวนไม่น้อยยังไม่เคยอ่านงานวิจัยดังกล่าวข้างต้น และถึงแม้เคยอ่านงานวิจัยแล้วก็ยังอาจจะมีแพทย์อีกจำนวนไม่น้อยออกมาต่อต้านเพราะต้องการป้องกันการสูญเสียผลประโยชน์ของยากลุ่มนี้ด้วยก็ได้
ส่วนท่านผู้อ่านถ้าช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลนี้ให้มากขึ้น ก็เสมือนช่วยกันแบ่งปันความจริงอีกด้านให้ช่วยกันรักษาสุขภาพในแนวทางตามงานวิจัยที่คนทั่วไปรู้น้อยมาก อย่างน้อยเมื่อรู้แล้วก็จะไม่ให้ใครมาหลอกเราได้อีกต่อไป
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] Ramsden CE, Zamora D, Majchrzak-Hong S, et al. Re-evaluation of the traditional diet-heart hypothesis: analysis of recovered data from Minnesota Coronary Experiment (1968-73). The BMJ. 2016;353:i1246. doi:10.1136/bmj.i1246.
[2] Aseem Malhotra, Rita F Redberg, Pascal Meier.
Saturated fat does not clog the arteries: coronary heart disease is a chronic inflammatory condition, the risk of which can be effectively reduced from healthy lifestyle interventions.
[3] de Souza RJ , Mente A , Maroleanu A , et al. Intake of saturated and trans unsaturated fatty acids and risk of all cause mortality, cardiovascular disease, and type 2 diabetes: systematic review and meta-analysis of observational studies. BMJ 2015;351:h3978.doi:10.1136/bmj.h3978
[4] Mozaffarian D , Rimm EB , Herrington DM. Dietary fats, carbohydrate, and progression of coronary atherosclerosis in postmenopausal women. Am J Clin Nutr 2004;80:1175-84. Abstract/FREE Full TextGoogle Scholar
[5] Ravnskov U , Diamond DM , Hama R , et al. Lack of an association or an inverse association between low-density-lipoprotein cholesterol and mortality in the elderly: a systematic review. BMJ Open 2016;6:e010401.doi:10.1136/bmjopen-2015-010401
Google Scholar
[6] De Oliveira Otto MC, Mozaffarian D, Kromhout D, et al. Dietary intake of saturated fat by food source and incident cardiovascular disease: the Multi-Ethnic Study of Atherosclerosis. The American Journal of Clinical Nutrition. 2012;96(2):397-404. doi:10.3945/ajcn.112.037770.
[7] Song M, Fung TT, Hu FB, et al. Animal and plant protein intake and all cause and cause-specific mortality : results from two prospective US cohort studies. JAMA internal medicine. 2016;176 (10) : 1453-1463 doi: 10.1001/jamaternmed.2016.4182
[8] Steiber A, Kerner J, Hoppel C (2004). "Carnitine : a nutritional, biosynthetic, and functional perspective". Mol. Aspects Med. 25 (5-6) : 455-73. PMID 15363636, doi:10.1016/j.mam.2004.06.006
[9] Fredrik Bäckhed. Meat-metabolizing bacteria in atherosclerosis. Nature Medicine. 2013 May;19(5):533-4. doi: 10.1038/nm.3178.
[10] GBI Research, Statins Market to 2018 - Weak Product Pipeline and Shift of Focus towards Combination Therapies will Lead to Erosion of Brand Share. Published: Jan-2013 Report Code: GBIHC180MR