ผู้จัดการรายวัน360-"กลุ่มต้านโรงไฟฟ้า"จี้นายกฯ สั่งยกเลิก ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่เอื้อนายทุนออกไปก่อน ประกาศกร้าวปักหลักพักค้างยาว 7 วัน รอฟังคำตอบ ขณะที่ "กลุ่มหนุนโรงไฟฟ้า" โผล่ยื่นหนังสือหนุนรัฐบาลเดินหน้าเต็มที่ อ้างไม่กระทบสิ่งแวดล้อม หลายประเทศกำลังก่อสร้างเพิ่ม
วานนี้ (6 ธ.ค.) ที่หน้าสำนักงานก.พ. ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบด้วย กลุ่มไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา กลุ่มคัดค้านโครงการท่าเทียบเรือถ่านหิน บ้านคลองรั้ว กลุ่มคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ และกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ในหลายจังหวัดเช่น จ.ชัยภูมิ เลย สกลนคร และเพชรบูรณ์ นำโดย นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ ได้รวมตัวกันเพื่ออ่านแถลงการณ์ ระบุว่า จากกรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมพ.ศ. ... ในส่วนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่นำเข้า สู่การพิจารณาของสนช.อย่างรีบร้อน โดยที่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของประชาชน ที่พยายามท้วงข้อบกพร่อง ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหากระบวนการทำ EIA และ EHIA แต่กลับเอื้อให้โครงการ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น
จากนั้น นายเลิศศักดิ์ ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ผ่านนายสมพาศ นิลพันธ์ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยขอให้ยุติการพิจารณาไว้ก่อน และให้จัดตั้งคณะกรรมการในการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยมีสัดส่วนของภาคประชาชน และภาครัฐเท่าๆ กัน รวมถึงให้ใช้หลักการที่ทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนตกลงร่วมกัน
นายเลิศศักดิ์ กล่าวว่า เราไม่คัดค้านที่จะมีกฎหมาย แต่เจตนารมณ์ในกฎหมาย ต้องมีกลไกในการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ซึ่งเราจะปักหลักชุมนุมค้างคืน เพื่อรอฟังคำตอบที่พอใจก่อน เนื่องจากเราได้ขออนุญาตชุมนุมบริเวณบนฟุตบาทหน้าสำนักงานก.พ. ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาลแล้ว เป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 6-12 ธ.ค.นี้
จากนั้น เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 2 สำนักงานก.พ. กลุ่มชมรมนักวิชาการเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำโดย นายภิญโญ มีชำนะ อดีตหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ยื่นหนังสือถึงนายกฯ เพื่อแสดงจุดยืน สนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา โดยนายภิญโญ กล่าวว่า พวกตนประกอบด้วยคณาจารย์ จำนวน 43 คน ได้ศึกษาเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และเดินทางไปดูงานมาหลายประเทศ เห็นว่าการสร้างโรงไฟฟ้าไม่ได้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เหมือนที่ประชาชนรับทราบข้อมูลในปัจจุบัน และกลุ่มที่ออกมาต่อต้าน ให้ข้อมูลบิดเบือน โดยเฉพาะที่อ้างว่า หลายประเทศเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน เป็นเพียงการยกตัวอย่างแค่บางประเทศเท่านั้น เพราะความเป็นจริงหลายประเทศยังใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน และกำลังจะก่อสร้างเพิ่มด้วย เช่น ประเทศญี่ปุ่น และมาเลเซีย อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่เราต้องยอมรับคือ พื้นที่ภาคใต้มีพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากไม่สร้างโรงไฟฟ้า แล้วจะทำอย่างไร เราจึงขอสนับสนุนให้รัฐบาลดำเนินการตามความจำเป็น