xs
xsm
sm
md
lg

เปิดเสรีโซลาร์รูฟ-ออกกม.แยกขยะเอื้อโรงไฟฟ้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360- เปิดเวทีรับฟังความเห็นรอบ 2 แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 8 ธ.ค.ที่โคราช "ดุสิต เครืองาม"กรรมการปฏิรูปฯเตรียมกางแผนปฏิรูปเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อปคาดในอีก 20 ปีจะมีบ้านและอาคารพาณิชย์ติดตั้งได้ 1 ล้านหลังคาคิดเป็น 2.5 หมื่นเมกะวัตต์ พร้อมเสนอใช้กฏให้ประชาชนแยกขยะหนุนผุดโรงไฟฟ้าขยะชุมชนเพิ่มขึ้น และให้กฟภ.-กฟน.โอนย้ายสังกัดกระทรวงพลังงาน

นายดุสิต เครืองาม กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า วันที่ 8 ธันวาคมนี้จะสัมมนารับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานเป็นครั้งที่ 2 ที่จ.นครราชสีมา ซึ่งจะเน้นรับฟังความเห็นด้านพลังงานทดแทนและการปรับบทบาทของกิจการไฟฟ้าโดยจะนำเสนอแนวทางการปฏิรูปการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)เสรีแท้จริงโดยไม่คำนึงการรับซื้อจากภาครัฐโดยอาคารบ้านเรือน ธุรกิจ โรงงานฯลฯสามารถติดตั้งเองและให้ผู้อื่นเช่าได้เสรีไม่จำกัดจำนวน คาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าบ้านที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้ 1 ล้านหลังคาคิดเป็น 2.5 หมื่นเมกะวัตต์

" เราคงไม่สนใจโครงการส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อปของกระทรวงพลังงานที่ทราบว่าจะไม่เรียกโซลาร์รูฟท็อปเสรีแต่จะใช้คำว่า Net Billing แทนโดยซื้อไฟส่วนที่เหลือจากการใช้ที่จะกำหนดปริมาณรับซื้อ และจำกัดพื้นที่แต่การปฏิรูปที่ผมจะเสนอวันที่ 8 ธ.ค.เพื่อรับฟังความเห็นเรียกว่าไม่แคร์การรับซื้อของรัฐคือใครอยากติดก็ติดและให้เช่าได้แต่ก็จะต้องมีสัญญาเช่า หรือ Private PPA และให้สามารถซื้อขายไฟกันเองได้ด้วยเช่นกัน"นายดุสิตกล่าว

นอกจากนี้ในส่วนของการผลิตไฟจากขยะชุมชนยังจะเสนอแนวทางการปฏิรูปที่สำคัญคือขยายการรับซื้อไฟมากขึ้นกว่า 500 เมกะวัตต์โดยเสนอให้ออกกฏกระทรวงภายใต้พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองที่จะกำหนดให้ประชาชนต้องแยกขยะเปียบและรีไซเคิลออกจากกัน และห้ามเทศบาลในฐานะดูแลขยะห้ามนำขยะที่แยกไปรวมกันหากไม่ทำตามจะผิดกฏหมาย และเมื่อจะตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะต้องให้จังหวัดเป็นผู้ทำการประชาพิจารณ์ไม่ใช่ให้เอกชนดำเนินการเช่นปัจจุบันทั้งที่ยังไม่มีขยะเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่โรงไฟฟ้าจากชีวมวลนั้นจะมุ่งเสนอแนวทางการส่งเสริมปลูกไม้โตเร็วเข้ามาเป็นเชื้อเพลิง เป็นต้น

สำหรับการปฏิรูปกิจการไฟฟ้านั้นจะเสนอแนวทางสำคัญคือ หากเป็นไปได้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ควรจะโอนย้ายมาสังกัดภายใต้กระทรวงพลังงาน ซึ่งคงจะเปิดรับฟังความเห็นในประเด็นนี้ด้วยเพราะเห็นว่าการรวมกันอยู่ภายใต้กระทรวงเดียวกันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่า ขณะเดียวกันแต่ละหน่วยงานควรจะต้องมีความชัดเจนในภารกิจ เช่น กรณีที่กฟภ.และกฟน.จะหันมาทำธุรกิจติดตั้งแผงโซลาร์ฯ เพื่อแข่งขันกับภาคเอกชนประเด็นนี้ก็ไม่เห็นด้วย เป็นต้น

"การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานก่อนหน้าได้มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นจากทุกภาคที่กรุงเทพแล้วครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 พ.ย.โดยเป็นเรื่องการบริหารกิจการพลังงานและการอนุรักษ์พลังงาน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 เน้นพลังงานทดแทนและกิจการไฟฟ้า ซึ่งการเปิดรับฟังความเห็นภาพรวมจะทำทั้งหมดประมาณ 4-5 ครั้งจากนั้นจะรวบรวมเพื่อเสนอกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานหลายเดือนธันวาคมนี้และหากเห็นชอบก็จะประกาศเป็นยุทธศาสตร์ชาติได้ในเดือนเมษายน 2561 "นายดุสิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น