xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลงานวิจัยใหม่ที่รัฐบาลไทยร่วมทำ แต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์เมิน

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

1.คำนำ

แม้ว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้บอกว่า “รัฐบาลนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” แต่ข้อมูลที่ได้พูดออกไป เช่น ถ้าใช้เชื้อเพลิงอื่นแล้วจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและไม่เสถียร รวมถึงให้คนที่สนับสนุนถ่านหินช่วยทำความเข้าใจกับคนที่ไม่เห็นด้วย เด็กอมมือก็น่าจะรู้ว่ารัฐบาลนี้จะตัดสินใจอย่างไร

ผมเชื่อว่าประชาชนจะรับได้และเห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล หากว่าเป็นการตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นใหญ่ แต่หากมีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ว่าจริง ประชาชนควรจะทำอย่างไร?

ในบทความชิ้นนี้ผมจะกล่าวถึงเพียงประเด็นเดียวเท่านั้น คือ ถ้าใช้เชื้อเพลิงอื่นแล้วจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและไม่เสถียรจริงหรือ? โดยยกเอาผลงานวิจัยที่รัฐบาลนี้มีส่วนร่วมทำและเป็นสมาชิกอยู่ด้วยมานำเสนอโดยย่อ คนที่สนใจสามารถค้นคว้าจากเอกสารที่ผมอ้างอิงได้ นอกจากนี้ผมจะเพิ่มเติมด้วยประสบการณ์ตรงและข้อมูลอื่นมาเสริม แต่ยังคงเป็นเรื่องของ “แพงหรือไม่แพงและเสถียรหรือไม่เสถียร” เท่านั้นครับ

2.ผลงานวิจัยของ “ทบวงพลังงานหมุนเวียนสากล”


นี่คือผลงานวิจัยซึ่งผมได้แนะนำที่มาที่ไปไว้บ้างแล้วในแผ่นภาพ

องค์กร IRENA (International Renewable Energy Agency) เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลซึ่งมีสมาชิกกว่า 150 ประเทศ (ก่อตั้งปี 2009) รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นผู้อนุมัติให้ประเทศไทยร่วมเป็นสมาชิกด้วย

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการศึกษากรณีของประเทศไทยเป็นการเฉพาะ ตัวแทนของประเทศไทยที่เข้าร่วมวิจัยคือ กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน งานวิจัยนี้ได้อ้างถึงข้อตกลงปารีสเป็นการเตือนว่าประเทศไทยได้ลงนามว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีนโยบายนี้ ภายในปี 2030

ผลการศึกษาพบว่า เดิมประเทศไทยได้กำหนดให้พลังงานหมุนเวียนมีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า 30% ในปี 2036 (หรือ 2579) แต่ผลการศึกษานี้ได้สรุปว่าสามารถทำได้สูงถึง 37% พร้อมกับได้เสนอทางเลือกซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดเงินด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้อย่างน้อย $1,200 ล้าน (หรือ 42,000 ล้านบาท) ต่อปี ทางเลือกที่สำคัญได้แก่พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมและพลังงานน้ำแบบสูบกลับ

ทางเลือกควรอยู่ที่พลังงานแสงอาทิตย์ (ซึ่งควรจะเพิ่มขึ้นจาก 6,000 เมกะวัตต์เป็น 17,000 เมกะวัตต์) และพลังงานลมควรเพิ่มจาก 3,000 เมกะวัตต์เป็น 6,000 เมกะวัตต์

รายงานนี้ได้ระบุว่า ความเร็วลมเฉลี่ยตลอดทั้งปีของประเทศไทยที่ความสูงระดับ 90 เมตรประมาณ 6 เมตรต่อวินาทีและถ้าใช้เทคโนโลยีกังหันลมความเร็วต่ำก็จะมีศักยภาพถึง 17,000 เมกะวัตต์

เรื่องนี้มีความสำคัญมากครับ เพราะถ้าเราดูด้วยสายตาเราจะเห็นว่าที่ปลายยอดต้นไม้ ใบไม้ไม่ไหวเพราะลมจะไม่ค่อยแรง หรือแรงไม่มากพอที่จะผลิตไฟฟ้าได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว (จากการตรวจวัด) พบว่า ยิ่งสูงขึ้นไปความเร็วลมจะยิ่งสูงขึ้นสามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างดี

3.ต้นทุนพลังงานลมและแสงแดด


แม้ว่าผลงานวิจัยจากฉบับที่ผมได้อ้างถึงแล้วไม่ได้ระบุถึงต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ยต่อหน่วยตลอดโครงการ (LCOE) ของประเทศไทยเป็นการเฉพาะ แต่รายงานก่อนหน้านี้ (THE POWER TO CHANGE : SOLAR AND WIND COST REDUCTION POTENTIAL TO 2025) ซึ่งจัดทำโดย IRENA เช่นกัน ได้สรุป ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลมเฉลี่ยทั่วโลก ในปี 2015 เท่ากับ 2.59 บาทต่อหน่วย (คิดอัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์) จะลดลงเหลือ 1.89 บาทต่อหน่วยในปี 2025 (หรือ 2568) ดูภาพประกอบครับ

ในขณะที่ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้าตลอดโครงการของโซลาร์ฟาร์มจะมีค่าเฉลี่ยประมาณ 4.53 บาทต่อหน่วย ($0.13) ในปี 2015 จะลดลงมาเหลือ 1.93 บาทต่อหน่วยในปี 2025หรือลดลง 57% ภายในอีก 8 ปีข้างหน้า

ผมเองจำได้ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (เมื่อเกือบ 3 ปีมาแล้ว) ว่า ต้นทุนไฟฟ้าจากถ่านหินเท่ากับ 2.67 บาทต่อหน่วย และต้นทุนไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์นั้นแพงลิบลิ่ว (ขอโทษที่ผมจำไม่ได้แล้ว)

4.ต้นทุนจากการวิจัยของ Bloomberg New Energy Finance


ผลงานวิจัยขององค์กรระหว่างรัฐบาลที่ผมอ้างถึงในข้อที่ 2 อาจจะดูทั่วไปสักหน่อย ผมจึงขอตอกย้ำด้วยผลงานวิจัยของ Bloomberg ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินระดับโลก พบว่า ผู้ชนะการประมูลขายไฟฟ้าจากกังหันลมในประเทศโมร็อกโกในราคาหน่วยละ 1.05 บาท และโซลาร์เซลล์ในประเทศเม็กซิโกในราคา 1.26 บาทต่อหน่วย ดูภาพประกอบครับ

ที่กล่าวมานั้นเป็นข้อมูลเมื่อต้นปี 2016 แต่ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียเมื่อปลายปี 2017 ยังถูกกว่านี้อีก คือต้นทุนไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ราคาหน่วยละ 60 สตางค์

นักวิชาการบางคนถึงกับกล่าวว่า ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และกังหันลมจะถูกกว่า “ค่าสายส่งและค่าบริการ” หรือ God Parity ในอีกไม่นาน นั่นคือ ต่อให้ต้นทุนการผลิตเป็นศูนย์ก็ไม่ควรผลิตอีกแล้ว

พรุ่งนี้ (4 ธันวาคม 60) โรงพยาบาลสงฆ์ 50 พรรษา ที่จังหวัดอุบลราชธานีจะติดตั้งขนาด 30 กิโลวัตต์ โดยพระครูวิมลปัญญาคุณ (ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเคยกล่าวถึงหลายครั้ง) และทีมงานเป็นผู้ติดตั้งโดยไม่คิดค่าแรง ต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ยคาดว่าประมาณ 66 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น เป็นราคาตลอดอายุ 25-30 ปีครับ

5.เรื่องความเสถียรของไฟฟ้าจากกังหันลมและแสงแดด


เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้เวลาและความรู้พื้นฐานในการอธิบาย เป็นเรื่องเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าหลัก (Baseload) ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศเดนมาร์กซึ่งเคยทำงานในโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่มานาน 30 ปี เคยมาบรรยายที่ประเทศไทย (ผู้จัดได้เชิญทางการไฟฟ้าฯ และกระทรวงพลังงานมาร่วมฟัง แต่ไม่มีใครมาฟังเลย) ผู้เชี่ยวชาญท่านนี้บอกว่า ปัจจุบันแนวคิดเรื่องโรงไฟฟ้าหลักเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว ปัจจุบันจะหาโรงไฟฟ้าขนาดเกิน 10 เมกะวัตต์ในประเทศเดนมาร์กเป็นเรื่องยากมาก แต่เป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กไฟฟ้าส่วนใหญ่มาจากกังหันลม เขามีวิธีการบริหารระบบการผลิตไฟฟ้าอย่างไรจะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี้

แต่เรามาดูข้อมูลจากนักวิชาการอีกคนครับ คนนี้คือ Dr.TonySeba จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดสหรัฐอเมริกา เคยมาบรรยายในประเทศไทย จัดโดยสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (เมื่อประมาณ 2 ปีมาแล้ว)

ผมได้ตัดภาพจากการบรรยายครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2017 (ดูภาพครับ)

ผมได้ตรวจสอบแหล่งอ้างอิงของผู้บรรยายแล้ว สรุปว่า บริษัท Tucson Electric Power (TEP) จะรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์ฟาร์มที่ติดตั้งแบตเตอรี่ในราคา 4.5 เซนต์หรือ 1.56 บาทต่อหน่วย โดยจะเริ่มเดินไฟฟ้าภายในปี 2019 ใครสนใจเพิ่มเติมสามารถศึกษาได้จาก http://www.businesswire.com/news/home/20170522005290/en/TEP-Power-21000-Homes-Solar-Array-Historically

คุณภาพของไฟฟ้าดังกล่าวไม่แตกต่างจากที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีความเสถียรต่อเนื่องตลอดเวลาที่ต่างกันคือ มีราคาถูกกว่า ไม่ต้องซื้อเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ ไม่แย่งน้ำชาวบ้าน ไม่ก่อมลพิษ ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งตรงกันข้ามกับที่รัฐบาลนี้พยายามจะบอกกับคนไทยที่ยุ่งอยู่กับการทำมาหากินโดยไม่มีเวลาค้นหาความจริง

6.เปรียบเทียบต้นทุนโรงไฟฟ้าต่างๆ


ภาพข้างล่างนี้แสดงต้นทุนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชนิดต่างๆ (จากรายงานเรื่อง Clean Energy Barometer- ศึกษาโดย Orsted ซึ่งเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าในประเทศเดนมาร์ก เดิมชื่อ Dong Energy และ Edelman Intelligence) จำนวน 6 ประเภท จากราคาต่ำที่สุด คือกังหันลมบนดิน (2.13 บาทต่อหน่วย) กังหันลมในทะเล (2.52 บาทต่อหน่วย) โซลาร์เซลล์ (2.64 บาทต่อหน่วย) ก๊าซธรรมชาติ (2.72 บาทต่อหน่วย) ถ่านหิน (2.80 บาทต่อหน่วย) และนิวเคลียร์สูงที่สุด 4.38 บาทต่อหน่วย

7.สรุป

โดยสรุป IRENA ซึ่งเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือระดับสากลที่รัฐบาลไทยร่วมเป็นสมาชิก บริษัท Bloomberg บริษัท Orsted รวมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ตลอดจนข้อมูลจริงจากจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากกังหันลม แสงแดด รวมทั้งการเก็บไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่มีราคาถูกกว่าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับที่รัฐบาลนี้พยายามจะบอกคนไทย

ข้ออ้างที่ว่าพลังงานหมุนเวียนมีน้อย รายงานวิจัยของ IRENA ก็พบว่ามีมหาศาล นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณการแล้วว่า “พลังงานที่มนุษย์ทั้งโลกใช้ทั้งปีนั้นมีปริมาณเท่ากับพลังงานจากดวงอาทิตย์มอบให้โลกในเวลาเพียง 8 นาทีเท่านั้น”

เรื่องข้ออ้างที่ว่า ในเวลาดวงอาทิตย์ตกและลมไม่พัดก็สามารถมีไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ใช้ ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าถ่านหิน (แต่ไม่ใช่จะต่ำในทุกพื้นที่) และจะต่ำลงไปเรื่อยๆ ปีละประมาณ 10%

ยังมีอีกหลายประเด็นที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์บอกคนไทยอย่างบิดเบือน ด้วยการโฆษณาต่างๆ นานา ด้วยเงินจำนวนมหาศาล แต่คงคาดไม่ถึงว่าในยุคนี้ได้เกิดพลังสังคมออนไลน์ของพลเมืองที่ตื่นรู้ เป็นพลังสร้างสรรค์ที่ต้องการจะปฏิรูปประเทศ อำนาจที่ไม่ชอบธรรมใดๆ ย่อมไม่สามารถปิดประตูตีแมวได้อีกแล้วครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น