xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ สปสช. โฆษณาชวนเชื่อเกินจริง แล้ว NGO สายคุ้มครองผู้บริโภคหายหัวไปไหน?

เผยแพร่:   โดย: อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ภาพประกอบจากแฟ้ม ไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทความ
อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


โครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินมีสิทธิทุกที่ หรือยูเซป ดีเดย์วันนี้ ย้ำรักษาฟรี 72 ชม.ทั้งรพ.เอกชน-รัฐที่ใกล้ที่สุด เป็นสิทธิพึงมีพึงได้ของคนไทย วอน รพ.ทุกแห่งร่วมมือ พาดหัวข่าวแบบนี้

แต่ปรากฎว่าสปสช. จ่ายเงินไม่ครบวงเงินรักษา และสนับสนุนโฆษณาให้ประชาชนไปใช้สิทธิ์รักษาฉุกเฉินในโรงพยาบาลทุกแห่งรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนด้วย

จนท้ายที่สุดก็มีประชาชนไปใช้สิทธิ์รักษายูเซปหรือสิทธิฉุกเฉินฟรีในโรงพยาบาลเอกชน ตามที่ สปสช. โฆษณาไว้ แต่ สปสช. จ่ายให้ไม่ครบ โรงพยาบาลเอกชนก็เลยฟ้อง สปสช. และประชาชนที่ไปรักษาตามโฆษณาของ สปสช. และ สพฉ.
โรงพยาบาลของรัฐทุบหัวตีหัว กดราคาได้แบบที่ทำกับ DRG การรักษากรณีฉุกเฉินก็ไม่ได้ต่างจาก DRG คือรักษาไปเท่าไหร่เป็นเรื่องของโรงพยาบาล แต่ว่าขาดทุนเท่าไหร่ โรงพยาบาลก็จ่ายไปเอง ควักเนื้อควักเงินบำรุง เป็นการโฆษณาที่ทำให้เกิดความเสียหายกับหน่วยงานของรัฐ และไม่ต้องรับผิดชอบอะไรด้วย แต่เรื่องแบบนี้โรงพยาบาลเอกชนเขายอมให้ สปสช. ไปปล้นเขาเฉยๆ ไม่ได้ เขาก็ต้องฟ้องเรียกเงินส่วนเกินจากประชาชน และ สปสช. เป็นจำเลยร่วม เขาคงไม่ยอมให้ สปสช. ชักดาบเหมือนที่ชักดาบใส่โรงพยาบาลของรัฐจนขาดทุนย่อยยับเดือดร้อนพี่ตูนต้องก้าวคนละก้าวหาเงินให้โรงพยาบาล

โรงพยาบาลธนบุรี ฟ้อง คนไข้ และ สปสช. ในฐานะจำเลยร่วมที่รักษาฟรีกรณีฉุกเฉิน ศาลตัดสินลงมาว่าประชาชนต้องจ่ายส่วนเกินเองเกือบ 4-5 แสนบาท ส่วน สปสช. เป็นจำเลยร่วม จ่ายแค่ 5 หมื่น 3 พันบาทตามวงเงินที่กำหนดไว้ ขอเรียบเรียงไลน์ในวงการแพทย์ให้อ่านได้ง่ายขึ้นสำหรับคนทั่วไปได้เข้าใจกรณีที่ฟ้องร้องกันในครั้งนี้ดังนี้

รพ.ธนบุรี (โจทก์) ชนะคดีในศาลชั้นต้น กรณีญาติผู้ป่วย (จำเลย) และ สปสช. (จำเลยร่วม)
ไม่สามารถชำระค่ารักษาพยาบาลได้เต็มจำนวน เหตุเกิดเมื่อ มี.ค. 2556 และพิพากษาเมื่อ ก.ค. 2560

ผู้ป่วยหัวใจวายเข้ารับการรักษาที่ รพ.ธนบุรี หลังปั๊มหัวใจแล้ว แล้วได้เข้ารักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนักโรคหัวใจเพราะไม่สามารถหาเตียงใน รพ.รัฐได้ในระยะแรก มีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่องจนอาการคงที่พอและมีเตียงโรงพยาบาลของรัฐซึ่งหาได้ยากมากที่สุด โดยเฉพาะในกทม ที่การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ลำบากที่สุด กว่าจะรับย้ายได้ค่ารักษาพยาบาลก็เพิ่มขึ้นสูงมาก

ผู้ป่วยซึ่งเป็นจำเลยเข้าใจผิดว่าประชาชนคือตนเองสามารถใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลฉุกเฉินหรือยูเซปเพื่อรับการบริการฟรีตามนโยบายของ สปสช. แต่ความจริงคือ คำว่า "ฟรี" ของ สปสช. คือในระยะ 72 ชั่วโมงแรก และไม่เกินวงเงินประมาณ 53,000 บาท ดังนั้น ส่วนต่างค่ารักษาพยาบาลอีกกว่า 4 แสนบาท จึงตกเป็นภาระของจำเลย

ศาลตัดสินให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ย

ส่วน สปสช. ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะถือว่าได้ชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามวงเงินที่กำหนดแล้ว

สำหรับแพทย์ ความรู้จากคดีนี้มี 2 ประการ คือ
1) พึงรักษาผู้ป่วยโดยเท่าเทียม ไม่ว่าผู้ป่วยและญาติจะสามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้หรือไม่ก็ตาม และ
2) ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการคงที่ดีพอ ห้ามอนุญาตให้ย้าย รพ. ยกเว้นผู้ป่วยหรือญาติตัดสินใจปฏิเสธการรักษา เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน

ถ้าแพทย์ไม่อนุญาตให้ย้าย กฎหมายไม่สามารถบังคับได้ แม้ผู้ป่วยและญาติต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติม

แต่หากแพทย์เห็นใจให้ย้ายทั้งที่ผู้ป่วยอยู่ในภาวะวิกฤต แพทย์มีความผิดตามกฏหมาย

สำหรับ รพ.เอกชน คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนโยบายขายฝันของ สปสช.

ส่วน รพ.รัฐ โปรดเตรียมใจไว้ว่า นโยบายรักษาฟรีจากกรณีฉุกเฉิน อาจไม่ได้รับเงินชดเชยตามจริง ต้องยอมเสียส่วนต่างค่ารักษาพยาบาลที่เกินวงเงิน

สำหรับประชาชนทั่วไป บทเรียนสำคัญจากคดีนี้คือ อย่าเชื่อทุกอย่างที่ สปสช. โฆษณา ควรหาข้อมูลเพิ่มเติม เพราะหากเกิดปัญหาแล้ว สปสช. ไม่ได้ช่วยเหลือ และไม่มีกฎหมายบังคับให้ สปสช. ต้องร่วมรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายที่อยู่นอกเหนือวงเกินแต่อย่างใด

การกล่าวอ้างว่า รพ.เอกชน เก็บค่ารักษาพยาบาลเกินจริงและขัดต่อกฎหมายในชั้นศาล เป็นการกล่าวเลื่อนลอย ขาดหลักฐาน และไม่สามารถใช้เป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธการชำระค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน ได้

สำหรับ สปสช. ตอนแรก ไม่ยอมรับว่าเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าตนเป็นหน่วยงานของรัฐ ทำตามหน้าที่ จึงอยู่นอกเหนืออำนาจของศาลยุติธรรม

แต่ศาลเห็นว่ากรณีนี้เป็นข้อพิพาททางแพ่งจึงตัดสินให้ สปสช. เป็นจำเลยร่วมในศาลยุติธรรม

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร. อภิวัฒน์ มุทิรางกูร กรรมการแพทยสภาได้ตั้งคำถามว่าแสดงว่าที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ สปสช. ให้ค่ารักษาแก่ โรงพยาบาลเพียงประมาณ 1 ใน 9 ถามว่าที่ผ่านมา โรงพยาบาลรัฐของเราต้องแบกค่ารักษาผู้ป่วยเท่าไหร่ (จากตัวอย่างกะประมาณได้ว่าเป็นแสน)

สปสช. และกระทรวงสาธารณสุขควรคำนวณตัวเลขเหล่านี้ออกมา เพื่อจะได้ดูว่าหาก สปสช. เลิกเอาเงินไปใช้เฉพาะเรื่องโดยหลายเรื่องไม่ใช่เรื่องทางการแพทย์ เงินดังกล่าวจะพอหรือไม่ และถ้าไม่แก้ไขเรื่องนี้ สปสช. จะผิดกฎหมายไหม ที่สำคัญที่สุด โรงพยาบาลของเราจะล้มลงเมื่อใด

คำถามสุดท้าย หากค่ารักษาเท่ากับ 9 บาท แต่ สปสช. จ่ายแค่ 1 บาท ยาที่ คนไข้ได้ จะราคาเท่าไหร่ รักษาแล้วหายไหมครับ?

ผมก็อยากจะถามต่อว่า กรรมการหลักประกันสุขภาพหลายคน เช่น นางสาวสารี อ่องสมหวัง เป็นเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปกติชอบปกป้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาเกินจริง ทำไมจึงนิ่งเฉยในกรณีนี้ ทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือประชาชนไม่ใช่ผู้บริโภค หรือว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่ต้องใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ เพราะได้เงินจากสปสช ไปไม่ต่ำกว่าหกสิบล้านบาท เลยทำให้ปกป้องประชาชนผู้บริโภคไม่ได้เต็มที่ ตกลงผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้ทำหน้าที่ NGO อย่างเข้มแข็งไม่ได้หรือไม่? ในฐานะประชาชนและเป็นผู้บริโภคก็หวังจะได้รับความคุ้มครองจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอย่างเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น