xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อประยุทธ์เลือกอุ้มประวิตร กับอนาคตนายกฯ หลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

หลายคนคาดหวังว่า ครม.ประยุทธ์ 5ที่จะแต่งเนื้อแต่งตัวเพื่อเดินไปสู่การเลือกตั้งนั้นจะลดทหารลงไป และจะมีมืออาชีพเข้ามาบริหารประเทศมากขึ้น แต่แม้จะลดทหารลงไปบ้างแล้วเอาเข้าจริงๆ ก็ยังเหลือทหารอยู่ถึง 9คน โดยเฉพาะคนสำคัญอย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่คาดการณ์กันว่าจะถูกลดบทบาทลงก็ยังเหนียวแน่นอยู่ในตำแหน่งเดิม

เมื่อสัปดาห์ก่อนที่พัทยา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.เพิ่งจะประกาศว่า ยืนยันว่า พลเอกประวิตร เป็นคนดี เพราะถ้าท่านไม่ดี ผมก็คงไม่เคารพ และคงเลิกคบไปนานแล้ว แล้วสัปดาห์นี้ก็ประกาศอีกครั้งที่ปัตตานีว่า ขออย่าไปเกลียด พล.อ.ประวิตร

การพูดถึง2ครั้ง2คราเช่นนี้ สะท้อนว่าพล.อ.ประยุทธ์ทราบดีว่าประชาชนและสังคมรู้สึกอย่างไรกับพล.อ.ประวิตร แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ออกมาการันตีเช่นนี้ก็เท่ากับว่า ปัญหาของประชาชนก็ไม่ใช่ปัญหาของพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประยุทธ์คงเชื่อมั่นว่าความนิยมของตัวเองนั้นน่าจะกอบกู้สถานการณ์ของพล.อ.ประวิตรไว้ได้ รวมไปถึงคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ว่า จะอยู่ด้วยกันตลอดไป

เราก็คงทราบกันอยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นเคยเป็นลูกน้องใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประวิตรมาก่อน การฝึกฝนมาจากโรงเรียนทหารที่ผ่านการธำรงวินัยนั้นย่อมจะต้องมีความเกรงอกเกรงใจกันไม่น้อย เพราะถ้าไม่ได้รับโอกาสจาก พล.อ.ประวิตร พล.อ.ประยุทธ์ก็อาจจะไม่มีวันนี้

อย่างไรก็ตามเราต้องดูต่อไปว่า บุญคุณที่จะต้องตอบแทนกันระหว่างพล.อ.ประยุทธ์กับพล.อ.ประวิตรนั้นจะต้องแลกด้วยอำนาจทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของชาติไปอีกนานเท่าใด

ต้องยอมรับนะครับว่า พล.อ.ประวิตรได้รับความนิยมและยอมรับต่ำมากจากประชาชนที่เป็นกองเชียร์รัฐบาลทหาร เพียงแต่เพราะความรักที่เขามีต่อ พล.อ.ประยุทธ์เท่านั้นเองที่ยอมให้ พล.อ.ประยุทธอุ้ม พล.อ.ประวิตรต่อไป และทำให้ พล.อ.ประวิตรยังสามารถพึ่งพิงและแขวนชะตากรรมไว้กับรัฐบาลนี้ได้

พล.อ.ประวิตรนั้นขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกในสมัยที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี และมีข่าวว่าจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งแต่สมัยของสมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมครั้งแรกในสมัยของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สะท้อนว่า หลังจากพ้นจากอำนาจในกองทัพแล้ว พล.อ.ประวิตรก็ฝักใฝ่อำนาจทางการเมืองมาโดยตลอด

นอกจากนั้นสิ่งสำคัญที่พล.อ.ประวิตรมีและพล.อ.ประยุทธ์ไม่มีก็คือคอนเนกชั่นทางการเมือง พูดได้เลยว่า ไม่ว่าจะพลิกไปทางขั้วไหนพล.อ.ประวิตรก็ต่อสายได้หมด ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นถ้าพล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อหลังการเลือกตั้งอาจจะต้องพึ่งพิงพล.อ.ประวิตร

แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะพูดหลายครั้งว่า ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ไม่ได้มาหาเสียง เพราะไม่ใช่นักการเมือง เช่นเดียวกับที่ลงพื้นที่ปัตตานีก็เพิ่งพูดคำนี้ไป แต่คงไม่กล้าปฏิเสธหรอกว่าที่ทำลงไปเพื่อหวังความนิยมจากประชาชนไม่นั้นก็คงไม่ใช้วิธีประชุม ครม.สัญจรเลียนแบบรัฐบาลพรรคการเมืองเป็นแน่

กลไกการเมืองที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญบวกกับท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์นั้นชัดเจนว่า จะขอเป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้งแน่ๆ

การจะเดินสายการเมืองต่อหลังการเลือกตั้งของ พล.อ.ประยุทธ์นั่นแหละที่จำเป็นจะต้องรักษา พล.อ.ประวิตรเอาไว้ เพราะ พล.อ.ประวิตรสามารถทำบางเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำไม่ได้นั่นเอง ดังนั้นจึงไม่แปลกหรอกที่การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้จะมีนักการเมืองเข้าไปร่วมคณะ เพราะนี่เท่ากับเป็นการเตรียมสมการอำนาจกันใหม่หลังเลือกตั้ง

ถ้าเราเห็นจากเดิมที่ พล.อ.ประยุทธ์มักจะขยี้นักการเมืองแบบเหมารวมหลังจากเข้ายึดอำนาจ ระยะหลังก็พยายามพูดแบบแยกแยะมากขึ้นว่านักการเมืองมีทั้งดีและไม่ดี เพราะรู้แล้วว่าการไปต่อนั้นยังไงก็ต้องพึ่งพิงนักการเมือง แม้จะมี ส.ว.250คนที่จะตั้งมากับมือของตัวเองก็ตาม แต่การที่รัฐบาลจะดำเนินอยู่ได้อย่างมั่นคงนั้นอย่างไรเสียก็ต้องมีเสียงในสภาเกิน250คนไปพอสมควรเพื่อไม่ให้เสียงข้างมากปริ่มน้ำจนเกินไป

พรรคประชาชนปฏิรูปของไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ยังไม่ได้ก่อตั้งนั้นประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ แต่ยังคิดไม่ออกเลยว่า พรรคที่ประกาศตัวจะไม่เอานักการเมืองเก่าและทหารเข้าร่วมนั้นจะได้สักกี่เสียง แต่แน่นอนว่า พรรคการเมืองใหญ่อันดับ1และ2นั้นน่าจะยังเป็นพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์แน่ๆเพียงแต่ว่า ประชาธิปัตย์อาจจะพลิกผันไม่ได้ตามเป้าหมายตรงที่มีความแตกแยกภายในกันอยู่

ต้องยอมรับนะครับว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นพรรคเดียวที่ยังมีเอกภาพ แม้ตอนนี้ยังไม่รู้ว่า ใครจะเป็นหัวหน้าพรรคเลยเพราะต้องรอทักษิณกดปุ่ม แต่เชื่อว่า ไม่น่าจะมีพรรคไหนดึงตัวอดีตส.ส.ก็พรรคเพื่อไทยไปได้เยอะ เพราะนักการเมืองเองก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า สังคมไทยวันนี้นั้นแบ่งออกเป็น2ขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน และไม่มีอะไรที่สามารถดึงดูดมวลชนเสื้อแดงไปจากพรรคเพื่อไทยได้ ถ้าหนีไปพรรคอื่นก็อาจสอบตก

ความจริงรัฐบาลประยุทธ์ก็รู้นะครับว่า สิ่งที่ดึงดูดให้มวลชนเหนียวแน่นกับพรรคของทักษิณก็คือนโยบายประชานิยม รัฐบาลชุดนี้ก็เลยพยายามจะหว่านประชานิยมลงไปในหมู่ประชาชน แต่เรียกมันใหม่แก้เขินว่าประชารัฐ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นตัวสะท้อนอีกเรื่องหนึ่งว่า รัฐบาลชุดนี้ต้องการไปต่อหลังเลือกตั้งอีกแน่ เพราะไม่นั้นจะต้องไปหาความนิยมในหมู่ประชาชนทำไม

แต่ผมกลับมองในแง่ตรงข้ามนะครับว่า ยิ่งรัฐบาลนี้หว่านประชานิยมลงไปเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนคิดถึงต้นตำรับคือทักษิณมากยิ่งขึ้น น่าจะต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรที่ทำให้คนลืมทักษิณไปได้ โดยเฉพาะคนที่คิดว่าเขาถูกกระทำและเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมืองในนามคนเสื้อแดงมาก่อน แม้ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตามว่าพวกเขาเพียงแต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของทักษิณก็ตาม

แล้วเอาเข้าจริงๆ นะครับว่าวันนี้เราสัมผัสความรู้สึกของประชาชนได้เลย ส่วนใหญ่เขารู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนใหญ่มาก แม้รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ความรู้สึกของชาวบ้านระดับกลางลงล่างกลับไม่คิดเช่นนั้น ไม่เชื่อรัฐบาลก็ส่งใครลงไปเดินตลาดดูได้เลย

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์นั้น ดูเหมือนจะยากที่จะรักษาเก้าอี้ไว้เช่นเดิมได้ เพราะเกิดความแตกแยกจากปีกของกำนันสุเทพที่ประกาศสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯกับปีกของอภิสิทธิ์ที่ยังยึดพรรคเอาไว้ สุดท้ายสุเทพก็อาจต้องไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์อาจเกิดความแตกแยกอีกครั้ง เพียงแต่ยังต้องรอดูว่าสุเทพจะใช้กลยุทธ์อย่างไรเพราะตัวเองพ่นไว้หลายครั้งแล้วว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก ส่วนถ้าอภิสิทธิ์ยืนกรานหลังเลือกตั้งว่า ไม่เข้าร่วมกับทหารที่จะตั้งรัฐบาลเพื่อสืบทอดอำนาจโอกาสของพล.อ.ประยุทธ์ก็น่าจะเหนื่อยเหมือนกัน

ส่วนพรรคของเนวิน ชิดชอบกับพรรคของสุวัจน์ ลิปตพัลลภนั้น แน่นอนว่าอาจจะถูกสายลมพัดพาไปทางไหนก็ไปได้หมด แต่ก็ไม่น่าจะมีเก้าอี้ส.ส.ได้เป็นกอบเป็นกำ

ดังนั้นว่าไปแล้ว หลังเลือกตั้งแม้พล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตรที่มากคอนเนกชั่นจะมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าเพราะมีส.ว.250เสียงอยู่ในมือ การจะตั้งรัฐบาลในฐานะนายกรัฐมนตรีคนนอกก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว

เพราะบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ2560นั้นเขียนไว้ว่าจะไปสู่นายกฯคนนอกได้นั้นจะต้องให้เสียง2ใน3ของสองสภารับรองเสียก่อนนั่นคือต้องใช้เสียงถึง500เสียงเลยทีเดียว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าพรรคเพื่อไทยได้เกิน250คนหมากตานี้ก็ถึงทางตันเลย แต่ถ้าเพื่อไทยไม่ถึง250คน ทางที่เป็นไปได้ก็หมายความว่าจะต้องดึงพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาร่วมกันซึ่งก็จะเกิดการต่อรองและยากที่จะมีรัฐบาลที่มีเอกภาพได้

จริงๆ แล้วหากรัฐบาลทหารอยากจะสืบทอดอำนาจก็ควรจะต้องสร้างฐานมวลชนและแนวร่วมซึ่งน่าจะเป็นส่วนสำคัญที่คนเรียนกลยุทธ์มามากมายต้องรับรู้ ถ้าเราดึงมวลชนของทักษิณมาได้ไม่มากหรืออาจดึงมาไม่ได้เลยก็ต้องรักษามวลชนฝั่งตรงข้ามทักษิณเอาไว้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็เลือกรักษาพล.อ.ประวิตรที่มวลชนที่สนับสนุนตัวเองไม่ยอมรับเอาไว้แล้วพยายามป่าวประกาศให้คนเชื่อว่าเป็นคนดีต่างๆ นานา

แล้วพอลงไปค รม.สัญจรภาคใต้เพื่อหาเสียงความนิยมกลับไปขัดแย้งกับมวลชนภาคใต้ที่ส่วนใหญ่ไม่เอาทักษิณ แม้พยายามอ้างว่ามวลชนที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินจะใช้ความรุนแรงก่อน แต่คำถามมันง่ายนิดเดียวว่า ถ้าเขาจะมายื่นหนังสือเพื่อแสดงจุดยืนของเขาจะต้องเอากำลังไปสกัดทำไม ถ้าไม่ไปสกัดแล้วมันจะมีความรุนแรงไหม

อย่าลืมเชียวนะครับว่าหลังตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งผ่านไปแล้ว อำนาจตามมาตรา44ที่สร้างฤทธิ์เดชให้ พล.อ.ประยุทธ์เหาะเหินเดินอากาศได้ก็จะหมดไปทันที

ลองนึกดูว่าขนาดมีอำนาจเบ็ดเสร็จมีมาตรา44อยู่ในมือยังทำได้แค่นี้ พล.อ.ประยุทธ์บ่นตัดพ้อทำงานเหนื่อยและออกอารมณ์ฉุนเฉียวกับประชาชนมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว ถ้าต้องไปเป็นรัฐบาลผสมหลังเลือกตั้งและยังเป็นแบบนี้ทำนายไว้เลยว่า หลังที่แบกพล.อ.ประวิตรไว้จะต้องทรุดและพังไปพร้อมกัน


ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น