xs
xsm
sm
md
lg

ป้อมไม่สนละเมิดสิทธิ-โบ้ยตร.จัดการใช้กม.ปกติ-ศาลให้ประกัน15แกนนำม็อบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360- "บิ๊กป้อม" ลั่นจับแกนนำต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา ใช้กฎหมายปกติ ไม่ใช่กฎหมายชุมนุมในที่สาธารณะ ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่สวนทางกฎบัตรยูเอ็น "ปานเทพ" ชี้ จนท.มั่วจับม็อบข้ามขั้นตอน ส่อทำผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯเสียเอง แกนนำเตือนรัฐบาลคสช.จะได้รับบทเรียน หากใช้กฎหมายความมั่นคง มาจัดการประชาชน ยูเอ็นเรียกร้องให้ปล่อยตัว-ยกเลิกดำเนินคดี ด้านศาลจังหวัดสงขลา ให้ประกันตัว 15 แกนนำแล้ว

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึง การประกาศต่ออายุ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 พื้นที่ อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี และอ.จะนะ อ.นาทวี อ.เทพา และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ถึงวัน ที่ 30 พ.ย.61 ว่า เป็นการต่ออายุกฎหมายเดิม ที่จะครบกำหนดวันที่ 30 พ.ย.นี้ จึงมีความจำเป็นต้องต่ออายุเพื่อบังคับใช้ในพื้นที่ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับกรณีมีม็อบต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่อ.เทพา

สำหรับการดำเนินการกับม็อบที่ต่อต้านนั้น ทางรัฐบาลไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ที่ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยตนทราบว่าได้ส่งเรื่องให้ศาลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการตั้งข้อกล่าวหาแกนนำม็อบนั้น เราไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมพื้นที่สาธารณะ พ.ศ.2559 แต่เป็นเรื่องใช้ความรุนแรง และขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมถึงกีดขวางการจราจร

ส่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เป็นเรื่องของศาล เพราะเราใช้กฎหมายปกติ ไม่ได้ใช้กฎหมายการเมือง ส่วนจะรอมชอมให้ได้หรือไม่ เป็นขั้นตอนของศาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เมื่อถามว่า เกรงว่าจะนำเรื่องนี้ไปจุดประเด็นให้ลุกลาม หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า คิดว่าไม่ เพราะเราไม่ได้ใช้กฎหมายชุมนุม และก่อนหน้านี้เราก็บอกผู้ชุมนุมแล้วว่าอย่าเข้าไปใกล้ที่พักนายกฯ ให้ส่งหนังสือร้องเรียนมาเท่านั้น และคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีการเมืองหนุนหลัง และไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมาย

เมื่อถามย้ำว่า แต่การชุมนุมนั้นทางรัฐบาลให้พันธะสัญญากับกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนนั้นจะสวนกับแนวทางของรัฐบาล หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ไม่สวนกัน เพราะเป็นเรื่องกฎหมาย เป็นการขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ และกีดขวางการจราจร ผมขอถามว่า จะไปเดินขบวนเรียกร้องได้อย่างไร จะเข้าไปใกล้ที่พักนายกฯ ได้อย่างไร เราขอให้ส่งหนังสือมาก็พอ ยืนยันว่า ไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชน"

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้คิดว่าไม่ทำให้รัฐบาล และคสช. เสียภาพลักษณ์ เพราะเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ทำตามคำสั่งใคร

"คนในพื้นที่จะรวมตัวกดดันได้อย่างไร เพราะเราทำตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็ไปกดดันทางศาลสิ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ต้องการให้คดีนี้เป็นคดีตัวอย่าง เพราะทุกคนต้องทำตามกฎหมายเดียวกัน" พล.อ.ประวิตร กล่าว

เมื่อถามว่ารัฐบาล ยังเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ ยังไม่ถึงกระบวนการนั้น แต่ทราบว่าผลการทำประชาพิจารณ์ คนในพื้นที่ให้การสนับสนุน

**จนท.มั่วจับม็อบข้ามขั้นตอน

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเรื่องนี้ โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่จะจับกุมผู้ชุมนุมแบบมั่วๆไม่ได้ ซึ่งตามที่ปรากฏเป็นข่าวว่าตำรวจได้จับกุมแกนนำม็อบต้านโรงไฟฟ้าทั้ง 15 คนนั้น ทั้งหมดถูกล่ามโซ่ และมีการไม่ให้ประกันตัวด้วยนั้น คำถามคือ ตามพ.ร.บ.ชุมนุมสาธาณะ ทำเช่นนี้ได้หรือไม่ การจะดำเนินการเอาผิดกับผู้ชุมนุม ตำรวจจะลุแก่อำนาจไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะกฎหมายฉบับนี้ ได้ระบุขั้นตอนชัดเจนว่า กว่าจะจับกุมได้นั้น จะต้องดำเนินการในทุกขั้นตอนอย่างเคร่งครัดเสียก่อน

สมมุติว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ได้มีการขออนุญาต ตามมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 ก่อน 24 ชม. บทลงโทษก็มีบัญญัติเอาไว้ใน ม.28 คือ "ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท" เท่านั้น ไม่ใช่โทษจำคุก และในการจับกุม กฎหมายก็ไม่ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปจับกุมทันที แต่ต้องทำตามขั้นตอนดังนี้

1. ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยต้องออกประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรเปิดเผยอย่างชัดเจน

2. หากผู้ชุมนุมยังไม่เลิกการชุมนุม ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ร้องขอต่อศาลแพ่ง หรือศาลจังหวัด เพื่อให้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น ระหว่างนี้ เจ้าหน้าที่ ยังไม่สามารถจับกุม สลายการชุมนุม และเอาตัวไปเข้าคุก

3. ศาลจังหวัดเมื่อได้รับคำขอให้มีคำสั่งแล้ว ศาลก็จะพิจารณาคำขอนั้นเป็นการด่วน ถ้าเห็นว่าไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจริง ศาลก็จะมีคำสั่งโดยออกคำบังคับให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ภายในเวลาที่ศาลกำหนด

4. ผู้ชุมนุมก็ยังมีสิทธิ์ที่จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ โดยให้ถือว่าคำสั่งศาลอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์ภาค ให้เป็นที่สุด แสดงว่าถึงขั้นตอนนี้ ก็ยังจับกุมผู้ชุมนุมไม่ได้อยู่ดี

5. ถ้าผู้ชุมนุมยังไม่เลิกการชุมนุมตามคำสั่งศาล ภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด ให้เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุม รายงานให้ศาลทราบ หลังจากนั้น จึงจะสามารถประกาศกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม และให้ผู้ชุมนุมออกจากพื่นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่กำหนด และรายงานรัฐมนตรี เพื่อทราบ

6. จากนั้นจึงให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ที่รัฐมนตรีมอบหมาย เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์ มีอำนาจในการ จับกุม ค้น ยึด อายัด ฯลฯ

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ นี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเลี่ยงการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ 2558 แต่กลับไปดำเนินการ 3 ข้อหา คือ 1. ร่วมกันเดินอันเป็นการกีดขวางการจราจร 2. ต่อสู้หรือขัดขวางการจับกุม 3. ทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งได้กระทำตามหน้าที่

คำถามคือ กรณีการดำเนินคดีความเช่นนี้ ถูกต้องหรือไม่ เพราะหากเป็นการชุมนุมเพื่อคัดค้านโรงไฟฟ้า ย่อมต้องตีความว่า เป็นการชุมนุมสาธารณะ เมื่อเป็นการชุมุนุมสาธารณะ จะมาใช้เรื่องกฎหมายจราจรได้อย่างไร เพราะกฎหมายฉบับนี้ มีความจำเพาะแยกออกจากการกีดขวางทางสาธารณะปกติทั่วไปด้วย

นอกจากนี้ จะต้องตั้งคำถามว่า การต่อสู้ขัดขวางการจับกุมนั้น เป็นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ทำตามขั้นตอนตามกฎหมายเสียเอง จนทำให้ประชาชนที่คัดค้านเสียสิทธิการชุมนุมสาธารณะตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือไม่ ?

เมื่อมีการจับกุมที่ถูกตั้งคำถามว่า ได้ทำตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องพิสูจน์ต่อมาว่า มีการทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งทำตามหน้าที่นั้น มีจริงหรือไม่ ? ใครใน 15 คน ที่ทำร้ายเจ้าพนักงาน และทั้ง 15 คน ทำร้ายเจ้าพนักงาน จริงหรือไม่ และที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างว่าทำตามหน้าที่นั้น ได้ทำตามกฎหมายแล้วหรือไม่ และเหตุการณ์ปะทะกันนั้น เพราะเจ้าหน้าที่รัฐเป็นฝ่ายเริ่มไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเสียเอง ใช่หรือไม่

** เตือนรัฐบาลคสช.จะได้รับบทเรียน

นายประสิทธิ์ชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กว่า "มติ ครม.วันนี้ กำหนดให้ เทพา เป็นเขตความมั่นคง จนท. มีอำนาจออกระเบียบ กฎเกณฑ์ ควบคุมภายใต้ วาทกรรม ความมั่นคง พวกคุณที่เป็นทาส พ่อค้าถ่านหิน คงจะรับทราบ การลุกขึ้นสู้โดยไม่กลัวตายของคนรักษามาตุภูมิว่าเป็นอย่างไร การจ่ายของพ่อค้าถ่านหิน จะเสียเปล่า เพราะพวกคุณประเมิน อานุภาพของความรักมาตุภูมิต่ำไป ถ้าจะท้าทายกันแบบนี้ พวกคุณจะได้รับบทเรียน"

ด้าน อ.เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ โพสต์ว่า "นายกฯ เพี้ยนไปแล้วครับท่าน เขามาปกป้องแผ่นดินเกิดของเขา เขาจะมายื่นจดหมายต่อท่าน ท่านดันยื่นคุก ยื่นกฎหมายความมั่นคงให้กับเขา ตอนเรียนทหาร ท่านเอาหัวปักถ่านหินมากไปหรือเปล่าครับ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง โพสต์ข้อความว่า "อนิจจา 15 แกนนำม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานอนคุก เพราะหลักทรัพย์ไม่พอ มีเพียงเยาวชนชาย 16 ปี ได้ประกันตัวเพียงคนเดียว และนายกรัฐมนตรีก็ใช้อำนาจประกาศพื้นที่ความมั่นคง เหมือนกับมีสงครามกันทีเดียว ต้องถามว่าท่านนายกฯ ปล่อยให้สถานการณ์มาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แทนที่จะทำตัวเป็นฮีโร่ รับฟังปัญหาชาวบ้านอย่างสง่างาม กลับเป็นผู้นำทหารแบบยุคหิน ทำให้โอกาสของท่านนายกฯ ที่จะแปลงบทบาทจากผู้นำเฉพาะกิจ ไปเป็นผู้นำทางการเมือง หลุดไปจากมืออย่างน่าเสียดาย ภาพพจน์ที่สร้างมา 3 ปี ป่นปี้ในช่วงเวลาแค่วันเดียว"

*** UN จี้ยกเลิกดำเนินคดีม็อบโรงไฟฟ้า

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNOHCHR) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาผู้ชุมนุมทุกรายที่ถูกจับกุมขณะเดินประท้วงอย่างสันติต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินขนาด 2,200 เมกะวัตต์ที่จังหวัดสงขลา

"การประท้วงอย่างสันติเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสังคมประชาธิปไตยเพื่อก่อให้เกิดสำนึกรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมของสาธารณชน... เราขอเรียกร้องให้ทางการไทยรับประกันสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติและสิทธิในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งขอให้คุ้มครองความปลอดภัยและเกียรติของสมาชิกชุมชนตลอดจนผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน ในวิถีที่สอดคล้องกับพันธะของประเทศไทยภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศด้วย"


**"ไก่อู"ใส่ไฟแกนนำม็อบไปเที่ยวกับกิ๊ก

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่มีแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมคนหนึ่ง ชื่อ มุสตาร์ซีดีน วาบา หรือที่เรียกว่า แบร์มุส ซึ่งมีภาพออกไปในโซเชียลมีเดียว่าถูก ตำรวจ หรือทหารจับไป วันนี้ยังไม่ได้กลับบ้านเลย ก็เลยถามแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ตรวจสอบแล้ว ทั้งตำรวจ ทหาร ไม่มีใครจับตัวไป ยืนยันไม่ได้เก็บตัวไว้ แต่ว่าเขาหายไป ไม่กลับบ้าน

"จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ไหมว่า ลักษณะลีลา มันจะเหมือนที่สะบ้าย้อย เมื่อไม่นานมานี้ เขาบอกว่าหายไป ไม่กลับบ้าน ถูกตำรวจ ถูกทหารจับไป แต่พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ก็ปรากฏว่า ท่านหนีไปเที่ยวกับผู้หญิงที่ไม่ใช่ครอบครัวของท่าน ที่ สตูล อันนี้ตั้งข้อสังเกต ผมไม่ได้ว่า คุณแบร์มุสนะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ในวันข้างหน้า" พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในโซเชียลมีเดียได้วิพากษ์วิจารณ์การพูดของ พล.ท.สรรเสริญ ว่าเป็นการใส่ร้ายป้ายสี และไม่ให้เกียรติผู้ชุมนุม โดยหยิบยกเอาเรื่องส่วนตัวที่ไม่มีมูลความจริง และไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวมากล่าวหา ไม่นับรวมพฤติกรรมของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ตะคอกใส่ชาวประมงใน จ.ปัตตานี ก่อนหน้านี้

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเป็นการออกความเห็นของโฆษกรัฐบาลที่ไม่ระมัดระวัง ซึ่งจริงๆ ช่วงที่แกนนำคนนี้หายไป ก็อาจจะเป็นไปได้หลายสาเหตุ ทางรัฐบาลจำเป็นต้องแสวงหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยไม่จำเป็นต้องบอกเหตุผลอย่างที่โฆษกฯ กล่าวมาก็ได้ เพราะถือว่าเป็นคำพูดที่ไม่ให้เกียรติกัน

"เรื่องการพูดไม่ระมัดระวัง จะต้องกระทบต่อจิตใจของคนใต้อย่างแน่นอน พอไม่ให้เกียรติกัน ก็ทำให้ความรู้สึกร่วมระหว่างรัฐบาล กับระชาชน ดูจะห่างเหินกัน คราวนี้คนที่เคยเชียร์รัฐบาลทหาร ก็จะนั่งไม่ติดแล้ว เพราะว่าระยะหลังรัฐบาลก็เหมือนนักมวยที่โดนหมัดสวนไปเยอะ ซึ่งลักษณะที่เกิดขึ้นเหมือนกับคนที่อยู่ในอำนาจช่วงท้ายๆ ประวัติสาสตร์ เคยมีให้เห็นแล้วว่า คนที่อยู่ในอำนาจนานก็จะจบแบบนี้" นายนิพิฏฐ์ กล่าว

** แนะนายกฯใจกว้าง ปล่อยตัวแกนนำ

นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.)กล่าวว่า การจับกุมแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินครั้งนี้ อาจกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้ เพราะรัฐบาลใช้อำนาจเข้าแก้ปัญหา มากกว่าใช้ความรู้ความเข้าใจ และความเห็นใจประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นกลุ่มเดือดร้อนโดยตรง ที่รัฐบาลต้องเอาใจใส่ ดูแลก่อนกลุ่มอื่นๆด้วยซ้ำ โดยรัฐบาลควรใช้วิธีทางรัฐศาสตร์เข้ามาคลี่คลายสถานการณ์ เพื่อไม่ให้บานปลายไปกว่านี้ อย่างน้อยๆ ปัญหาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็ยังมีข้อเท็จจริงที่ต้องหาข้อถกเถียงหาข้อยุติอีกหลายประเด็นการเปิดกว้างรับฟัง แม้จะเป็นความเห็นที่ต่างจากนายกฯ ต่างจาก ครม. ก็ยิ่งต้องฟัง ถ้าต้องการได้ยินแต่เสียงซ้ำๆ คำชื่นชมด้านเดียว การบริหารประเทศก็จะไม่ยืนอยู่บนข้อเท็จจริง

จึงอยากเห็นท่านนายกฯ ใจกว้าง และกล้าหาญในเรื่องนี้ ปล่อยตัวชาวบ้านและยกเลิกข้อหากับทุกคน จะได้ใจและได้ประโยชน์ได้ความร่วมมือมากกว่าอย่างน้อยยุทธศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 การขับเคลื่อนประเทศ ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน จากสังคมทุกกลุ่ม ก็จะดำเนินไปท่ามกลางความร่วมมือ และการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่เดินหน้าไปบนความหวาดระแวงตั้งแต่เริ่มต้นแบบนี้

**ศาลให้ประกันตัว15 แกนนำ

ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้า การยื่นขอประกันตัว 15 แกนนำ และกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน ว่่าเมื่อเวลา16.30 น. (29พ.ย.) ศาลจังหวัดสงขลา อนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 15 คนแล้ว โดยหลังจากที่ศาลได้ไต่สวนแล้ว เห็นว่า สามารถใช้ตำแหน่งของอาจารย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และอาจารย์มหาวิทยาลัยทักษิณ รวม 6 คน ตามที่ทนายความยื่นค้ำประกัน แทนเงินสดได้

โดยทางเจ้าหน้าที่ศาล และตำรวจ จะนำหนังสือจากศาล มายื่นต่อทางเรือนจำจังหวัดสงขลา เพื่อขอปล่อยตัวทั้ง 15 คน โดยคาดว่าน่าจะได้รับการปล่อยตัว ในช่วงค่ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น