ผู้จัดการรายวัน 360 - "ประยุทธ์" ลั่น 3 เดือนเร่งเพิ่มใช้ยางพาราผ่านกลไกให้เห็นผล สั่งก.ทรัพย์ฯ ยึดคืนป่าจากนายทุนบุกรุก พร้อมเร่งพิจารณาที่ดินส.ป.ก.-กำหนดนโยบายที่ดินแห่งชาติ ให้ใช้ที่ดินทำกิน แต่ไม่ให้โฉนด ยอมรับ 3 ปี ยังปลดทุกข์ให้ไม่ได้ ขอเวลารัฐบาลแก้ป้ญหา คาดโทษท้องถิ่นถ้าช่วยประชาชนไม่ได้ ก็ยุบ "บิ๊กป้อม"อ้างไม่ได้จับแกนนำม็อบต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน แต่เป็นพวกฮาร์ดคอร์ ยันได้พยายามประสานไม่ให้เดินทางมาแล้ว แต่ไม่ฟัง ด้านตร.ภาค 9 เตรียมขอศาลฝากขัง 16 แกนนำม็อบ ขณะที่นายกฯ ออกประกาศ5อำเภอ "สงขลา-ปัตตานี"เป็นพื้นที่กระทบความมั่นคง บังคับใช้ถึง 30 พ.ย. 61
วานนี้ (28 พ.ย.) ที่อาคาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อ.เมืองฯ จ.สงขลา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมครม.สัญจร ถึงการแก้ไขปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวนับวันจะมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา ปาล์ม เพราะมีอย่างอื่นทดแทนได้ จึงสั่งการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ดำเนินการกับนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ที่เป็นสวนป่า และหามาตรการดูแล ประชาชนที่บุกรุกมานาน แต่สิ่งที่กังวลคือผู้ที่มีรายได้จากการกรีดยางจะช่วยอย่างไร
วันนี้รัฐบาลแก้ปัญหาการบุกรุกป่า 2 ลักษณะ คือ เร่งพิจารณาที่ดิน ส.ป.ก. และการกำหนดการทำงานของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ซึ่งจะอนุญาตให้ใช้ที่ดินทำกิน แต่ไม่ให้โฉนด จะทำพยายามทำให้ได้ในทุกจังหวัด แต่เราจะต้องควบคุมปริมาณสินค้าเกษตรในประเทศให้ได้ ทั้งด้านการขาย ในและต่างประเทศ
ปัจจุบันเราผลิตยางพาราได้ปีละ 6 ล้านตัน รัฐบาลช่วยทำให้ใช้ในประเทศไปได้ประมาณ 5 ล้านตัน จากที่ก่อนหน้าใช้ได้แค่ 3 ล้านกว่าตัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลพยายามผลักดันส่งเสริมเรื่องการลงทุนบีโอไอในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จากการตรวจสอบกับบีโอไอ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการร้องขอสิทธิประโยชน์ในการลงทุนในประเทศไทยเกี่ยวกับเรื่องยาง ซึ่งช่วยเพิ่มการใช้ยางในประเทศได้อีก 5 แสนตันเป็นอย่างน้อย แต่ต้องใช้เวลาสร้างโรงงงาน และมีผลิตภัณฑ์ยางในช่วงนี้
นอกจากนี้ได้ให้การยางแห่งประเทศไทย(กยท.) และประธานคณะกรรมการบอร์ดการยางไปพิจารณาใช้ยางให้เป็นรูปธรรม และในปีนี้จะเร่งส่งเสริมการใช้ยางให้ได้ 2 แสนตัน ด้วยการใช้น้ำยางข้นในการปูพื้นสระอ่างเก็บน้ำที่รั่วซึม ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับเรื่องไป
ส่วนการนำผลผลิตจากยาง ซึ่งภาคเอกชนเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์นั้น กำลังหารือว่าจะร่วมมือกันอย่างไรในการรับซื้อยางจากพื้นที่ เป็นยางใหม่ เพื่อนำไปสู่การผลิต และหน่วยงานที่ต้องการใช้ยางนำไปใช้ประโยชน์ เราเป็นตัวเชื่อมโยงผ่านการใช้งบประมาณภาครัฐ และต้องดูมาตรฐาน เพื่อไม่ให้มีปัญหาวันข้างหน้า อย่างไรก็ตามใน 3 เดือนจะเร่งเรื่องเหล่านี้ให้มีความก้าวหน้า
***เร่งแก้ปัญหาประมงให้ถูกกม.
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาการทำประมงว่า เราจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับแนวทางของสหภาพยุโรป(อียู) ในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ซึ่งที่จริงแล้ว เราไม่สามารถตอบได้ว่า ปลาที่เราจับได้ จับมาจากที่ไหน อย่างไร พิสูจน์ไม่ได้ แต่เราต้องทำให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำ ในพื้นที่เขตทะเลที่เป็นอาณาเขตของเรา และในทะเลชายฝั่ง ซึ่งรวมถึงประมงชายฝั่งและประมงพื้นบ้าน ในส่วนของภายในประเทศ คือการจับปลาของประมงในพื้นที่ทะเลในอาณาเขตต้องไม่ล่วงล้ำกับประมงพื้นบ้าน ซึ่งเราต้องแก้ปัญหานี้ให้ได้
"สำหรับเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ผมจำเป็นต้องพูดเสียงดังไปเล็กน้อย เพราะการพูดจาบางทีต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน ผมบอกแล้วว่าทุกอย่างผมจะรับแก้ปัญหาให้ แต่การแก้ปัญหาประมง ต้องสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย มิฉะนั้นเขาจะต่อต้านสินค้าทั้งหมดของเรา เพราะสัตว์น้ำที่ถูกจับโดยไม่มีที่มา เขาจะไม่รับซื้ออีกแล้ว หรือแม้แต่การประกอบการใดก็ตาม ที่มีการใช้แรงงานไม่ถูกกฎหมาย มีการค้ามนุษย์ หรือใช้แรงงานเด็ก เขาจะไม่ซื้อทั้งหมด ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราปิดใครไม่ได้ ดังนั้นพวกเรากันเองอย่าปกปิดราชการ ต้องให้หน่วยงานราชการไปดูแลแก้ไข"
** ยอมรับ 3 ปียังแก้ปัญหาไม่สำเร็จ
ต่อมาเวลา 15.00 น. นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมตลาดประชารัฐ พบปะประชาชน และมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรือที่อยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด 7 จังหวัด ได้แก่ จ.ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส พังงา พัทลุง ระนอง และสุราษฎร์ธานี
โดยนายกฯ กล่าวว่า วันนี้ยังปลดทุกข์ให้ทุกคนไม่ได้ เพราะต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหา ซึ่งเวลา 3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อแก้ปัญหาให้เกิดความยั่งยืน บางอย่างต้องบังคับใช้กฎหมาย เพราะต้องการให้เกิดความเท่าเทียมกัน และอะไรที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง ขอให้ลดลงบ้าง ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะที่เป็น ผอ.รมน.จังหวัด จะต้องทำงานแบบบูรณาการ ต้องดูความปลอดภัยประชาชน และด้านเศรษฐกิจ การค้า ซึ่งรัฐบาลรับฟังการเสนอแนวทางจากล่างมาสู่บน แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ทำกันแบบนี้ จึงเกิดปัญหาซับซ้อน
"ดังนั้นท้องถิ่นจะต้องร่วมกันเดินหน้าประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ ต้องคิดใหม่ ทำใหม่ ถ้าทำไม่ได้ยุบก็ต้องยุบ ท้องถิ่นต้องปรับปรุงตัวเอง ต้องรับผิดชอบงานที่กระจายอำนาจไปแล้วให้ได้ เช่นเดียวกับข้าราชการ ที่ต้องปรับปรุงตัวเอง ต้องทำงานร่วมกับประชาชน ต้องไม่เกิดความขัดแย้ง เพราะความขัดแย้งจะทำให้มีคนมาแสวงหาประโยชน์ และอย่าไปฟังคำบิดเบือน"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาการทุจริตค้าน้ำมันเถื่อน หรือผู้มีอิทธิพล ว่า เรื่องเช่นนี้ต้องไม่มีอีก ถ้ามีอีกขอให้ส่งข้อมูลมา จะตรวจสอบให้ ตนมีกลไกการตรวจสอบ ใครอ้างชื่อนายกฯ รองนายกฯ หรือรัฐมนตรี เอาตัวมาเลย จะจัดการให้ ตนจะจัดการพวกแอบอ้าง เพราะทำให้การทำงานเสียหาย
"ยืนยันว่า ตัวเลขเศรษฐกิจดีขึ้น แม้ชาวบ้านอาจจะบอกว่าไม่เห็นดีขึ้นตรงไหน แต่สิ่งสำคัญคือ เราได้เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ เพราะผมเป็นนายกฯ ที่ไม่เอาใจคน ผมบริหารงานในแบบของผม ดูแลประชาชนไม่เลือกว่าใครสนับสนุนผม โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ (อีอีซี) คือ เครื่องจักรใหม่ ถ้าโครงการนี้ไม่เกิด บอกได้เลยว่า เราจะสู้เขาไม่ได้ วันนี้เราไม่มีแหล่งเงินทุนแล้ว รัฐบาลไม่ได้ตูดขาด แต่มีความจำเป็นที่จะต้องเอาเงินลงทุนโครงการต่างๆ เรื่องความมั่นคงก็ต้องลงทุน เพื่อทำให้ประเทศมีตัวตน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
**ตั้งผู้แทนพิเศษแทน"บิ๊กโด่ง"1 ธ.ค.นี้
ด้านพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุมครม.ครั้งนี้ ที่มีนายกฯ และรัฐมนตรีรวมประชุมแค่ 15 ว่า บรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบร้อยดี ไม่ได้เงียบเหงา ส่วนจะให้พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม มาเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แทน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ที่เคยรับผิดชอบ หรือไม่นั้น ในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จะมีคำสั่งดังกล่าวออกมา
ส่วนการควบคุม 16 แกนนำคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ม็อบดังกล่าวทำความผิดซึ่งหน้า ขัดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ มีการตีตำรวจ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ความจริงถ้าจะยื่นหนังสือคัดค้านถึงนายกฯ ส่งแค่กระดาษแผ่นเดียวก็ได้ และก่อนหน้านี้ มีการประสานแล้วว่า ไม่ต้องเดินทางมา แต่เขาไม่หยุด แล้วจะให้ทำอย่างไร
"คนหนึ่งถือไม้ก็มี เขามาทำเจ้าหน้าที่ โดยขณะนี้ ทั้ง 16 คน ถูกควบคุมตัวอยู่ ซึ่งเป็นพวกฮาร์ดคอร์ เป็นพวกใจร้อน ไม่ใช่แกนนำอะไรทั้งสิ้น เราไม่ได้ใช้เรื่องการเมือง ไม่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองเลย"
เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะแจ้งข้อกล่าวหาผิด พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กับ 16 คนดังกล่าว ด้วยหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ปล่อยให้เจ้าหน้าที่พิจารณาดำเนินการไป
**เตรียมขอศาลฝากขัง 16 แกนนำม็อบ
ด้านพล.ต.ท.รณศิลป์ ภู่สาระ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 9 กล่าวถึงการควบคุม16 แกนนำม็อบ ว่า ขณะนี้มีการแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา คือร่วมกันเดินอันเป็นการกีดขวางการจราจร ต่อสู้ หรือจัดขวางการจับกุม และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งได้กระทำการตามหน้าที่ โดยแกนนำทั้ง 16 คนที่ถูกจับกุม เป็นชายทั้งหมด แต่ยังไม่แจ้งดำเนินคดีในข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ
**เพจทีมงาน"บิ๊กตู่"เสียใจที่ตะคอกใส่ชาวประมง
สำหรับกรณีพล.อ.ประยุทธ์ ตะคอกใส่ นายภรัณยู เจริญ ชาวประมง จ.ปัตตานี ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.ปัตตานี หลังนายภรัณยู ขอให้รัฐบาลแก้กฎ ระเบียบ ที่กำหนดให้ชาวประมง สามารถออกเรือไปทำประมงได้ 220 วันต่อปี มองว่าน้อยเกินไป ทำให้ผู้ประกอบอาชีพประมงประสบภาวะขาดทุน อยากให้แก้กฎหมายเพิ่มวันออกเรือ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 28 พ.ย. เฟซบุ๊ก Gen.Prayut Chan-o-cha โดยทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์ ได้โพสต์ข้อความว่า
"นายกฯ เสียใจ ที่ได้ว่ากล่าวชาวประมงไปเมื่อวานนี้ ที่ปัตตานี แต่ขอให้เข้าใจ สิ่งที่รัฐบาลได้แก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อให้อุตสาหกรรมประมงของไทย สามารถอยู่ แล้วส่งออกได้ สอดคล้องกับพันธสัญญาที่เราต้องดำเนินการ รวมทั้งเพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ ให้การประมงของเราเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคต สำหรับปัญหาความเดือดร้อนต่างๆที่ร้องเรียนมา ได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบไปดูอย่างละเอียดแล้ว"
*** แกนนำม็อบต้านโรงไฟฟ้านอนคุก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าการดำเนินคดีกับแกนนำและกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายคนสงขลา-ปัตตานี ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 16 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมหลังจากที่พยายามฝ่าชุดควบคุมฝูงชนของเจ้าหน้าที่เพื่อไปยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรีที่เดินทางมาประชุม ครม.สัญจรที่ จ.สงขลา
ล่าสุดพนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหา 15 คนไปผลัดฟ้องฝากขังผลัดแรกที่ศาล จ.สงขลา ส่วนอีก 1 คนซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี ส่งศาลเด็กและเยาวชน จ.สงขลา โดยทางทนายความของแกนนำได้ยื่นเรื่องขอประกันตัว แต่ปรากฏว่าในวันนี้ทางแกนนำ 15 คนไม่ได้รับการประกันตัวเนื่องจากพนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว รวมทั้งหลักทรัพย์ที่จะยื่นค้ำประกันคนละ 90,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,350,000 บาทนั้นทางทีมงานหาให้ไม่ได้ ทำให้ทั้งหมดต้องถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำกลาง จ.สงขลา ส่วนเยาวชนชายอายุ 16 ปี นั้นศาลเด็กและเยาวชน จ.สงขลา สามารถประกันตัวได้เนื่องจากวงเงินหลักทรัพย์แค่ 5,000 บาท โดยในวันพรุ่งนี้ทางทีมทนายความและแกนนำจะยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกครั้งหนึ่ง
นายกฯ ออกประกาศ5อำเภอ "สงขลา-ปัตตานี"เป็นพื้นที่กระทบความมั่นคง บังคับใช้ถึง30พ.ย.61
ขณะที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มีใจความว่า ด้วยสถานการณ์ในเขตพื้นที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอำเภอจะนะ อำเภอนาทวีอำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ยังคงปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคง ภายในราชอาณาจักร ซึ่งปรากฏเห็นชัดในรูปแบบของเหตุการณ์รุนแรง ทั้งนี้ ห้วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผล ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแก้ไขและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ระดับหนึ่ง
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการบริหารจัดการรักษาความสงบและความปลอดภัยให้มีเอกภาพและเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ยังคงต้องกำหนดมาตรการป้องกันไว้เช่นเดิม เพื่อมิให้สถานการณ์ขยายตัวลุกลาม หรือหากเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถแก้ไขปัญหาให้ยุติโดยเร็วโดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 ดังต่อไปนี้
1. ให้เขตพื้นที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี และอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพาและอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร
2. ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือหน่วยงานภายในที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมอบหมายให้เป็นศูนย์อำนวยการเป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และจัดทำแผนการดำเนินการในการบูรณาการ การกำกับ ติดตาม และเร่งรัดหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด
3. เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติ การป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ให้บรรดาประกาศ คำสั่ง หรือการดำเนินการใดที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรกำหนดขึ้น หรือการปฏิบัติการใดของศูนย์อำนวยการ หน่วยงาน พนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ใดที่ได้รับมอบหมายจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามประกาศ เรื่อง พื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559 ซึ่งมีผลใช้บังคับในเขตพื้นที่อำเภอแม่ลานจังหวัดปัตตานี และอำเภอจะนะ อำเภอนาทวี อำเภอเทพา และอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ยังคงมีผลใช้บังคับโดยต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น
ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561