ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงมีพระราชดำริห์ การสอนวิชาแพทย์อย่างไทยแลอย่างฝรั่ง ในพระราชหัตเลขาในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2433 ความตอนหนึ่งว่า
“....ขอเตือนว่า หมอฝรั่งนั้นดีจริง แต่ควรให้ยาไทยสูญหฤาหาไม่ หมอไทยจะควรไม่ให้มีต่อไปภายน่าหฤาควรจะมีไว้บ้าง ถ้าส่วนตัวฉันเองยังสมัคกินยาไทยแลยังวางใจหฤาอุ่นใจในหมอไทยมาก ถ้าหมอไทยจะรักษาอย่างฝรั่งหมด ดูเยือกเยนเหมือนเหนอื่น ไม่เหนพระสงฆ์เลยเหมือนกัน แต่ตัวฉันก็อายุมากแล้ว เหนจะไม่ได้อยู่ไปจนหมอไทยหมดดอก คนภายน่าจะพอใจอย่างฝรั่งทั่วกันไป จะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมัง เปนแต่ลองเตือนดูตามหัวเก่าๆ ทีหนึ่งเท่านั้น"
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทยอย่างยิ่ง ย้อนกลับไป 20 ปี ก่อนทรงมีพระราชหัตถเลขาดังกล่าวข้างต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้าฯให้เจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ตำแหน่งจางวางแพทย์คือพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอมฤทตย์ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย พระราชโอรสในรัชกาลที่ 3 เป็นประธานในการชำระความถูกต้องและสงเคราะห์พระคัมภีร์แพทย์แผนไทยทั้งมวลขึ้นเป็น “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง” ในปี พ.ศ. 2413 ซึ่งเป็นปีที่ 3 ที่ทรงครองราชย์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ประชุมแพทย์หลวงสืบค้นและรวบรวมตำราแพทย์ไทยนั้น ได้ทำให้เกิดการตรวจสอบชำระความถูกต้อง เมื่อตรวจสอบความถูกต้องแล้วจึงได้มีการจดลงบันทึกในสมุดไทย ต่อมาได้มีการจัดพิมพ์สำเร็จบริบูรณ์โดยพระยาพิศณุประสาทเวช (คง ถาวรเวช) เรียกกันว่า “หมอคง” ผู้เป็นอาจารย์เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยของราชแพทยาลัยและผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร เป็นผู้ริเริ่มจัดพิมพ์ “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง” จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2450 จึงกล่าวได้ว่าตำรา “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง” ได้ผ่านการพัฒนาพิมพ์จนสมบูรณ์นับจากวันที่ทรงริเริ่มรวบรวมใช้เวลานานถึง 37 ปี
ตำรับยาและคัมภีร์ที่ปรากฏอยู่ใน “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” จึงผ่านการกลั่นกรองและตรวจสอบความถูกต้องในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติ แม้ว่าจะยังไม่ได้มีระบบการวิจัยเหมือนกับการแพทย์ในยุคปัจจุบัน แต่ก็เป็นการรวมรวมและบันทึกคัมภีร์และตำรับยาจากรุ่นสู่รุ่นอย่างเป็นระบบที่แพทย์ในในยุคนั้นเห็นว่าได้ผลและมีประสิทธิภาพในการรักษาได้จริง
ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ซึ่งมีมิติที่กว้างและลึกอย่างเป็นระบบ ส่งผลทำให้ในช่วงแรกของการตั้งโรงพยาบาลวังหลวงนั้น ประชาชนมีความนิยมในแพทย์แผนไทยมากกว่าแพทย์แผนฝรั่งเสียอีก ต่อมาจึงได้ถูกทำลายไปด้วยกฎหมายที่มาจากแรงกดดันจากต่างประเทศ
และนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่การแพทย์แผนไทยได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะสมุนไพรไทยบางตัวกลับถูกต่างชาติชิงตัดหน้าจดสิทธิบัตรไปแล้ว สมุนไพรบางตัวได้สูญหายไป และที่จะกล่าวถึงบทความนี้คือสมุนไพรบางตัวได้ถูกถอดออกจากสมุนไพรและตำรับยาเพราะถูกขึ้นเป็นบัญชีพืชเสพติดด้วย
“กัญชา” เป็นสมุนไพรอีกตัวหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์สรรพคุณแลมหาพิกัดที่ระบุสรรพคุณของกัญชาไว้ว่า “กัญชา” แก้ไข้ผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่น เสียงสั้น เป็นด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ
ในขณะที่กัญชาได้เป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติแล้วว่า กัญชา ช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดอาการปวด นอนหลับ ลดความเครียด ลดอาการลมชัก ลดการอักเสบ ฯลฯ
และที่ทั่วโลกกำลังวิจัยและให้ความสำคัญไปไกลกว่านั้นคือ จะใช้กัญชามามีส่วนช่วยหรือรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้มากน้อยแค่ไหน? และอย่างไร?
และเนื่องจากัญชาได้ถูกจัดเอาไว้เป็นพืชเสพติดในกฎหมายยาเสพติด จึงเป็นผลทำให้กัญชาและตำรับยาที่มีกัญชาผสมอยู่ในคัมภีร์แห่งภูมิปัญญาไทยต่างๆได้ทยอยสูญหายไปไม่มีโอกาสได้ถูกนำมาใช้อีก ส่งผลทำให้หลายตำรับยาไทยขาดความสมบูรณ์ในการนำมาใช้ในการรักษา และสุดท้ายก็ต้องไปพึ่งพายาเคมีที่นำเข้าจากต่างประเทศดังเช่นปัจจุบัน
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต จึงได้แต่ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาและพัฒนาการวิจัยพืชเสพติด ของมหาวิทยาลัยรังสิตขึ้น โดยมีศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธานกรรมการ
โดยในคราวประชุมเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2560 นพ.ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าร่วมประชุมด้วย และได้แจ้งต่อประชุมเป็นเอกสารบันทึกรวบรวมว่ากัญชาปรากฏอยู่ในตำรับยาในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์อย่างน้อย 10 ตำรับ ดังนั้นเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะชน จึงขอนำข้อมูลจากเอกสารการประชุมดังกล่าวมาเผยแพร่ดังนี้
1.ในพระคัมภีร์ปฐมจินดา ซึ่งเป็นตำรากุมารเวชศาสตร์ของการแพทย์แผนไทย มียาเข้ากัญชา 1 ตำรับ คือ ยาไฟอาวุธ (ซึ่งใช้รักษาโรงตานทรางอย่างเดียวกับที่เกิดขึ้นกับลูกของอีเย็นนางทาส) มีอาการเป็นไข้หละละอองลิ้นขาว เป็นตุ่มเม็ดในปากคอและตามร่างกายของทารกและเด็กเล็ก แก้โรคไอผอมเหลือง หืดหอบ โรคพุงโรก้นปอด แก้ไข อุจจาระเป็นโลหิต จุกเสียดแน่นท้อง ปรุงเป็นยาผงทำเป็นเม็ดพริกไทยกับมะนาวเป็นกระสายยา
ตำรับยาตามคัมภีร์
"ยาชื่อ ไฟอาวุธ ประกอบด้วย ผลจันทร์ ดอกจันทร์ กระวาน กานพลู โกฐทั้ง ๕ เทียนทั้ง ๕ ชะเอมเทศ กัญชา แก่นแสมทะเล สิ่งละ ๑ ส่วน อุตพิด เปลือกสมุลแว้ง ดีปลี ใบพิมเสน สิ่งละ ๒ ส่วน รากจิงจ้อ รากส้มกุ้ง รากเปล้าน้อย รากเปล้าใหญ่ รากสะค้าน รากพาดไฉน สิ่งละ ๓ ส่วน สหัศคุณเทศ ๔ ส่วน บุกรอ ๙ ส่วน พริกไทย ขิงแห้ง รากเจตมูลเพลิง สิ่งละ ๑๖ ส่วน รวมยา ๓๒ สิ่งนี้ ทำเป็นจุณ เอาน้ำมะนาวเป็นกระสาย บดปั้นแท่งไว้
...กินแก้ซางทั้ง ๗ จำพวก แก้ตานโจรทั้ง ๑๒ จำพวก แก้หืดน้ำนมทั้ง ๗ จำพวก แก้ไอ ผอมเหลือง และแก้ไส้พองท้องใหญ่ แก้พุงโร และลมจุกเสียด แก้อุจจาระเป็นเสมหะโลหิตระคนกัน"
2.ในพระคัมภีร์มหาโชตรัต ซึ่งเป็นตำรานรีเวชศาสตร์ของการแพทย์แผนไทย มีเข้ากัญชา 3 ตำรับด้วยกันคือ
-ยาแก้ลมอุทธังคมาวาตะ คือลมตีขึ้นบนในสตรี เกิดลมจับหัวใจ ให้ชัก มือกำเท้ากำ ลิ้นกระด้างคางแข็ง ลมตีขึ้นปะทะอกหายใจไม่ออก ราวจะสิ้นใจ เป็นยาผงละลายน้ำผึ้งกิน
-ยาแก้ริดสีดวงมหากาฬ ๔ จำพวก เป็นยารักษาฝีหนองที่ขึ้นในลำคอ ในทวารหนัก ในทวารเบาและในลำไส้ตลอดถึงหลอดอาหาร รวมทั้งก้อนฝีหนองในอก คุดทะราด ฝีเปื่อยทั้งตัว และกามโรค ยาขนานนี้นอกจาเข้ากัญชาแล้วยังผสมฝิ่นเล็กน้อย บดผงปั้นเท่าพริกไทย ละลายน้ำสุรากิน ๑-๓ เม็ด
-ยาแก้อาการบิดมวนท้องและท้องเสียในสตรี
ตำรับยาตามคัมภีร์
“ริดสีดวงมหากาฬ ๔ จำพวก จำพวกหนึ่งขึ้นในลำคอ อีกจำพวกหนึ่งขึ้นในอก จำพวกหนึ่งขึ้นในทวาร จำพวกหนึ่งขึ้นในลำไส้ ที่ขึ้นในทรวงอกนั้น ตั้งขึ้นเป็นกองเป็นหมู่กันประมาณ ๑๐ เม็ดๆเท่าถั่วเขียว เมื่อสุกนั้นแตกเป็นบุพโลหิตระคนกัน แล้วก็เลื่อนเข้าหากันให้บานออกสัณฐานดังดอกบุก เป็นบุพโลหิตไหลซึ่งอยู่ไม่รู้ก็ว่าฝีปลวกแลฝีหัวคว่ำ เพราะว่าบริวารนั้นตั้งเป็นเม็ดขึ้นตามลำไส้ตลอดถึงลำคอ ให้ปากคอนั้นเปื่อย กินเผ็ด กินร้อน มิได้
ถ้าจะแก้ท่านให้เอาเทียนทั้ง ๕ โกศกักกรา โกศสอ โกศพุงปลา โกศจุฬาลำพา โกศก้านพร้าว ผลจันทร์ ดอกจันทร์ ตรีกฏก กัญชา สะค้าน สิ่งละ ๒ สลึง มดยอบ ๑ บาท แก่นสนเทศ ๑ บาท สมุลแว้ง ๑ บาท อบเชยเทศ ๑ บาท ขอบชะนางทั้ง ๒ สิ่งละ ๑ บาท ชาดก้อน ๑ สลึง สารหนู ๑ เฟื้อง ชาดก้อนกับสารหนูนั้น เอาใส่กระเบื้องตั้งไฟขึ้น เอาน้ำมะนาวบีบลง คั่วให้แห้งให้ได้ ๓ ครั้ง ให้ชาดก้อนกับสารหนูนั้นเกรียม แล้วจึงประสมกันเข้ากับยานั้น แล้วยาสุราบดเป็นกระสาย เอาพิมเสน ๑ เฟื้อง ฝิ่น ๑ เฟื้อง บดปั้นเท่าพริกไทย ละลายสุรากิน ๓ เม็ด ถ้ากินมิได้ กินแต่ เม็ด ๑
...ยานี้แก้ริดสีดวงเปื่อยทวารทั้ง ๙ ริดสีดวงในอก เป็นปรวด(เนื้อที่เป็นก้อนแข็งอยู่ใต้ผิวหนัง) เป็นรัง (พรุนอยู่ข้างใน) เป็นหนอุงฟูมอยู่กีดี มะเร็งคุดทะราด (เป็นแผลเรื้อรัง แผลนั้นบานเหวะหวะออก มีกลิ่นเหม็น) ฝีเปื่อยทั้งตัวยาอันใด ไม่ฟัง อุปทม ไส้ด้วน ไส้ลาม ไส้เลื่อนก็ดี เป็นฝีนานหายก็ดีแล ชายหญิงเป็นช้ำรั่ว ถ้าได้กินยานี้ หายสิ้นทุกประการ อย่าสนเท่ห์เลย ยานี้เป็นยาวิเศษนักแล..."
3. ในพระคัมภีร์ชวดาร เป็นตำราว่าด้วยโรคลมและเลือดของทั้งสตรีและบุรุษ มียา 1 ตำรับ คือยาแก้โรคสำหรับบุรุษและสตรี ใช้รักษากามโรค ปัสสาวะเป็นโลหิต จับไข้สะบัดร้อนสะท้านหนาว ท้องแข็งเป็นดาน ปวดเมื่อยขบไปทั้งตัว มือเท้าตายเป็นเหน็บ เป็นยาบดละลายกับน้ำผึ้งกินครั้ง 3.8 กรัม
ตำรับยาตามคัมภีร์
“ถ้าผู้ใดเป็นโทษสันฑฆาต แสกล่อนแห้งมักให้ผูกพรรดึก แลลมเสียดแทงให้เป็นลูก เป็นก้อน เป็นดานในท้อง ให้เมื่อยขบทั่วสรรพางค์ มักให้เจ็บบั้นเอว ให้มือเท้าตาย เป็นเหน็บชา มักขัดหัวเหน่า หน้าสะโพก ตึงสองราวข้างไปตลอดทวารหนัก ปัสสาวะเป็นโลหิต ให้ปวดศีรษะ วิงเวียนหน้าตา ปากเบี้ยว ตาแหก เสียงแห้ง เจรจาไม่ใคร่ได้ยิน จักษุมืดมัว ถ้าจะแก้ ท่านให้แต่งยานี้
ยาแก้โรคขนานนี้ เอาเถาสะค้าน ผักแพวแดง หัวดองดึง ว่านน้ำ มหาหิงคุ์ เนื้อในฝักราชพฤกษ์ โกศสอ โกศพุงปลา โกศจุฬาลัมพา กัญชา หัวอุตพิต ชะเอมเทศ ดีปลี แก่นแสมทะเล ยาทั้งหมดนี้เอาเสมอภาค พริกไทยกึ่งยา แต่ว่าผ่อนตามกำลัง ทำผลแล้วเอาน้ำใบกะเม็ง น้ำผลประคำดีควาย เอาเท่ากับเคล้ายาให้ได้เจ็ดครั้ง ผึ่งให้แห้งแล้วบดกับน้ำผึ้ง รับประทานหนัก ๑ สลึง”
4.ในพระคัมภีร์กษัย ซึ่งเป็นตำราว่าด้วยความเสื่อมของร่างกาย ทำให้ผอมแห้งแรงน้อย สุขภาพทรุดโทรม ในพระคัมภีร์นี้มียาเข้ากัญชาถึง 5 ตำรับ คือ ยาแก้กษัยเหล็ก ยาแก้กษัยกร่อน ยาแก้กษัยเสียด ยาพรหมภักตร์ และยาอัมฤตย์โอสถ
ตำรับยาตามคัมภีร์
“กษัยเหล็ก จะกล่าวลักษณะกษัยโรคอันบังเกิดขึ้นเป็นอุปปาติกะ คือกษัยเหล็ก นั้นเป็นคำรบ ๓ มีประเภททำให้ปวดหัวเหน่าแลท้องน้อยนั้นแข็งดุจแผ่นศิลา แลจะไหวตัวไปก็มิได้ ครั้นแก่เข้าแข็งลามขึ้นไปถึงยอดอก ให้บริโภคอาหารไม่ได้ ให้ปวดขบดังขาดใจตายดังนี้
หนึ่งเอาใบกระเพรา ใบแมงลัก ใบผักเสี้ยนผี กระชาย กัญชา พริกไทย ขิง หอมแดง หญ้าไซ เกลือ ผลคัดเค้า ยาทั้งนี้ตำเอาสิ่งละทะนาน น้ำมันงา ๑ ทะนาน หุงให้คงแต่น้ำมันแล้วจึงเอาผลจันทร์ ดอกจันทร์ กระวาน กานพลู เทียนดำ เทียนขาว การบูร สิ่งละ ๑ บาท ทำให้เป็นจุณ ปรุงลงในน้ำมันนั้น แล้วจึงเอามาทาท้อง รีดเสียให้ได้ ๓ วันก่อน แล้วจึงกินน้ำมันนี้อีก ๓ วันหายวิเศษนั้น
ยาขนานนี้ชื่อว่า สนั่นไตรภพ ครอบกษัยทั้งปวงดีนั้น”
“กษัยท้น จะกล่าวลักษณะกษัยโรคอันบังเกิดขึ้นเป็นอุปปาติกะ คือ กษัยท้น นั้นถือเป็นคำรบ ๑๓ เกิดเพื่ออาหารที่บริโภค เมื่อท้องเปล่าอยู่นั้นมิได้บริโภคอาหารเข้าไปก็สงบเป็นปกติดีอยู่ ครั้นบริโภคอาหารเข้าไปมากแลน้อยก็ดี จึงกระทำให้ท้นขึ้นมายอดอก บางทีให้อาเจียนให้แน่นหน้าอกแลชายโครง ให้หายใจไม่ทั่วท้อง ดังประหนึ่งจะสิ้นใจตาย
อนึ่งยากษัยท้นนั้น เอาโกศทั้ง ๕ ผลจันทร์ กระวาน กานพลู พริกหอม พริกหาง บอระเพ็ด เปล้าทั้ง ๒ สิ่งละ ๑ ส่วน กัญชา ๒ ส่วน ขมิ้นอ้อย แห้วหมู ผลพิลังกาสา ไคร้เครือ สิ่งละ ๔ ส่วน ดีปลี หัสคุณ สิ่งละ ๑๖ ส่วน ใบกระเพราแห้ง ๓๒ ส่วน ทำเป็นจุล บดละลายน้ำร้อน กินแก้กษัยท้น ซึ่งกระทำให้เสียดนั้นหาย”
“ลมอันหนึ่งชื่อ กษัยแช่ และมันพัดกลับเข้าเท่าฟองเป็ด ถ้ายืนขึ้นมาก็จุกเอาหัวตับ ครั้งมันแก แล้วมันก็ถอยลง มันขับทวารทั้ง ๙ แห้งแล้วจะถึงแก่ความมรณะ”
“ยาขนานหนึ่งชื่อ อัมฤตโอสถ แก้ลมกษัยทั้งปวง เอาหัสคุณแก่นแสมสาร รากส้มกุ้ง ลูกมะตูม สมอพิเภก ลูกพิลังกาสา สมอเทศ สมอไทย โกฐเขมา เทียนดำ เทียนขาว ลูกจันทร์ ดอกจันทร์ กระวาน กานพลู นี้เอาเสมอภาค เอาเปลือกหอยโข่ง เปลือกหอยขม เปลือกหอยแครง เบี้ยผู้เผา เอาสิ่งละ ๓ ส่วน เอากัญชา ๑๐ ส่วน เอาพริกไทย ๒ เท่ายาทั้งหลาย ตำผงกระสายยักย้ายใช้ให้ชอบโรคทั้งหลายเถิด”
ยาผงชื่อ ยาพรมภักตร์ ประจุกษัย ครอบกษัยท้องมาน หืดไอทั้งปวง แก้ลมตีนตาย เสลดตก ผอมเหลือง เป็นลมง่วงเหงา เจ็บในอก
“ท่านให้เอามหาหิงคุ์ ยาดำ สีเสียดเทศ เทียนดำ เทียนขาว ดอกจันทร์ กระวาน กานพลู กัญชา รากเจตมูลเพลิง ยาทั้งหมดนี้เอาสิ่งละ ๑ บาท ลูกจันทร์ ๒ บาท การบูร ๓ บาท โหราเท้าสุนัข ๕ บาท รงทอง ๖ บาท ฝิ่น ๑ สลึง สิริยาทั้งนี้ ตำเป็นผง ละลายน้ำผึ้งเป็นน้ำกระสาย กินหนัก ๑ สลึง เป็นยากตัดรากกษัยทั้ง ๑๒๖ จำพวก หายแล”
ตำรับยาไทยตามคัมภีร์ต่างๆที่ปรากฏในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ที่มีการเข้ากัญชาอยู่จะต้องถูกทำให้สูญหายต่อไป ตราบใดที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ยาเสติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ให้กัญชาสามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ ไม่เพียงแต่แพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องให้ครอบคลุมไปถึงผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกรรมไทย และแพทย์แผนจีน เพื่อให้ภูมิปัญญาไทยที่เคยมีอยู่ในอดีตนั้นสามารถถูกนำมาวิจัยและพัฒนาการใช้กัญชาต่อไปให้ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพได้