xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “นิธิ”บันทึกประวัติศาสตร์ แบบตัดตีนเข้ากับเกือก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ถ้าพูดถึง นิธิ เอียวศรีวงศ์ แล้ว ในฐานะศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์คนสำคัญของชาติไทยจะต้องพ่วงท้ายด้วยเกียรติยศรางวัลต่างๆ ที่เชิดชูเขามากมาย แต่ในทางพุทธศาสนานั้นเมื่อมีลาภยศสรรเสริญและมีความสุขนั้น ก็ย่อมต้องเสื่อมลาภเสื่อมยศมีคนนินทาและมีความทุกข์ดังที่เรียกว่า โลกธรรม8

นอกจากเป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ที่วิเคราะห์ย้อนลึกไปถึงอดีตแล้ว นิธิยังทำตัวเป็นผู้วิเคราะห์สังคมไทยในปัจจุบันและอนาคตที่หลากหลายด้วย แน่นอนนิธิวางบทบาทของตัวเองในการวิเคราะห์สังคมในฐานะนักวิชาการ คนก็เข้าใจว่า นิธิวิเคราะห์สังคมด้วยทฤษฎีทางวิชาการมีหลักการ แต่จริงๆ มันเป็นเช่นนั้นหรือ

แม้ส่วนตัวผมมักพูดเสมอมาว่า การมีความคิดทางการเมืองจุดยืนและอุดมการณ์ไปทางไหนไม่ใช่สิ่งที่ผิดไม่ว่าจะเหลืองหรือแดง แน่นอนคนที่รู้จักตัวตนของผมรู้แล้วว่าผมเป็นคนเสื้อเหลือง แต่นิธิก็เหมือนกับนักวิชาการคนอื่นอีกหลายคนที่มีจุดยืนสนับสนุนทักษิณและคนเสื้อแดง ที่มักจะปฏิเสธตัวเองว่า ไม่ได้เป็นคนเสื้อแดง พอใครกล่าวหาว่าเป็นคนเสื้อแดงก็จะบอกว่าตัวเองถูกป้ายสี บางทีก็อดสงสารคนเสื้อแดงไม่ได้ เพราะการปฏิเสธพัลวันเช่นนั้นเหมือนกับการรังเกียจชิงชังคนเสื้อแดงไปในตัว

แล้วถามว่าการที่นักวิชาการคนนั้นจะมีสีเสื้อหรือไม่มันแตกต่างกันไหม สำหรับผมคิดว่ามันแตกต่างกันแน่ เพราะถ้าเขาเป็นเสื้อแดงเราก็รู้ทันทีว่าเขาวิเคราะห์สังคมด้วยแว่นสีอะไร จากจุดยืนตรงไหน เพียงแต่ที่พวกนี้ปฏิเสธความเป็นเสื้อแดงก็เพื่ออำพรางสีแว่นที่เขามองสังคมเอาไว้ การที่พวกเขาอ้างความเป็นนักวิชาการเป็นการปิดบังอำพรางน้ำหนักที่แท้จริง ซ่อนคุณค่า ความไม่น่าเชื่อถือ และความเอนเอียงเอาไว้

ตอนที่คนเสื้อเหลืองหรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมนั้นนิธิและเพื่อนักวิชาการที่ชัดเจนว่ามีจุดยืนร่วมกันคนเสื้อแดงได้พรางตัวในนาม เครือข่ายสันติประชาคมอออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องออกมาแถลงการณ์ว่า “พันธมิตรฯ ต้องหยุดชุมนุม กลับสู่ระบบนิติรัฐ” โดยอ้างว่า การชุมนุมของพันธมิตรฯ มีแนวโน้มว่าความรุนแรงระหว่างประชาชนจะแผ่ขยายวง กว้างมากยิ่งขึ้น จนนำประเทศไทยไปสู่มิคสัญญี และการรัฐประหารในที่สุด พวกเขาจึงออกมาเรียกร้องต่อฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้หาทางยุติภาวะดังกล่าว โดยอ้างว่า ไม่ให้ประเทศไทยจะต้องสูญเสียไปมากกว่านี้

พวกเขาบอกว่า สังคมไทยต้องไม่ยินยอมให้กลุ่มพันธมิตรฯ อยู่เหนือกฎหมายอีกต่อไป เจ้าหน้าที่รัฐต้องหาทางยุติการชุมนุมของพันธมิตรฯ พวกเขาอ้างว่า ระบบนิติรัฐคือหัวใจสำคัญของหลักการและกระบวนการประชาธิปไตย กฎหมายมีไว้ปฏิบัติต่อทุกคนในสังคมอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน เพราะมันคือหลักประกันว่าสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นจะไม่ถูกละเมิด

แต่เมื่อเสื้อแดงชุมนุม นิธิและพวกพ้องในนามกลุ่มเดียวกันก็ออกมา สนับสนุน ปกป้อง และพูดถึงความชอบธรรมต่างๆ นานาของคนเสื้อแดง จนทักษิณออกวิดีโอลิงค์มาจากต่างแดนชื่นชมจุดยืนของนิธิและพรรคพวก

จริงๆ ผมเองวิพากษ์นิธิไว้หลายครั้ง แม้จะเป็นเพียงมดตัวเล็กที่ไม่สามารถสั่นคลอนเสาหลักอย่างนิธิได้ ผมถือว่าผมเพียงแต่ทำหน้าที่บันทึกตัวตนของคนๆ หนึ่งเอาไว้ว่ามีคนมองจุดยืนและหลักปฏิบัติตนของเขาอย่างไร ครูหนังสือพิมพ์สอนผมว่า งานหนังสือพิมพ์ก็คือการบันทึกประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งนั่นเอง

ล่าสุดนิธิเพิ่งเขียนบทความเรื่อง “เสื้อแดงจากอีกมุมมองหนึ่ง” ได้มาจากหลังการอ่านหนังสือชื่อ “Revolution Interrupted” ของTyrell Haberkorn ซึ่งมีผู้แปลออกมาเป็นภาษาไทย โดยนิธิบอกว่า ผู้เขียนสามารถทำให้มองขบวนการเสื้อแดงได้ในอีกความหมายหนึ่ง ผมยังไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้น แต่เข้าใจว่า ความเห็นของนิธิที่เอามาเขียนในบทความนี้นั้นมาจากสังเคราะห์และจับแพะชนแกะของนิธิเอง

นิธิพยายามโยงให้เห็นว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงนั้นเป็นการลุกขึ้นมาปฏิวัติของคนชนบทบ้านนอกเช่นเดียวกับการเคลื่อนไหวของชาวนาในนามของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย หลายครั้งหลังเหตุการณ์14ตุลา เพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องหนี้สิน ที่ทำกิน และที่นาที่ถูกโกงด้วยวิธีการต่างๆ ในยุครัฐบาลสัญญา ธรรมศักดิ์มาถึงยุคของม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งส่วนตัวแล้วแม้ผมไม่ใช่นักประวัติศาสตร์แบบนิธิผมก็เห็นชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของชาวนาและชาวไร่ในครั้งนั้นกับคนเสื้อแดงเป็นคนละบริบทคนละความหมายกันโดยไม่สามารถเอามาเชื่อมโยงกันได้เลย และคงไม่ต้องอธิบายเหตุผลโต้แย้งเพราะมันมีข้อเท็จจริงอยู่ในตัวอยู่แล้ว

เพียงแต่นิธิตั้งใจเขียนฉากหลอกให้คนเข้าใจว่า การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ในยุคนั้นกับคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นเพื่อคนยากไร้ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบเหมือนกัน

แต่ก็ไม่แปลกหรอกขบวนการเสื้อแดงและฝ่ายสนับสนุนพยายามทำให้เข้าใจว่าคนเสื้อแดงเป็นความต่อเนื่องของปฏิวัติ 2475 เหตุการณ์14ตุลา6ตุลา เสื้อแดงเป็นเจ้าของปรีดี พนมยงค์ เป็นเจ้าของ14ตุลา6ตุลา พฤษภา2535 เป็นเจ้าของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

การสร้างความชอบธรรมในการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมืองให้ฝ่ายตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลก ต่างคนต่างกล่าวหาว่าสิ่งที่อีกฝ่ายเชื่อมั่นและกระทำนั้นเป็นสิ่งที่ผิด และการเชื่อว่าฝ่ายตัวเองถูกก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาในสายตาของผม เหมือนที่เคยบอกว่าเสื้อแดงและเสื้อเหลืองต่างบอกว่าอีกฝ่ายเป็นควาย มีเสียงจากอีกฝ่ายมองแนวคิดและพฤติกรรมอีกฝ่ายว่า เป็นแบบนี้ไปได้อย่างไร ด้วยน้ำเสียงเชิงสงสัยเหยียดหยาม

ดังนั้น ถ้านิธิยอมรับว่าตัวเองเป็นคนเสื้อแดง ผมก็จะก้าวผ่านความเห็นของนิธิไป แต่เมื่อนิธิอ้างตัวเป็นนักวิชาการและศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ ผมก็ไม่อาจข้ามความเห็นของนิธิไปได้

ในบทความล่าสุดนี้นิธิบอกว่า การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่ผ่านมานั้น เป็น “การเคลื่อนไหวภายใต้กรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด” ใครอ่านถึงตรงนี้ก็จะมีคำถามว่ามันใช่เหรอ เหตุการณ์คนเสื้อแดงมันไม่ใช่ผ่านมาเนิ่นนานจนเราไม่สามารถหาข้อเท็จจริงเจอได้ มันชวนประหวัดไปให้ สงสัยว่าตอนที่นิธิเขียนหนังสือเรื่องการเมืองในสมัยพระนารายณ์ การเมืองในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี นิธิเขียนด้วยข้อเท็จจริงเพียงไหนหรือจริงๆแล้วนิธิแต่งเติมและใส่จินตนาการของตัวเองลงไป

ในขณะที่สายตาของนิธิเคยมองว่าการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองนั้นเป็นความรุนแรงและนำประเทศไปสู่มิคสัญญี

นิธิเหมือนไม่เคยรับรู้เลยว่า การใช้อำนาจนอกกฎหมายของฝ่ายเสื้อแดง การใช้อาวุธเอ็ม79ที่ยิงใส่การชุมนุมของคนเสื้อเหลืองหลายครั้งนั้นมีอยู่จริงไหม การยิงใส่และปาระเบิดการชุมนุมของ กปปส.อีกหลายครั้ง แม้แต่ในการชุมนุมของคนเสื้อแดงเองก็มีการเอาระเบิดไปขว้างตามที่ต่างๆ การยิงเอ็ม79ใส่สถานที่ราชการหลายแห่งแม้แต่ยิงใส่วัดพระแก้ว รวมมาถึงการปรากฎตัวของคนเสื้อดำพร้อมอาวุธสงครามครบมือที่ยิงใส่ทหารที่สี่แยกคอกวัว ถนนดินสอในวันที่10เมษา จนกลายเป็นชนวนสำคัญที่รัฐต้องใช้ความรุนแรงเข้าปราบจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

อย่างที่บอกไว้แล้วว่า นิธิเข้าใจว่าการก่อเกิดของคนเสื้อแดงนั้นเกิดขึ้นมาจากความลำบากทุกข์ยากถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนอีกชนชั้นเหมือนกับการชุมนุมของชาวนาชาวไร่ในอดีต แต่ดูเหมือนเลยว่านักประวัติศาสตร์อย่างนิธิ ไม่ได้เก็บข้อมูลก่อนเลยเหรอว่า เสื้อแดงก่อเกิดมาได้อย่างไร อยู่ๆดีคนชนชบทบ้านนอกบุกขึ้นมาก่อหวอดประท้วงเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมกันในสังคมจริงๆหรือ

นิธิบอกว่าการมาชุมนุมของชาวนาชาวไร่ในเมืองหลวงเมื่อหลายสิบปีก่อนรวมถึงการชุมนุมของสมัชชาคนจนเป็นการก้าวข้ามเส้นทางชนชั้น เพื่อเปรียบเทียบว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็มีการข้ามเส้นเข้ามาชุมนุมที่ราชประสงค์และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน เพราะนิธิมองว่าเมืองหลวงไม่ใช่พื้นที่ของชาวนาชาวไร่ ราชประสงค์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่ใช่พื้นที่ของคนชั้นล่าง ผมไม่เห็นจะเป็นเหตุผลของเรื่องการข้ามเส้นทางชนชั้นอะไร เหตุผลของนิธิเป็นเรื่องของการตัดตีนให้เท่ากับเกือกเท่านั้น เมื่อพยายามนิยามว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงเป็นการต่อสู้ทางชนชั้น ก็เลยสร้าง “เส้น” นี้ขึ้นมา แต่จริงๆ แล้วแม้แต่การชุมนุมของชาวนาชาวไร่ในอดีตไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกเลยที่เขาจะเข้ามาชุมนุมในเมืองหลวง เพราะเขามีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลที่ปกครองประเทศเขาก็ต้องมาที่ทำเนียบจะให้เขาไปชุมนุมที่ทุ่งกุลาร้องไห้หรืออย่างไร

แล้วนิธิไม่รู้หรือว่าการชุมนุมของชาวนาชาวไร่หลังเหตุการณ์14ตุลานั้นเป็นยุคที่เรียกว่าประชาธิปไตยเบ่งบาน

เช่นเดียวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง นิธิไม่รู้เหรอว่าการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงนั้นถูกจัดตั้งขึ้นโดยหัวคะแนนพรรคเพื่อไทย เพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมืองไม่ใช่การต่อสู้ทางชนชั้นที่แท้จริง เมื่อแกนนำเป็นนักการเมืองระดับชาติโดยกลุ่มทุนใหญ่ของพรรคการเมืองที่สูญเสียอำนาจ ต่อสู้เพื่อเรียกร้องอำนาจคืนเขาก็ต้องชุมนุมในเมืองหลวงจะให้เขาไปชุมนุมที่ไหนเล่า ไม่ใช่เรื่อง “ข้ามเส้น” ทางชนชั้นอะไรที่นิธิมโนเอาเลย

แน่นอนการต่อสู้ทางการเมืองของภาคประชาชนในอนาคตก็จะยังมีอยู่ ตราบที่รัฐบาลยังใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม และการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมก็ยังมีอยู่ไม่วารัฐบาลนั้นจะมาจากประชาธิปไตยหรือเผด็จการ

แต่ถ้าเราจะบันทึกประวัติศาสตร์เราต้องบันทึกความจริงอย่างรอบด้านครบถ้วน เมื่อการบันทึกประวัติศาสตร์ในยุคของตัวเองยังไม่น่าเชื่อถือ เราจะไว้ใจนักประวัติศาสตร์ในฐานะผู้บันทึกอดีตได้อย่างไร

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น