xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อก”อบต.-อบจ.” ดึงงบแสนล้านบูมเศรษฐกิจท้องถิ่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360-"สมคิด"ประกาศปีหน้า เป็นปีแห่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และชุมชน เผย มท. เตรียมเสนอครม.ปลดล็อก ให้อบต.-อบจ. นำเงินที่มีแสนล้าน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ระยะยาว สั่งธอส. ลุยโครงการที่อยู่อาศัยประชารัฐ ออมสิน ปล่อยกู้ประชาชน และนักธุรกิจรายย่อย เอสเอ็มอีแบงก์ ช่วยเอสเอ็มอี ลั่นปี 61 จีดีพี โตไม่ต่ำกว่า 4% เหตุโครงการลงทุนกำลังออกดอกผล อีอีซี เป็นรูปเป็นร่าง คมนาคมระบุ เม็ดเงินลงทุนเมกะโปรเจกต์กว่า 3 แสนล้าน เฉพาะอีอีซี มีงบทำกว่า 100 โครงการ 7.45 แสนล้านใน 5 ปี ด้านท่องเที่ยว เร่งปั้นท่องเที่ยววิถีไทย ดันรายได้ลงท้องถิ่น

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการเป็นประธาน ปิดงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ประจำปี 2560 ครั้งที่ 35 ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวานนี้ (19 พ.ย.) ว่า ในปี 2561 รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนเพิ่มมากขึ้น ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยจะมีแผนงานและโครงการที่จะกระตุ้นในระดับฐานรากมากขึ้น เพราะขณะนี้ตัวเลขเศรษฐกิจในภาพรวมฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น แต่ท้องถิ่นยังลำบากอยู่ จึงต้องเร่งกระตุ้นให้มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย จะเสนอให้ที่ประชุมครม. พิจารณาแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการใช้เงินขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้สามารถนำเงินของหน่วยงานที่มีอยู่ประมาณ 1 แสนล้านบาท มาทำโครงการเพื่อให้เกิดการสร้างงาน และสร้างรายได้แก่ชุมชนในระยะยาว เช่น การทำโครงการท่องเที่ยวในชุมชน การส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ และการส่งเสริมการปลูกพืชเกษตร โดยมีตลาดรองรับ เช่น ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะเร่งเข้าไปช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้ประกอบการท้องถิ่น ผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยรัฐบาลจะใช้กลไกของธนาคารรัฐเข้าไปช่วย เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ที่จะต้องทยอยออกโครงการที่อยู่อาศัยประชารัฐมากขึ้น ธนาคารออมสิน ต้องเน้นการปล่อยกู้ประชาชน และนักธุรกิจรายย่อยมากขึ้น และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ไม่ใช่ทำตัวเป็นเอสเอ็มอี เสียเอง

"ต่อไปแบงก์รัฐ ต้องทำให้ดอกเบี้ยถูกลง เพราะว่าเป็นแบงก์ที่มีหน้าที่ช่วยประชาชนในประเทศ ไม่ใช่มาเน้นหากำไรสูงๆ เพื่อหวังได้โบนัสแจกพนักงาน โดยจะต้องเจาะลูกค้าเล็กๆ มากขึ้น ผู้บริหารที่เน้นหาลูกค้ารายใหญ่ หากไม่ปรับเปลี่ยน ก็ต้องปรับออก" นายสมคิด กล่าว

สำหรับปัญหาเรื่องราคาสินค้าเกษตรไม่ดี อยากให้หอการค้าไทยช่วยคิดโครงการมากขึ้น เพราะตอนนี้หมดยุคที่จะเสนอขอโครงการรับจำนำ เพื่อแก้ปัญหาราคา หากใครเสนอแบบนี้ก็ไม่ควรเลือก เพราะในอนาคต อาจนำประเทศไปจำนำด้วยก็ได้ ส่วนที่ใครบอกว่าเศรษฐกิจประเทศกำลังแย่ และรัฐบาลชุดนี้ไม่สนใจรากหญ้า หรือเกษตรกร ผู้ที่พูดแบบนี้เอาอะไรส่วนไหนคิด ไม่มีรัฐบาลชุดไหนที่ไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ แต่แนวทางการช่วยเหลือของรัฐบาลชุดนี้ แค่ไม่เน้นการแจกเงินฟรี แล้วก็จบ

"ผมยกตัวอย่างให้เห็น อย่างการช่วยเหลือค่าครองชีพผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแก่ผู้มีรายได้น้อย ก็จะใส่เงินผ่านบัตร เพราะต้องการให้ประชาชนได้เรียนรู้ เรื่องของเทคโนโลยี และรองรับการเข้าสู่ ยุคไทยแลนด์ 4.0 เพราะโครงการนี้จะทำให้ผู้มีรายได้น้อย และร้านโชห่วย มีความรู้เรื่องของเทคโนโลยีไปในตัวด้วย" นายสมคิด กล่าว

นายสมคิด กล่าวย้ำว่า ในปี2561 โอกาสของไทยกำลังจะมา ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) จะทะลุ 4% แน่นอน เพราะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวผล หลังจากที่รัฐบาลหว่านเมล็ดไป ทั้งการสร้างความเชื่อมั่นการลงทุน และเร่งรัดการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำลังขับเคลื่อน ซึ่งหลายประเทศมีความพร้อมในการลงทุน เพียงรอความชัดเจนของกฎหมาย และระบบโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำการเชื่อมโยง โดยคาดว่า ในไตรมาส 1 ปีหน้า ทุกโครงการลงทุนในอีอีซี จะเริ่มประมูลได้ และจะเริ่มดำเนินการลงทุนได้ไม่เกิน ไตรมาส 2 ปีหน้า

** ปี 61 คมนาคมลงทุน 3 แสนล้าน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ในปี 61 กระทรวงคมนาคมได้กำหนดงบลงทุนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งไว้ทั้งสิ้น 3.09 แสนล้านบาท แบ่งเป็นทางบก 1.52 แสนล้านบาท ทางราง 9.62 หมื่นล้านบาท ทางอากาศ 5.35 หมื่นล้านบาท และทางน้ำ 7,323 ล้านบาท และยังมีแผนปฏิบัติการด้านคมนาคม รองรับการพัฒนาอีอีซี จำนวน 103 โครงการ ระหว่างปี 2560-2564 วงเงินรวมกว่า 7.45 แสนล้านบาท

โดยตามแผน จะปรับปรุงสนามบินอู่ตะเภา ให้กลายเป็นสนามบินนานาชาติที่มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 60 ล้านคน มากกว่าสนามบินสุวรรณภูมิในเฟสแรก ที่รองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคน ซึ่งเมื่อวางระบบเชื่อมโยงกับสนามบินสุวรรณภูมิ จะขยายศักยภาพให้รองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคน และที่สนามบินดอนเมืองอีก 30 ล้านคน และยังจะขยายท่าเรือแหลมฉบัง ขั้นที่ 3 ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯไม่ได้เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่ออีกต่อไป แต่สนามบินอู่ตะเภา จะถูกยกระดับให้เป็นสนามบินที่ให้บริการทั้งเส้นทางในประเทศ และระหว่างประเทศ ประกอบกับการมีโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค

** จัด7กิจกรรมท่องเที่ยววิถีไทย

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในปี 2561 รัฐบาลประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน หรือ Amazing Thailand Tourism 2018 ซึ่งต้องขอความร่วมมือจากสมาชิกหอการค้าไทย ในการกระตุ้นให้ชุมชนท้องถิ่นชูความโดดเด่น และความเป็นเอกลักษณ์ตามวิถีไทย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง โดยกิจกรรมหลักที่จะสนับสนุน ประกอบด้วย 7 กิจกรรม ได้แก่ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา , การท่องเที่ยวเชิงอาหาร , การท่องเที่ยวทางน้ำ , การท่องเที่ยวเพื่อการแต่งงานและฮันนีมูน , การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ , การท่องเที่ยวโดยชุมชน และการท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยได้สรุปประเด็นการหารือของสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศใน 3 ด้าน คือ ด้านการค้าและการลงทุน ,ด้านเกษตรและอาหาร และด้านการท่องเที่ยวและบริการ โดยได้จัดทำเป็นแผนดำเนินการของหอการค้าไทย ที่จะขับเคลื่อนใน 3 ด้านดังกล่าว เป็นสมุดปกขาวส่งให้นายสมคิด ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาล นำไปพิจารณาแล้ว

วันเดียวกันนี้ นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการสมาชิกหอการค้าไทยทั้ง 5 ภาค และทุกประเภทธุรกิจ จำนวน 380 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย.60 พบว่า ความคิดเห็นส่วนใหญ่มองว่า เศรษฐกิจในอนาคตจะดีขึ้น ขณะที่ความคิดเห็นของประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจแต่ละภาคของหอการค้าไทย มีความเห็นโดยสรุปว่า แม้เศรษฐกิจในภาพรวมจะฟื้นตัวดีขึ้น แต่เศรษฐกิจในระดับภูมิภาค ยังคงไม่ฟื้นตัวดี เพราะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โครงการประมูลขนาดใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่แต่ในส่วนกลาง และต้องการให้รัฐบาล เร่งผลักดันโครงการลงสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น