xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนกรณีศึกษาน้ำมันกัญชง (Hemp Oil)ในผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว "มะเร็งหายแต่สุดท้ายกลับเสียชีวิต" !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เรื่องราวต่อไปนี้เป็นกรณีศึกษาของผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวรายหนึ่ง ซึ่งเรียกโรคนี้ว่า Terminal Acute Lymphoblastic Leukemia with a Philadelphia Chromosome Mutation โดยผู้ป่วยรายนี้เป็นเด็กหญิงอายุ 14 ขวบ เท่านั้น

กรณีศึกษานี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์เกี่ยวกับรายงานกรณีศึกษาของผู้ป่วยมะเร็งที่ชื่อว่า “Case Reports in oncology” ฉบับเดือนกันยายน - ธันวาคม 2556 ซึ่งได้ใช้การคีโมบำบัดและการฉายแสงไปแล้ว 34 เดือน แต่ผลการรักษากลับล้มเหลว จนหมดหนทางในการที่จะรักษาแล้ว

เมื่อการรักษาผู้ป่วยรายนี้ด้วยแพทย์แผนปัจจุบันล้มเหลว คณะแพทย์จึงยินยอมให้ครอบครัวใช้สารสกัดแคนนาบินอยด์ (ซึ่งมีทั้งในกัญชาและกัญชง) มาทำการหยอดใต้ลิ้นของผู้ป่วย และเก็บเป็นกรณีศึกษาถ้ามีอาการดีขึ้น รวมถึงอาจเป็นองค์ความรู้ใหม่ให้มีการศึกษาต่อไปในวันข้างหน้า [1]

กรณีศึกษานี้ได้ใช้น้ำมันที่ได้จาก “กัญชง” หรือที่เรียกว่า “Hemp Oil” ที่ทยอยหยอดใต้ลิ้นให้ผู้ป่วยทีละน้อยและค่อยๆเพิ่มขึ้น

มาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านคงจะสงสัยว่านี่คือการวิจัยกัญชงแล้วมันเกี่ยวอะไรกับกัญชา?
คำตอบก็คือทั้งกัญชงและกัญชาก็คือพืชในตระกูลเดียวกัน แต่เหมือนเป็นพันธุ์ต่างกัน โดยส่วนประกอบสำคัญในทางเภสัชศาสตร์คือกัญชามีสาร THC ที่ก่อให้เกิดอาการจิตประสาทและเมาประมาณ 1 -20% ในขณะที่กัญชงมีสารชนิดนี้ไม่เกิน 0.3% บางประเทศกำหนดให้ไม่เกิน 0.1% กัญชงจึงไม่ทำให้เมา และไม่มีใครนิยมเสพ ส่วนสาร CBD ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการจิตประสาทและไม่เมานั้น มีอยู่ในกัญชาไม่เกิน 8% ในขณะที่มีอยู่ในกัญชงไม่เกิน 5% ทั้งสาร THC และ CBD ต่างมีผลต่อการยับยั้งและฆ่าเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดได้แตกต่างกัน

แต่รวมความแล้วกัญชงมีฤทธิ์อ่อนกว่ากัญชา และงานวิจัยชิ้นนี้จึงได้เลือกใช้น้ำมันกัญชงสำหรับผู้ป่วยอายุ 14 ปี รายนี้

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบรุนแรงเฉียบพลัน (Acute Leukemia) คือ กลุ่มโรคมะเร็งทางโลหิตวิทยาที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต (Hematopoietic Stem Cell) ทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตไปเป็นเซลล์ตัวแก่ แต่กลับมีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนในระยะของเซลล์ตัวอ่อนในไขกระดูก เซลล์เหล่านี้ไม่ตายและมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของเซลล์มะเร็งจำนวนมากในไขกระดูก (blast cells) และขยายตัวเพิ่มจำนวนออกมาในกระแสโลหิต หรือเข้าไปในเนื้อเยื้ออื่นๆ จนก่อให้ให้เกิด อาการแสดงในผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว หากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายใน 3 เดือน

ภายหลังผู้ป่วยได้รับน้ำมันกัญชงครั้งแรก ด้วยการหยอดใต้ลิ้นทยอยเพิ่มขึ้นจากน้อยไปหามาก โดยช่วงแรกผู้ปกครองสังเกตุเห็นผู้ป่วยเจริญอาหารควบคู่ไปกับการอ่อนเพลียเพิ่มขึ้น ต่อมาผลปรากฏว่าเซลล์ตัวอ่อน (Blast Cells) หรือเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้นจะเรียกว่า มะเร็งเม็ดเลือดขาวลดลงภายหลังใช้น้ำมันกัญชงเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์

ผลปรากฏว่ามะเร็งเม็ดเลือดขาวเริ่มลดลงเมื่อเริ่มใช้เป็นวันที่ 8 ในปริมาณที่ใช้ 0.066 มิลลิลิตรต่อวัน โดยแพทย์กำหนดให้แบ่งใช้วันละ 2 ครั้ง และเพิ่มการแบ่งการให้เป็นวันละ 3 ครั้งต่อวัน

วันที่ 15 ของการใช้น้ำมันกัญชงที่ปริมาณวันละ 0.133 มิลลิตรต่อวัน แพทย์เริ่มลดการให้ยามอร์ฟีนเพื่อลดอาการปวด ผู้ป่วยมีอาการร่าเริงสนุกสนานขึ้น แต่ความจำสับสน การตื่นตัวเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของผู้ที่ได้รับสารกลุ่มแคนนาบินอยด์

หลังวันที่ 15 ของการใช้น้ำมันกัญชง ได้มีการทดลองเปลี่ยนมาใช้น้ำมันกัญชงจากแหล่งใหม่ เรียกว่า น้ำมันกัญชง รุ่นที่ 2 ผลปรากฏว่าด้วยความเข้มข้นของสารสำคัญต่างกันจึงส่งผลทำให้ผลของกัญชงแตกต่างกันไปด้วย โดยน้ำมันกัญชงในปริมาณเท่าเดิมกลับส่งผลลดลงการอบสนองลดลงในเรื่องการเจริญอาหารและความร่าเริง ผู้ป่วยมีอาการทรมานมากขึ้นจากอาการคลื่นไส้ แต่แพทย์ก็ยังทยอยเพิ่มหยอดปริมาณน้ำมันกัญชงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปรากฏต่อมาว่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวลดลงเรื่อยๆเมื่อทยอยเพิ่มปริมาณทุกวัน จนถึงวันที่ 32 ได้ใช้ปริมาณน้ำมันกัญชง 0.8 มิลลิลิตรต่อวันพบว่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญคือเหลือเพียงไม่ถึง 3% เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มใช้น้ำมันกัญชง

ผลของการรักษาโดยใช้น้ำมันกัญชงได้ทำให้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวที่ลดจำนวนลง ได้ส่งผลทำให้สารยูเรทในกระแสเลือดสูงขึ้น อันเกิดจากเซลล์มะเร็งที่ตายแล้วปล่อยสารยูริคออกมามากจนเกิดอาการปวดตามข้อ แพทย์จึงได้จ่ายยาอัลโลพูรินอล (Allopurinol) เพื่อป้องกันการเพิ่มระดับกรดยูริค

ยาอัลโลพูรินอลนี้มีผลข้างเคียง คือ อาจทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า สตีเฟน จอห์นสัน ซินโดรม (Steven Johnson Syndrome) ได้แก่ อาการผื่นคันทางผิวหนัง รวมไปถึงภาวะตับอักเสบ ไตอักเสบ รวมถึงอาจทำให้รู้สึกระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร และอาจเกิดการติดเชื้อได้ง่ายเพราะยานี้สามารถกดระบบภูมิคุ้มกันได้ด้วย [2]

ทั้งนี้ยาอัลโลพูรินอล เป็นยาชนิดหนึ่งที่กดระบบภูมิคุ้มกันในการทดลองในสัตว์ทดลอง ในปี 2560 และได้มีรายงานจากองค์การอาหารและยาว่าผู้ใช้ยาดังกล่าวในสหรัฐอเมริกาจำนวน 84,020 คน พบการกดระบบภูมิคุ้มกัน 61 คน แม้จะไม่มาก(0.07%) แต่ในจำนวนคนเหล่านี้ มีคนป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวอยู่ประมาณ 4% [3]

ปรากฏว่าวันที่ 41 ของการใช้น้ำมันกัญชง ผู้ป่วยเกิดการติดเชื้อจากสายสวนหลอดเลือดดำ โดยเกิดการบวมแดงของเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังในระยะมากกว่า 2 เซนติเมตร จากตำแหน่งที่ใส่สายสวน แพทย์จึงตัดสินใจให้ยาปฏิชีวนะอย่างแรงผ่านทางหลอดเลือด ได้แก่ ยาทาโซซิน (Tazocin) [4], ยาเจนตามัยซิน (Gentamicin) [5] และ ยาแวนโคมัยซิน (Vancomycin) [6] ซึ่งยาเหล่านี้สามารถมีผลข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารได้แก่อาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องผูก เบื่ออาหาร


วันที่ 43 ของการใช้น้ำมันกัญชงเป็นต้นมา ผู้ปกครองของผู้ป่วยได้เปลี่ยนมาใช้น้ำมันกัญชงสายพันธุ์อัฟริกัน/ไทย เรียกว่า “น้ำมันกัญชง รุ่นที่ 3” ผลปรากฏว่าน้ำมันกัญชงรุ่นนี้ออกฤทธิ์ทางจิตประสาทแรงกว่าเดิม และทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย แพทย์จึงให้ใช้น้ำมันกัญชงลดลงเหลือ 0.5 มิลลิตรต่อวัน โดยแบ่งเป็นวันละ 2 ครั้ง และพบว่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวคงตัวอยู่ในระดับต่ำมาก เหลือเพียง 0.13% เมื่อเทียบกับปริมาณเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวก่อนเริ่มใช้น้ำมันกัญชง [1]

วันที่ 50 เป็นต้นมาได้มีการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันกัญชงจากภายนอก เรียกว่า “น้ำมันกัญชง 4” โดยวันที่ 51 ของการใช้น้ำมันกัญชงภายหลังได้พาผู้ป่วยกลับบ้าน แต่ผู้ป่วยทรมานจากการคลื่นไส้อย่างรุนแรง ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ และอ่อนแอโดยภาพรวม

วันที่ 53 ของการใช้น้ำมันกัญชง ผู้ป่วยได้ถูกนำส่งตัวเข้าโรงพยาบาลอีกครั้ง เพื่อมารักษาอาการรีฟีดดิ้ง ซินโดรม (Refeeding syndrome) เป็นผลมาจากช่วงเวลาที่รักษาการติดเชื้อของผู้ป่วยนั้น ได้มีการหยุดให้อาหารผ่านทางหลอดเลือดดำที่เร็วเกินไป ส่งผลทำให้ร่างกายของผู้ป่วยช็อคและไม่สามารถปรับตัวได้ จึงทำให้ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ

ระหว่างการใช้น้ำมันกัญชงวันที่ 53 ถึงวันที่ 59 ผู้ป่วยได้รับน้ำมันกัญชงในปริมาณเท่ากันคือ 0.5 มิลลิลิตรต่อวัน และแบ่งเป็น 2 ครั้งต่อวัน ปรากฏว่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวทยอยเพิ่มสูงขึ้น ผู้ป่วยเริ่มกลับมาแบ่งการใช้น้ำมันกัญชงเป็น 3 ครั้งต่อวันในวันที่ 62 และเริ่มทยอยให้น้ำมันกัญชงเพิ่มขึ้นในวันที่ 65 จนถึงวันที่ 68 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการใช้น้ำมันกัญชง 4 ได้มีการกลับมาใช้น้ำมันกัญชงที่ระดับ 0.8 มิลลิลิตรต่อวัน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวลดลงแต่ประการใด

วันที่ 69 เป็นต้นมาเริ่มใช้น้ำมันกัญชงจากแหล่งใหม่ เรียกว่า “น้ำมันกัญชงรุ่นที่ 5” โดยเริ่มให้ที่ 1 มิลลิตรต่อวัน ที่ 0.8 มิลลิลิตรต่อวัน โดย 1 วันแบ่งเป็น 3 รอบ และทยอยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1 มิลลิลิตรตั้งแต่วันที่ 72 ของน้ำมันกัญชง ผลปรากฏว่าน้ำมันกัญชงส่งผลทำให้เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวลดลงอีกครั้งอย่างชัดเจน

วันที่ 78 ของการใช้น้ำมันกัญชง ปรากฏว่าผู้ป่วยรายนี้ปวดท้องในตอนเช้าและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล เมื่อได้ทำการตรวจด้วยเครื่องเอ็กซ์เรย์แล้วพบว่ามีเลือดออกทางเดินอาหารในส่วนกระเพาะและลำไส้ ผู้ป่วยปฏิเสธรับการกู้ชีพ และเสียชีวิตด้วยภาวะทางเดินอาหารทะลุ (bowel perforation) [1]

แม้ว่ากรณีศึกษานี้จะเป็นประโยชน์ในการได้เบาะแสในปริมาณเข้มข้นของตัวยาที่ใช้กับมนุษย์ แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายมากเพราะในกรณีนี้สามารถเห็นแนวโน้มที่สามารถเอาชนะโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยสารสกัดจากกัญชงได้ แต่กลับมาเสียชีวิตด้วยภาวะทางเดินอาหารทะลุ !!!?

โดยรายงานชิ้นนี้ระบุว่าผู้ป่วยเคยทำซีที สแกน มาก่อนหน้านี้ในช่วงใช้น้ำมันกัญชง รุ่นที่ 2 และเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่แพทย์ให้ใช้ยาอัลโลพูรินอล และยาฆ่าเชื้อหลายชนิด โดยในรายงานระบุว่าผู้ป่วยในช่วงนั้นมีภาวะกระพุ้งลำไส้ใหญ่อักเสบ (typhlitis) กระเพาะอาหารบวม ร่วมกับการทะลุของทางเดินอาหารอันเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตครั้งนี้ และะระบุด้วยว่าเป็นช่วงแรกของการใช้น้ำมันกัญชงบำบัด ผู้ป่วยมีอาการป่วยรุนแรงมาก น้ำหนักลดลงอย่างมากและช่วงนั้นเป็นช่วงที่เพิ่งผ่านการคีโมบำบัดและฉายแสงต่อเนื่องมานานถึง 34 เดือน [1]

สรุปก็คือไม่สามารถหาสาเหตุชี้ชัดต้นเหตุภาวะทางเดินอาหารทะลุได้ ว่าเกิดจากอะไรกันแน่ !!!?

ทั้งนี้สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่มีทั้งในกัญชาและกัญชงมีผลข้างเคียงอยู่หลายประการ ได้แก่ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตตก ตาแดง หลอดลมขยายตัว กล้ามเนื้อคลายตัว [7] [8] และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาจสัมพันธ์ในกรณีศึกษานี้คือ “ลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร” [9]

กัญชาเป็นยาออกฤทธิ์เย็น หรือให้ความเป็นหยินสูง ดังนั้นหากไม่มีการจัดการเรื่องเวลาการให้อาหาร และเมนูอาหารที่เหมาะสมให้มีฤทธิ์ร้อนหรือมีความเป็นหยางเข้าไปให้สมดุลด้วย ก็อาจทำให้ผู้ป่วยที่ใช้กัญชาหรือกัญชงขับถ่ายน้อย หรือทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหารจนกระเพาะอาหารและลำไส้บวมได้

ด้วยเหตุนี้กัญชาที่เข้าตำรับยาไทยที่ถูกบันทึกในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ในการรักษาโรคที่คล้ายกับมะเร็งในยุคนี้ เช่น ยาอัมฤตโอสถเพื่อรักษา“โรคลมกษัยทั้งปวง” หรือ โดยใช้พริกไทยเป็นยาหลักฤทธิ์ร้อนแล้วใช้กัญชาเป็นยารอง และใช้ยาอื่นๆเสริม [10] [11]

ความน่าอัศจรรย์ของภูมิปัญญาไทยในการจัดสมดุลตำรับยาสมุนไพรอยู่ตรงที่ว่าในขณะที่กัญชาลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร แต่งานวิจัยกลับพบว่าพริกไทยกับออกฤทธิ์ร้อนตรงกันข้ามกับกัญชาคือ เพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ให้ดีขึ้น ขับลม และแก้อาการท้องผูก [12]

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ “ตำรับยาริดสีดวงมหากาฬ” ซึ่งรักษาโรคสารพัดฝีซึ่งอาจถูกตีความว่าอาจเป็นโรคมะเร็งในยุคนี้ ทั้งฝีทวารหนัก ฝีทวารเบา ฝีลำไส้ ฝีหลอดอาหาร ฝีหนองในอก มะเร็งคุดทะราด ฝีเปื่อยทั้งตัว โดยยาตำรับนี้ “เข้ากัญชาผสมฝิ่นเล็กน้อย บดผงปั้นเท่าเม็ดพริกไทยละลายสุรากิน 1-3 เม็ด” [10] [13]

ภูมิปัญญาของตำรับยาริดสีดวงมหากาฬที่ระบุข้างต้นนี้พบว่าการผสมสุราแท้ที่จริงก็คือการใช้แอลกอฮอล์นำสารละลายในไขมันออกมาจากสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารแคนนาบินอยด์ซึ่งเป็นสารสำคัญในกัญชาที่ออกฤทธิ์ในการยับยั้งและฆ่าเซลล์มะเร็ง รวมถึงสารโอปิออยด์ที่อยู่ในฝิ่น ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดทั้งคู่แต่เป็นคนละระบบของต่อมรับสารเหล่านี้ ทั้งกัญชา[9] และฝิ่น [14] กดระบบประสาท จึงต่างลดความสามารถการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารและลำไส้ลง แต่การผสมสุราถ้าทำในปริมาณที่เหมาะสมกลับสามารถเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้และการขับถ่ายได้ [15]

นอกจากนี้ในรายงานผลกรณีศึกษานี้ไม่ได้คำนึงถึงการควบคุมอาหาร หรือโภชนาการบำบัดในผู้ป่วยแต่อย่างใด ซึ่งแตกต่างจากรายงานข่าวสารของผู้ป่วยที่หายป่วยจากโรคมะเร็งซึ่งใช้กัญชาหรือกัญชงด้วยนั้นต่างงดเนื้อสัตว์ งดผลิตภัณฑ์จากสัตว์ งดน้ำตาล งดแป้ง ดื่มผักปั่นหรือสมุนไพร หรือ เครื่องเทศฤทธิ์ร้อนหลายชนิด [16] [17]

และที่น่าสนใจคือคนที่ใช้กัญชาที่รอดชีวิตส่วนใหญ่ที่ปรากฏเป็นข่าวนั้น “อยู่นอกโรงพยาบาล” ทั้งสิ้น !!!

ดังนั้นจึงจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสารสกัดกัญชง หรือ กัญชา อาจไม่ได้เป็นเพียงคำตอบเดียวที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง แต่จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆมาร่วมบูรณาการด้วย ทั้งในเรื่องการปรับพฤติกรรม การบริโภคและสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยควบคู่กันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโภชนาการบำบัด การขับถ่ายของเสีย จิตบำบัด ฯลฯ และในความเป็นจริงก็มีผู้ป่วยก่อนหน้านี้สามารถหายจากโรคมะเร็งได้โดยใช้ธรรมชาติบำบัดและไม่ต้องอาศัยกัญชาเสียด้วยซ้ำไป

ดังนั้นแม้มีหลายฝ่ายจะเริ่มเห็นด้วยว่าควรจะแก้ไข มาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 โดยให้กัญชาซึ่งอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 ให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้ แต่ก็ไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแพทย์แผนปัจจุบันเท่านั้น เพราะไม่แน่ว่าตำรับยาไทยที่มีกัญชาผสมอยู่และสูญหายไปก่อนหน้านี้ ก็อาจจะเป็นเบาะแสในการวิจัยเพื่อแสวงหาวิธีการใช้กัญชาให้ได้อย่างเหมาะสมให้กับมนุษยชาติได้ดีกว่าที่จะเป็นยาขนานเดียวหรือยาเดี่ยวในการเอาชนะโรคมะเร็งก็ได้

ดังนั้นจึงควรเปิดโอกาสให้ผู้ได้ใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกรรมไทย และแพทย์แผนจีน ได้มีโอกาสใช้กัญชาในตำรับของภูมิปัญญาดั้งเดิมได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จึงจะมีความเป็นธรรมกับแพทย์ทุกสาขา อีกทั้งประชาชนที่เจ็บป่วยอยู่และคนในครอบครัวจะได้มีสิทธิ์เลือกรักษาตามแนวทางและศรัทธาของตนเองได้

ด้วยความปราถนาดีจาก
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย
มหาวิทยาลัยรังสิต
อ่านและกราฟฟิกฉบับเต็มได้ที่ แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 
[1] Singh Y, Bali C. Cannabis Extract Treatment for Terminal Acute Lymphoblastic Leukemia with a Philadelphia Chromosome Mutation. Case Reports in Oncology. 2013;6(3):585-592. doi:10.1159/000356446. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3901602/
[2] Micromedex Consumer Medication Information. Allopurinol (By mouth)PubmedHealth Published: October 1, 2017. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmedhealth/PMHT0008886/?report=details
[3] Allopurinol and Immune system disorder - from FDA reports, eHealthme Personalized Health Information. https://www.ehealthme.com/ds/allopurinol/immune-system-disorder/
[4] WebMD Website, PIPERACILLIN-TAZOBACTAM VIALSide Effects.
https://www.webmd.com/drugs/2/drug-16568/piperacillin-tazobactam-intravenous/details/list-sideeffects
[5] Drug.com Website, Gentamicin Side Effects. https://www.drugs.com/sfx/gentamicin-side-effects.html
[6] Drug.com Website,Vancomycin Side Effects. https://www.drugs.com/sfx/vancomycin-side-effects.html
[7] Grotenhermen F, Russo E, eds.: Cannabis and Cannabinoids: Pharmacology, Toxicology, and Therapeutic Potential. Binghamton, NY: The Haworth Press, 2002.
[8] Guzmán M: Cannabinoids: potential anticancer agents. Nat Rev Cancer 3 (10): 745-55, 2003. [PUBMED Abstract] http://www.nature.com/articles/nrc1188
[9] Aviello G, Romano B, Izzo AA. Cannabinoids and gastrointestinal motility: animal and human. Eur Rev Med Pharmacol Sci. 2008 Aug;12 Suppl 1:81-93. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18924447
[10] แพทย์แผนไทยประยุกต์ แวสะมิง แวหมะ, กัญชารักษามะเร็ง เรื่องจริงหรือลวงโลก เว็บไซต์ Mgr Online, ผู้จัดการสุดสัปดาห์ 3 พฤศจิกายน 2560 https://mgronline.com/daily/detail/9600000111156
[11] มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมาภัจจ์). (2535). ตำราการแพทย์ไทยเดิม ฉบับที่ 1. โรงพิมพ์สามเจริญพาณิช. หน้า 379.
[12] Malik Hassan Mehmood, Anwarul Hassan Gilani. Pharmacological Basis for the Medicinal Use of Black Pepper and Piperine in Gastrointestinal Disorders. J Med Food. 2010 Oct;13(5):1086-96. doi: 10.1089/jmf.2010.1065.
http://online.liebertpub.com/doi/abs/10.1089/jmf.2010.1065
[13] มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิม อายุรเวทวิทยาลัย (ชีวกโกมาภัจจ์). (2535). ตำราการแพทย์ไทยเดิม ฉบับที่ 1. โรงพิมพ์สามเจริญพาณิช. หน้า 288.
[14] Khansari M, Sohrabi M, Zamani F. The Useage of Opioids and their Adverse Effects in Gastrointestinal Practice: A Review. Middle East Journal of Digestive Diseases. 2013;5(1):5-16.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3990131/
[15] Grad S, Abenavoli L, Dumitrascu DL. The Effect of Alcohol on Gastrointestinal Motility. Rev Recent Clin Trials. 2016;11(3):191-5.
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/27527893
[16] สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช, เว็บไซต์ MGR Online, กัญชารักษามะเร็ง!! เปิดประสบการณ์ลับ ผู้ป่วยมะเร็งตับ หมอบอกตายแน่ แต่กัญชาช่วยไว้ได้! ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2559 16:11 น. (แก้ไขล่าสุด 12 สิงหาคม 2559 07:47 น.), แหล่งที่มา : URL: https://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9590000079216.
[17] Lincoln Horsley, THE SHARON KELLY STORY: HOW SHE BEAT HERLUNG CANCER WITH CANNABIS OIL. Cure Your Own Cancer Website, 1/8/2015
https://www.cureyourowncancer.org/the-sharon-kelly-story-how-she-beat-her-lung-cancer-with-cannabis-oil.html


กำลังโหลดความคิดเห็น