จั่วหัวเรื่องอย่างนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องเมืองไทย แต่เป็นเหตุการณ์กองทัพยึดอำนาจรัฐในประเทศซิมบับเวซึ่งได้อยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี โรเบิร์ต มูกาเบ วัย 93 ปี ซึ่งเป็นอดีตผู้นำไปหมาดๆ โอกาสจะอยู่รอดปลอดภัยตลอดไปหรือไม่ยังเป็นสภาวะอึมครึมเป็นผลของการขี่หลังเสือนานจนลงแบบดีๆ ไม่ได้
ขณะนี้ควันจากท่อไอเสียรถถังรักษาความสงบในจุดสำคัญกลางเมืองหลวงฮาราเรยังคลุ้ง แม้กองทัพได้ควบคุมสถานการณ์ไว้เด็ดขาด หลังจากการยึดอำนาจมีข่าวว่า มูกาเบและภรรยา ถูกกักตัวไว้ในบ้าน รอการเปลี่ยนแปลง
มีข่าวว่าคุณนายท่านอดีตผู้นำรัฐบาล เกรซ มูกาเบ หรือเจ้าของฉายา “กุชชี่ เกรซ” ได้บินออกจากซิมบับเวไปประเทศแอฟริกาใต้ โดยการต่อรองของสามีเพื่อแลกกับการที่มูกาเบยอมลงจากอำนาจไม่ต้องให้มีการฆ่าฟันเสียเลือดเนื้อ
อันที่จริง มูกาเบไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองได้ เพราะดูแล้วไม่ต่างจากลูกไก่ในกำมือของผู้นำกองทัพ ซึ่งประกาศว่าไม่ได้เป็นการยึดอำนาจ แต่ต้องการจัดการกับกลุ่มอาชญากรที่แวดล้อมตัวมูกาเบ หรือบริวารที่แสวงหาผลประโยชน์
ต้นตอของเหตุที่ต้องทำรัฐประหารเพราะมูกาเบไม่ยอมลงจากอำนาจ หลังจากเป็นผู้นำประเทศนานถึง 37 ปี อายุก็ปาเข้าไป 93 ปี ยังแสดงท่าทีว่า “แม้จะชราแต่ป๋ายังไหว” ซ้ำร้ายยังวางแผนให้คุณนายเป็นทายาทสืบทอดอำนาจ
มูกาเบเชื่อมั่นในอำนาจมาก กล้าสั่งปลดรองประธานาธิบดีที่ทำงานมาด้วยกัน เป็นคอหอยกับลูกกระเดือกนานแสนนาน เป็นตัววางแผนยุทธศาสตร์การครองอำนาจ ทำให้มูกาเบเป็นจอมเผด็จการยั่งยืนจนอายุใกล้เฉียดร้อยปี
การปลดเอ็มเมอร์สัน มนากากวา เป็นการปูทางให้ “กุชชี่ เกรซ” ช่วงชิงตำแหน่งทายาทการเมือง ด้วยข้ออ้างการปลดว่า มนากากวา “ไม่จงรักภักดี ไม่เคารพ เจ้าเล่ห์ และไม่น่าไว้วางใจ” ทั้งๆ ที่อยู่ด้วยกันมาฝ่าอุปสรรคสารพัด
คุณนาย “กุชชี่ เกรซ” พยายามสร้างความนิยมในกลุ่มประชาชนด้วยตำแหน่งประธานสันนิบาตสตรี ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟุ่มเฟือย ชอบการชอปปิ้ง แม้ประเทศอยู่ในขั้นยากจนติดอันดับเกือบสุดโหล่เพราะสามีบริหารงานไม่เอาไหน
มูกาเบเป็นผู้นำคนแรกหลังจากประเทศเปลี่ยนชื่อจากสาธารณรัฐโรดีเซียและคณะรัฐบาลจากคนผิวขาวนำโดยนายเอียน สมิธ ในปี 1979 มาเป็นซิมบับเว ซึ่งมีคนผิวดำล้วนหลังจากนั้นบ้านเมืองเริ่มตกต่ำถดถอยมาโดยตลอด
การเป็นเผด็จการทำให้มูกาเบกุมอำนาจเด็ดขาด ทุกอย่างยังเป็นไปด้วยดี จนกระทั่งคิดอ่านให้คุณนายสตรีหมายเลขหนึ่งมาแทนตัวเอง เมื่อปลดรองประธานาธิบดี ทำให้ผู้นำกองทัพไม่พอใจ แม้กระนั้นมูกาเบยังเชื่อมั่นในอำนาจ
อาการฮึ่มๆ ของผู้นำเหล่าทัพ ไม่ได้ทำให้มูกาเบเอะใจ นึกว่าตัวเองยังได้รับการสนับสนุนจากทหารและประชาชน ทั้งๆ ที่ชาวบ้านเบื่อหน่ายกับสภาพไร้อนาคตของประเทศ และทั้งคู่สามี ภริยาทำเหมือนซิมบับเวเป็นสมบัติส่วนตัว
หลังจากหลุดจากตำแหน่ง มนากากวาต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อความปลอดภัย คุณนาย “กุชชี่ เกรซ” เริ่มเดินหมากเสริมฐานการเมืองเพื่อสืบทอดอำนาจ เธอมีอายุ 52 ปี ต้องรีบเพราะไม่รู้ว่าสามีจะยังอยู่ได้นานอีกกี่ปี
การปลดมนากากวาถือว่าเป็นการเดินหมากเกมการเมืองพลาดครั้งสำคัญที่สุดของมูกาเบ เป็นการเดินเข้าสู่จุดอับและจุดจบชนิดที่ไม่มีโอกาสได้แก้ตัว การยอมลงจากอำนาจแลกกับความปลอดภัยของภรรยาจึงเป็นทางเลือกเดียว
อายุเกือบร้อย ตกจากอำนาจ การสูญเสียจะทำให้หัวใจสลายหรือไม่? สมบัติส่วนใหญ่ของครอบครัวคงถูกถ่ายโอนไปต่างประเทศเรียบร้อย หลังจากการครองอำนาจ ล้างผลาญทรัพย์สินของประเทศ โกยมาเป็นความมั่งคั่งส่วนตัว
มนากากวาก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน เคยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยของมูกาเบหลังจากกอดคอต่อสู้ร่วมกันมาเพื่อก่อตั้งประเทศใหม่เมื่อได้อำนาจจากคนผิวขาว พวกอาณานิคมของอังกฤษ มีฉายา “ไอ้เข้” เพราะอยู่นาน คงแสบไม่เบา
เมื่อเป็นผู้ช่วย พิสูจน์ฝีมือให้เห็น ก็ได้รับการเลื่อนชั้นเป็นหัวหน้าสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจเต็ม กุมความลับต่างๆ ข้อมูลข่าวสารของทุกฝ่าย จากนี้ต้องดูต่อไปว่ามนากากวาจะได้เป็นประธานาธิบดีคนต่อไปทันทีหรือยังต้องรอ
ประชาชนไม่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร คงยอมเพราะอยู่กับมูกาเบมานานเกินทน ช่วงนี้อยู่ในระหว่างเปลี่ยนผ่าน รอดูว่าประชาคมโลกจะว่าอย่างไร คุณนาย “กุชชี่ เกรซ” ยังคิดการใหญ่ ตั้งหน่วยรณรงค์ต้านการรัฐประหารหรือไม่
เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ หัวหน้าคณะรัฐประหารต้องเป็นผู้นำประเทศเพื่อความมั่นคงตามคำอ้าง จากนั้นจะมุ่งกอบโกยเพื่อให้คุ้มกับความเสี่ยงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับอารมณ์ของประชาชน หรือสภาพประเทศว่ามีทรัพย์สินมากแค่ไหน
ซิมบับเวมีประชากร 16.1 ล้านคน เป็นดินแดนไร้ทางออกทางทะเล อยู่เกือบใจกลางทวีปแอฟริกา มีแหล่งท่องเที่ยวอุทยานหลายแห่ง มีน้ำตกวิคตอเรียซึ่งสูง 108 เมตรไหลตรงดิ่งจากยอดเขา ถือว่ายังมีสภาพป่าสมบูรณ์อยู่มาก
มูกาเบเคยมาเยือนประเทศไทยหลายครั้ง แต่มักไม่เป็นข่าวคงรู้ตัวดีว่าภาพลักษณ์ไม่น่าพิสมัย กระพ้มเองเคยถูกเชิญให้ไปพบปะพูดคุย แต่เซย์โน!