xs
xsm
sm
md
lg

ASEAN Summit คือความสวยงามของการสร้างเสน่ห์ให้ประเทศขนาดเล็ก

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ภาพเอเอฟพี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


ผมคิดว่าหลาย ๆ ท่านที่เป็นนักสังเกตการณ์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระดับโลก คงจับตามอง Series ของการประชุมระดับชาติและระดับนานาชาติที่ผ่านมาอย่างตาไม่กระพริบ ตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 เมื่อกลางเดือนตุลาคม ต่อด้วยการประชุมผู้นำเศรษฐกิจ APEC ครั้งที่ 25 ณ นครดานัง ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 10 – 12 พฤศจิกายน และล่าสุดคือการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 31 ณ กรุงฟิลิปปินส์ ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ จากการประชุมทั้ง 3 รายการ เรายังไม่ค่อยเห็นบทบาทนำอย่างเป็นรูปธรรมของประเทศมหาอำนาจที่ได้รับการตอบรับอย่างชัดเจน เรายังไม่ได้เป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น ประเด็นที่ทุกคนจับตามองกลับกลายเป็น ประเด็นเรื่องความมั่นคงในคาบสมุทรเกาหลี ซึ่งมีผู้เล่นหลักคือ สหรัฐอเมริกาเท่านั้น

แต่เมื่อผมได้มีโอกาสอ่านข่าวที่เผยแพร่โดย Website ข่าวของทำเนียบรัฐบาล www.thaigov.go.th กลับทำให้ผมเห็นภาพความพยายามของประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กในเวทีโลกที่พยายามสร้างหมุดหมาย เน้นย้ำความสำคัญของตนในเวทีนานาชาติ และสร้างเสน่ห์ในกับภูมิภาคของตนอย่างน่าสนใจ

นายกรัฐมนตรีของไทย นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียน โดยยก 3 แนวทางหลัก ได้แก่ 1) การเสริมสร้างประชาคมอาเซียนที่มีความเข้มแข็ง เน้นนวัตกรรม และยึดมั่นกติกา 2) นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรมองความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียนให้เป็นมากกว่าเครือข่ายการขนส่งในอาเซียน แต่เป็นการเชื่อมต่อกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และโลกอย่างเป็นระบบ ผ่านเครือข่ายตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน และ 3) การปฏิสัมพันธ์กับประเทศภายนอกอาเซียน โดยเฉพาะการเสริมสร้างและรักษาความเข้มแข็งของแกนกลางอาเซียน (ASEAN Centrality)

โดย 2 ใน 3 ของสิ่งที่ท่านนายกฯ เสนอต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน มีการกล่าวถึงตัวย่อภาษาอังกฤษ 4 ตัว นั่นคือ IORA หลายครั้ง และนี่คือ กรอบความร่วมมือระดับอนุภูมิภาคที่กรอบหนึ่งที่สร้างความประหลาดใจให้ผมเป็นอย่างยิ่ง เพราะแต่ไหนแต่ไรมา IORA: Indian Ocean Rim Association หรือ กรอบสมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย ไม่ใช่ชื่อที่ใคร ๆ ให้ความสนใจกันมากนัก
ภาพเอเอฟพี
กรอบความร่วมมือนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1995 ระหว่างการเยือนประเทศอินเดียของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแอฟริกาใต้ จากนั้นจึงมีการหยิบยกประเด็นขึ้นมาและเริ่มต้นการสร้างความสัมพันธ์โดย 4 ประเทศหลักคือ อินเดีย แอฟริกาใต้ มอริเชียส และออสเตรเลีย หากแต่ความร่วมมือนี้ก็ยังมีลักษณะเป็นม้านอกสายตาเรื่อยมา แม้ว่าจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 21 ประเทศ ได้แก่ Australia, Bangladesh, Comoros, India, Indonesia, Iran, Kenya, Madagascar, Malaysia, Mauritius, Somalia, Mozambique, Oman, Seychelles, Singapore, South Africa, Sri Lanka, Tanzania, United Arab Emirates, Yemen และประเทศไทย โดยมี ประเทศคู่เจรจาร่วมด้วยอีก 7 ประเทศได้แก่ จีน, อียิปต์, ฝรั่งเศส, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา แต่จนถึงปี 2017 สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดียก็ยังไม่เคยได้จัดการประชุมสุดยอดผู้นำได้เลยแม้ซักครั้ง

จนกระทั่ง ปี 2009 เมื่อจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ Sub-Prime Crisis ทำให้ยอดการส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐตกต่ำลง จนเศรษฐกิจจีนมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำกว่าร้อยละ 10 เป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี ทำให้จีนต้องเปลี่ยนสู่ New Normal ที่ต้องการจะดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนใน 2 ประเด็นหลัก นั่นคือ การสร้างตลาดภายในที่เข้มแข็งเพื่อลดการพึ่งพาการส่งออก และการสร้างพันธมิตรใหม่ให้กับจีนในเวทีการค้าโลก ทำให้จีนเดินหน้าการสร้างความเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจรอบทิศภายใต้อภิมหาโครงการ One Belt One Road หรือ หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง ที่เน้นสร้างความเชื่อมโยงทางบกผ่านโครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 และโครงการเส้นทางสายไหมทางท้องทะเลแห่งศตวรรษที่ 21

ซึ่งในกรณีของเส้นทางสายไหมทางท้องทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 ประธานาธิบดีจีน เลือกที่จะเดินทางมาเปิดตัวโครงการนี้เป็นครั้งแรกในการเยือนประเทศอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2013 แน่นอน หนึ่งในเหตุผลที่ต้องเลือกอินโดนีเซียเพราะนี่คือการเปิดเส้นทางการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน ซึ่งหมายถึงเส้นทางการค้าและระบบโลจิสติกส์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายอินโดนีเซียเองก็ไม่กล้าขานรับกับโครงการนี้เท่าใดนัก ทั้งนี้เนื่องจากประเด็นด้านความมั่นคง ที่ทุกประเทศต่างก็หวาดกลัวการเข้ามาของจีนในบริเวณท้องทะเลที่กำลังอยู่ในข้อพิพาทนั่นคือ ทะเลจีนใต้ แต่ความช่วยเหลือของจีนเพื่อลบจุดอ่อนของประเทศที่เป็นหมู่เกาะมากที่สุดในโลกถึง 18,000 กว่าเกาะ ก็คือ การลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมโยงในท้องทะเลแห่งนี้ นั่นทำให้ เกิดแรงกดดันต่อประธานาธิบดี Joko Widodo ให้ต้องออกมาประกาศนโยบายทางท้องทะเลของตนให้ชัดเจน

และ Jokowi ก็ประกาศนโยบาย Indonesia’s Maritime Fulcrum (GMF) ออกมาในระหว่างการประชุม APEC ในปี 2014 (อย่าลืมว่าการประชุมจะเรียงกันแบบนี้ทุกปีนะครับ จีนประชุมกำหนดนโยบายภายในประเทศ ต่อด้วยจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จะมาชนกันในเวทีใหญ่คือ APEC และมาจบที่เวทีระดับภูมิภาคในการประชุมอาเซียน ทุกเดือนต.ค. - พ.ย. ของทุกปี) โดยในการประกาศครั้งนี้ Jokowi วางตำแหน่งให้อินโดนีเซียเป็นเสมือนจุดรองรับ หรือจุดหมุน (Fulcrum) สำคัญของการเชื่อมโยง 2 มหาสมุทรที่มีเส้นทางการเดินเรือหนาแน่นที่สุดและมีมูลค่าการค้ามากที่สุดเข้าด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตามการประกาศนี้ก็ต้องรอเวลาอีกถึง 3 ปีกว่าที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะมีโครงการชัดเจนว่า เพื่อจะเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมโยงนี้รัฐบาลจะทำอะไรบ้าง
ภาพเอเอฟพี
ในที่สุด วันที่ 1 มีนาคม 2017 Presidential Regulation ฉบับที่ 16 ของ Joko Widodo ก็ประกาศเรื่อง Indonesia Sea Policy ออกมา ซึ่งเป็นส่วนต่อขยายของ GMF ที่มีการเปลี่ยนชื่อไป โดยไม่มีคำว่า Maritime ไม่มีคำว่า Fulcrum แต่ใช้คำว่า Sea แทน ทั้งนี้ นักวิชาการด้านความมั่นคงของอินโดนีเซียวิเคราะห์ว่าการใช้คำว่า Sea เพื่อให้สอดคล้องกับการประชุมของสหประชาชาติ United Nation Convention on the Law of the Sea (UNCLOS) ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎเกณฑ์ที่อินโดนีเซียและประเทศคู่พิพาทของจีนพยายามใช้เป็นหลักการในการป้องกันการอ้างสิทธิของจีนในพื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ เห็นมั้ยครับ ว่าแค่ชื่อก็มีนัยสำคัญแล้ว

โดยเป้าหมายหลักของ GMF และ Indonesia Sea Policy มีความสอดคล้องกันและมีประเด็นสำคัญทั้งสิ้น 7 ประเด็น ได้แก่ 1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทรัพยากรทางทะเล Marine and human resource development; 2) ความมั่นคงทางทะเล การป้องกันประเทศ และความปลอดภัยในทะเล Naval defense, maritime security, and safety at sea; 3) การสร้างสถาบันเพื่อสร้างธรรมาภิบาลในมหาสมุทร Ocean governance institutionalization; 4) สร้างสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจ Maritime economy, infrastructure, and welfare; 5) การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการจัดการพื้นที่ในมหาสมุทร Environmental protection and ocean space management; 6) ส่งเสริมมิติทางสังคมและวัฒนธรรม Nautical culture; และ 7) การฑูตที่ใช้พาณิชนาวีเป็นสื่อกลางทางการฑูต Maritime diplomacy. นอกจากกำหนดเสาหลักทั้ง 7 ข้อของการดำเนินนโยบายแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียยังกำหนด 76 โปรแกรมการทำงาน 425 กิจกรรม และ 330 เป้าหมายที่ต้องดำเนินการอีกด้วย

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องหาเวทีในการยกระดับเรื่องนี้ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลกและระดับภูมิภาค นั่นทำให้ในที่สุด สมาคมแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IORA) ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์ในการก่อตั้งในลักษณะเดียวกัน มีเจ้าภาพในการประชุมสุดยอดผู้นำเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5-7 มีนาคม 2017 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แน่นอนว่า ประเทศคู่เจรจา โดยเฉพาะ จีน สนใจสมาคมนี้ขึ้นมาทันที เพราะมีหลายเรื่องที่สอดคล้องกับ OBOR ของจีน ในขณะที่ออสเตรเลีย ก็ใกล้ชิดและทำการค้าทั้งหมดผ่านทะเลในย่านนนี้ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่ต้องการคานอำนาจจีน และหาทางจับมือกับอีกหนึ่งมหาอำนาจซึ่งคัดค้าน OBOR ของจีนตลอดมาในมิติของการล่วงละเมิดอำนาจอธิปไตย นั่นคือ อินเดีย ก็ได้มีเวที IORA นี้เองเป็นที่จับมือกับฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อเดินหน้า Indo-Pacific และนโยบาย Act East ของอินเดียที่เร่งดำเนินการในขณะนี้

แน่นอนครับ ว่าไทยเราเองก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุม IORA ในฐานะหนึ่งใน 21 สมาชิก และเมื่ออินโดนีเซียวางสถานะของตนเองในการคานดุลยภาพกับมหาอำนาจไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ญี่ปุ่น ได้อย่างสวยงาม โดยการประกาศตนเป็นจุดศูนย์กลางการเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียเข้ากับมหาสมุทรแปซิฟิก ไทยเราเองก็เตรียมตัวอย่างเต็มที่เช่นกันในการที่จะทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนภาคพื้นทวีปหรือ Mainland ASEAN เพื่อที่จะเชื่อมโยงเข้ากับอินโดนีเซียจุดเชื่อมโยงของอาเซียนภาคพื้นมหาสมุทร หรือ Maritime ASEAN

ดังนั้นจึงไม่แปลก ถ้าจะเห็นประเทศไทย เสนอแนวคิดในเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แล้วมีการเอ่ยถึงคำว่า IORA หลายครั้ง เพราะนี่คือการบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยการใช้จุดแข็งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิเศรษฐศาสตร์ ซึ่งจะทำให้อาเซียนอยู่ในระหว่างดุลยภาพของมหาอำนาจได้อย่างสวยงาม และทำให้สาวน้อยอาเซียนที่มีเสน่ห์อยู่แล้ว มีความ Sexy มากยิ่งขึ้นครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น