xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมสร้างนโยบาย “เปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นธนาคาร” ผลตอบแทนสูงกว่าเกิน 4 เท่า

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

1.ความในใจกับจินตนาการ

ก่อนจะคิดเรื่องนี้ผมได้นำเงินออมไปฝากประเภทประจำ 6 เดือนกับธนาคารแห่งหนึ่งได้ดอกเบี้ยร้อยละ 1.6 ต่อปี เป็นอัตราที่สูงที่สุดเท่าที่ผมทราบ และคาดว่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานครั้นจะเล่นหุ้นก็ฝืนความรู้สึก จะคิดลงทุนทำกิจการเองก็อายุมากแล้วคงมีคนไม่น้อยที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับผม

รัฐบาลไทยหลายชุดมาแล้วได้มีนโยบายอุดหนุนคนชราด้วยเงินภาษีของประชาชนเดือนละ 500 ถึง 1,000 บาท นอกจากนี้ยังมีโครงการค่าไฟฟ้าฟรี ค่ารถเมล์ฟรี ฯลฯ ซึ่งก็เป็นเงินภาษีเช่นเดียวกัน และต้องช่วยกันทุกปี เหมือนกับ “แจกปลาแต่ไม่สอนให้รู้จักตกปลา” ซึ่งไม่มีวันที่ชาวบ้านจะพึ่งตนเองได้

นักวิทยาศาสตร์ระดับนำของโลก รวมทั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรจำนวนมากได้ออกมาเตือนชาวโลกใน 2 ประเด็นสำคัญคือ หนึ่ง ภัยพิบัติจากโลกร้อนซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการใช้พลังงานฟอสซิลกำลังคุกคามชาวโลกอย่างรุนแรงและบ่อยมากขึ้น และ สอง อีกไม่เกิน 25 ปี ตำแหน่งงานในโลกครึ่งหนึ่งจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ในขณะที่ฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้หาอยู่หากินถูกทำลาย แต่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น แล้วลองจินตนาการดูซิครับว่าอะไรจะเกิดขึ้น

2.การพึ่งตนเองที่ยั่งยืน


โครงการที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ เป็นแนวคิดที่สามารถแก้ปัญหาที่ผมได้เกริ่นมาแล้วข้างต้น โดยไม่ได้รบกวนงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาล เป็นโครงการที่ค่อนข้างจะถาวรและยั่งยืน ไม่ได้ทำให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องสูญเสียรายได้ที่เคยได้รับ

ข้อมูลเชิงตัวเลขที่ผมนำมาใช้ อาจจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงไปบ้าง (แต่ไม่มาก) สำหรับแนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ได้รับการปฏิบัติมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา ปากีสถาน สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย ชิลี และเคนยา เป็นต้น

วิธีการปฏิบัติของประเทศดังกล่าวคือกลไกที่เรียกว่า “Net Metering” คือ ให้ไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคา (ที่เหลือใช้ในเวลากลางวัน) ไหลเข้าสู่สายส่งไฟฟ้าของรัฐได้ ถือเป็นการ “ฝาก” ไฟฟ้าไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาค่ำคืนก็ให้ “ถอน” ไฟฟ้ากลับมาใช้ได้โดยไม่ต้องลงทุนติดตั้งแบตเตอรี่ หากทำตามข้อเสนอของผมก็เพียงติดมิเตอร์วัดไฟฟ้าเพิ่มอีก 1 ตัวเท่านั้น เพื่อแยกแยะระหว่างซื้อกับขาย

ในข้อเสนอนี้ ผมได้เสนอให้การไฟฟ้าฯ มีกำไรจากการรับ “ฝาก” ประมาณ 7.8% (คือรับซื้อในราคาถูกกว่าราคาขาย) ดังนั้น หากข้อเสนอได้รับการปฏิบัติก็จะไม่มีองค์กรใดเสียผลประโยชน์ แต่กลับจะได้ประโยชน์เพราะลดการสูญเสียในสายส่ง ไฟฟ้าจะตกน้อยลง ลดการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และมีการกระจายรายได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผมทราบ ยังไม่มีประเทศใดที่ได้เอ่ยนามมาแล้วมีปัญหาในเชิงเทคนิคหรือในเชิงวิศวกรรมแต่ได้มีความกังวลอยู่บ้างว่า หากมีการติดตั้งกันจำนวนมากๆ (เช่น ในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีส่วนร่วมถึงประมาณ 13% ของไฟฟ้าทั้งหมด) อาจจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์จะตกเพราะแหล่งผลิตบางส่วนหายไป ในขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหัวค่ำ แต่ประเทศไทยเรายังอยู่ห่างไกลจากสถานการณ์นั้นมาก กล่าวคือ หากข้อเสนอของผมสำเร็จ ไฟฟ้าที่ผลิตจากหลังคาบ้านจะมีส่วนร่วมไม่ถึง 1% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศ พูดง่ายๆ ก็คือ ทั้งๆ ที่เขาใช้ถึง 13% แล้วแต่ยังไม่มีปัญหา แล้วของเราแค่พยายามจะให้ถึง 1% ทำไมจะต้องกังวลกันเกินเหตุ

3.วิธีคิดต้นค่าไฟฟ้าอย่างง่าย


เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพใหญ่ของโครงการว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ คนในวงการเขานิยมใช้สิ่งหนึ่งมาเป็นตัวชี้วัด สิ่งนั้นคือ “ต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อหน่วยเฉลี่ยตลอดอายุโครงการ (Levelized Cost Of Electricity, LCOE)” เช่น ถ้าลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ขนาด 5 กิโลวัตต์ ด้วยจำนวนเงิน 2 แสนบาท ถ้าสามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 25 ปี จำนวน 175,000 หน่วย ดังนั้น เราจะได้ว่า LCOE หรือต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ยตลอดโครงการเท่ากับ 1.14 บาทต่อหน่วยไฟฟ้า (หมายเหตุ ราคาชุดละ 2 แสนบาท เป็นราคาที่ต้องซื้อจำนวนมาก หากมีการประสานกันดีๆ ก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ราคานี้จะลดลงประมาณปีละเกือบ 10%)

เพื่อยืนยันในข้อมูล การประมูลครั้งล่าสุดเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ประเทศซาอุดีอาระเบียขนาด 300 เมกะวัตต์ ผู้ชนะการประมูลเสนอราคาค่าไฟฟ้าที่ 1.79 เซนต์ต่อหน่วย หรือ 60 สตางค์ต่อหน่วยครับ ลดลงมาจากปีก่อนที่ 81 สตางค์ต่อหน่วย (อ้างอิง https://www.bloomberg.com/news/articles/2017-10-03/saudi-arabia-gets-cheapest-ever-bids-for-solar-power-in-auction)

ในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ค่าไฟฟ้าสำหรับผู้อยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเดือนละ 300 หน่วย เท่ากับ 3.58 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีและค่าบริการ แต่รวมค่าเอฟทีแล้ว) ถ้าโครงการที่เราจะทำมีค่า LCOE ประมาณ 1.14 บาททำให้เราพอจะประเมินเบื้องต้นได้ว่า “น่าสนใจ” แต่ถ้า LCOE ประมาณ 3 บาท เราคงต้องคิดมากขึ้นก่อนจะตัดสินใจ

4.เงินลงทุนและการจ้างงานในโครงการ


เนื่องจากงานติดตั้งบนหลังคาบ้านเป็นงานที่มีความเสี่ยงและมีต้นทุนเริ่มต้น ดังนั้น ขนาดที่เหมาะสมควรจะเป็น 5 กิโลวัตต์ ค่าอุปกรณ์รวมค่าติดตั้งประมาณ 2 แสนบาท ผมสมมติว่าทีมงานจำนวน 5 คนจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน เพื่อติดตั้ง 1 หลังคา โดยค่าแรงติดตั้งหลังละ 2 หมื่นบาท

ถ้าในปีหนึ่งทำงาน 300 วัน ทีมงาน 5 คนสามารถติดตั้งได้ 100 หลังคา รวม 0.5 เมกะวัตต์ ผมขอเสนอให้ติดตั้งปีละ 2 แสนหลังรวม 1,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น จะมีการจ้างงานถึง 10,000 คน โดยมีเงินลงทุน 4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าแรง 4,000 ล้านบาท

ผมเอาตัวเลขปีละ 2 แสนหลังคามาจากไหน

ก็ดูจากต่างประเทศครับ ในปี 2016 ประเทศเยอรมนีมีการติดให้ใหม่ปีละ 1,500 เมกะวัตต์ (อ้างอิง Recent Facts about Photovoltaics in Germany, October 21, 2017โดย Fraunhofer Institute for Solar Energy Systems ISE) และจะติดตั้งอีกปีละ 4,000-5,000 เมกะวัตต์ จนถึงปี 2050 รวมทั้งหมด 1.5 แสนถึง 2 แสนเมกะวัตต์

ในขณะที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกาซึ่งมีประชากร 39 ล้านคน มีการติดตั้งบนหลังคาบ้าน (ในปี 2016) แล้วรวมประมาณ 2.3 แสนหลัง ดังนั้น ถ้าประเทศไทยจะเพิ่มปีละ 2 แสนหลัง ปีละ 1,000 เมกะวัตต์ก็น่าจะเป็นไปได้ของดีๆ ทั้งต่อประเทศและต่อโลกจะมัวชักช้าไปทำไม

แหล่งเงินกู้ที่น่าสนใจ นอกเหนือจากธนาคารแล้ว ก็คือสหกรณ์ออมทรัพย์ของสถาบันการศึกษาระดับสูง และของหน่วยงานขนาดใหญ่ซึ่งหลายส่วนกำลังมีปัญหาการปล่อยกู้

อนึ่ง จากรายงานของประเทศเยอรมนี (ที่อ้างแล้ว) ว่า ในอีกไม่กี่ปีโซลาร์เซลล์ที่มีอายุเกิน 30 ปี (ย้ำ 30 ปี) จะถูกรื้อทิ้งเพื่อติดตั้งของใหม่ปีละ 6,000-7,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลมีเป้าหมายจะติดตั้งถึง 2 แสนเมกะวัตต์ และต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 30 ปี การจ้างงานในภาคโซลาร์เซลล์จึงมีไม่สิ้นสุดและถ้าใช้เกณฑ์การทำงานตามที่ผมกล่าวแล้ว จะมีการจ้างงานอย่างน้อย 6-7 หมื่นคนตลอดไปชั่วนิรันดร์

5.ผลตอบแทนจากการลงทุน


สิ่งที่ผมได้กล่าวมาแล้วในด้านตัวเลขและผลตอบแทนจากการลงทุนสามารถสรุปได้ดังแผ่นภาพครับ

ความสำคัญก็คือว่า หลังคาบ้านเราผลิตไฟฟ้าได้เดือนละ 583 หน่วย แต่เราใช้เอง 300 หน่วย ที่เหลือจึงขอให้ทางการไฟฟ้าฯ รับซื้อไปขายต่อให้กับคนที่ยังไม่ได้ติดตั้ง ผมเสนอให้การไฟฟ้าฯ มีกำไร 26 สตางค์ต่อหน่วย หรือกำไร 7.8%

ในเรื่องการลงทุน เราใช้เงินที่ประหยัดได้ (หรือเงินที่เราเคยเสียค่าไฟฟ้า) และเงิน(บางส่วน)จากค่าขายไฟฟ้านั่นแหละมาผ่อนธนาคาร แถมยังมีเงินเหลืออีกเดือนละ 500 บาท (ดูแผ่นภาพนะครับ)

ส่วนเรื่องเงินต้นและดอกเบี้ยธนาคาร รวมทั้งค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ในปีที่ 13 จำนวน 7 หมื่นบาท เราไม่ต้องควักกระเป๋าอีกเลย เมื่อสิ้นอายุการใช้งาน 25 ปี เงินที่ผ่านเข้ามาอยู่ในกระเป๋าเรารวมกันได้ 2.06 แสนบาทไม่น้อยนะครับ

ถ้าเราไม่กู้เลย ผลตอบแทนจะคุ้มทุนในเวลาประมาณ 10 ปีครึ่ง ซึ่งก็อาจจะนานไปสักนิดในแง่ของนักลงทุน แต่ถ้าเปรียบกับการเงินไปฝากธนาคาร เราได้ผลประโยชน์สูงกว่าเกิน 4 เท่าตัว

อ้อ ในการคิดค่าไฟฟ้า ผมได้คิดว่าค่าไฟฟ้า (ที่เราจ่ายและขาย) มีค่าคงที่ตลอดไป แต่ในความเป็นจริงมันได้เพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณปีละ 2% ยิ่งค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ผลตอบแทนของผู้ติดตั้งก็จะยิ่งสูงขึ้นด้วย

ในแง่ของรัฐบาล มันทำให้คนมีงานทำอย่างน้อย 1 หมื่นคน ซึ่งเรื่องคนว่างงานหากไม่รีบแก้ไขจะเป็นปัญหาที่ทำให้รัฐบาลในอนาคตต้องปวดหัวอย่างแน่นอน

ในเรื่องเงินสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ลองคิดให้ละเอียดซิครับ เราสามารถโยกเงินส่วนหนึ่งมาช่วยให้ผู้ยากจนสามารถพึ่งตนเองได้อย่างถาวร บางหมู่บ้านในเยอรมนีซึ่งมีประชากร 2.6 พันกว่าคน แต่สามารถผลิตไฟฟ้าจากขี้วัว น้ำเสีย กังหันลม และแสงแดดได้ปีละกว่า 180 ล้านบาท

ในเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ได้ทรงตรัสเมื่อปี 2532 ว่า “เราจึงต้องมีความรับผิดชอบในโลกมากขึ้น ทั้งนี้ก็เชื่อว่า เป็นความดีของประเทศไทย...”

รัฐบาลนี้ชอบอ้างถึงศาสตร์พระราชา อ้างถึงเศรษฐกิจพอเพียง ความยั่งยืน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแต่มักทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามครับ

อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากทั่วโลกได้สอนเราว่า ประชาชนจะต้องเป็นผู้สร้างนโยบาย แล้วผลักดันให้รัฐนำไปปฏิบัติ นี่คือหนทางเดียว ไม่มีทางอื่นครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น