อ.กิตติพงศ์ บุญเกิด
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่คณาจารย์ทีมจุฬาฯ ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเขียนบทความเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประเทศอินเดียลงในคอลัมน์ “พินิจอินเดีย” ในผู้จัดการออนไลน์ คงทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ทางด้านภาษา วัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจ การเมือง และประวัติศาสตร์ของอินเดียบ้างไม่มากก็น้อย สำหรับบทความฉบับนี้ผู้เขียนใคร่ขอนำท่านเปลี่ยนบรรยากาศมาลองสัมผัสวรรณกรรมอินเดียยุคใหม่ มาเสพรสบทกวีภาษาฮินดีดูบ้าง โดยในโอกาสนี้ขอเสนอบทกวีชื่อ कोशिश करने वालों की हार नहीं होती koshish karne valon ki haar nahin hoti หรือชื่อในสำนวนแปลไทยว่า “ผู้พากเพียรไม่พ่ายแพ้” ของ सोहन लाल द्विवेदी Sohan Lal Dwivedi โสหัน ลาล ทวิเวที ผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นกวีแห่งชาติ หรือในภาษาฮินดีใช้คำว่า राष्ट्रकवि Rashtrakavi ราษฏระกวี
โสหัน ลาล ทวิเวที เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1906 ในตระกูลพราหมณ์ชาวเมืองฟเตหปุระ รัฐอุตตรประเทศ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาภาษาฮินดี และได้ศึกษาภาษาสันสกฤตด้วยจากกาศีวิศววิทยาลัย หรือชื่อทางการในปัจจุบันคือ Banaras Hindu University เมืองพาราณสี
ท่านเป็นอีกหนึ่งนักต่อสู้คนสำคัญผู้ร่วมอยู่ในขบวนการเรียกร้องเอกราชอินเดียที่มีมหาตมาคานธีเป็นผู้นำ ผลงานวรรณกรรมของท่านจึงปรากฏอิทธิพลแนวคิด ‘คานธีวาท’ อยู่ทั่วไป โสหัน ลาล ทวิเวที ได้รับรางวัลปัทมศรี สาขาวรรณกรรมและการศึกษา เมื่อปี ค.ศ.1970 ซึ่งถือเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติขั้นสูงในลำดับที่ 4 ที่รัฐบาลอินเดียมอบให้แก่บุคคลผู้มีคุณูปการ สร้างคุณงามความดีให้แก่ประเทศชาติ
หลังจากที่ท่านได้สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมอันทรงคุณค่าเป็นจำนวนมากมอบให้แก่สังคมอินเดียแล้ว โสหัน ลาล ทวิเวที ก็กลับไปสู่ดินแดนแห่งพระผู้เป็นเจ้าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1988
หนึ่งในบทกวีอันมีชื่อเสียงของโสหัน ลาล ทวิเวที ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือ कोशिश करने वालों की हार नहीं होती koshish karne valon ki haar nahin hoti บทกวีแห่งกำลังใจที่ปลุกพลังความหวัง ให้กำลังใจแก่ผู้คนในสังคมให้มุมานะพยายามต่อสู้กับความยากลำบากนานาประการที่เผชิญเข้ามาในชีวิต ให้อดทนและมุ่งหน้าต่อไปจนกว่าจะถึงซึ่งความสำเร็จ
ตัวบทกวีเดิมในภาษาฮินดีอักษรเทวนาครี พร้อมคำอ่านที่สะกดด้วยอักษรภาษาอังกฤษตามแบบสมัยนิยม มีดังนี้
लहरों से डर कर नौका पार नहीं होती
laharon se darkar nauka paar nahin hoti
कोशिश करने वालों की हार नहीं होती
koshish karne valon ki har nahin hoti
नन्हीं चींटी जब दाना लेकर चलती है
nanhi chintin jab dana lekar chalti hai
चढ़ती दीवारों पर, सौ बार फिसलती है
chadhati divaron par sau baar phisalti hai
मन का विश्वास रगों में साहस भरता है
man ka vishvas ragon men sahas bharta hai
चढ़कर गिरना, गिरकर चढ़ना न अखरता है
chadhakar girana, girakar charhana, na akharata hai
आख़िर उसकी मेहनत बेकार नहीं होती
aakhir uski mehanat bekar nahin hoti
कोशिश करने वालों की हार नहीं होती
koshish karne valon ki har nahin hoti
डुबकियाँ सिंधु में गोताखोर लगाता है
dubakiyan sindhu men gotakhor lagata hai
जा जा कर खाली हाथ लौटकर आता है
ja ja kar khali hath lautkar aata hai
मिलते नहीं सहज ही मोती गहरे पानी में
milte nahin sahaj hi moti gahare pani men
बढ़ता दुगना उत्साह इसी हैरानी में
badhata dugna vishvas isi hairani men
मुट्ठी उसकी खाली हर बार नहीं होती
mutthi uski khali har baar nahin hoti
कोशिश करने वालों की हार नहीं होती
koshish karne valon ki har nahin hoti
असफलता एक चुनौती है, स्वीकार करो
asaphalata ek chunauti hai svikar karo
क्या कमी रह गई, देखो और सुधार करो
kya kami rah gayi, dekho aur sudhar karo
जब तक न सफल हो, नींद चैन को त्यागो तुम
jab tak na saphal ho nind-chain ko tyago tum
संघर्ष का मैदान छोड़ मत भागो तुम
sangharsh ka maidan chod mat bhago tum
कुछ किये बिना ही जय जय कार नहीं होती
kuch kiye bina hi jayjaykaar nahin hoti
कोशिश करने वालों की हार नहीं होती
koshish karne valon ki har nahin hoti
ด้วยความประทับใจในบทกวีนี้ ผู้เขียนจึงได้นำมาแปลและถ่ายทอดสู่ภาคภาษาไทยไว้ดังนี้
กลัวคลื่นแค่ชายฝั่ง เก้เก้กังกังรอท่า
เมื่อใดลำนาวา จะข้ามห้วงลำน้ำได้
แน่วแน่พยายาม จึงฝ่าข้ามทะเลใหญ่
อุตสาหะสู้ไป ‘ผู้พากเพียรไม่พ่ายแพ้’
ดูมดแบกเม็ดข้าว เดินทางยาวไม่ย่อแย่
ใจมุ่งจะไปแน่ แม้ผนังตั้งขวางตน
จึงไต่ขึ้น...แต่ลื่นตก ลื่นตกก็ไต่อีกหน
ลื่นร้อยครั้งสู้ทน ยังดั้นด้นยังปีนป่าย
ที่สุดได้ไต่ข้าม พยายามไม่เปล่าดาย
อุตสาหะสู้ไป ‘ผู้พากเพียรไม่พ่ายแพ้’
ดูนักประดาน้ำ แหวกว่ายดำมหาสมุทร
เที่ยวหามณีมุก ที่ซ่อนสุดชลาลัย
บ้างไม่ได้อะไรกลับ ทะเลลับใช่หาง่าย
ผิดหวังมามากมาย ไม่เลิกล้มที่ตั้งใจ
เพราะใช่ว่าทุกครา ต้องกลับมามือเปล่าไม่
อุตสาหะสู้ไป ‘ผู้พากเพียรไม่พ่ายแพ้’
ไม่สำเร็จคือท้าทาย ให้สู้ใหม่ทำให้ดี
พลาดผิดคิดอีกที พบบกพร่องก็แก้ไข
ตราบยังมิแล้วล่วง มัวง่วงห่วงนอนไม่ได้
อย่าหลีกลี้ละหนีไป ทิ้งสนามคนใจสู้
ไม่ทำอะไรเลย ใครจะเชยชมชื่นชู
ลุกขึ้นสิ ต้องสู้ ‘ผู้พากเพียรไม่พ่ายแพ้’
ผู้เขียนไม่อาจค้นหาได้ว่าบทกวีนี้แต่งขึ้นในปีใด แต่สำนวนลีลาที่มุ่งปลุกใจในลักษณะเช่นนี้อาจสันนิษฐานได้ว่าน่าจะแต่งขึ้นท่ามกลางบรรยากาศการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราช หรือก่อน ค.ศ.1947
และยังพบอีกด้วยว่าชาวอินเดียจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดคิดว่าบทกวีนี้เป็นผลงานของ हरिवंश राय बच्चन Harivansh Rai Bachchan หริวัญศ์ ราย บัจจัน (27 พฤศจิกายน 1909 – 18 มกราคม 2003) กวีผู้มีชื่อเสียงยิ่งใหญ่อีกท่านหนึ่งในวงวรรณกรรมฮินดี และเป็นบิดาของอมิตาภ บัจจัน พระเอกอมตะตลอดกาลแห่งวงการบอลลีวูด ยังปรากฏความเข้าใจผิดนั้นเผยแพร่อยู่ทั่วไปในสื่อออนไลน์นานาชนิดกระทั่งทุกวันนี้ ถึงแม้ว่าอมิตาภ บัจจัน จะได้โพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ประกาศอย่างชัดเจนแล้วก็ตามว่าบทกวีนี้ไม่ใช่ผลงานของบิดาตน แต่เป็นของ โสหัน ลาล ทวิเวที
ย่อหน้าสุดท้ายนี้ผู้เขียนขอแสดงทัศนะฝากไว้ว่า วรรณคดีคลาสสิคจากอินเดียที่ได้ปรากฏอิทธิพล และมีความสัมพันธ์ต่อวรรณคดีไทยอยู่มากมาย วงวิชาการไทยก็ศึกษาความรู้เหล่านั้นไว้กว้างขวางพอสมควรแล้ว และยังต้องศึกษาให้ก้าวหน้าต่อไปอีกเรื่อย ๆ แต่ทว่าหากกล่าวถึงวรรณกรรมอินเดียร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เขียนด้วยภาษาฮินดี หรือแม้แต่ภาษาท้องถิ่นที่สำคัญอื่น ๆ มีภาษาเบงกาลี ภาษาทมิฬ เป็นต้น ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจศึกษาในวงวิชาการไทยเท่าใดนัก ขุมความรู้มหาศาลจึงยังรอให้ค้นพบอยู่ การจะศึกษาอินเดีย ประเทศที่มีความหลากหลายและซับซ้อนทางสังคมวัฒนธรรมให้เข้าใจได้ดี ๆ นั้นไม่อาจอาศัยเพียงภาษาเดียวเป็นเครื่องมือศึกษาได้เพียงพอ