xs
xsm
sm
md
lg

เพราะความเชื่อทางการเมืองแตกต่าง เราจึงรักกันไม่ได้

เผยแพร่:   โดย: ภณิดา มิลเลอร์

โลกของเราในปัจจุบัน ประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีเรื่องพูดกันที่สร้างความกังวลใจให้ผู้คนได้มากที่สุดคือ “ความรุนแรง” ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่างที่ปรากฏ คือ ความเชื่อทางการเมืองแตกต่างกัน การปลุกระดม การปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรม และความโลภผู้คนไม่คำนึงถึงศีลธรรมบรรทัดฐาน และความรับผิดชอบต่อสังคมอีกต่อไป เช่น จรรยาบรรณ กฎหมาย จริยธรรม คุณธรรม กฎระเบียบ และจารีตประเพณีซึ่งก่อให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งในสังคม มีข้อสังเกตว่า สังคมทุกสังคมหลีกเลี่ยงความขัดแย้งไม่ได้ ความขัดแย้งในสังคมจึงเป็นเรื่องปกติ ตราบเท่าที่ความขัดแย้งยังอยู่ในระดับไม่รุนแรง คือสามารถแก้ปัญหาเพื่อยุติความขัดแย้งได้ แต่เมื่อใดที่ความขัดแย้งถึงจุดที่ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ ทางเลือกของสังคมก็จะถูกจำกัดลง ทำให้มี 2 ทางเลือก คือ พยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรงด้วยสันติวิธี หรือใช้กำลัง ความรุนแรง เพื่อยุติปัญหา

ขออนุญาตนำข้อเขียนของ Bob Moorehead ความย้อนแย้งในสมัยของเรา การพัฒนาทางวัตถุไม่ได้ควบคู่ไปกับการพัฒนาจิตใจ เพราะรัก โลภ โกรธ หลง คือกิเลสในใจคน ที่ตัดได้ยากนัก

“We have taller buildings but shorter tempers,

เรามีตึกสูงขึ้น แต่ภาวะทางอารมณ์ต่ำลง

wider Freeways, but narrower viewpoints.

ถนนไม่จำกัดความเร็วกว้างขึ้น แต่ทัศนคติแคบลง

We spend more, but have less, we buy more, but enjoy less.”

เราใช้จ่ายมากขึ้น แต่กลับมีน้อย เราซื้อจำนวนมากขึ้น แต่ความพอใจแทบไม่มี

มีบทความหนึ่งของสื่อออนไลน์ “ทำไมคนจึงตกหลุมรักกัน” ในช่วง 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิจัยให้ความสนใจที่กฎแห่งแรงดึงดูด “Rules of Attraction” เป็นแนวคิดทางปรัชญายุคใหม่ ความเชื่อมุ่งเน้นที่ความคิดเชิงบวกและความคิดเชิงลบ ซึ่งบุคคลนำประสบการณ์เชิงบวกหรือลบมาใช้ในชีวิตของพวกเขา ความรู้สึกคือกุญแจของกฎแห่งแรงดึงดูด นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสาร ด็อกเตอร์ไบรอัน กรอสส์แมน แสดงความคิดเห็นในหัวข้อ ทำไมคนจึงตกหลุมรักกัน “เพราะใบหน้าสองข้างเท่ากันได้สัดส่วน หรือ ฟีโรโมนส์ มันไม่ใช่ซะทีเดียว” (Pheromone คือ สารฟีโรโมน หลั่งออกมาในห้วงเวลาที่มีการเจริญพันธุ์ของสัตว์ทุกชนิด) “แต่มีบางรูปธรรม เป็นผลที่ออกมาจำเพาะ นั่นคือมีความเหมาะสมกันในทันทีทันใด ความดึงดูดใจอย่างยาวนาน และความเกี่ยวข้องกัน” จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยไรซ์ หญิงชายมีแนวโน้มเลือกคู่ที่มีทัศนคติทางการเมืองคล้ายกัน ด็อกเตอร์กรอสส์แมน กล่าวว่า “มันจะเป็นเรื่องยากลำบากที่จะมีความสัมพันธ์ยาวนานกับใครสักคนที่มีความเชื่อทางการเมืองแตกต่างกัน อย่างตื่นเต้นเร้าใจ”

ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในบ้านเรา ดารานักร้องรูปร่างหน้าตาสวย รูปหล่อ แต่ถ้านิยมพรรคการเมืองหรือตัวบุคคลในขั้วตรงข้าม ความนิยมลดลงทันที หรือถูกเกลียดชังดารานักร้องต่างประเทศก็เช่นกัน หลายคนถูกประณาม เย้ยหยัน เพราะได้กล่าวว่า ถ้าโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ได้เป็นประธานาธิบดี จะย้ายไปอยู่ประเทศแคนาดา ป้าบาร์บรา สไตรแซนด์ ยังไม่ได้ย้ายไปไหน

ความขัดแย้งที่สำคัญและมีผลกระทบไปทั่วโลก คือความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองและอุดมการณ์ทางศาสนา มีการใช้ความรุนแรงและการใช้กำลังทำให้เกิดความเสียหาย ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิต เช่น เมื่อปี พ.ศ. 2554 นิตยสารรายสัปดาห์ “ชาร์ลี เฮบดู” ของฝรั่งเศส ได้สร้างความโกรธแค้นให้โลกอิสลามอย่างใหญ่หลวง ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด สำนักงานโดนระเบิดเพลิง แต่ดูเหมือนว่านิตยสาร “ชาร์ลี เฮบดู” ไม่ได้เรียนรู้จากผลของการไม่เคารพในศาสนาอื่น วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555 ตีพิมพ์การ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัดอีก เจ้าของนิตยสารได้เติมเชื้อไฟแห่งความโกรธแค้นในชาวมุสลิม ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อส่วนรวมเห็นแก่ตัว และหยิ่งผยอง นายกรัฐมนตรีฌอง มาร์ก เอโฮต์ ของฝรั่งเศสในเวลานั้น ให้สัมภาษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการทำอะไรที่เลยเถิด ย้ำว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่รับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งเสรีภาพในการเขียนการ์ตูนล้อเลียน

อันที่จริงแล้ว เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออกของหลายประเทศ มันไม่จริงหรือหวานชื่น ลา ลา แลนด์ เมื่อพูดเรื่อยเจื้อยออกไปแล้วมีฝูงนกร้องเพลง แบมบี้ลูกกวางน้อยเต้นระบำ กระต่ายน้อยกระโดดไปมา นั่นมันเรื่องสโนว์ไวท์กับคนแคระทั้ง 7 นะเธอเพราะเสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออกมีข้อจำกัด “Reasonable Limits” คือมีความเหมาะสม มีเหตุผล มีสติ มีสำนึก เป็นการรับประกันว่าเกือบทุกคำพูดที่กล่าวออกมาอาจถูกพิจารณาว่า ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอาจถูกฟ้องร้องตามกฎหมาย

“Freedom of speech does not mean freedom from consequences.”

“เสรีภาพในการพูดหรือการแสดงออกไม่ได้หมายความว่ามีเสรีภาพจากผลที่ตามมา”

พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ได้กล่าวไว้ว่า “คำพูดนี้ หากยังไม่พูดออกไปจากปาก เราเป็นนายมัน แต่ถ้าพูดออกไปแล้วละก็ มันก็เป็นนายเรา”

ความเชื่อในทางการการเมือง (Political Beliefs) แตกต่างกัน ความเกลียดชังในหมู่ประชาชนเป็นปัญหายืดเยื้อมาเป็นเวลา 10 กว่าปีแล้วในสังคมในโซเชียล มีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นเหมือนเวทีของการพูดและการแสดงออกทางการเมืองของแต่ละบุคคล มีการแสดงคิดเห็นตามเพจต่างๆ และมักตามมาด้วยการทะเลาะเบาะแว้ง จากเพื่อนกลายเป็นศัตรู Unfriend/Block เดิมทีนั้นมีสีเหลือง สีแดง สีฟ้า ตอนนี้มีสีเขียวเพิ่มขึ้นแล้ว

เพราะเหตุใดคนจึงตีความสิ่งที่ได้ยินจากผู้อื่นว่าเป็นการโจมตีส่วนตัว แทนที่จะเป็นเพียงทัศนะของคนหนึ่ง จากที่ได้สังเกตการโต้เถียงกันในหัวข้อการเมืองจากเฟซบุ๊กไทยและเฟซบุ๊กฝรั่ง สาเหตุคือความเชื่อ เราเชื่อในสิ่งที่เราเชื่อ จากนั้นเรานำมาเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะว่าเราให้ความสำคัญมากเกินไปในพรรคการเมืองและบุคคลที่เราชื่นชอบ แทนที่จะเป็นหลักการหรือหลักธรรมประจำใจ วิธีง่ายๆ ที่จะเห็นพฤติกรรมนั้น คือมองผู้คนโต้ตอบกันในเรื่องศาสนาหรือการเมือง พวกเขาแสดงความไม่พอใจ เมื่อคนอื่นไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นเขานั่นเป็นเพราะเขารู้สึกว่าเป็นฝ่ายถูก ดังนั้นคนอื่นต้องเป็นฝ่ายผิด ถ้าเราวิเคราะห์เฉพาะจากมุมมองของเราเอง เมื่อเป็นเช่นนั้นเราพร้อมจะทะเลาะกับคนอื่นแล้ว

จากการวิจัยใหม่โดยนักจิตวิทยา “เหตุที่เราถูกกระตุ้นเกี่ยวกับการเมือง” มันเป็นเพราะว่าความเชื่อทางการเมือง (Political Belief) มีความสำคัญต่ออัตลักษณ์ของเรา ต่อสำนึกของเราว่าเราเป็นใคร ความเชื่อทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของตัวตน (Social Selves) ของเราด้วยเช่นกัน ความเชื่อทางการเมืองสามารถอธิบายแน่ชัดเกี่ยวกับคนที่เราคบหาและเกี่ยวข้องกับเรา นักจิตวิทยา โจนัส แคปแพล่น กล่าวว่า “เมื่อสมองพิจารณาบางสิ่งว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวมันเอง โดยไม่คำนึงว่าเป็นร่างกายหรือความเชื่อ ครั้นแล้วสมองก็จะปกป้องมันในแบบเดียวกัน”

เพราะสมองมีหน้าที่หลักในการปกป้องและดูแลร่างกาย ซึ่งความหมายถึงตัวตนในแง่จิตวิทยาด้วย เพราะเหตุนี้เมื่อตัวตนที่มีถูกโจมตีหรือคุกคาม สมองจะต่อต้านและพยายามป้องกันตัวตนของเรา

ความเอยความรัก                    เริ่มสมัครชั้นต้น ณ หนไหน

เริ่มเพาะเหมาะกลางหว่างหัวใจ    หรือเริ่มในสมองตรองจงดี

แรกจะเกิดเป็นไฉนใครรู้บ้าง        อย่าอำพรางตอบสำนวนให้ควรที่

ใครถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงรตี     ผู้ใดมีคำตอบขอบใจเอย


คำตอบลอยลมมา....เธอสนับสนุนพรรคการเมืองพรรคไหน 5555

ข้อมูล http://www.huffingtonpost.ca/2012/07/12/why-do-people-fall-in-love_n_1667527.html

http://www.cnn.com/2017/01/03/health/political-beliefs-brain/index.html
กำลังโหลดความคิดเห็น