ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผมเขียนบทความนี้ขณะที่กำลังเดินทางอยู่ในประเทศเมียนมา และในขณะที่กำลังทำงานวิจัยเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเมียนมา-อินเดีย เพื่อที่จะได้เรียนรู้เป็นบทเรียนสำหรับการทำนโยบายความสัมพันธ์ในมิติต่าง ๆ ระหว่างไทยกับดินแดนภารตะ งายนวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดยศูนย์อาเซียนศึกษา และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แน่นอนครับเมื่อเราตั้งโจทย์เรื่องความสัมพันธ์เมียนมา-อินเดีย ถ้าในช่วงเวลาปัจจุบันเรามักจะนึกถึงภาพการค้าระหว่างประเทศที่เมียนมาส่งออกสินค้าจำพวกถั่วและธัญพืชต่าง ๆ ไปขายอินเดีย เห็นภาพนักลงทุนอินเดียโดยเฉพาะภาคการเงินมองตลาดเมียนมา ในขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ยาจากอินเดียก็ทำให้คนเมียนมาสามารถเข้าถึงยาคุณภาพดีราคาถูก หลายคนอาจจะมองเห็นภาพเส้นทางการค้าในอ่าวเบงกอล มหาสมุทรอินเดีย และในอนาคตเรากำลังจะมองเห็นระบบถนนที่จะเป็นเส้นทางโลจิสติกส์หลักในการเชื่อมโยงไทย-เมียนมา-อินเดียเข้าด้วยกันซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2020 ภายใต้ชื่อ India-Myanmar-Thailand Trilateral Highway
ในขณะที่อีกหลาย ๆ คนคงนึกถึงเรื่องราวของพ่อค้ามอญ 2 คนที่นำพระเกศาธาตุ (เส้นผม) ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐาน ณ เนินเขาเชียงกุตระ เมืองตะโกง ทำให้บนเส้นขอบฟ้าของเมืองนี้เรามองเห็นพระมหาเจดีย์ชเวดากอง หรือเจดีย์ทองแห่งเมืองตะโกง ซึ่งปัจจุบันก็คือนครย่างกุ้ง และการประดิษฐานพระพุทธศาสนาในประเทศเมียนมา แต่ในมิติประวัติศาสตร์ พม่าและอินเดียไม่ได้สัมพันธ์กันเฉพาะมิติสังคม-วัฒนธรรมเท่านั้น หากแต่ในมิติความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมิติทางเศรษฐกิจก็มีเรื่องน่าสนใจด้วยเช่นเดียวกัน
เมื่อราชวงศ์คองบองแห่งพม่าเริ่มขยายเขตรบชนะชนเผ่ายะไข่ทางตะวันตกของประเทศและอัญเชิญพระมหามัยมุณีกลับมายังเมืองมัณฑะเลย์ได้สำเร็จ เป้าหมายต่อไปก็คือการขยายอิทธิพลเข้าไปในมณีปุระ นาคาแลนด์ และอัสสัม ซึ่งพม่าเคยมีอิทธิพลอยู่ก่อนในสมัยราชวงศ์ตองอูภายใต้การนำของบุเรงนอง ผู้ชนะสิบทิศ เพื่อแสดงตนเป็นพระเจ้าจักรพรรดิเช่นเดียวกับบุเรงนองแห่งราชวงศ์ตองอู พระเจ้าปดุงแห่งราชวงศ์คองบองก็ต้องการแผ่ขยายอำนาจของตนเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นใน ค.ศ.1785 กองทัพพม่าจึงเริ่มเดินทางเข้าสู่พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าอังกฤษซึ่งเข้ามาตั้งสถานีการค้าและมีอิทธิพลในรัฐเบงกอลถือว่านี่คือการรุกราน เหตุการณ์ครั้งนี้นำไปสงครามครั้งที่ 1 ระหว่างพม่าและอังกฤษ (the 1st Anglo-Burmese War) ในปี 1824-1826
ผลของสงครามคราวนั้น ทำให้กองทัพพม่าที่เคยได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในกองทัพที่เกรียงไกรที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องแพ้ยับ เพราะความแตกต่างในเรื่องของเทคโนโลยีและรูปแบบยุทธวิธีการทำการรบ อังกฤษยึดเมืองย่างกุ้ง เมืองท่าที่ถูกสร้างขึ้นใหม่จากเมืองตะโกงเดิม โดยพระเจ้าอลองพญา ต้นวงศ์คองบอง รวมทั้งพม่าตอนล่างลงไปจนถึงเมืองเกาะสองก็ถูกเข้ายึดครองโดยจักรวรรดิอังกฤษและที่จุดปลายสุดของพม่าทางทิศได้นี้เองที่อังกฤษเข้ามาตั้งชื่อเสียใจหมีว่า Victoria Point
พม่าที่ยิ่งใหญ่เหลือเพียงพม่าตอนบนที่เป็นพื้นที่แห้งแล้งดุจทะเลทราย ไม่มีทางออกทะเล และสูญเสียความมั่งคั่ง และความมั่นใจในตนเองไปจนเกือบหมดสิ้น
หลังจากนั้นไม่นานสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่ 2 และ ครั้งที่ 3 ก็ตามมาในปี 1852 และ 1855 พม่าภายใต้การนำของราชวงศ์คองบองพ่ายแพ้ยับเยิน อาณาจักรพม่าที่ยิ่งใหญ่ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของฮินดูสถาน อาณานิคมที่สำคัญที่สุดของอังกฤษ พระเจ้าทีบอกษัตริย์องค์สุดท้ายของพม่าถูกย้ายให้ไปใช้ชีวิตอย่างหงอยเหงาและสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ณ เมืองรัตนคีรีทางตะวันตกสุดของประเทศอินเดีย ในขณะที่มหาราชาองค์สุดท้ายของราชวงศ์โมกุล อดีตราชวงศ์อิสลามที่ยิ่งใหญ่ มหาราชา Bahadur Shah Zafar ก็ถูกย้ายจาก Red fort ใจกลางกรุงเดลีให้มาใช้ชีวิตอย่างหงอยเหงาและสูญเสียทุกสิ่งอย่าง ณ เมืองย่างกุ้งทางตะวันออกของอาณาจักรแห่งพระพุทธศาสนาที่พระองค์ไม่มีความเข้าใจใดๆทั้งสิ้น
พม่าถูกผนวกเป็นรัฐหนึ่งของอินเดียตั้งแต่ปี 1824 จนถึงปี 1937 โครงสร้างการผลิต สถาพสังคมวัฒนธรรมของพม่าเปลี่ยนไปตลอดกาล จากการผลิตเพื่อสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้ตนเอง พม่าถูกกำหนดให้กลายเป็นแหล่งผลิตพืชเชิงเดี่ยว นั่นคือ ข้าว ที่ถูกปลูกขึ้นมาเพื่อส่งออกไปเลี้ยงคนในปกครองในอาณานิคมของอังกฤษทั่วโลก ในขณะที่ทรัพยากรป่าไม้และสินแร่ต่างๆ ก็ถูกสูบขึ้นมาเพื่อไปสร้างความมั่นคงให้จักรวรรดิอังกฤษอันยิ่งใหญ่ หาใช่เพื่อประเทศพม่าไม่ คนพม่าถูกย้ายออกจากพื้นที่เพื่อนำไปใช้เป็นแรงงานในอาณานิคมอื่นๆ ของอังกฤษโดยเฉพาะในช่องแคบมะละกา และคนกลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะจากอินเดียทางตอนใต้ถูกย้ายเข้าไปใช้แรงงานในพม่า ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้คนท้องถิ่นเข้มแข็งและลุกขึ้นต่อต้านเจ้าอาณานิคม เรื่องเหล่านี้ยังคงฝากแผลเป็นให้พม่าและบังคลาเทศซึ่งก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียมาจนทุกวันนี้ อาทิ ปัญหาคนไร้รัฐโรฮิงญา-เบงกาลี
จากการเดินทางไปเก็บข้อมูลในนครย่างกุ้ง ทำให้เราได้เห็นภาพ Indian Quarter หรือ Little India ย่านชุมชนชาวภารตะขนาดใหญ่ที่เริ่มต้นตั้งแต่ถนนสายที่ 15 ใกล้ๆ ตลาดสก๊อตที่โด่งดังขยายตัวออกไปทางด้านตะวันออกของเมือง เราได้เห็นศาสนสถานแบบอินเดียใต้ที่ถูกสร้างขึ้นและมีอายุยืนนานมากกว่าร้อยปี และเราได้เรียนรู้ว่า Indian Diaspora ที่เข้ามาตั้งรกรากในพม่าก็ดูเหมือนจะสามารถเข้าครอบงำเศรษฐกิจของพม่าได้อย่างกระตือรือร้น
ในปี 1931 ชาวภารตะมีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 7 ของประชากรในย่างกุ้ง แต่ตลอดทศวรรษ 1930 พวกเขาจ่ายภาษีให้เมืองย่างกุ้งคิดเป็นร้อยละ 55 ของภาษีที่เก็บได้ทั้งหมด ในขณะที่คนท้องถิ่นหรือคนพม่าจ่ายภาษีให้เมืองย่างกุ้งเพียงร้อยละ 11 ของภาษีที่เก็บได้ทั้งหมดเท่านั้น ทั้งนี้มีจำนวนประชากรมากกว่าหลายเท่า
แน่นอนว่าการผูกขาดทางการค้า และอิทธิพลทางเศรษฐกิจของพ่อค้าอินเดียยิ่งขยายตัวรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อทั้งอินเดียและพม่าได้รับเอกราช ในปี 1947 สำหรับอินเดีย และปี 1948 สำหรับพม่า พ่อค้าชาวภารตะเข้ากุมชะตาชีวิตและความมั่งคั่งของเมืองท่าที่สำคัญที่สุดในเอเซีย ณ ขณะนั้น
และความไม่พอใจนี้ก็รุนแรงจนถึงขีดสุด เมื่อการค้าของพม่าโดยเฉพาะที่ย่างกุ้งเกือบจะถูกผูกขาดโดยต่างชาติไม่ว่าจะเป็นชาวจีนที่มี China Town ตั้งอยู่ติดกับ Little India และชาวภารตะเองก็ผูกขาดการค้าเช่นเดียวกัน โดยอีกกลุ่มที่เข้ามากุมชะตาชีวิตความมั่งคั่งของอาณาจักรแห่งนี้ก็คือตะวันตกซึ่งยังมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจมากอยู่จนถึงหลังการประกาศเอกราช สาเหตุเหล่านี้เองที่เป็นตัวเร่งสำคัญให้ หลังการรัฐประหารในปี 1962 นายพลเนวินต้องประกาศปิดประเทศ และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมสไตล์พม่า ซึ่งเริ่มต้นโดยการยึดกิจการของต่างชาติให้กลายมาเป็นกิจการของรัฐ
ชาวภารตะจำนวนมากหลั่งไหลออกจากพม่า และเดินทางกลับสู่ดินแดนมาตุภูมิของบรรพบุรุษ เศรษฐกิจพม่าถูกโอนย้ายเปลี่ยนมือจากชาวภารตะโพ้นทะเลไปสู่ชาวจีนที่อาจจะปรับตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมพม่าได้แนบเนียนกว่า รวมทั้งยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้นำทหารระดับสูงหลาย ๆ คนที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งผ่านการทำธุรกิจ
หนึ่งในลูกครึ่งอินเดีย-พม่าที่เดินทางกลับดินแดนแห่งมาตุภูมิในปี 1969 เป็นชายวัยกลางคนที่เกิดในครอบครัวฮินดู แต่เกิดอาการปวดหัวไมเกรนขั้นรุนแรงจนหาทางออกสุดท้ายโดยการเรียนนั่งสมาธิ ทำวิปัสสนา เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานโดยการนับลมหายใจที่เรียกว่า อาณาปานสติ เป็นกรรมฐาน และพิจารณาลมหายใจจนถึงสรรพสิ่งในธรรมชาติที่อยู่รวมกันเป็นวิปัสสนาญาณ ถูกแล้วครับ ชายคนนี้คือ Satya Narayan Goenka หรือท่านโกเอนก้า ลูกครึ่งอินเดีย-พม่าผู้ถ่ายทอดแนวทางการทำวิปัสสนาของพระอริยสงฆ์ชาวพม่านาม U Ba Khin ในประเทศอินเดีย ท่านโกเอนก้าสอนการทำสมาธิวิปัสสนา โดยยึดหลักการไม่ต้องการไปเปลี่ยนศาสนาของคนที่มาเรียนรู้ หากแต่ต้องการชี้ให้เห็นความเป็นจริงของธรรมชาติ พระพุทธศาสนาคือการฝึกตน และสามารถอยู่ร่วมกับศาสนาอื่น ๆ ได้ ท่านเริ่มตั้งศูนย์วิปัสสนาแห่งแรกในปี 1976 ณ Dhamma Giri (ธรรมคีรี) ในเมือง Igatpuri รัฐ Maharashtra ปัจจุบันแนวทางการสอนของท่านเผยแพร่ออกไปทั่วโลกจนมีสำนักวิปัสสนาของท่านโกเอนก้ามากกว่า 310 แห่งใน 94 ประเทศทั่วโลก และมีการประมาณการกันว่า มีผู้เข้ารับการอบรมสมาธิมากกว่า 120,000 คนในแต่ละปี
ในปี 2000 ท่านโกเอนก้าได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในองค์ปาฐกสำคัญใน Millennium World Peace Summit of Religious and Spiritual Leaders ณ หอประชุมใหญ่องค์การสหประชาชาติ ณ มหานครนิวยอร์ค ต่อเนื่องด้วยการอบรมวิปัสสนาในระหว่างการประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส ในปี 2002 และได้รับเกียรติสูงสุดจากรัฐบาลอินเดีย โดยได้รับรางวัลปัทมบูชา (Padma Bhushan) ในปี 2012 ในฐานะประชาชนผู้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตในปี 2013 ด้วยวัย 89 ปี
ทุกวันนี้ขอบฟ้าของเมืองมุมไบ ยังคงถูกประดับด้วยพระมหาเจดีย์ทรงมอญสีทองสุกปลั่ง คล้ายพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ในนาม Global Vipassana Pagoda เหมือนเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญว่า พระพุทธศาสนาได้เดินทางกลับมายังแดนภารตะแล้ว และหนึ่งในสายธารที่เดินทางย้อนกระแสกลับสู่ต้นน้ำ ก็ไหลมาจากปลายธารที่พม่ากลับสู่ต้นทางที่อินเดีย