อาจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
บทความนี้ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะตำหนิหรือกล่าวให้ร้ายใครทั้งสิ้น ด้วยความเห็นใจอย่างยิ่งว่าทุกคนบนแผ่นดินไทยต่างโศกเศร้าเสียใจและทำหน้าที่กันเต็มกำลังความสามารถแล้ว แต่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเรื่องการที่ข้าราชการได้แซงคิวในการวางดอกไม้จันทน์ก่อนประชาชนและการจัดการแถวคอยที่ไม่ค่อยดีนั้นทำให้เกิดความไม่พอใจกันพอสมควรในหมู่ประชาชนบางพื้นที่ อันที่จริงหากไม่ใช่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ข้าราชการผู้มีหน้าที่รับผิดชอบคงถูกแบนหรือต่อต้านหนักกว่านี้มาก แต่ด้วยพระบารมีปกเกล้าทำให้ประชาชนยอมอะลุ้มอล่วย แต่การพูดจาคงต้องพูดให้ดีอย่าให้ผิดหูประชาชนได้ อย่าลืมว่าข้าราชการคือข้าของแผ่นดินและเป็นข้าของพระราชามีหน้าที่รับใช้ประชา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชกระแสให้ดูแลประชาชนที่มาเป็นแขกของพระองค์ให้ดี ถึงกับทรงห่วงว่าพื้นจะร้อนเกินไปให้หน่วยราชการไปหาเบาะรองนั่งมาให้ประชาชนบริเวณโดยรอบท้องสนามหลวง ซึ่งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ควรได้มองและทำตามรอยพระยุคลบาทในข้อนี้
ย้อนกลับมาที่ปัญหาการจัดการแถวคอยในการวางดอกไม้จันทน์นั้น ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560 มีผู้ต้องยืนรอคอยวางดอกไม้จันทน์บางที่ถึง 9 ชั่วโมง และบางที่รอคอยเพียง 15 นาทีเท่านั้น สิ่งที่เป็นปัญหาและสะท้อนปัญหาว่าข้าราชการไทยไม่มีความรู้ในวิชาสถิติและการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Operations research) ในการบริหารราชการแผ่นดินเลยได้สะท้อนออกมาในปัญหาที่เกิดขึ้นในคราวนี้อย่างชัดเจน เคยได้ฟัง ศาสตราจารย์ ดร.นิสดารก์ เวชยานนท์ อดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า ผู้ที่เรียนด้านรัฐประศาสนศาสตร์ในอดีตต้องเรียนวิชาสถิติและวิจัยเชิงปฏิบัติการ หรือวิชาเชิงปริมาณพอสมควร แต่ปัจจุบันได้หายไปมากจากหลักสูตรการศึกษา
ปัญหาที่ได้พบเห็นในโทรทัศน์และจากคำบอกเล่าของผู้ที่ไปรอวางดอกไม้จันทน์มีดังนี้
1. ไม่ทราบว่าสามารถวางดอกไม้จันทน์ได้ที่ไหนบ้าง การประชาสัมพันธ์อ่อนมาก
2. จำนวนสถานที่ในการวางดอกไม้จันทน์มีไม่เพียงพอกับจำนวนประชาชน
3. จำนวนพานหรือ station ในการวางดอกไม้จันทน์ในแต่ละสถานที่มีไม่เพียงพอกับจำนวนประชาชนที่เข้าคิว
4. การจัดวางดอกไม้จันทน์เน้นความสวยงามเป็นระเบียบ โดยให้วางดอกไม้จันทน์พร้อมๆ กันที่จะกลุ่มใหญ่ ต้องรายคนเข้าไปจนครบทุกพานแล้วจึงวางดอกไม้จันทน์ เรียกว่าเป็น batch processing ไม่ใช่ assembly line หรือสายพานการผลิตทำให้เวลารอคอยยาวนานขึ้นและต้องมีการรอคอยระหว่าง batch หากเดินรายเข้าไปเรียงหนึ่งแล้วเดินออกไปจะเร็วกว่ามาก
5. จำนวนคนไทยที่ออกมาวางดอกไม้จันทน์นั้นมากถึง 19 ล้านคน มืดฟ้ามัวดิน มากพอๆ กับการเลือกตั้ง แต่น่าเสียดายที่กระทรวงมหาดไทยสามารถจัดการเลือกตั้งได้ดี ไม่ต้องรอคิวมากขนาดนี้ แต่ไม่สามารถจัดงานพระราชพิธีในการวางดอกไม้จันทน์ได้ดีเท่ากับการจัดการเลือกตั้ง ทำไมไม่เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้มาใช้ในการจัดงานเลย
6. มีการลัดคิวโดยข้าราชการ และโดยให้ข้าราชการวางก่อนหรือเกิดการลัดคิวกันเองโดยประชาชนทำให้เกิดเวลาที่ต้องรอคอยมากขึ้น
คำถามคือถ้าหากจะจัดการให้ดีขึ้นโดยใช้ความรู้ทางสถิติและการวิจัยเชิงปฏิบัติการต้องทำอย่างไร
ประการแรก กระทรวงมหาดไทยต้องทราบความต้องการหรืออุปสงค์ที่ประชาชนในแต่ละท้องที่จะมาร่วมงานวางดอกไม้จันทน์ในพระราชพิธีพระบรมศพในครั้งนี้ก่อน กระทรวงมหาดไทยควรทราบความต้องการของประชาชน ต้องพยากรณ์ความต้องการของประชาชนได้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกระแสกับพลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ องคมนตรีในรัชกาลที่ 9 ดังปรากฏในบทความ “พระมหากษัตริย์นักคิด...นักปฏิบัติเพื่อความสุขของประชาชน” (สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์, 2556, หน้า 179) ความว่า “ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภว่า “ฉันครองราชย์สองปีแรก ฉันไม่มีผลงาน เพราะฉันยังไม่รู้ว่าราษฎรต้องการอะไร” ถ้าหากกระทรวงมหาดไทยจะสำรวจด้วยตัวอย่าง (Sample survey) ประชาชนในท้องที่ก่อนจัดงานว่าจะมีประชาชนสนใจมาร่วมงานสักร้อยละเท่าใด แล้วนำมาคูณจำนวนประชากรในท้องที่นั้นๆ ก็ทำให้สามารถประมาณการจำนวนประชาชนที่ต้องการมาวางดอกไม้จันทน์ได้และจัดการได้ดีขึ้น
ประการที่สอง ในทางการวิจัยเชิงปฏิบัติการนั้นมีตัวแบบแถวคอย (Queuing model) ซึ่งสามารถนำมาคำนวณและประยุกต์ใช้ได้ว่าควรจะจัดสถานที่สำหรับวางดอกไม้จันทน์กี่จุดและแต่ละจุดจะมีกี่พานหรือกี่ station ทั้งนี้ตัวแบบแถวคอยนั้นสมมุติว่าการแจกแจงเป็นการแจกแจงแบบปัวส์ซง (Poisson distribution) ซึ่งมีค่าพารามิเตอร์ที่สำคัญประการหนึ่งคือค่า lambda หรือจำนวนเหตุการณ์ที่เราสนใจศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่น ในสิบห้านาทีจะสามารถวางดอกไม้จันทน์ได้กี่คน สมมุติว่า ห้าคน อันนี้ก็คือค่า lambda การจะได้ค่า lambda มานั้นก็ต้องทดลอง mock up กันดู จะให้ข้าราชการลูกน้องของผู้ว่าราชการจังหวัดมาทดลองกำหนดเวลาดูว่าในช่วงเวลาหนึ่งจะสามารถวางดอกไม้จันทน์ได้กี่คนก็ย่อมทำได้ เช่น การวางดอกไม้จันทน์พร้อมๆ กันทีละ batch จะต้องเสียเวลารอรายคนเข้าแถวไปจนครบแล้ววางดอกไม้จันทน์พร้อมๆ กัน แล้วรายคนออก แล้วรายคนเข้ามาใหม่ ย่อมมีค่า lambda น้อยกว่าการวางดอกได้จันทน์แบบ assembly line หรือสายพานการผลิตอย่างแน่นอน
เมื่อทราบอุปสงค์และทราบค่า lambda แล้วก็ย่อมนำมาคำนวณได้ว่าต้องมีสถานที่วางดอกไม้จันทน์กี่ที่และแต่ละที่ควรมีกี่พานหรือกี่ station และทำให้ทราบได้ด้วยว่าการวางดอกไม้จันทน์แบบ batch processing หรือแบบ assembly line แบบไหนจะทำให้ประชาชนต้องรอคอยนานน้อยกว่ากัน
ส่วนจะ mock up ให้ข้าราชการลัดคิว หรือให้ประชาชนลัดคิว แล้วดูว่าค่า lambda จะลดลงไปเท่าใด และทำให้ต้องรอคอยนานขึ้นแค่ไหนก็ทำได้ และหากจะยอมให้มีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้นก็ยังสามารถจัดการได้ดีกว่านี้ โดยไม่ต้องรอนานและขุ่นข้องหมองใจกับประชาชนจนเกินไป
ความรู้ทางสถิติประยุกต์และการวิจัยเชิงปฏิบัติการสำหรับการบริหารราชการแผ่นดินก็มีแค่สองประการเพียงเท่านี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานที่ผ่านไปนี้ได้อย่างดีแน่นอน และในงานอื่นๆ ที่ต้องบริการประชาชนและให้ประชาชนต้องรอด้วยเช่นกัน ส่วนปัญหาการลัดคิวของข้าราชการ ปัญหาความรู้สึกว่าข้าราชการต้องได้สิทธิ์ก่อนประชาชนนั้นสถิติและการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ไม่สามารถช่วยแก้ไขได้ ต้องไปแก้ไขที่มโนธรรมสำนึกผิดชอบชั่วดีของข้าราชการ และแก้ไขได้ด้วยการให้ข้าราชการเหล่านี้ทำตามศาสตร์พระราชาอย่างแท้จริง