xs
xsm
sm
md
lg

กระทรวงพลังงานจะรับซื้อไฟฟ้าจาก “โซลาร์รูฟ” : ข่าวที่น่ายินดี?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center) ได้รายงานผ่านเฟซบุ๊ก (20 ต.ค.60) ว่า “คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เคาะแล้ว ให้รับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ช่วงแรกไม่เกิน 300 เมกะวัตต์ โดยเตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบ ในการประชุมวันที่ 25 ต.ค. 2560 ก่อนออกประกาศหลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการต่อไป”

ในเนื้อข่าวกล่าวว่า “จะเน้นให้ผู้เข้าร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองเสียก่อน จึงจะพิจารณารับซื้อไฟฟ้าที่เหลือส่วนเกิน ในอัตราที่ไม่แพงไปกว่าราคาขายส่งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” ซึ่งข่าวบางสำนักระบุว่าราคาไม่เกิน 2.60 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ราคาที่เจ้าของบ้านจ่าย (รวมภาษีและค่าบริการ) เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.90 บาทต่อหน่วย

ความจริงแล้วเรื่องนี้เป็นข้อเสนอของ “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” เมื่อต้นปี 2558 ภายใต้ข้อเสนอ “ปฏิรูปเร็ว (Quick Win)” แต่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในต้นปี 2561 ซึ่งกว่าจะทำรายละเอียดเสร็จก็น่าจะอีกหลายเดือน

หลายท่านอาจจะรู้สึกยินดีกับข่าวชิ้นนี้ แต่ผมมีความเห็นต่างครับใน 2 ประเด็นต่อไปนี้

หนึ่ง ในแง่ของเวลาและต้นทุนการผลิต

เมื่อปี 2557 ในตอนที่คณะผู้จัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (หรือ PDP2015) ผู้ทำแผนมีข้อมูลว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ประมาณ 8-9 บาทต่อหน่วย (ดูหลักฐานทางซ้ายมือของแผ่นภาพข้างล่าง) จึงได้ตัดสินใจว่าจะให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ทั้งที่เป็นฟาร์มและหลังคาจำนวน 6,000 เมกะวัตต์ ซึ่งฟังดูก็พอมีเหตุผลเพราะไม่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าแพงอันจะเป็นภาระกับประชาชน (ที่ชอบอ้างกันบ่อยๆ)

แต่ต่อมาพบว่าสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปมากและอย่างรวดเร็ว ทั้งราคาโซลาร์เซลล์ (พร้อมชุดอุปกรณ์) และราคาแบตเตอรี่ได้ลดลงอย่างรวดเร็ว จนทำให้เมื่อกลางปี 2560 ราคาชนะประมูลไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มและแบตเตอรี่ที่รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกาประมาณ 1.50 บาทต่อหน่วยเท่านั้น (ทางขวามือของภาพ)

ในขณะที่ข้อมูลของกระทรวงพลังงานเองระบุว่า ราคาที่ผลิตจากถ่านหินเท่ากับ 2.88 บาทต่อหน่วย ผมจึงสงสัยจังว่าทำไมกระทรวงพลังงานไม่ตั้งคำถามอะไรเลยหรือ

ยิ่งมาทราบว่า ทางกระทรวงพลังงานจะเปิดโครงการปีละ 300 ถึง 600 เมกะวัตต์ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนับ 10 ปีจึงจะครบตามแผน คำถามคือจะรออะไร หรือว่าแผนพีดีพีเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แก้ไขไม่ได้?

ถ้าคิดว่าแต่ละบ้านติด 5 กิโลวัตต์ ดังนั้น แต่ละปีจะมีบ้านได้ติดเพียง 6 หมื่นหลัง หรือประมาณปีละ 0.25% ของจำนวนบ้านทั้งประเทศ ในขณะที่กว่า 10 ชานเมืองในประเทศออสเตรเลียได้ติดตั้งไปแล้วกว่า 50% ของจำนวนบ้านทั้งหมด (ดูภาพประกอบ)

ถ้ากระทรวงพลังงานจะทำวิจัยก็น่าจะไปถามเขาว่า เมื่อติดตั้งกันมากขนาดนี้แล้วมีปัญหาอะไรบ้างโดยไม่อืดอาดชักช้า เพราะสถานการณ์เปลี่ยนเร็วมาก

ผมทราบว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จังหวัดสงขลาขนาด 2,000 เมกะวัตต์พร้อมท่าเทียบเรือขนถ่านหินราคา 1.5 แสนล้านบาท (ยังไม่นับค่าเชื้อเพลิงและค่าการบริหาร) หรือเฉลี่ยเมกะวัตต์ละ 75 ล้านบาท

ในขณะที่บริษัท (ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐบาล) ผู้ชนะการประมูลที่ประเทศอินเดีย(ที่หมู่เกาะอันดามันและนิโคบาซึ่งมีประชากรประมาณ 4 แสนคน) ขนาด 20 เมกะวัตต์พร้อมแบตเตอรี่ (ขนาด 28 Mwh) ในราคา 46 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเฉลี่ยประมาณ 80 ล้านบาท (http://www.bridgetoindia.com/first-utility-scale-storage-project-india-takes-off/) โดยไม่ต้องจ่ายค่าเชื้อเพลิงอีกเลย สัญญานาน 25 ปี ซึ่งคาดว่าจะต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่เพียงครั้งเดียวเท่านั้นตลอดโครงการ

สอง ในแง่ของราคารับซื้อไฟฟ้า

ปัญหาสำคัญของการติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านก็คือ เวลาที่ผลิตไฟฟ้าได้แล้วเจ้าของบ้านส่วนใหญ่มักจะไม่อยู่บ้าน ครั้นเมื่อเจ้าของบ้านกลับเข้าบ้านดวงอาทิตย์ก็ลับฟ้าไปแล้ว ดังนั้นกลไกของความสำเร็จจึงอยู่ที่การ “ฝาก” ไฟฟ้าเอาไว้ในสายส่ง ให้ไฟฟ้าไหลไปสู่ตำแหน่งที่มีการใช้ไฟฟ้าก่อน (ซึ่งก็จะอยู่ไม่ไกล) เมื่อเจ้าของบ้านกลับมาก็ขอ “ถอน” ไฟฟ้าที่ฝากไว้กลับมา ถึงสิ้นเดือนก็คิดบัญชีกันตามตัวเลขที่เหลือสุทธิในมิเตอร์ ที่เรียกว่า Net Metering นั่นก็คือ ราคาไฟฟ้าที่เจ้าของบ้านซื้อจะเท่ากับราคาที่เจ้าของบ้านขาย

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ให้สายส่งนั่นแหละทำหน้าที่เป็นแบตเตอรี่ให้กับเจ้าของบ้านวิธีการนี้นอกจากจะเป็นการประหยัดที่สุดต่อเจ้าของบ้านแล้ว ยังเป็นการลดปัญหาไฟฟ้าในระบบตกและลดการสูญเสียไฟฟ้าในสายส่งด้วย

เราคงจำกันได้ว่า เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา ทางหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะเก็บเงินจากผู้ติดโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือที่เรียกกันว่า “เก็บภาษีแดด” เมื่อเกิดกระแสคัดค้านจึงได้ปฏิเสธข่าวว่าจะเก็บเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น ไม่เก็บรายเล็ก โดยมีเหตุผลว่า ทางการไฟฟ้าฯ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสำรองไฟฟ้าไว้ให้กับผู้ติดโซลาร์เซลล์

มาถึงวันนี้ (ตามข่าว) ทางกระทรวงพลังงานจะรับซื้อไฟฟ้าจากหลังคาบ้าน นอกจากจะจำกัดจำนวนปีละประมาณ 6 หมื่นหลัง (หรือ 0.25% ของบ้านทั้งหมด) ยังได้กำหนดว่าจะรับซื้อในราคาขายส่งที่ทาง กฟผ.ขายให้กับการไฟฟ้าภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง คือประมาณไม่เกิน 2.60 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ราคาขายปลีกที่เจ้าของบ้านซื้อประมาณ 3.90 บาทต่อหน่วย

ผมไม่ทราบว่า กระทรวงพลังงานไปได้แนวคิดนี้มาจากไหน แต่ผมทราบว่าในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็น อินเดีย ปากีสถาน เคนยา ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา (ซึ่งเป็นประเทศต้นคิดและใช้มาตั้งแต่ปี 1983) ก็ใช้ระบบ Net Metering

แต่เมื่อสาวลึกลงไปพบว่า แต่ละรัฐของสหรัฐอเมริกาก็มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน องค์กรที่ชื่อว่า “Freeing the Grid 2015” ได้ประเมินและให้เกรดรัฐต่างๆ ตั้งแต่ A (ดีที่สุด) ถึง F (แย่ที่สุด) ซึ่งผมได้นำมาเสนอโดยย่อดังรูปครับ

ภาพซ้ายมือแสดงสถานการณ์ในปี 2014 สิ่งที่ให้สังเกตก็คือรัฐเนวาดาได้รับการประเมินให้ได้เกรด A เพราะรับซื้อไฟฟ้าในราคาขายปลีก (ซึ่งแพง) แต่พอมาถึงปี 2017 ได้ปรับลดเป็นเกรด F เพราะนอกจากจะรับซื้อในราคาขายส่ง(ซึ่งถูก) แล้วยังได้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมอีกต่างหาก (ทำมาตั้งแต่สิ้นปี 2015 แล้ว)

แบบเดียวกันเปี๊ยบกับวิธีคิดของกระทรวงพลังงานที่ได้ออกลายมาตั้งแต่ 3-4 เดือนก่อน จนถึงที่จะออกมาใหม่ในวันที่ 25 ตุลาคมนี้

อีกเว็บไซต์หนึ่ง (https://edgylabs.com/net-metering-u-s-states/) ได้ให้ข้อมูลว่า ถ้าติดโซลาร์เซลล์ขนาด 5 กิโลวัตต์ ในรัฐแมสซาชูเซตส์ (ซึ่งเป็นรัฐที่ได้เกรด A) จะคุ้มทุนภายใน 4 ปี แต่ถ้าติดตั้งในรัฐมิสซิสซิปปี (ซึ่งได้เกรด F) จะต้องใช้เวลานานถึง 16 ปี

ก่อนจะจบ ผมขอมองในภาพใหญ่นิดหนึ่งครับ ก่อนที่คณะ คสช.จะเข้ามาประชาชนต่างเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศ หนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปพลังงาน สภาปฏิรูปก็ได้ตอบสนองต่อเจตนารมณ์ดังกล่าว แต่รัฐบาลก็ไม่ขยับ ครั้นพอจะขยับสักก้าวก็เอาแต่ของเกรด F มาเสนอ ของเกรด A ไม่เอา

ท่านนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับท่านนายกฯ นเรนทรา โมดี ของประเทศอินเดียต่างก็เข้ามาบริหารประเทศในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ต่างก็เป็นตัวแทนของประเทศของตนในเวทีโลกร้อนที่ปารีสเหมือนกัน แต่ที่ต่างกันคือท่านนายกฯ อินเดียได้ปรับแผนพลังงานของประเทศจากติดโซลาร์เซลล์ 2 หมื่นเมกะวัตต์ เป็น 1 แสนเมกะวัตต์ ภายในปี 2022 ประเทศอินเดียได้ลดการใช้ถ่านหินลงอย่างชัดเจน แต่ท่านประยุทธ์เรากลับไปลงนามนำเข้าถ่านหินจากสหรัฐอเมริกาเฉยเลย

ดังนั้น ข่าวชิ้นนี้จึงเป็นข่าวที่น่าจะรู้สึกยินดีหรือน่าหัวเราะเยาะกันแน่ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น