xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินทองสองรัชกาล

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันปิยมหาราช วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี

ประเทศไทย ในรัชสมัยของพระพุทธเจ้าหลวง ซึ่งยังอยู่ในชื่อเดิมคือ ราชอาณาจักรสยาม เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ที่สุด มีความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ ด้วยความริเริ่มดำเนินการของพระองค์

สาเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์ทำการปฏิรูป ที่มีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม มีทั้งสาเหตุที่มาจากภายนอกประเทศ และปัจจัยภายในประเทศ

สาเหตุภายนอก คือ การคุกคามของมหาอำนาจตะวันตก รัชกาลที่ ๕ จึงทรงผ่อนปรนต่อการบีบบังคับของประเทศตะวันตกและเร่งปรับปรุงภายในประเทศให้เจริญก้าวหน้าขึ้น

การรับอิทธิพลแนวความคิดแบบตะวันตก โดยการเรียนรู้และศึกษาศิลปวิทยาการตลอดจนแนวความคิดแบบตะวันตกมากขึ้น

การเสด็จประพาสประเทศใกล้เคียง ทำให้เห็นความเจริญของประเทศเหล่านี้ จึงได้ทรงปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้เจริญทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน

สาเหตุภายใน คือ การดึงอำนาจการปกครองจากขุนนางให้มารวมศูนย์อยู่กับพระมหากษัตริย์ เพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ

รัชกาลที่ ๕ ทรงปฏิรูปการปกครอง การบริหารราชการแผ่นดิน โดยจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเพื่อช่วยในการบริหารราชการแผ่นดินประกอบด้วย การจัดตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (Council of State) สมาชิกสภาประกอบด้วยข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ชั้นพระยาจำนวน 12 คน ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งมีหน้าที่ถวายคำปรึกษาในเรื่องเกี่ยวกับราชการแผ่นดินโดยทั่วไป พิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ

องคมนตรีสภา (สภาที่ปรึกษาส่วนพระองค์) (Privy Council) สมาชิกประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการระดับต่างๆ จำนวน 49 คน ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาข้อราชการและเสนอความคิดเห็นต่างๆ และมีหน้าที่ช่วยปฏิบัติราชการตามแต่จะมีพระบรมราชโองการ ปัจจุบันคือ คณะองคมนตรี

ต่อมาภายหลัง 2 สภานี้ถูกยกเลิกไปเพราะขุนนางไม่พอใจ คิดว่าเป็นการล้มล้างระบบขุนนาง

การปฏิรูปการปกครองส่วนกลาง โดยยกเลิกจตุสดมภ์ และใช้การบริหารงานแบบกระทรวงตามแบบอย่างของตะวันตก โดยจัดรวมกรมต่างๆ ที่มีลักษณะงานคล้ายๆ กันมาเป็นกรมขนาดใหญ่ 12 กรม ต่อมาเปลี่ยนเป็นกระทรวงอยู่ในความดูแลของเสนาบดี มี 12 กระทรวง

ปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค ยกเลิกหัวเมืองเอก โท ตรี จัตวา และยกเลิกหัวเมืองประเทศราช จัดการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล แบ่งเขตการปกครองเป็นมณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ขึ้นตรงต่อกระทรวงมหาดไทย เป็นการรวมอำนาจตามหัวเมืองเข้าสู่เมืองหลวง

การปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น ทรงริเริ่มให้สิทธิแก่ราษฎรในการเลือกผู้ปกครองตนเองเป็นครั้งแรก โปรดเกล้าฯ ให้มีการทดลองเลือกตั้ง “ผู้ใหญ่บ้าน” ที่บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แทนการแต่งตั้งโดยเจ้าเมือง โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งสุขาภิบาลกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรก และสุขาภิบาลหัวเมืองแห่งแรกที่ตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร

ผลของการปฏิรูปการปกครองของรัชกาลที่ ๕ ก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในราชอาณาจักร โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่กรุงเทพฯ รัฐบาลที่กรุงเทพฯ สามารถขยายอำนาจเข้าควบคุมพื้นที่ภายในราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเป็นเอกภาพทางการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการหยุดยั้งการคุกคามจากประเทศมหาอำนาจตะวันตกต่อประเทศไทย

รัชกาลที่ ๕ ทรงเลิกทาส เพราะทรงเห็นว่า การมีไพร่และทาสทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม การเกณฑ์แรงงานของไพร่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ และการมีไพร่อยู่ในความดูแลเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ขุนนางผู้ใหญ่ใช้เป็นฐานกำลังเพื่อแย่งชิงอำนาจทางการเมือง และล้มล้างพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้

การมีทาสทำให้ชาติตะวันตกดูถูกว่าเมืองไทยเป็นเมืองเถื่อน และอาจใช้เป็นข้ออ้างเข้ายึดครองประเทศได้

การจัดการศึกษาให้กับราษฎร การตั้งโรงพยาบาล การสร้างทางรถไฟ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคุณภาพชีวิตของราษฎร ล้วนเกิดขึ้นในแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ และเป็นรากฐานที่สำคัญที่ได้รับการพัฒนาสืบทอดต่อมาจนถึงปัจจุบัน

ทรงนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก ในขณะเดียวกัน ก็ทรงนำความทันสมัยเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศไทย แผ่นดินไทยในสมัยรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นแผ่นดินทองของไทย

อีก 40 ปีต่อมา พระราชนัดดาของพระองค์คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

ปีที่ทรงขึ้นครองราชย์นั้น สงครามโลกครั้งที่สองเพิ่งสิ้นสุดลง ประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้แพ้สงคราม บ้านเมืองส่วนหนึ่งพังพินาศจากภัยสงคราม การเมืองในประเทศไร้เสถียรภาพเพราะการแย่งชิงอำนาจกันในหมู่ “ขุนนาง” แห่งระบอบประชาธิปไตย

ในขณะที่ปัจจัยภายนอกโลกเข้าสู่ยุคสงครามเย็น ประเทศไทยเป็นหน้าด่านของโลกเสรี ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ เผชิญหน้าโดยตรงกับประเทศเพื่อนบ้าน ในอินโดจีน ที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่มีรัสเซีย และจีน เป็นหัวหอกยึดหัวหาดเอาไว้ และแผ่ขยายเข้ามายังประเทศไทย เกิดเป็นสงครามกลางเมืองแบบจำกัดพื้นที่ที่กินเวลานานกว่าสองทศวรรษ

แม้จะไม่ใช่พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราย์ เหมือนสมเด็จพระอัยกา แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ ที่นำพาประเทศไทยให้รอดพ้นภัยคุกคามจากภายนอก และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในฐานะพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองราชย์

แผ่นดินไทยในรัชสมัยของพระองค์ จึงเป็นแผ่นดินทองอีกยุคสมัยหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น