xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงานวิจัย "คนกินเจ" จะตายด้วยโรคอะไร !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

เนื่องในโอกาสเทศกาลกินเจที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 20 -28 ตุลาคม 2560 นั้น ถือเป็นจังหวะเวลาที่น่าสนใจอีกครั้งหนึ่งที่จะให้ข้อคิดคนที่ต้องการล้างท้อง ชำระทั้งร่างกายและจิตใจให้ผ่องใส ถือศีลกินผัก ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ดังนั้นวัตถุประสงค์ของการกินเจของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน เช่น บางคนกินเพื่อสุขภาพ บางคนกินเพราะด้วยจิตเมตตา และบางคนกินเพื่อเว้นกรรม ฯลฯ แต่ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลใดก็ตาม มีประชาชนหันมากินเจในเทศกาลดังกล่าวมากขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก

ความจริงลำพังการกินเจเพียง 8-10 วันนั้น คงไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวข้องกับโรคเรื้อรังของมนุษย์มากนัก แต่ถ้าใครจะกินเจอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพ ก็ควรจะอ่านงานวิจัยที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ให้ได้อย่างเข้าใจในมิติทางสุขภาพด้วย

งานวิจัยชิ้นสำคัญในวารสารทางการแพทย์ชื่อดังในสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ JAMA Internal Medical เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ซึ่งสำรวจประชากรจำนวนกว่า 131,000 คน ตลอดระยะเวลา 26-32 ปี เพื่อหาข้อเท็จจริงว่ากลุ่มประชากรที่กินโปรตีนจากพืชและสัตว์นั้น มีสาเหตุการเสียชีวิตโดยรวมทั้งหมดอย่างไร และสาเหตุการเสียชีวิตเฉพาะโรคอย่างไร?

งานวิจัยข้างต้นนี้มีชื่อว่า Animal and Plant Protein intake and all-cause and cause-specific mortality: results from two prospective US Cohort Studies ซึ่งทำวิจัยโดย นายแพทย์หมิงยาง ซ่ง และคณะ ซึ่งใช้การเก็บสำรวจข้อมูลผู้หญิง 85,013 คน และผู้ชาย 46,329 คน ซึ่งได้รวบรวมจากการศึกษาของ Nurses' Health Study (ระหว่าง พ.ศ. 2523 - 2554) และ การศึกษาของ Health Professional Follow-up Study (1986-2012) ซึ่งผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า:

"โดยภาพรวมแล้วกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ (เปอร์เซ็นต์ทายที่ 5 -95) มีค่าเฉลี่ยกินโปรตีนจากเนื้อสัตว์ประมาณ 14% ของพลังงาน ในขณะกินโปรตีนจากพืชประมาณ 4% ของพลังงาน (ซึ่งใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบในการวิจัย )โดยการวิเคราะห์ทางสถิติครั้งนี้มีการปรับเรื่องความเสี่ยงในด้านสุขภาพอื่นๆในด้านวิถีการดำเนินชีวิตและการบริโภคแล้ว ทั้งนี้มีข้อจำกัดในกลุ่มประชากรที่สูบบุหรี่, ดื่มแอลกอฮอล์มาก, น้ำหนักเกินหรืออ้วน และนิ่งไม่เคลื่อนไหว ไม่ออกกำลังกาย เท่านั้น แต่ไม่ถึงกับห้ามดื่มแอลกอฮอล์บ้าง หรือกำลังจะอ้วน หรือออกกำลังน้อย

1. ผลการวิจัยกลุ่มที่บริโภค"โปรตีนจากเนื้อสัตว์" พบว่า :
1.1 ไม่พบความเสี่ยงในการเสียชีวิตภาพรวมเพิ่มขึ้น โดยการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้น 10% ของพลังงาน จะมีความเสี่ยงการเสียชีวิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเพียง 2%

1.2 ความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น โดยการบริโภคโปรตีนจากเนื้อเพิ่มขึ้น 10% ของพลังงาน จะมีความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น 8%

2.ผลการวิจัยกลุ่มที่บริโภค "โปรตีนจากพืช"พบว่า :
2.1 ความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยรวมลดลง โดยการบริโภคโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น 3% ของพลังงาน จะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตโดยรวมลดลง 10%

2.2 ความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง โดยการบริโภคโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น 3% ของพลังงาน จะมีความเสี่ยงการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจลดลง 12%

3. ผลการวิจัยของกลุ่มที่เปลี่ยนพฤติกรรมทดแทนการบริโภคโปรตีนเนื้อสัตว์ด้วยโปรตีนจากพืช จะทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยรวมลดลง :
3.1 การบริโภคโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น 3% ของพลังงาน เพื่อมาทดแทนจากการบริโภคเนื้อแดงแปรรูป (เช่น ไส้กรอก, แฮม, เนื้อประป๋อง ฯลฯ ) จะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตโดยรวมลดลงจากเดิม 34%

3.2 การบริโภคโปรตีนจากพืชเพิ่มขึ้น 3% ของพลังงาน เพื่อมาทดแทนจากการบริโภคเนื้อแดงไม่แปรรูป (เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู ฯลฯ) จะลดความเสี่ยงการเสียชีวิตโดยรวมลดลงจากเดิม 19%

จากงานวิจัยชิ้นนี้จึงได้สรุปว่าการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจมากขึ้น และการบริโภคโปรตีนจากพืชจะมีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามคือทำให้ความเสี่ยงในการเสียชีวิตโดยรวมลดลง และรวมถึงความเสี่ยงในการเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มประชากรรวมไปถึงที่กำลังจะอ้วน ยังดื่มแอลกอฮอล์อยู่ กำลังจะอ้วน และออกกำลังกายน้อย การทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ด้วยโปรตีนจากพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเนื้อแดง จะทำให้อัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตลดลง งานวิจัยชิ้นนี้จึงได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของแหล่งโปรตีน"[1]

เปรียบเทียบกับงานวิจัยก่อนหน้านี้อีกชิ้นหนึ่งที่น่าติดตามก็คืองานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการกินอาหารมังสวิรัติและการศึกษาด้านสุขภาพในสาเหตุการเสียชีวิตของชาวเซเว่นเดย์ แอดเวนติสต์ ครั้งที่สอง ที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ฉบับเดียวกันคือ JAMA Internal Medical เผยแพร่ฉบับเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งได้สำรวจกลุ่มประชากรที่ทำการวิเคราะห์ 73,308 คน เป็นเวลา 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2544 ถึง ปี พ.ศ. 2550 ในระหว่างนั้นปรากฏว่ามีคนเสียชีวิตทั้งสิ้น 2,570 คน

ในกลุ่มตัวอย่างในช่วงระยะเวลาที่สำรวจนั้นแบ่งเป็นรายละเอียดดังนี้
1.กลุ่มนักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan)คล้ายกินเจ กินเนื้อนมไข่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน จำนวน 5,548 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตไป 197 คน

2.กลุ่มนักมังสวิรัติที่ยังกินนมและไข่ (Lacto-ovo Vegetarian) กินปลาและเนื้ออื่นน้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน จำนวน 21,177 คน เสียชีวิตไป 815 คน

3.กลุ่มกินปลา (Pesco Vegetarian) แต่กินเนื้ออย่างอื่นน้อยกว่า 1 ครั้งต่อเดือน จำนวน 7,194 คน เสียชีวิตไป 251 คน

4.กลุ่มกินมังสวิรัติบ้าง (Semi Vegetarian) กินเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ไม่ใช่ปลา มากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน กินเนื้อสัตว์ทุกชนิดและเนื้อปลามากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จำนวน 4,031 คน เสียชีวิตไป 160 คน

5.กลุ่มที่ไม่ได้กินมังสิวิรัติ (Non Vegetarian) คือกลุ่มที่กินเนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ไม่ใช่ปลามากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน และรับประทานเนื้อทุกชนิดรวมทั้งปลาด้วยมากกว่า 1 ครั้งต่อเดือน และมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จำนวน 35,359 คน เสียชีวิตไป 1,147 คน

ผลปรากฏว่ากลุ่มกินมังสวิรัติโดยรวม (กลุ่ม 1-4)มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมน้อยกว่า 12 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมน้อยกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มกลุ่มนักมังสวิรัติที่ยังกินนมและไข่ (Lacto-ovo Vegetarian) มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมน้อยกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ กลุ่มกินปลา (Pesco Vegetarian) มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมน้อยกว่า 19 เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มกินมังสวิรัติบ้าง(Semi Vegetarian) มีอัตราการเสียชีวิตโดยรวมน้อยกว่า 8 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับกลุ่มไม่ได้กินมังสวิรัติ

แต่ที่น่าสนใจคือพบว่า กลุ่มผู้ชายที่กินมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) อัตราการเสียชีวิตโดยรวมน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มเพศชายด้วยกัน คือมีอัตราความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตโดยรวมในทุกสาเหตุแห่งโรคน้อยกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ อัตราความเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจขาดเลือดน้อยกว่า 55 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเสี่ยงเสียชีวิตโรคหลอดเลือดหัวใจน้อยกว่า 42 เปอร์เซ็นต์ และสาเหตุการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆน้อยกว่า 19 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้ชายที่ไม่ได้กินมังสวิรัติ [2]

อย่างไรก็ตามแม้ "ในช่วงเวลาที่สำรวจตามงานวิจัย" นักมังสวิรัติจะเสียชีวิตด้วยโรคต่างๆน้อยกว่า ไม่ได้แปลว่านักมังสวิรัติจะไม่มีสิทธิ์เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคมะเร็ง โดยเฉพาะกลุ่มนักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) ได้เคยมีรายงานในวารสารทางโภชนาการคลินิกของอเมริกา American Journal of Clinical Nutrition ฉบับเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน 2542 ในการวิเคราะห์อภิมาน Meta-Analysis จากผลรายงานการศึกษา 5 ชิ้น เมื่อปี พ.ศ. 2542 ภายใต้หัวข้อ Mortality in vegetarians and nonvegetarians: detailed finding from collaborative analysis of 5 prospective studies. พบข้อมูลว่า...

าเหตุการเสียชีวิตของนักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) อันดับแรกคือโรคหัวใจ อันดับที่สองคือโรคหลอดเลือดสมอง อันดับที่สาม สี่ และห้า คือโรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร และโรคมะเร็งลำไส้ ลำดับ [3] เพียงแต่ข้อมูลดังกล่าวยังเก็บตัวอย่างการเสียชีวิตของกลุ่มตัวอย่างของนักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan)ได้น้อยเกินกว่าที่จะสรุปได้ แต่เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าโรคเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในกลุ่มนักมังสวิรัติเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะ "ช้ากว่า"คนที่กินเนื้อสัตว์ ขึ้นอยู่กับว่านักมังสวิรัติเหล่านั้นกินแบบไหน สิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร?

นักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) โดยทั่วไปจะมีฮอร์โมนที่สร้างการเจริญเติบโตที่ผลิตจากตับที่เรียกว่า Insulin like growth factor-1 หรือเรียกสั้นๆว่า IGF-1 อยู่ในกระแสเลือดต่ำคนทั่วไป (ฮอร์โมนชนิดนี้ตับของมนุษย์สร้างเองส่วนหนึ่ง และได้รับอีกส่วนจากอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ทุกชนิด นม เนย ไข่) การลดระดับฮอร์โมนในการสร้างการเจริญเติบโตของกลุ่มนักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) อาจจะเป็นสาเหตุในการช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากให้น้อยลง ส่วนมะเร็งส่วนอื่นๆในกลุ่มนักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) นั้นยังไม่มีข้อมูลชัดเจน ส่วนนักมังสวิรัติที่ยังกินผลิตภัณฑ์นมและกินไข่อยู่นั้นไม่ได้ลดระดับ IGF-1 แต่ประการใด [4]

อย่างไรก็ตามนักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) หรือ คล้ายเจ ยังมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจอยู่ (แม้ในงานวิจัยระบุว่าอาจจะน้อยกว่าคนทั่วไป) และจำเป็นต้องตระหนักในปัญหาและข้อควรระวังเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ประการแรก นักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) หรือ คล้ายเจ มักจะรับประทานคาร์โบไฮเดรตมาก (แป้งมาก) โดยเฉพาะหากคาร์โบไฮเดรตนั้นเป็นแป้งขัดขาว ขนม และน้ำตาลมาก ซึ่งนอกจากจะส่งผลทำให้อ้วนได้แล้ว ยังทำให้เกิดปัญหาหลอดเลือดอักเสบและกลายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจได้ด้วย [5]

นอกจากนี้กลุ่มที่แป้งขัดขาว ขนม น้ำตาลมาก ซึ่งมีดัชนีน้ำตาลสูง นอกจากจะกดระบบภูมิคุ้มกันและป่วยง่ายแล้ว อาหารกลุ่มนี้ยังสามารถทำให้เกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่นที่ทำให้ผิวเหี่ยวและดูแก่ลงเร็วด้วย [6]

ทางแก้ปัญหานี้ก็คือจะต้องหยุดแป้งขัดขาวและน้ำตาลทั้งหมด แล้วหันมากินคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีไฟเบอร์สูงขึ้น เช่น ผัก ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ฯลฯ แทน

ประการที่สอง นักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) ส่วนใหญ่มักจะรับประทานโปรตีนจากถั่ว (เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด) ซึ่งมักจะได้ไขมันไม่อิ่มตัวที่เรียกว่ากรดไลโนเลอิก หรือ โอเมก้า 6 มาด้วย ไขมันชนิดนี้จากงานวิจัยพบว่าทำให้เกิดหลอดเลือดอักเสบ หากปรุงอาหารด้วยไขมันที่ไม่อิ่มตัวซ้ำด้วย ก็จะยิ่งเพิ่มปริมาณไขมันที่ไม่อิ่มตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอีก แม้ไขมันที่ไม่อิ่มตัวเหล่านี้อาจทำให้คอลเลสเตอรอลดลง แต่กลับพบในงานวิจัยว่าเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดโรคหลอดหัวใจเพิ่มสูงขึ้น [6] [7] [8]

สำหรับทางออกในเรื่องนี้เนื่องจากนักมังสวิรัติไม่ได้กินปลาซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญที่มีไขมันโอเมก้า 3 ที่จะมาลดทอนปัญหาในการอักเสบของหลอดเลือด การแข็งตัวและเกิดลิ่มเลือดอันเกิดจากไขมันโอเมก้า 6 ซึ่งมีมากในถั่ว [6]

ตามปกติแล้วถ้าเรากินไขมันโอเมก้า 6 สี่ส่วน จะต้องมีไขมันโอเมก้า 3 เข้ามาเสริม 1 ส่วน ซึ่งแหล่งอาหารที่ได้ไขมันโอเมก้า 3 จากพืช ได้แก่ น้ำมันงาขี้ม้อน แฟลกซ์ เมล็ดเชีย สาหร่ายบางชนิด ผักไวลด์ ร็อคเก็ต ฯลฯ สำหรับอาหารที่ทำนั้นควรผัดทอดให้น้อยลง กินผักสดมากขึ้น

หากจำเป็นต้องผัดหรือทอดโดยใช้น้ำมันแล้วให้ใช้ไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันมะพร้าวแทนไขมันไม่อิ่มตัวทั้งหลาย เพราะไขมันไม่อิ่มตัวทั้งหลายหากนำมาผัดทอดแล้วจะก่อให้เกิดสารพิษอัลดีไฮด์ได้มากกว่าไขมันอิ่มตัว ทำให้เกิดโรคได้หลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม ฯลฯ

ประการที่สาม เนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ เป็นแหล่งอาหารที่มีวิตามินบี 12 ซึ่งจะช่วยในการเปลี่ยนสารโฮโมซิสเตอีนให้ไปเป็นเมโทโอนีนได้ จากงานวิจัยพบว่านักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) มักจะขาดวิตามินบี 12 อย่างชัดเจน [6] ส่งผลทำให้สารโฮโมซิสเตอีนสะสมในร่างกายและทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งได้

ดังนั้นนักมังสวิรัติจึงควรหาวิตามินบี 12 เสริม ทั้งในรูปของอาหารเสริม หรือไม่ก็ต้องหาอาหารกลุ่มที่มีการหมักที่มีแบคทีเรียชนิดดีเสริมด้วย

ประการที่สี่ นักมังสวิรัติแบบบริสุทธิ์ (Vegan) จำนวนไม่น้อยมักจะใช้ไขมันทรานส์ในกลุ่มมาการีน มาแทน เนย และชีส โดยเฉพาะไขมันพืชโอเมก้า 6 เติมไฮโดรเจนบางส่วน เช่น ครีมเทียม เนยขาว เนยเทียม ฯลฯ มักพบในอาหารที่คาดไม่ถึง เช่น ซาลาเปา โดนัท เนยผสม โรตี เบเกอรี่ รวมไปถึงไขมันพืชตามขนมกรุบกรอบทั้งหลาย ไขมันเหล่านี้ในงานวิจัยพบว่าเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจอย่างมีนัยยะสำคัญ ส่งผลเสียต่อระบบสมองและประสาท และมีหลักฐานมากขึ้นว่าอาจทำให้โรคความจำเสื่อมทรุดลงเร็วขึ้น [9]

ประการที่ห้า ระวังผักที่เต็มไปด้วยยาฆ่าแมลงและยาฆ่าวัชพืช ซึ่งหากไม่มีความระมัดระวังต่อให้กินมังสวิรัติก็จะป่วยและอายุสั้นได้เช่นกัน

โดยปกติคนกินมังสวิรัติ (Vegan) จะไม่ดื่มแอลกอฮอร์หรือสูบบุหรี่อยู่แล้ว จึงย่อมมีโอกาสสุขภาพดีกว่าคนทั่วไป อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยในการทดลองมนุษย์ให้กินอาหารแบบมังสวิรัติ (Vegan) เป็นเวลา 12 สัปดาห์พบว่าคุณภาพชีวิตในด้านจิตใจและอารมณ์ดีขึ้น ทั้งในเรื่องความเครียด ความวิตกกังวล และความซึมเศร้า [10]

หากนักมังสวิรัติได้กินอาหารด้วยข้อมูลที่ถูกต้องแล้ว นอกจากจะจะมีสุขภาพจิตดีแล้ว ก็จะมีสุขภาพกายดีขึ้นด้วย ก็จะเป็นกำลังใจให้กับคนอื่นๆหันมากินมังสวิรัติมากขึ้น เบียดเบียนชีวิตสัตว์อื่นให้น้อยลง และขออนุโมทนาบุญทุกท่านทั้งหลายที่รับประทานเจ ได้อิ่มบุญ สุขกาย และใจสะอาดในเทศกาลกินเจปีนี้และปีต่อๆไปด้วยเทอญ

อ้างอิง
[1] Song M, Fung TT, Hu FB, et al. Animal and plant protein intake and all cause and cause-specific mortality : results from two prospective US cohort studies. JAMA internal medicine. 2016;176 (10) : 1453-1463 doi: 10.1001/jamaternmed.2016.4182
[2] Orich Mj, Singh PN, Sabat'e J, et al. Vegetarian Dietary Patterns and Mortality in Adventist Health Study 2. JAMA internal Medicine. 2013
[3] Key TJ, et al. Mortality in vegetarians and nonvegetarians: detailed finding from collaborative analysis of 5 prospective studies. American Journal of Clinical Nutrition 1999 Sep; 70(3 Suppl):516S-524S.
[4] Timothy J. Key, Paul N. Appleby and Magdalena S. Rosell. Health effects of vegetarian and vegan diets. Proceedings of the Nutrition Society (2006), 65, 35-41 DOI: 10.1079/PNS2005481
[5] Mozaffarina D, Rimm EB, Herrington DM. Dietary fats, carbohydrate, and progression of coronary atherosclerosis in postmenopausal women . American Journal of Clinical Nutrition 2004;80:1175-84
[6] Danby FW . Nutrition and aging skin: sugar and glycation. Clinics in dermatology. 2010 Jul-Aug;28(4):409-11. doi: 10.1016/j.clindermatol.2010.03.018.
[7] Aseem Malhotra, Rita F Redberg, Pascal Meier. Saturated fat does not clog the arteries: coronary heart disease is a chronic inflammatory condition, the risk of which can be effectively reduced from healthy lifestyle interventions. British Journal of Sports Medicine. April 30, 2017. Pubished by group.bmj.com
[8] Ramsden CE, Zamora D, Majchrzak-Hong S, et al. Re-evaluation of the traditional diet-heart hypothesis: analysis of recovered data from Minnesota coronary experiment (1968-73) BMJ 2016; 353:i1246.
[9] Ginter E, Simko V. New data on harmful effects of trans-fatty acids. Bratislavske Lekarske Listy. 2016; 117(5):251-3
[10] Link LB, Hussaini NS, Jacobson JS. Change in quality of life and immune markers after a stay at a raw vegan institute: a pilot study. Complementary therapies in medicine. 2008; 16(3); 16(3) : 124-130 doi:10.1016/j.ctim.2008.02.004.


กำลังโหลดความคิดเห็น