ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่คนไทยไม่อยากให้ผ่านไปมากที่สุด ถ้าหยุดเวลาได้ก็คงอยากจะหยุดไว้ไม่ให้เคลื่อนผ่านไป แต่นั่นก็รู้กันว่าไม่อาจจะเกิดขึ้นจริงได้ และแม้ว่าจะทำใจกันมาเป็นระยะเวลาหนึ่งปีแล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนไม่อาจเก็บน้ำตาแห่งความโศกเศร้าอาดูรไว้ได้ เมื่อนึกถึงเวลาข้างหน้าที่จะผ่านมาถึงนอกจากวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ที่จะอยู่ในความทรงจำของคนไทยแล้ว วันที่ 26 ตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์ก็จะเป็นอีกวันหนึ่งที่คนไทยยากจะลืมเลือน
จากพระมหากษัตริย์พระองค์น้อยที่เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมพรรษา 18 พรรษา หลังรัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ และต้องทรงศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศ รัฐบาลจึงได้ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขึ้น
หลังกลับไปรับการศึกษาในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แม้ว่าพระองค์จะทรงโปรดปรานวิชาวิศวกรรมศาสตร์ แต่เมื่อขึ้นเป็นกษัตริย์พระองค์ได้ทรงเปลี่ยนแนวมาศึกษาวิชาการปกครองแทน เช่น วิชากฎหมาย อักษรศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ภูมิศาสตร์
และเมื่อเสด็จกลับมาประเทศไทย วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามโบราณขัตติยราชประเพณี เฉลิมพระปรมาภิไธยตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร” และได้พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการเป็นสัจวาจาว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
นับจากวันแรกที่เสด็จขึ้นครองราชย์จนเสด็จสวรรคตนับเนื่องยาวนานถึง70ปี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประเทศไทย และเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับพระราชกรณียกิจมากมายที่พระองค์ได้พระราชทานกำลังความคิดสติปัญญาเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีความกินดีอยู่ดี
โครงการพระราชทานจากพระราชกรณียกิจมากกว่า 4,000 โครงการ ครอบคลุมเกือบทุกด้าน ทั้งการแพทย์สาธารณสุข ด้านการเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม รวมถึงแก้ปัญหาการจราจรอุทกภัยและปัญหาน้ำเน่าเสียในชุมชนเมือง รวมทั้งโครงการการช่วยสงเคราะห์ และอนุรักษ์ช้างของไทยอีกด้วย
รวมถึงแนวทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจพระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งพระองค์ทรงแทรกแนวคิดเรื่องนี้ไว้ในพระราชดำรัสหลายครั้ง เช่น
“เศรษฐกิจพอเพียงนี้ให้ปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว คือไม่ต้องทั้งหมด หรือแม้จะเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอ ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนามาช้านานแล้ว มาบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ดีมาก แล้วก็เข้าใจว่าปฏิบัติเพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น หมายความว่า ถ้าทำได้เศษหนึ่งส่วนสี่ของประเทศก็จะพอ ความหมายของเศรษฐกิจพอเพียงและทำได้เพียงเศษหนึ่งส่วนสี่ก็พอนั้น ไม่ได้แปลว่า เศษหนึ่งส่วนสี่ของพื้นที่ แต่เศษหนึ่งส่วนสี่ของการกระทำ” พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541
รวมทั้งทรงอธิบายเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ด้วยพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยเป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในขั้นต้น โดยการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ แบ่งออกเป็น 3 ขั้นได้แก่ ขั้นต้น คือ การแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตรา 30-30-30-10 เพื่อขุดเป็นสระกักเก็บน้ำ 30% ปลูกข้าวในฤดูฝน 30% ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผักสมุนไพร 30% และเป็นที่อยู่อาศัยอีก 10%
จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สอง คือการให้เกษตรกรรวมกันในรูปแบบของกลุ่ม สหกรณ์ เพื่อดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา จากนั้นจึงเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ขั้นที่สาม คือการติดต่อประสานงาน จัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ลงทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป
ด้านการเกษตรนั้นเป็นที่ทราบกันว่าพระองค์ทรงเปลี่ยนพระราชวังจิตรลดาเป็นแปลงทดลองการเกษตรและการปศุสัตว์ รวมถึงแนวพระราชดำริเรื่องแกล้งดินเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยว รวมทั้งพระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝก โดยให้ทรงทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการพังทลายของดิน เพื่อแก้ปัญหาความแห้งแล้งทรงมีพระราชดำริส่วนพระองค์ในเรื่องการจัดทำฝนหลวง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยมีการค้นคว้าทดลองปฏิบัติการฝนหลวงขึ้น ซึ่งจะใช้สารเคมีโปรยในท้องฟ้า จนกระทั่งไอน้ำอิ่มตัวและกลั่นตัวออกมากลายเป็นเม็ดฝน
ในช่วง 70 ปีพระองค์ทรงเสด็จไปทั่วทุกหัวระแหงของแผ่นดินไทย แม้จะเป็นหนทางทุรกันดาร ทรงแก้ปัญหาเรื่องชาวเขาบนที่ราบสูงให้มีวิชาชีพทำกิน และทุกครั้งที่เสด็จไปยังดินแดนใดหน่วยงานแพทย์พระราชทานก็จะเสด็จไปดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ ด้วย
พระองค์ได้ชื่อว่าเป็นพระราชบิดาด้านชลประทาน เพราะพระองค์ทรงสนพระทัยด้านชลประทานมาตั้งแต่เยาว์วัย งานพระราชกรณียกิจที่ทรงงานเพื่อราษฎรส่วนใหญ่กว่าครึ่งหนึ่งจึงเป็นงานด้านการชลประทาน ทั้งนี้ตลอด 70 ปีที่ทรงครองราชย์ พระองค์ทรงมีโครงการพระราชดำริเป็นงานด้านการชลประทานกว่า 2,000 โครงการ
ในด้านการเมืองนั้น แม้พระองค์จะทรงอยู่เหนือการเมือง แต่เมื่อประชาชนเกิดความขัดแย้งและอาจนำประเทศไปสู่ความแตกแยกพระองค์ก็ลงมาแก้ปัญหาจนนำประเทศกลับไปสู่ความสงบสันติหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งทรงมีพระราชดำรัสเรียกวันดังกล่าวทางโทรทัศน์ว่า วันมหาวิปโยค ที่ทรงขอให้ทุกฝ่ายใช้สติยั้งคิดและระงับความรุนแรง รวมทั้งการพระราชทานรัฐบาลใหม่เพื่อเข้ามาคลี่คลายวิกฤตจนประเทศกลับสู่ความสงบ
รวมถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี นำพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรีจำลอง ศรีเมือง ผู้นำการประท้วงรัฐบาลเข้าเฝ้าฯ ทูลละอองธุลีพระบาท ทรงชี้แนะแนวทางแก้ปัญหาให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเข้าหากันจนเหตุการณ์คลี่คลายลง
โดยมีพระราชดำรัสแก่สองฝ่ายตอนหนึ่งว่า “..จะต้องเอาชนะแล้วก็ใครจะชนะไม่มีทางชนะอันตรายทั้งนั้นมีแต่แพ้คือต่างคนต่างแพ้ผู้ที่เผชิญหน้าก็แพ้แล้วที่แพ้ที่สุดคือประเทศชาติประชาชนจะเป็นประชาชนทั้งประเทศไม่ใช่ประชาชนเฉพาะในกรุงเทพมหานครเสียหาย ประเทศก็เสียหายทั้งหมดแล้วจะมีประโยชน์อะไรที่จะทะนงตัวว่าชนะเวลาอยู่บนกองสิ่งปรักหักพัง”
นอกจากเหตุการณ์ 2 ครั้งสำคัญนั้นแล้ว ในระยะหลังพระองค์ทรงเข้ามาคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองอีกหลายๆ ครั้ง จากการที่เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดและทรงทำงานต่อเนื่องตลอด 70 ปี จึงกล่าวได้ว่าพระองค์ทรงเป็นผู้ทรงงานเพื่อประเทศไทยมากที่สุดในประวัติศาสตร์ แม้ขณะทรงพระประชวรประทับในโรงพยาบาลพระองค์ก็ยังพระราชทานแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เสมอมา
แม้วันนี้พระองค์ทรงเสด็จสวรรคตอันนำความเศร้าเสียใจมาสู่ปวงชนชาวไทยอย่างใหญ่หลวงแล้ว แต่เชื่อว่ารากฐานที่พระองค์ทรงวางไว้แก่ประเทศชาติจะนำประเทศไทยไปสู่อนาคตที่มั่นคงได้อย่างแน่นอน
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan