xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ควรทำเพื่อเกษตรกรหรือเพื่อทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ตอนนี้กำลังมีข้อถกเถียงเรื่องร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ บอกตรงๆว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แม้จะพยายามอ่านเข้าใจข้อกฎหมายมาตราต่างๆก็ตามเพราะเป็นเรื่องทางเทคนิควิชาการเสียมาก ไม่ต้องพูดเลยว่า เกษตรกรซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากร่าง พ.ร.บ.นี้โดยตรงจะเข้าใจหรือไม่

โดยเฉพาะประเด็นที่มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทยได้ออกมาจุดประเด็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ตัดสิทธิของเกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ โดยตัดเนื้อหาใน มาตรา 33 (4) ของกฎหมายฉบับเดิมออก ซึ่งทำให้เกษตรกรที่เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่ออาจได้รับโทษถึงจำคุก โดยระบุว่า การผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญา UPOV1991 ตามแรงผลักดันของสหรัฐอเมริกา และบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่เป็นสำคัญ

อย่าลืมว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม และเกษตรกรคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ จนกล่าวกันด้วยความภาคภูมิใจว่าเราเป็นครัวของโลกเพราะประเทศเรามีพันธุ์พืชที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก

แต่กรมวิชาการเกษตรอ้างว่า ได้มีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปว่า เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่มีข้อห่วงกังวลต่อการที่จะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเองได้ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา ราคาเมล็ดพันธุ์ที่อาจจะสูงขึ้น และการกระทำผิด (ละเมิด) โดยไม่รู้ ซึ่งต่อมาภายหลังจากได้รับความรู้ เกี่ยวกับการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว เกษตรกรมีความเข้าใจและไม่คัดค้านการปรับปรุง แก้ไขกฎหมายดังกล่าว

และช่วงนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็นบนเว็บไซต์ และจะปิดรับฟังความเห็น ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ในสภาพความเป็นจริงของเกษตรกรไทยซึ่งเป็นผู้กระทบโดยตรงจะเข้าถึงขั้นตอนนี้ได้อย่างไร และการรับฟังความคิดเห็นในช่วงเวลาอันสำคัญนี้แหละที่ทำให้คนเขาสงสัยกันว่ามีเจตนาอย่างไร เพราะไม่มีใครอยากให้มีความขัดแย้งใดๆขึ้นในช่วงนี้

แต่เมื่อกลุ่มไบโอไทยออกมาเคลื่อนไหวก็จะถูกดิสเครดิตว่า เป็นพวกเอ็นจีโอ ซึ่งต้องยอมรับความเป็นจริงว่า เอ็นจีโอถูกทำให้มองว่าเป็นพวกที่ขัดขวางการพัฒนา ทั้งๆ ที่จริงแล้วกลุ่มไบโอไทยนี่แหละที่เป็นผู้ต่อสู้เพื่อปกป้องเกษตรกรไทยในเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น

กฎหมายฉบับนี้เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2538ในฐานะที่ไทยเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก และมีพันธกรณีตามความตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPs) ที่จะต้องอนุวัตการ(Implementation)กฎหมายภายในเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของนักปรับปรุงพันธุ์พืชและบริษัทเมล็ดพันธุ์ (Plant breeder’s right หรือ Plant varieties protection)โดยมีการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชเสนอต่อรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งมีสาระสำคัญตามแนวทางของสหภาพเพื่อคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV) ซึ่งให้การคุ้มครองสิทธิของนักปรับปรุงพันธุ์เฉพาะพันธุ์พืชใหม่เท่านั้น

แต่กลุ่มไบโอไทยเห็นว่าร่างดังกล่าวมิได้ให้การคุ้มครองพันธุ์พืชท้องถิ่นและทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) ซึ่งเป็นอนุสัญญาระหว่างประเทศที่รับรองสิทธิอธิปไตยของประเทศเหนือทรัพยากรชีวภาพ และให้การรับรองบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์ทรัพยากรชีวภาพมีผลบังคับใช้แล้ว จึงได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านทำให้การร่างกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยนำหลักการการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพมาใช้ ถือว่าเป็นประเทศแรกๆในโลกที่ผลักดันกฎหมายในลักษณะดังกล่าว

การต่อสู้ของบีโอไทยและเครือข่ายเกษตรกรในครั้งนั้นทำให้พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 เป็นการประนีประนอม ร่างขึ้นโดยหลัก Sui Generis (เอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละประเทศ) ภายใต้ WTO โดยด้านหนึ่งเป็นการให้สิทธินักปรับปรุงพันธุ์ ซึ่งนักปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ บริษัทเอกชนและรัฐบาลประเทศอุตสาหกรรมเรียกร้อง กับการรับรองสิทธิเกษตรกรในการเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ สิทธิของชุมชนเกี่ยวกับพันธุ์พืชพื้นเมือง และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการบริหารกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นการสร้างสมดุลระหว่างการให้แรงจูงใจแก่นักปรับปรุงพันธุ์/บริษัทเมล็ดพันธุ์ กับ การคุ้มครองเกษตรกรและชุมชนในการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นหลักประกันเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542ฉบับนี้จึงเป็น พ.ร.บ.ที่บรรษัทที่พัฒนาพันธุ์พืชขนาดใหญ่ไม่สบประโยชน์และต้องการทำลายมาตลอด

แต่กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นคนเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่อ้างว่า ตัวบทกฎหมายตามพระราชบัญญัตินี้ ได้ผูกโยงระบบการคุ้มครองดังกล่าวทั้งหมดเข้าด้วยกัน เมื่อบังคับใช้กฎหมายมาสักระยะหนึ่งพบว่า มีข้อติดขัดทั้งในด้านกระบวนการปฏิบัติงานและการบังคับ ใช้กฎหมาย นอกจากนี้ กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังขาดสาระสำคัญบางประการทำให้ไม่สามารถให้ความคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชได้อย่างเพียงพอ มีบางข้อที่จำกัดโอกาสการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชใหม่ๆ อีกทั้ง ไม่ส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนได้อนุรักษ์พัฒนาและใช้ประโยชน์พันธุ์พืชของชุมชน รวมถึงเป็นอุปสรรคต่อการวิจัย และพัฒนาที่ใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปและพันธุ์พืชป่า และไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ส่งผลให้ไม่ส่งเสริมศักยภาพด้านการแข่งขันการลงทุนและการวิจัยและพัฒนาของประเทศเท่าที่ควร ดังนั้นจึงเห็นสมควรปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน โดยคงไว้ซึ่งเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ทุกประการ

นอกจากนั้นยังบอกว่า เกษตรกรผู้ค้าผู้ปลูก มีทางเลือกมากขึ้นในการเลือกชนิดพืชและพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่เหมาะสมใช้ เพาะปลูกตามความต้องการ ทำให้ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพของผลผลิตให้ ได้รับ ผลตอบแทนสูงขึ้น อาชีพเกษตรกรผู้รับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ (พืชไร่และผัก) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ให้เกษตรกร นอกจากนี้ เกษตรกรจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ทันสมัยไปด้วย โดยที่ เกษตรกรยังสามารถใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองและเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกได้เองตามปกติส่วนพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับการจดทะเบียนคุ้มครอง เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกในพื้นที่ของตนเองได้ตาม สิทธิพิเศษสำหรับเกษตรกรที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของร่างพระราชบัญญัติฯ โดยอ้างด้วยว่าได้ชี้แจงให้เกษตรกรรายย่อยเข้าใจแล้ว

แต่ไม่ได้ตอบคำถามเรื่องข้อห่วงใยของบีโอไทยที่บอกว่า หากเกษตรกรเก็บรักษาพันธุ์พืชใหม่ไปปลูกต่อ โดยตัดเนื้อหาใน มาตรา 33 (4) ของกฎหมายฉบับเดิมออก ซึ่งทำให้เกษตรกรที่เก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่ออาจได้รับโทษถึงจำคุก เพียงแต่กรมวิชาการเกษตรอ้างดังข้างบนว่า เกษตรกรยังสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพาะปลูกในพื้นที่ของตนเองได้ตาม สิทธิพิเศษสำหรับเกษตรกรที่กำหนดไว้ในมาตรา 35 ของร่างพระราชบัญญัติฯ โดยอ้างด้วยว่าได้ชี้แจงให้เกษตรกรรายย่อยเข้าใจแล้ว

ทีนี้ไปดูว่ามาตรา33(4)กฎหมายเดิมปี2542เขียนไว้อย่างไร และไปดูมาตรา35ในร่างกฎหมายใหม่ที่กรมวิชาการเกษตรอ้างถึงเขียนไว้อย่างไร

พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 มาตรา33(4)(4) การเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองโดย เกษตรกรด้วยการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิต แต่ในกรณีที่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกาศให้พันธุ์พืชใหม่ นั้นเป็นพันธุ์พืชที่ควรส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูก หรือขยายพันธุ์ได้ไม่เกินสามเท่าของปริมาณที่ได้มา

ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ มาตรา35 เขียนว่า เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สําหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครองเกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอํานาจออกประกาศกําหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจํากัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้

จะเห็นว่า เนื้อหาในมาตราทั้งสองนั้นมีความแตกต่างกันมาก

โดยมูลนิธิชีววิถี ออกแถลงโต้ครั้งนี้โดยระบุว่า การอ้างว่าเกษตรกรยังคงเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พืชไปปลูกในแปลงของตนได้นั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากแม้ในร่างพ.รบ.มาตรา 35 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ระบุข้อความว่า "เพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูกหรือขยายพันธุ์สำหรับพันธุ์พืชใหม่ที่ได้รับความคุ้มครอง เกษตรกรมีสิทธิในการใช้ส่วนขยายพันธุ์ที่ตนเองเป็นผู้ผลิตในพื้นที่ของตนเอง" แต่กลับเพิ่มเงื่อนไขสำคัญต่อท้ายว่า "เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้"

ทั้งนี้ หากเกษตรกรปลูกพันธุ์พืชใหม่ตามประกาศข้างต้นแล้วเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อ หรือแจกจ่ายแก่เพื่อนบ้านจะมีความผิดตามร่าง พ.ร.บ.มาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนที่มาของกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชซึ่งมีอำนาจในการประกาศฯ กฎหมายฉบับเดิมกำหนดให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 12 คน (โดยมีเกษตรกรอย่างน้อย 6 คน) มาจากการเสนอชื่อ/คัดเลือกกันเอง แต่ในร่างกฎหมายนี้ (มาตรา 6) กลับให้มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด สะท้อนการรวบอำนาจในมือของบุคคลบางกลุ่มที่เสนอยกเลิกกฎหมายเดิมและร่างกฎหมายฉบับนี้

นอกจากนั้นยังมีเรื่องการขยายสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น ขยายระยะเวลาการผูกขาดพันธุ์พืช แต่เดิมพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี และพืชที่ให้ผลผลิตตามลักษณะประจำพันธุ์ได้หลังจากปลูกจากส่วนขยายพันธุ์ในเวลาเกินกว่า 2 ปีให้การคุ้มครอง 12 ปีและ 17 ปีตามลำดับนั้น ในมาตรา 31 ของร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ขยายระยะเวลาออกไปเป็น 20 ปี ส่วนไม้เถายืนต้น (เช่น องุ่น) ให้มีระยะเวลา 25 ปี

ดังนั้นผมจึงคิดว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่กระทบกับวิถีชีวิตของคนไทยต้องใช้การพิจารณาอย่างรอบคอบหลังจากพ้นห้วงเวลาสำคัญนี้ไปเสียก่อน รัฐบาลเองก็ถูกกล่าวหาว่า ถูกครอบงำด้วยกลุ่มทุนใหญ่ด้านการเกษตร แม้จะมีเจตนาที่ดีไม่ได้เป็นไปอย่างที่ถูกกล่าวหาก็ควรจะยืดเวลาออกไป เพื่อเคลียร์ข้อครหาทั้งหมดเสียก่อน

และเมื่อเป็นเรื่องสำคัญที่ยากแบบนี้รัฐบาลควรจะเปิดเวทีให้นักวิชาการและผู้ได้รับผลกระทบที่เห็นด้วยและเห็นต่างเพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา และชั่งน้ำหนักว่าเราจะทำกฎหมายฉบับนี้เพื่อปกป้องนักปรับปรุงพันธุ์พืชหรือเกษตรกรไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น