xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยความล้มเหลวของทุนนิยมเสรี (2)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

<b>ภาพเหตุการณ์ชาวกาตาลุญญาโหวตแยกตัวปะทะตำรวจสเปน</b>
การลุกฮือขึ้นเป็น “กบฏ” ต่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมในสเปน โดยมีแคว้นกาตาลุญญา หรือมีเมือง “บาร์เซโลนา” เป็นเมืองหลวงของพวก “อนาคิสต์” นั้น ได้ทำให้เกิดการเข่นฆ่า ล้างผลาญ ในหมู่ชาวสเปนด้วยกันเอง หนักซะยิ่งกว่ายุค “ทศวรรษแห่งความมืดมน” หรือยุค “สปป.ล้าแล้วนา” ในบ้านเราประมาณร้อยเท่า พันเท่า เอาเลยก็ว่าได้ คือถึงขั้นทำให้เกิด “สงครามกลางเมืองในสเปน” (Spanish Civil War) ขึ้นมาในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1936-1939 ผู้คนแต่ละฝ่ายล้มตายกันไปไม่น้อยกว่า 300,000-1,000,000 คน ตลอดช่วงระยะที่เกิดสงคราม...

และแม้ว่าพวกเผด็จการฟาสซิสต์ของ “นายพลฟรังโก” (Francisco Franco) จะสามารถเอาชนะพวกอนาคิสต์ลงไปได้ในยกสุดท้าย หลังจากใช้กำลังบุกเข้ายึดเมืองบาร์เซโลนาได้ในปี ค.ศ. 1939 แต่ “เชื้อกบฏ” ก็ยังมิได้สูญสลายหายไปง่ายๆ ตลอดช่วงเกือบ 3 ทศวรรษในยุคเผด็จการฟาสซิสต์ ยังเกิดการปะทะด้วยอาวุธระหว่างรัฐบาลกับพวกกองโจรใต้ดินเกือบ 2,000 ครั้ง เกิดการก่อวินาศกรรมไม่ต่ำกว่า 500 ครั้ง พวกกองโจรยังถูกสังหารไปอีกกว่า 2,000 คน ส่วนพวกแนวร่วมถูกกวาดจับไปไม่น้อยกว่า 200,000 ราย...

โดยเฉพาะในแคว้นคาตาลัน อันเป็นฐานบัญชาการสำคัญของพวกอนาคิสต์ “เชื้อกบฏ” ได้ถูกฝังรากลึกชนิดไม่อาจรักษาให้หายขาดได้ง่ายๆ เรียกว่า...ตลอดช่วง 3 ปีที่ต้องสู้กับเผด็จการของนายฟรังโก ระบบเศรษฐกิจกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของแคว้นนี้ ได้ถูกแปรสภาพให้กลายเป็นเศรษฐกิจแบบอนาคิสต์ หรือที่เรียกว่า “สังคมนิยมคนงาน” (Anarco-Syndicalism) แบบทั้งแท่ง ทั้งด้าม ซึ่งโดยลักษณะรูปแบบ เนื้อหา มันจะเป็นไปในแนวไหนนั้น ลองไปฟังบรรยากาศที่อดีตนักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษ คือ “นายจอร์จ ออร์เวลล์” (George Orwell) แกเคยได้บรรยายไว้ในหนังสือเรื่อง “Homage to Catalan” ขณะมีโอกาสแวะผ่านเมืองอารากอน ในแคว้นคาตาลัน ช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองในสเปนพอดิบ พอดี...
<b>นายจอร์จ ออร์เวลล์ อดีตนักเขียนชาวอังกฤษ</b>
“จอร์จ ออร์เวลล์” เล่าไว้ว่า... “นี่เป็นครั้งแรก ที่ผมได้มีโอกาสพบเห็นชุมชนซึ่งไม่มีที่แห่งใดในยุโรปจะเสมอเหมือน เมืองทั้งเมืองถูกควบคุมด้วยชนชั้นแรงงาน ทุกๆ อาคาร สถานที่ ถูกยึดครองโดยคนงาน และถูกประดับธงสีแดง หรือดำ อันเป็นสัญลักษณ์ของพวกอนาคิสต์ กำแพงแทบทุกแห่งถูกเขียนเป็นรูปค้อน-เคียว และสัญลักษณ์การปฏิวัตินานาชนิด ทุกๆ ร้านค้า หรือคาเฟ่ มีคำประกาศแสดงไว้เด่นชัดว่าเป็นของส่วนรวม แม้แต่ร้านรองเท้าก็ตาม จะทาสีแดง หรือดำ เอาไว้ที่กล่องหน้าร้าน บริกรและคนดูแลร้าน จะให้บริการแก่ทุกๆ คนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน โปสเตอร์เกี่ยวกับการปฏิวัติถูกติดไว้ทั่วทุกหนแห่ง ส่องประกายสีแดง น้ำเงินสดใส ออกจากผนังกำแพง ขณะที่โปสเตอร์โฆษณาสินค้าต่างๆ เมื่อครั้งอดีตดูหมองคล้ำเหมือนถูกฉาบด้วยโคลน ที่จัตุรัสกลางเมืองเต็มไปด้วยฝูงชน ที่ส่งเสียงพูด อภิปราย หรือร้องเพลงปฏิวัติตลอดทั้งวัน ทั้งคืน ส่วนในชนบท...ชาวนาได้ครอบครองที่ดินและนำมาแจกจ่ายกันโดยถ้วนหน้า หลายต่อหลายแห่งที่ดินแต่ละผืนตกเป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวม บริหารโดยคอมมูนพวกอนาคิสต์ในเมืองเมมบรีญา (Membrilla) อธิบายกับผมว่า คอมมูนเหล่านั้นบริหารโดยคนท้องถิ่น รัฐไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย ทรัพย์สมบัติส่วนตัวไม่มีต่อไปอีกแล้ว อาหารทั้งหมด เสื้อผ้า และเครื่องมือต่างๆ ถูกนำมาจ่ายแจกอย่างเท่าเทียมกัน เงินกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป แรงงานเป็นของส่วนรวม ทรัพย์สินเป็นของส่วนรวม สินค้าแต่ละชนิดถูกแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชนต่อชุมชน ไวน์ประมาณ 3 ลิตร ถูกแจกจ่ายให้กับทุกคนในแต่ละสัปดาห์ ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของฟรีทั้งสิ้น...ฯลฯ”
กำลังโหลดความคิดเห็น