อาจารย์กิตติพงศ์ บุญเกิด
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 ตุลาคม คือวันคานธีชยันตี วันสำคัญแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ด้วยเป็นวันคล้ายวันเกิดของนายโมหัสทาส กรัมจันท์ คานธี บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญสูงสุดในการนำพาอินเดียไปสู่อิสรภาพ ให้กำเนิดอินเดียใหม่ ผู้พยายามรวบรวมจิตใจชาวอินเดียทั้งหลายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ด้วยความรักและเคารพยิ่งต่อบุคคลผู้นี้ ประชาชนชาวอินเดียจึงเรียกขานท่านอย่างให้เกียรติว่า บาปู จี बापू जी แปลว่า คุณพ่อ หรือ ราษฏระ ปิตา राष्ट्रपिता แปลว่า บิดาแห่งชาติ และสมญานามที่ท่านได้รับอันเป็นที่รู้จักกว้างขวางไปทั่วโลกคือ มหาตมาคานธี महात्मा गांधी แปลว่า คานธีผู้มีจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ (ผู้เขียนเจตนาสะกดตามรูปเดิมในภาษาฮินดีว่า มหาตมา มิใช่ มหาตมะ ดังที่นิยมทั่วไปในภาษาไทย) รัฐบาลอินเดียกำหนดให้วันคานธีชยันตีเป็นวันหยุดราชการทั่วประเทศ ในวันนี้องค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและประชาชนจะจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเพื่อรำลึกถึงคุณูปการของท่านมหาตมาคานธีขึ้นทั่วไปในรูปแบบต่างๆ มีการแสดงความเคารพต่ออนุสาวรีย์มหาตมาคานธี การแสดงปาฐกถา การจัดนิทรรศการ เป็นต้น
สัตยะ-อหิงสา คือการยึดมั่นในความจริง และการไม่เบียดเบียน เป็นหลักปรัชญาสำคัญสองประการที่มหาตมาคานธียึดถือเสมอมาทั้งในการดำเนินชีวิตและในกระบวนการต่อสู้เรียกร้องเอกราช ผลสำเร็จแห่งการใช้อาวุธเพียงสองชนิดนี้เพื่อไปสู่แบบอย่างแห่งการดำเนินชีวิตตามอุดมคตินั้น ได้ปรากฏเป็นที่ประจักษ์แล้วแก่ประชาคมโลก จนในที่สุดเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2007 สหประชาชาติได้มีมติให้วันคานธีชยันตี 2 ตุลาคม เป็น วันอหิงสาสากล (International day of Non-Violence)
เรื่องราวชีวประวัติของมหาตมาคานธีเป็นที่รู้จักแพร่หลายในสังคมไทยบ้างพอสมควรแล้ว ดังปรากฏอยู่ในรูปเอกสารทางวิชาการและสารคดีอันหาได้ทั่วไป ผู้เขียนจะไม่แสดงซ้ำในที่นี้
มักกล่าวกันว่าหลักการสัตยะ-อหิงสา ของมหาตมาคานธีมีที่มาจากคำสอนในศาสนาฮินดู เพราะคานธีกำเนิดในครอบครัวชาวฮินดูสายไวษณพนิกายในรัฐคุชราต มีมารดาเป็นผู้เคร่งครัดคำสอนและธรรมเนียมปฏิบัติทางศาสนา คัมภีร์ทางศาสนา เช่น ปุราณะ รามายณะ มหาภารตะ ภควัทคีตา และคำสอนของศาสนาไชนะ หรือเชน ศาสนาที่รุ่งเรืองอยู่ในแคว้นคุชราต ตลอดจนนิทานโบราณต่างๆ ทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อความคิดของคานธีตั้งแต่วัยเด็ก ครั้งหนึ่งท่านได้ชมการแสดงเรื่อง ‘ราชาหริศจันทร์’ อันมีเรื่องราวที่น่าประทับใจถึงกับทำให้ท่านน้ำตาไหล คานธีได้กล่าวไว้ในหนังสือ ข้าพเจ้าทดลองความจริง หนังสืออัตชีวิตประวัติของท่านว่า ‘บทบาทของราชาหริศจันทร์ได้เข้าสิงในตน ทำให้ต้องประพฤติอย่างราชาหริศจันทร์ไม่รู้อีกกี่ครั้ง’
ราชาหริศจันทร์คือใคร ราชาหริศจันทร์คือกษัตริย์ในตำนานอินเดียโบราณผู้มีชื่อปรากฏอยู่ในคัมภีร์หลายฉบับ เช่น ไอตเรยะ พราหมณะ, มหาภารตะ, มารกัณเฑยะ ปุราณะ ตลอนจนในนิทานท้องถิ่นมากมาย โดยมีชื่อเสียงว่าเป็นผู้รักษาวาจา ถือคำสัตย์โดยเคร่งครัด จึงมีสมญานามว่า สัตยวาทีหริศจันทร์ แปลว่า ราชาหริศจันทร์ผู้ถือสัตย์ ตำนานเรื่องราชาหริศจันทร์มีปรากฏอยู่แตกต่างกันหลายสำนวน ต่างสำนวนต่างให้รายละเอียดไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตามเรื่องราวที่จะแสดงต่อไปนี้คือสำนวนในนิทานบอกเล่าภาษาฮินดีที่ผู้เขียนพบว่ามีความนิยมแพร่หลายกว้างขวางในสังคมอินเดียปัจจุบัน มีเรื่องราวว่า...
ในสัตยุค มีกษัตริย์แห่งสุริยวงศ์องค์หนึ่งนามว่า ราชาหริศจันทร์ ปกครองเมืองอโยธยา เป็นผู้ซื่อตรงมั่นคงในสัตย์อย่างยิ่งหาเสมอมิได้ รักษาวาจา กล่าวคำไหนถือเป็นคำนั้น พระมเหสีของพระองค์นามว่า รานีไศวยา และพระโอรสโรหิตาศวะก็ถือมั่นคงในความสัตย์ดุจเดียวกัน กิตติศัพท์นี้ระบือไปทั่วทุกทิศ ทำให้ฤาษีวิศวามิตรต้องการจะพิสูจน์ว่า หากเผชิญกับความยากลำบากถึงที่สุดแล้วราชาหริศจันทร์ยังจะดำรงตนมั่นคงอยู่ในสัตย์อีกต่อไปหรือไม่
ฤาษีวิศวามิตรจึงดลใจให้ราชาหริศจันทร์ฝันไปว่า ได้มอบราชอาณาจักรตลอดจนทรัพย์สมบัติทั้งสิ้นให้แก่ฤาษีวิศวามิตรไปแล้ว ครั้นตื่นบรรทมราชาหริศจันทร์จึงกำหนดในพระทัยว่า เมื่อตนได้มอบราชสมบัติทั้งสิ้นให้แก่ฤาษีวิศวามิตรไปแม้ในความฝันก็ตาม ตนก็ไม่มีสิทธิครอบครองราชสมบัติเหล่านี้อีก รุ่งเช้าวันนั้นเองฤาษีวิศวามิตรได้เดินทางมาถึงราชสภาแห่งนครอโยธยาเพื่อทวงขอราชสมบัติ ราชาหริศจันทร์ก็ยินดียกให้ในทันที เมื่อนครอโยธยมิใช่ของตนอีกต่อไปจึงไม่อาจอาศัยอยู่ในเขตแคว้นนี้ได้ จึงพารานีไศวยาและพระโอรสโรหิตาศวะเดินทางออกไปจากพระนครมุ่งหน้าไปยังเมืองพาราณสี เหตุที่ราชาหริศจันทร์เลือกเดินทางไปอาศัยในนครพาราณสีนั้นก็ด้วยมีความเชื่อว่า พาราณสีเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่บนยอดตรีศูลของพระศิวะ จึงถือว่ามิได้ขึ้นอยู่กับอโยธยา ดังนั้นจึงเป็นที่อาศัยของพระองค์ได้
ครั้นเริ่มเดินทางออกจากนครอโยธยา ฤาษีวิศวามิตรได้รั้งไว้และทวงถามให้มอบทักษิณา ตามธรรมเนียมที่ต้องมอบทักษิณาแด่พราหมณ์ภายหลังจากการทำบุญทาน หรือประกอบพิธีกรรม แต่ราชาหริศจันทร์ ผู้ไร้สมบัติใดติดตัวได้ขอผัดผ่อนโดยให้สัญญาว่า เมื่อเดินทางถึงพาราณสีแล้วจะหาทางส่งทักษิณากลับมา ราชาหริศจันทร์จำต้องขายภรรยาและบุตรไปเป็นทาสพราหมณ์ และขายตนเองเป็นทาสจัณฑาล จึงรวบรวมเงินเพียงพอเป็นทักษิณามอบให้แก่ฤาษีวิศวามิตรดังที่ได้ให้วาจาไว้
ราชาหริศจันทร์ เมื่อตกเป็นทาสจัณฑาลแล้วก็ต้องทำงานทุกอย่างตามที่นายสั่ง ได้รับหน้าที่ให้ดูแลสถานที่เผาศพ ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา คอยเก็บค่าธรรมเนียมทำศพส่งให้นายของตน จำต้องพลัดพรากจากรานีไศวยาและพระโอรสที่ตกเป็นทาสทำงานรับใช้ในเรือนพราหมณ์ อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่รานีไศวยากำลังไปตักน้ำ โรหิตาศวะที่นั่งรออยู่ข้างบ่อน้ำถูกงูกัดเสียชีวิต ราศีไศวยาร้องไห้คร่ำครวญเจียนจะขาดใจ อุ้มศพบุตรชายมาถึงริมฝั่งแม่น้ำคงคา เมื่อพบกับชายชราแก้มตอบผิวพรรณเหี่ยวแห้งทำหน้าที่สัปเหร่อเฝ้าที่เผาศพก็จำได้ว่าคือราชาหริศจันทร์ พระสวามีของนางนั่นเอง จึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นและขอร้องให้ช่วยจัดการเผาศพลูก สัตยวาทีหริศจันทร์ ผู้ถือมั่นในสัตย์แม้จะเสียใจที่เห็นความตายของลูก แต่ยังรักษาหน้าที่ของตนอย่างเข้มแข็งโดยกล่าวว่า บัดนี้ตนเป็นทาสของนายจัณฑาลแล้ว มีหน้าที่เก็บค่าธรรมเนียมเผาศพ หากต้องการเผาศพลูกชายก็ต้องชำระค่าธรรมเนียมมาก่อน
รานีไศวยาจะมีทรัพย์สินใดติดตัวอีกเล่านอกจากผ้านุ่งเก่าๆ ที่ห่มอยู่นั่นเอง เมื่อสัปเหร่อราชาหริศจันทร์ ยืนกรานอย่างนั้นนางจึงจำยอมต้องเปลื้องผ้าแล้วมอบเป็นค่าธรรมเนียมทำศพไป ทันใดนั้นเอง เทวดาองค์หนึ่งนามว่า ธรรมราช ได้มาปรากฏองค์พร้อมกับฤาษีวิศวามิตรเพื่อเฉลยว่าทั้งหมดเป็นแผนการทดสอบจิตใจว่าราชาหริศจันทร์จะดำรงรักษาสัตย์อยู่อีกหรือไม่หากต้องเผชิญกับความยากลำบากถึงที่สุด และบัดนี้ถือว่าราชาหริศจันทร์ผ่านการทดสอบแล้ว นายจัณฑาลคือเทวดาธรรมราชแปลงมานั่นเอง จึงช่วยชุบชีวิตให้พระโอรสโรหิตาศวะฟื้นขึ้น
เมื่อฤาษีวิศวามิตรขอมอบราชสมบัติเดิมคืนให้ ราชาหริศจันทร์ยังยืนกรานปฏิเสธ โดยถือว่าตนไม่อาจรับคืนราชสมบัติที่สละลงแล้ว ฤาษีวิศวามิตรจึงมอบราชสมบัติให้แก่พระโอรสโรหิตาศวะครองราชย์สืบไป ส่วนราชาหริศจันทร์และรานีไศวยานั้นขอไปบำเพ็ญพรตอยู่ในป่า ครั้นสิ้นอายุขัยแล้วก็ได้เข้าถึงไวกูณฐโลก สวรรค์ของพระวิษณุ
ผู้เขียนเชื่อว่าตำนานเรื่องสัตยวาทีหริศจันทร์ ราชาผู้มั่นคงในสัตย์ ดังที่แสดงมานี้ ตลอดจนอิทธิพลจากคำสอนทางศาสนาที่คานธีได้รับมาในวัยเยาว์นั้นคงเป็นส่วนหนึ่งในแร่ธาตุสารอาหารสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้เมล็ดพันธุ์แห่งสัตยะ-อหิงสา เติบโตขึ้นในจิตใจอันยิ่งใหญ่ของคานธีผู้มีจิตวิญญาณอันยิ่งใหญ่ ผู้เป็นตำราเรียนแห่งสัตยะ-อหิงสาที่เคยมีชีวิตอยู่จริงในโลก เนื่องในวันคานธีชยันตี และวันอหิงหาสากล 2 ตุลาคม จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ช่วยกันกลับมาทบทวนตำราอันว่าด้วยสัตยะ-อหิงสาของมหาตมาคานธีให้เข้าใจอีกครั้ง