xs
xsm
sm
md
lg

ซื้อขายที่ดินวัด : ธุรกิจบาปผิดวินัยและกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ของ 5 อย่างที่สงฆ์หรือคณะ หรือบุคคลจะสละให้ใครๆ ไม่ได้ แม้สละแล้วก็ไม่เป็นอันสละ ผู้สละ (หรือยกให้) ต้องอาบัติถุลลัจจัยคือ 1. วัดและที่ตั้งวัด 2. วิหารและที่ตั้งวิหาร (หมายถึงกุฎีที่อยู่ทั่วไป) 3. เตียง ตั่ง ฟูก หมอน 4. เครื่องใช้โลหะคือหม้อโลหะ อ่างโลหะ กระถางโลหะ กระทะโลหะ มีดใหญ่หรือพร้าโต ขวาน ผึ่งสำหรับถากไม้ จอบหรือเสียม สว่านสำหรับเจาะไม้ (สิ่วก็อยู่ในข้อนี้) 5. เถาวัลย์ เช่น หวายไม้ไผ่ หญ้ามุงกระต่าย หญ้าปล้อง หญ้าสามัญ ดินเหนียว ของทำด้วยไม้ ของทำด้วยดินเผา (ที่ห้ามนี้คือห้ามมิให้เอาของสงฆ์ไปเป็นของบุคคล)

ต่อมาที่ดินของวัดได้เพิ่มขึ้นอีก 2 ประเภทคือ

1. ที่ธรณีสงฆ์ อันได้แก่ที่ดินซึ่งผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้แก่วัดเพื่อนำไปจัดหาผลประโยชน์มาบำรุงวัดเช่น ให้เช่า เป็นต้น

2. ที่กัลปนาสงฆ์ อันได้แก่ที่ดินซึ่งผู้มีจิตศรัทธาอุทิศผลประโยชน์อันเกิดจากที่ดินให้แก่วัด แต่ไม่ได้มอบกรรมสิทธิ์ถือครองให้แก่วัด

เมื่อรวมกับที่ตั้งวัดแล้ว วัดมีที่ดิน 3 ประเภท และทั้ง 3 ประเภทนี้ทางวัดโดยภิกษุรูปเดียวหรือรวมกันเป็นสงฆ์ จะสละให้ใครๆ ไม่ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากมีพระวินัยห้ามแล้ว ยังมีพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ได้มีบทบัญญัติเดียวกับที่ดินวัดถึง 3 มาตราคือ

มาตรา 33 ที่วัดและที่ขึ้นต่อวัดมีดังนี้

1. ที่วัดคือ ที่ซึ่งตั้งวัดตลอดจนเขตของวัดนั้น

2. ที่ธรณีสงฆ์คือ ที่ซึ่งเป็นสมบัติของวัด

3. ที่กัลปนาคือ ที่ซึ่งมีผู้อุทิศแต่ผลประโยชน์ให้วัดหรือพระศาสดา

มาตรา 34 การโอนกรรมสิทธิ์ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์หรือที่ศาสนสมบัติส่วนกลางให้กระทำได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ เว้นแต่การกระทำตามวรรคสอง

การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินวัด ที่ธรณีสงฆ์หรือที่ศาสนสมบัติส่วนกลางให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ เมื่อมหาเถรสมาคมไม่ขัดข้อง และได้รับค่าผาติกรรมจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานนั้นแล้วให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาห้ามมิให้บุคคลใดยกอายุความขึ้นต่อสู้กับวัด หรือกับกรมการศาสนาแล้วแต่กรณีในเรื่องทรัพย์สิน อันเป็นที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ หรือที่ศาสนสมบัติส่วนกลาง

มาตรา 35 ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์ และศาสนสมบัติส่วนกลาง เป็นทรัพย์ซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี

ถ้าพิจารณาจากบทบัญญัติแห่งพระวินัยและกฎหมายดังกล่าวข้างต้นแล้ว ที่ดิน และทรัพย์สินของวัดอื่นใดที่พระวินัย และกฎหมายคุ้มครองคงจะอยู่รอดปลอดภัย ปราศจากการเบียดบังไปเพื่อประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง

แต่ในความเป็นจริง ในยุคที่สังคมไทยถูกครอบงำด้วยกระแสวัตถุนิยม คนไทยส่วนหนึ่งเข้าวัดด้วยศรัทธาอาศัย และถ้าบังเอิญไปพบพระประเภทเดียวกัน ก็จะร่วมมือกันนำทรัพย์สินของวัดเช่นที่ธรณีสงฆ์ไปดำเนินการในเชิงพาณิชย์เพื่อแสวงหาประโยชน์แก่ตนเอง และพวกพ้อง โดยไม่สนใจว่าจะผิดพระวินัยและผิดกฎหมายหรือไม่อย่างไร ดังที่ได้เกิดขึ้นในกรณีของที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร ตำบลประจวบคีรีขันธ์ อำเภอประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนถึงขั้นมีการฟ้องร้องดำเนินคดีมีผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องโทษจำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา และในขณะนี้ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร ย้อนหลังเป็นการแก้ความผิดที่เกิดขึ้นแล้วให้ถูกต้อง โดยอ้าง “เมื่อคุ้มครองสิทธิและแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชน ซึ่งครอบครองที่ดินอยู่ในขณะนี้”

ที่ธรณีสงฆ์วัดธรรมิการามวรวิหาร มีความเป็นมาอย่างไร และเหตุใดจึงเกิดปัญหาขึ้น และควรจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร?

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นแห่งปัญหา ผู้เขียนใคร่ขอนำเรื่องนี้มาเล่าพอเป็นสังเขปโดยสรุปเป็นประเด็นดังนี้

1. ความเป็นมา

นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินโฉนดเลขที่ 20 ตำบลคลอง ซอยที่ 5 ฝั่งตะวันออก อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 730 ไร่ 1 งาน 51 ตารางวา และโฉนดที่ดินโฉนดเลขที่ 1446 ตำบลบึงอ้ายเสียบ (คลองซอยที่ 5 ฝั่งตะวันออก) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ 194 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา ให้แก่วัดธรรมิการามวรวิหาร

2. เหตุแห่งปัญญา

เมื่อนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ถึงแก่กรรมที่ดินก็ตกเป็นของวัดตามที่พินัยกรรมระบุไว้ และจะต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของวัด

แต่ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 84 การได้มาซึ่งที่ดินของวัดวาอาราม วัดบาทหลวงโรมันคาทอลิก มูลนิธิเกี่ยวกับคริสตจักรหรืออิสลาม ต้องได้รับอนุญาตจากนายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีมหาดไทยในขณะนั้น ไม่อนุญาต (ทั้งที่จะอนุญาตก็ได้ตามความในวรรคสองของมาตรา 84) ให้วัดธรรมิการามวรวิหารถือครองที่ดินเกิน 50 ไร่ ตามความในวรรคแรกของมาตรา 84 จึงได้มีการโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย และได้ขายให้กับบริษัทเอกชนไปพัฒนาเป็นสนามกอล์ฟและที่อยู่อาศัยแสวงหากำไรในเชิงธุรกิจ และต่อมาได้มีการร้องเรียน ป.ป.ช.ดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องการโอนที่ธรณีสงฆ์ ซึ่งกระทำไปโดยขัดต่อมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และศาลอาญาแผนกคดีทุจริต และประพฤติมิชอบได้พิพากษาลงโทษผู้ถูกกล่าวหาไปแล้วเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยการจำคุก 2 ปีไม่รอลงอาญา ดังที่เป็นข่าวไปแล้ว

3. แนวทางแก้ไข

การออกกฎหมายเพื่อแก้ไขความผิดย้อนหลัง โดยการโอนที่ธรณีสงฆ์ให้แก่มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย จึงเท่ากับนิรโทษกรรมไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลในสายตาประชาชน ในแง่ของการปราบปรามการทุจริต

ทางที่ดีแทนที่จะออกกฎหมายเพื่อโอนที่ให้แก่มูลนิธิ ควรจะแก้ไขโดยการให้รัฐมนตรีมหาดไทยอาศัยอำนาจตามมาตรา 84 วรรคสอง อนุญาตวัดธรรมิการามวรวิหารถือครองได้เกิน 50 ไร่แล้วทำนิติกรรมโอนที่ดินให้แก่วัด ส่วนผู้ประกอบธุรกิจและผู้อยู่อาศัยในที่ดินของวัดก็ให้ทำสัญญาเช่าระยะยาวกับวัด ในทำนองเดียวกันกับเช่าที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์สำหรับผู้ที่จ่ายเงินซื้อที่ดิน และบ้านไปก่อนหน้านี้ก็ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้ขายอีกทอดหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น