xs
xsm
sm
md
lg

เข็นกฎหมายอีอีซีเข้าสภา คสช.ลดแหลกแจกแถม

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสนช.ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ ในวาระแรก ขั้นรับหลักการเมื่อวันที่ 1 กันายนที่ผ่านมา วันที่ 28 กันยายนนี้ก็ถึงคิวร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกจะเข้าสู่การพิจารณาในวาระแรกของ สนช.

กฎหมายทั้งสองฉบับมีความสำคัญอย่างมาก เป็นเครื่องมือที่รัฐบาล คสช.หมายมั่นปั้นมือว่า จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง มีการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างยั่งยืน

ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาการกำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจ จะเป็นเครื่องมือ ปรับปรุง ปฏิรูป การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ส่วนร่าง พ.ร.บ.พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซีเป็นกฎหมายที่จะสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่ประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ด้วยการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร สิทธิในการเช่าที่ดิน การปรับปรุงขั้นตอนการติดต่อขออนุญาตจากทางราชการให้เป็นแบบ วันสต็อป เซอร์วิส ฯลฯ

รัฐบาลหวังว่าการลงทุนของต่างชาติในอีอีซี จะช่วยฉุดประเทศไทยให้พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง เป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้สูง มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี อย่างต่อเนื่อง เหมือนโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด ที่ขับแคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวขึ้นเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ในช่วงที่นักลงทุนญี่ปุ่นคณะใหญ่ 500 กว่าบริษัทมาเยือนประเทศไทย เมื่อสองสัปดาห์ก่อน และได้เข้าพบกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องหนึ่งที่เป็นความกังวลของนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักที่ไทยต้องการให้มาลงทุนในอีอีซี คือ หลักประกันในการมาลงทุน

พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่า หลักประกันที่ทางไทยจะให้กับนักลงทุนคือ กฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ซึ่งไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ก็จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้

ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กำหนดอุตสาหกรรมที่จะอยู่ในอีอีซี คือ อุตสาหกรรมซูเปอร์คลัสเตอร์ และอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 ประเภทตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพ และเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร รวมถึงอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง และอุตสาหกรรมแห่งอนาคตอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

คณะกรรมการนโยบายพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นองค์กรกำกับดูแลอีอีซี มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นรองประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาสภาพัฒน์ เลขาบีโอไอ ผอ.สำนักงบประมาณ ประธานหอการค้าไทย ประธานสมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมไทย ผู้ทรงคุณวุฒิที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 5 คนเป็นกรรมการ

นอกเหนือจากการยกเว้นภาษีด้านต่างๆ อันเป็นแบบฉบับของการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติแล้ว ร่างกฎหมายอีอีซีนี้ ยังแก้ปัญหาหนึ่งที่มักเป็นอุปสรรคหรือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุน คือ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ

ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบาย ทำการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ หรือ Strategic Environmental Assessment (SEA) ของโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภค นิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม ชุมชนอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรม เขตประกอบการอุตสาหกรรม การก่อสร้าง หรือดำเนินกิจการโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

เมื่อมี SEA แล้ว การลงทุน ก่อสร้าง การดำเนินกิจการในโรงงานต่างๆ ในอีอีซี ของนักลงทุน ก็ไม่ต้องจัดทำ EIA อีกแล้ว เพราะมีการประเมินผลกระทบในระดับยุทธศาสตร์ หรือ SEA แล้ว นักลงทุนในแต่ละโครงการ เพียงแต่จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจ ที่คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง พิจารณาให้ความเห็นชอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น

เป็นการ Bypass ลัดขั้นตอนในเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งใช้เวลา และมีความเสี่ยงที่ EIA จะไม่ผ่าน หรือต้องปรับปรุงแก้ไข

ร่างกฎหมายอีอีซี ยังกำหนดเรื่องสิทธิการเช่าที่ดินให้ชัดเจนไปเลยว่า สามารถเช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่อีอีซีได้ 50 ปี และต่อสัญญาได้อีกครั้งไม่เกิน 49 ปี รวมแล้วคือเช่าที่ดินได้ 99 ปี

นอกจากสิทธิการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากร สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ นักลงทุนในอีอีซียังได้สิทธิในเรื่องการนำคนต่างด้าวเข้ามาและอาศัยอยู่ในราชอาณาจักร สิทธิในการทำธุรกรรมทางการเงิน และสิทธิประโยชน์อื่นๆ

เรียกได้ว่า ประเทศไทยโดยรัฐบาล คสช.ทุ่มหมดตัวเพื่อมัดใจนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนในอีอีซีให้เยอะขนาดนี้แล้ว ถ้าเขาไม่มา ก็ต้องพิจารณาตัวเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น