ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนยอินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนยอินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รพินทรนาถ ฐากูร (Ravindranath Tagore) หรือที่ได้รับการขนานสมญานามโดยมหาตมะ คานธีว่า “ครุเทพ (Gurudev)” ท่านน่าจะเป็นหนึ่งในปราชญ์ที่สำคัญที่สุดของโลก ท่านคือผู้เผยแพร่สังคม-ศิลปะ-วัฒนธรรมของแดนภารตะซึ่งเป็นหนึ่งในรากเหง้าสำคัญของอารยธรรมของโลกตะวันออกให้ชาวโลกได้เรียนรู้และเข้าใจ ท่านคือชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัล Nobel Prize ในปี 1913 และเป็นหนึ่งในขบวนการเรียกร้องเอกราชให้กับอินเดียโดยเชื่อในวิถีของการอารยะขัดขืน (Civil Disobedience) ร่วมกับคานธี และที่สำคัญกว่านั้นคือเมื่อคานธี ผู้นำความศรัทธาในการเรียกร้องเอกราช และ Dr.Ambedkar สถาปนิกผู้ดูแลการร่างรัฐธรรมนูญอินเดียซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งของโลก ก็ได้รพินทรนาถ ฐากูรท่านนี้เองที่ทำหน้าที่เป็นเสมือนกาวใจและทำให้ขบวนการกู้ชาติสามารถทำงานต่อได้อย่างมีเอกภาพ แน่นอน ต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านั้นความขัดแย้งระหว่าง Jinnah ผู้นำขบวนการมุสลิมใน Indian National Congress ที่มีความขัดแย้งกับกลุ่มฮินดูที่นำโดยคานธี และเนห์รู ทำให้อังกฤษมีข้ออ้างไปแล้วในการแบ่งแยกดินแดนปากีสถานออกไปจากอินเดีย ดังนั้นถ้าความขัดแย้งระหว่างคานธีกับ Ambedkar ขยายความลุกลามใหญ่โตต่อไปโดยไม่มีฐากูรเข้ามาประสานสัมพันธ์ให้ ก็ไม่รู้เช่นกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ฐากูรถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากครอบครัวที่พรั่งพร้อมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยสินเงินทอง และเป็นชนชั้นนำที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์สำคัญในการฟื้นฟูศิลปะวิทยาการของดินแดนภารตะที่รู้จักกันในนาม Bengal Renaissance บรรยากาศการเรียนรู้นี้เองที่หล่อหลอมให้ความเป็นปราชญ์ของ Tagore เกิดขึ้น และทำให้เขาเองต้องการที่จะสร้างบรรยากาศการเรียนรู้แบบนั้นชึ้นมาเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้พัฒนาตนเองและพัฒนาสังคม นั่นเองทำให้เขาเริ่มสอนหนังสือ
Tagore เริ่มการสอนของเขาจากการตั้งโรงเรียนขึ้นในบ้านในปี 1924 และขนานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า Siksha-Satra โดยเริ่มจากอบรมสั่งสอนลูกศิษย์เพียง 7 คนด้วยตนเองใต้ต้นไม้ใหญ่ในสภาพแวดล้อมที่เปิดโล่งปราศจากกรอบจำกัดทางความคิด ที่เน้นการพัฒนาคนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการรับใช้สังคม และในภายหลังวิธีการเรียนการสอนของเขารวมทั้งกลุ่มลูกศิษย์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้สร้างสถาบันการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมานั่นคือ Santiniketan
Santiniketan ไม่ใช่มหาวิทยาลัย แต่เป็นสถาบันการศึกษาในอุดมคติของ Tagore ที่เน้นประเด็นสำคัญ 4 ด้าน คือ 1) การพัฒนาจิตใจและสติปัญญาเพื่อความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริง 2) เพื่อเข้าใจโลกตะวันออกและสร้างเครือข่ายสายสัมพันธ์ของวิทยาการจากโลกตะวันออก 3) เรียนรู้องค์ความรู้และศิลปะวิทยาการของโลกตะวันตกในบริบททางสังคมของโลกตะวันออก และ 4) พัฒนาแนวทางร่วมกันของศาสตร์จากโลกตะวันออกและโลกตะวันตกในลักษณะที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ปี 1951 รัฐบาลกลางของอินเดียก็ประกาศให้ Santiniketan เป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ในนาม Visva-Bharati Universityเป็นมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะเป็น Residential University หรือเมืองมหาวิทยาลัยที่นักศึกษาอาศัยอยู่ในบริเวณมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และจนปัจจุบัน มหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ยังคงยึดมั่นในแนวทางที่ Tagore วางไว้และพัฒนาต่อเนื่องในบริบทโลก
เพื่อซึมซับบรรยากาศการเรียนรู้ของสถาบันในอุดมคติ ศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ขอเชิญชมงานนิทรรศการศิลปะ The Santiniketan: Inspiration Revisited งานศิลปะจากแรงบันดาลใจแห่ง Santiniketan โดยศิลปินชั้นนำทั้งไทยและนานาชาติ ณ อาคารศิลปะวัฒนธรรม (อาคารระหว่างคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันนี้ จนถึง 29 กันยายน 2560 ตั้งแต่เวลา 9.00-17.00น.