xs
xsm
sm
md
lg

ประชามติเก๊เอื้อฮุบป่า-คุมมาเฟียโรงไฟฟ้าขยะ-ปปช.เล่นแง่เมินสอบเรือเหาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน360 - ยุคเสื่อมคสช. ทุจริตคอร์รัปชันทำคะแนนนิยมลดฮวบ "บิ๊กป๊อก" เจอหนัก ทั้งสวมรอยทำประชามติปลอมเอื้อประโยชน์กลุ่มกระทิงแดงใช้ที่ป่าชุมชนห้วยเม็ก จนต้องกลับลำสั่งตรวจสอบหลังถูกประชาชนกดดันก่อนคืนสิทธิการเช่า ขณะที่ "ศรีสุวรรณ" บุกจี้สตง. ตรวจสอบปมการใช้งบประมาณซื้อ "เรือเหาะ" รวมมูลค่า 800 ล้านบาทไม่คุ้มค่า ขณะที่ปปช. เตรียมฟอกขาว อ้างยกคำร้องไปแล้วเมื่อปี 58 หากรื้อคดีต้องมีหลักฐานใหม่ ด้านโครงการโรงไฟฟ้าขยะ เอกชนยอมรับมีมาเฟียคุมทำเกิดยาก ต้องอาศัยอานาจจากมหาดไทย

สถานการณ์ของรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กำลังประสบปัญหาด้านเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง ที่มีจุดอ่อนให้หลายฝ่ายขุดคุ้ยออกมาโจมตีเป็นระยะ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องปัญหาด้านคอร์รัปชันของบุคคลที่อยู่รอบตัวนายกฯ ทั้งที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายชัดเจนที่จะล้มล้างระบอบคอร์รัปชั่น แต่กลับถูกจับผิดเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นเสียเอง

ล่าสุด เป้าหมายพุ่งไปที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในกรณีการอนุมัติให้เอกชนคือ บริษัท เคทีดี พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กลุ่มบริษัทกระทิงแดง ได้สิทธิในการเช่าและใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะประโยชน์ป่าชุมชนห้วยเม็ก บ้านหนองแต้ ต.บ้านดง อ.เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่สวมรอยการทำประชาพิจารณ์ ชาวบ้านออกมาประท้วง จนต้องกลับลำสั่งให้มีการตรวจสอบใหม่ ทำให้เอกชนต้องทำหนังสือแจ้งขอยกเลิกใช้ประโยชน์ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.ที่ผ่านมา เพื่อยุติและไม่ให้เรื่องบานปลายต่อไป โดยมีนายสุวพงษ์ กิติภัทย์พิบูล รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นผู้ลงนามเซ็นรับทราบ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ ก่อนจะส่งหนังสือแจ้งอธิบดีกรมที่ดินต่อไป

วานนี้ (18 ก.ย.) นายสุวพงศ์ กิติภัทย์พิบูล รอง ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า หลังจากเอกชนยกเลิกสิทธิการเช่าที่ดินสาธารณประโยชน์ของรัฐแล้ว ก็ต้องปรับพื้นที่ที่ดินป่าผืนดังกล่าวให้กลับสู่สภาพเดิม หลังจากนั้นทางนายอำเภออุบลรัตน์ ร่วมกับ อบต.บ้านดง ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ก็ต้องเข้าไปสำรวจตรวจสอบว่าได้มีการปรับพื้นที่ให้คืนสภาพเดิมหรือใกล้เคียง หรือไม่

"ตอนนี้ปัญหาให้เช่าป่าสาธารณประโยชน์ห้วยเม็ก บ้านหนองแต้ ต.บ้านดง ถือว่ายุติแล้ว เอกชนผู้เช่าได้ขอยกเลิกสัญญาเช่าที่ทำไว้กับกระทรวงมหาดไทยแล้ว หลังจากที่ชาวบ้านในท้องถิ่นคัดค้านไม่เห็นด้วยการให้เช่าทำประโยชน์ของบริษัทเอกชน"นายสุวพงศ์ กล่าว

ส่วนกรณีปัญหาที่ชาวบ้านหนองแต้ หมู่ 5,6 โดยสภาองค์กรตำบลบ้านดง ได้เข้าแจ้งความต่อเจ้าพนักงาน สภ.อุบลรัตน์ ว่าถูกนำรายชื่อไปอ้างลงประชามติเห็นชอบ ให้บริษัทเอกชนเช่าป่าสาธารณประโยชน์ห้วยเม็กนั้น รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า ก็ให้เป็นไปตามขั้นตอนของเจ้าพนักงาน ที่จะไปตรวจพิสุจน์ข้อเท็จจริงตามที่มีชาวบ้านผู้เสียหายเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ

อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบความผิดปกติในขั้นตอนการทำประชาคมหมู่บ้านที่ถูกตั้งข้อสงสัย ว่าไม่เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย ขณะที่ทางกระทรวงมหาดไทย กำลังแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูตรวจสอบดูแลเช่นกัน ซึ่งทาง จ.ขอนแก่น ยังไม่ได้รับการแจ้งหรือประสานงานในเรื่องนี้แต่อย่างใด

นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีมหาดไทย อนุมัติให้บริษัทเอกชนเช่าใช้พื้นที่ ที่ดินสาธารณะป่าชุมชนห้วยเม็ก อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ว่า เรื่องนี้ในระดับกระทรวงดำเนินการไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้มีการตรวจสอบ และให้ความเป็นธรรมกับระดับเจ้าหน้าที่ด้วย โดยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้สั่งการให้ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยให้ทางจังหวัดตรวจสอบ และทำรายงานอย่างละเอียดมา โดยเฉพาะกรณีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ระดับฝ่ายปฏิบัติ และจากนี้ถ้าผลตรวจสอบเป็นอย่างไร รมว.มหาดไทย จะเป็นผู้ชี้แจงโดยละเอียดอีกครั้ง

*** ป.ป.ช.เล่นแง่เตรียมอุ้มเรือเหาะ

เรื่องการเช่าที่ดินป่าชุมชนเริ่มจะคลี่คลาย กลับมีเรื่องใหม่ให้ตามแก้ไขปัญหากันต่อ คือ เรื่องการอนุมัติซื้อเรือเหาะ ของฝ่ายความมั่นคง ยุคพล.อ.อนุพงษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบถึงความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณในการซื้อถึง 350 ล้านบาท และงบประมาณการบำรุงรักษาอีกปีละ 50 ล้าน รวมเป็นเงินประมาณ 700-800 ล้านบาท ก่อนที่จะปลดระวางไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีดังกล่าว ป.ป.ช.เคยมีมติยกคำร้องไปแล้วปี 2558 แต่หากจะให้ ป.ป.ช.วินิจฉัยกรณีนี้อีกครั้ง ต้องมีผู้มายื่นเรื่องร้องเรียนใหม่ รวมทั้งต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่แตกต่างจากเดิมที่ ป.ป.ช.เคยวินิจฉัยว่าไม่มีความผิด หากพบว่ามีหลักฐานใหม่ ป.ป.ช.จึงสามารถนำมาพิจารณาได้

เมื่อถามว่า ป.ป.ช.จะต้องรอดูหลักฐานจากที่ สตง.ส่งมาให้ก่อนหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับถ้ามีพยานหลักฐานใหม่ ป.ป.ช.สามารถนำมาพิจารณาได้

ส่วนคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด (GT 200) ว่า ป.ป.ช.ยังต้องมีประเด็นที่ต้องตรวจสอบเพิ่มเติม และต้องขอเอกสารหลักฐานจากต่างประเทศ ขณะนี้ ป.ป.ช.ได้รับคำพิพากษาจากศาลประเทศอังกฤษ ที่ให้ยึดทรัพย์อดีตนักธุรกิจที่จำหน่ายเครื่อง GT 200 แล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนตรวจสอบพยานหลักฐาน และการแปลคำพิพากษา ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องตรวจสอบ

*** เอกชนหนุนรัฐจัดเวทีรับฟังความเห็น

ขณะเดียวกันยังได้มีการขุดคุ้ยเรื่องประกาศยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 ,4/2559 และ 9/2559 เมื่อวันที่ 20 ม.ค.59 ยกเว้นการใช้บังคับผังเมืองรวมกับโรงผลิตไฟฟ้า โรงผลิตก๊าซ โรงกำจัดขยะ โรงไฟฟ้าขยะ และโรงงานรีไซเคิลขยะและของเสีย

คำสั่งดังกล่าว เป็นการปลดล็อก "โรงไฟฟ้าขยะ" ทันที คือ นับจากนี้สามารถตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่ ที่ผังเมืองไม่อนุญาตได้ทันที โดยไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย

โดยการเปิดทางอำนวยความสะดวกการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าขยะ คนที่รับผิดชอบหลัก คือกระทรวงมหาดไทย ที่มีพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา กำกับดูแลอยู่ ซึ่ง พล.อ.อนุงพษ์ เคยบอกว่า รัฐบาลได้ทำพื้นที่กำจัดขยะไว้แล้วทั่วประเทศ 141 แห่ง ในส่วนนี้มีศักยภาพทำให้โรงไฟฟ้าพลังขยะ 44 แห่ง และได้มีโครงการนำร่องแล้ว ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.นนทบุรี โดยขั้นตอนต่อไป จะมีการพิจารณาในการให้ "เอกชน" ร่วมลงทุน

เรื่องนี้ทำให้มีข่าวว่า "เอกชน" ที่มีความใกล้ชิด เป็นเครือข่าย วงศ์วานว่านเครือของ "บิ๊ก คสช." ต่างวิ่งเข้ากระทรวงคลองหลอด เพื่อหาลู่ทางเข้ามาร่วมลงทุนในกิจการจัดการขยะ และโรงไฟฟ้าพลังขยะทั่วประเทศ ของรัฐบาล คสช. กันเรียบร้อยแล้ว

จากผลพวงคำสั่งของคสช. ที่เอื้อต่อการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงผังเมืองและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชุม ทำให้ชาวบ้านหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ จนต้องออกมาร้องเรียนหน่วยงานต่างๆ แต่กลับได้คำตอบว่า โรงไฟฟ้าขยะดำเนินการโดยถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและออกมาต่อต้านโรงไฟฟ้าขยะ อาทิ ชาวบ้านในตำบลหนองช้างใหญ๋ อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี โรงไฟฟ้าขยะเทศบาลนครหาดใหญ่ รวมถึงชาวบ้านในอ.บ้านบึง จ.ชลบุรี, อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา, อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมถึงชาวบ้าน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

ขณะที่ในเขตกทม. และปริมณฑล โดยในกรุงเทพฯ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะในเขตหนองแขม ด้วยระบบเผาตรงไม่ต่ำกว่า 2 โรง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยบริษัท C&G Environmental Protection (ประเทศจีน) กำลังการผลิต 7 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน โดยบริษัทจากประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์

ส่วนโรงไฟฟ้าขยะที่ ต.เชียงรากใหญ่ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี วางแผนก่อสร้างสามโรง กำลังการผลิตโรงละ 9.9 เมกะวัตต์ ขณะนี้ มีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่ทำการก่อสร้างรวมตัวกันคัดค้าน เนื่องจากโครงการจะตั้งห่างจากชุมชนในรัศมีไม่เกิน 2 กม.เท่านั้น

นายพิชัย ถิ่นสันติสุข รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท..) กล่าวว่า รัฐควรแก้ไขปัญหาโรงไฟฟ้าขยะชุมชนโดยให้จัดทำการเปิดเวทีประชาคม ดึงทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน เอ็นจีโอ มาเสนอแนวทางการพัฒนาร่วมกัน หลังจากนั้นกำหนดรูปแบบการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การนำขยะชุมชนมาผลิตไฟฟ้า เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาขยะล้น ซึ่งมองว่าการนำขยะมาผลิตไฟฟ้าเป็นแนวทางหนึ่งในการไขปัญหาขยะล้น

แหล่งข่าววงการพลังงาน กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการคือจัดเวทีจัดสัมมนาเพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อจัดทำเป็นโรดแม็ปการดำเนินงาน และหากจำเป็นต้องใช้ม. 44 ในกรณีที่ไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ไม่เห็นด้วยที่จะมีการใช้ม. 44 ทันทีโดยไม่มีความขัดเจนทั้งรูปแบบการดำเนินงาน หรือการตกผลึกทางความคิดกัน

ที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาขยะในไทยเป็นการแก้ไขปัญหาปลายทาง ไม่มีการแยกขยะมาตั้งแต่ต้นทาง ทำให้วันนี้ขยะล้น ก็ควรนำขยะมาผลิตไฟฟ้า แต่ก็ถูกต่อต้านจากเอ็นจีโอ ไม่ขอบอกว่ามีการเมืองหนุนหลังหรือไม่ ดังนั้นรัฐควรมองผลประโยชน์ในภาพรวม เพราะปัจจุบันขยะกลายเป็นทองคำ มีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีการบริหารจัดการขยะก็ไม่ได้ เมื่อการจัดเก็บไม่มีที่ไป ก็เป็นเรื่องลำบาก ทำให้เกิดการกำจัดขยะเถื่อน เช่น มีใครรู้บ้างว่าขยะมากมายในกทม.ไปอยู่ไหนบ้าง มีการนำออกไปนอกจังหวัดหรือไม่ และกำจัดถูกวิธีหรือไม่ ดังนั้นรัฐควรเข้ามาดูแล จัดเวทีประชาคม เมื่อได้แนวทางก็เปิดให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขันทำโรงไฟฟ้าขยะ น่าจะเป็นหนทางสำเร็จ
กำลังโหลดความคิดเห็น