xs
xsm
sm
md
lg

ตามหาบทความที่ กฟผ.อ้างอิง แต่พบสิ่งที่น่าตกใจ

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม


ผมได้มีโอกาสอ่านบทความชิ้นหนึ่งในเว็บไซต์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชื่อ “Newspoll ระบุชาวออสเตรเลียร้อยละ 49 จะไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อให้มีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่ม” โดยไม่ระบุชื่อผู้เขียน (เผยแพร่เมื่อ 5 กันยายน 60) แต่อ้างว่า บทความนี้มาจากบทความในชื่อภาษาอังกฤษว่า “Bill shock looms amid baseload power crisis” (ความตระหนกเกี่ยวกับค่าไฟที่เพิ่มขึ้นปรากฏเค้าลางขึ้นท่ามกลางวิกฤตการณ์ไฟฟ้าฐาน) พร้อมกับให้ลิงก์ไว้ด้วย แต่เมื่อผมเข้าไปดูพบว่าเขาให้ Login ผมจึงไม่กล้าเข้าไปดู

บทความได้อ้างถึงการสำรวจความคิดเห็นของชาวออสเตรเลีย โดยการสัมภาษณ์จำนวน 1,369 ตัวอย่าง หลังจากรัฐบาลได้ขึ้นค่าไฟฟ้า 20% การสำรวจนี้จัดทำโดย “Newspoll” แล้วนำมาลงในหนังสือพิมพ์ “The Australian” (เข้าใจว่าก่อตั้งโดยมหาเศรษฐี Rupert Murdoch)

คำถามคือ “การที่รัฐบาลพรรคแรงงาน (รัฐบาลเก่า ปัจจุบันคือรัฐบาลผสม(Coalition) ระหว่างพรรคลิเบอรัลกับพรรคเนชั่นแนล) ตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 50 ในปี 2030 ท่านเชื่อว่า จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น หรือลดลง หรือไม่มีผลกระทบ”

บทความของ กฟผ.ได้คัดลอกตารางผลการสำรวจมาแสดงและผมได้นำมาแนบไว้ในที่นี้ด้วยครับ

บทความฉบับภาษาอังกฤษ (ซึ่งทาง กฟผ.ได้นำมาอ้างอิง) ได้สรุปว่า “ผู้ตอบร้อยละ 45 เชื่อว่าจะเป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ร้อยละ 22 เชื่อว่าจะลดลง และร้อยละ 24 เชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบ” ซึ่งจะตรงกับช่องที่เรียกว่า “Total”

ผมเห็นว่าข้อสรุปดังกล่าวไม่ได้มีอะไรผิดพลาดในแง่ของตัวอักษร คือ “ร้อยละ 45 เชื่อว่าจะเป็นสาเหตุให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น”

แต่ถ้าเราเอาจำนวนร้อยละของผู้ที่เชื่อในทางตรงกันข้ามกับพวกคือเชื่อว่าจะแพงขึ้น นั่นคือเอาพวกที่ “ผู้ที่เชื่อว่าราคาจะลดลง” และ “ผู้ที่เชื่อว่าไม่มีผล” มารวมกันพบว่ามีจำนวนถึง 46% ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ที่เชื่อว่าค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้น กรุณาอย่าคิดว่าผมเอาเรื่องความแตกต่างเชิงตัวเลขแค่ 1% มาเป็นสาระสำคัญ แต่มันคือหลักการที่เราได้จำแนกระหว่างกลุ่มที่ “เชื่อ” กับกลุ่มที่ “ไม่เชื่อ” ซึ่งกลุ่มที่ไม่เชื่อมี 2 กลุ่ม คือ “เชื่อว่าลดลง” กับพวกที่ “เชื่อว่าไม่มีผล” ส่วนพวกที่ไม่ได้แสดงความเห็นใดๆ ก็ไม่ควรเอารวมกัน

ดังนั้น ในการสรุปผลการสำรวจความคิดเห็นครั้งนี้ควรจะสรุปว่า “ชาวออสเตรเลียร้อยละ 46 เชื่อว่า เป้าหมายในการเพิ่มพลังงานหมุนร้อย 50% จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงหรือไม่มีผล”

สิ่งที่บทความของ กฟผ.ไม่นำมากล่าวถึง คือ ในช่องที่เป็น “Labor” และ “Greens” (ซึ่งผมเข้าเอาเองว่าคือกลุ่มที่เป็นสมาชิกพรรคแรงงานและพรรคกรีน (ตามลำดับ) กลุ่มละเพียงร้อยละ 31 เท่านั้นที่เชื่อว่าค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นและ “ร้อยละ 62 ที่เป็นสมาชิกพรรคแรงานเชื่อว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงหรือไม่มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพง”

ความจริงแล้วเรื่องค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นหรือไม่จากการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง ไม่น่าจะเป็นเรื่องของ “ความเห็น” และข้อเท็จจริงดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก จนยากที่ผู้คนที่ไม่ได้มีความสนใจอย่างจริงจังจะสามารถติดตามได้ทันต่อสถานการณ์ แต่ละปีต้นทุนลดลงประมาณ 8-10%

ในเรื่องค่าไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ ทางองค์กร IRENA (ซึ่งอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ได้กรุณาเล่าให้ฟังเวทีแห่งหนึ่งเมื่อ 15 กันยายน 2560 ว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้ลงนามอนุมัติให้ประเทศไทยเป็นสมาชิกในองค์กรนี้ และให้กระทรวงพลังงานส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนตามเจตนารมณ์ของ IRENA) ได้ทำรายงานเรื่อง Rethinking Energy 2017 พบว่าราคาประมูลไฟฟ้จากแสงอาทิตย์เมื่อปี 2016 ในประเทศเยอรมนีและจีนมีราคาถูกกว่าที่คนไทยจ่ายอยู่ตอนนี้

นี่คือความจริง ไม่ใช่ความเห็น ท่านผู้อ่านสามารถดาวน์โหลดได้จาก http://www.irena.org/DocumentDownloads/Publications/IRENA_REthinking_Energy_2017.pdf (แล้วเปิดไปที่หน้า 34-35)

แต่เมื่อทำการสำรวจความเห็นมาแล้วยังมีการตีความแบบมั่วนิ่มทำให้คนที่ไม่ได้ดูรายละเอียดต้องเข้าใจผิด

เพื่อเป็นการยืนยันหลักการในการตีความผลการสำรวจความคิดเห็น ผมได้นำผลการสำรวจความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ (อายุ 18-35 ปี) ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum ต่อคำถามที่ว่า “มนุษย์ควรจะรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน” โดยแบ่งคำตอบออกเป็น 5 ข้อ ตั้งแต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ไปจนถึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง (ดูภาพประกอบ)

ในการสรุปผล เขาได้เอากลุ่มที่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับกลุ่มที่เห็นด้วยมารวมกันแล้วสรุปว่า “มากกว่า 90% ของคนรุ่นใหม่เห็นด้วยหรือเห็นด้วยอย่างยิ่งว่ามนุษย์ต้องรับผิดชอบต่อปัญหาโลกร้อน”

แต่บทความในชื่อภาษาอังกฤษ (เขียนโดย David Crowe) ตีความแตกต่างจากที่กล่าวมาแล้ว

ด้วยความที่ผมอยากรู้ที่มาที่ไปของบทความที่ กฟผ.อ้างถึง ผมจึงได้พยายามค้นในกูเกิ้ล โดยใช้ชื่อบทความในภาษาอังกฤษ เมื่อผมเข้าไปดูในรายการที่ 6 ก็พบสิ่งที่ผมคาดไม่ถึงคือพบบทความนี้ในเว็บไซต์ที่ชื่อว่า “STOP THESE THINGS” (หยุดสิ่งเหล่านี้-ซึ่งหมายถึงกังหันลม)

ที่น่าตกใจมากกว่านั้นก็คือข้อความที่แสดงเจตนาของเว็บไซต์ที่ว่า “เราทำสิ่งนี้ไม่ใช่เพื่อการถกเถียง แต่ต้องการจะทำลายมัน” ผมได้นำรูปหน้าเว็บมาลงในที่นี้พร้อมกับข้อมูลการเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาของออสเตรเลีย (แต่ก็ไม่พบตารางผลการสำรวจความคิดเห็นที่ผมได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น)

สิ่งที่ผมตกใจก็คือแนวความคิดของผู้จัดทำเว็บไซต์นี้สะท้อนความรุนแรงและไม่รับฟังความคิดเห็นของใคร ไม่น่าเชื่อว่าความคิดเผด็จการฟาสซิสต์ยังคงอยู่ในยุคนี้ได้อย่างไร

สังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่มนุษย์ควรจะแลกเปลี่ยนรู้และแบ่งปันกันทั้งความรู้และทรัพย์สิน เพื่อร่วมกันค้นหาวิธีการที่ดีและเหมาะสมที่สุดในการแก้ปัญหาที่คนรุ่นใหม่เห็นว่าเป็นปัญหาสำคัญของโลก 3 ปัญหา คือโลกร้อน ความขัดแย้งขนาดใหญ่ และความเหลื่อมล้ำ

ก่อนจะจบบทความนี้ ผมขอย้ำอีกทีว่าถ้าพิจารณาตามตัวอักษร สิ่งที่ผู้เขียนบทความ (ฉบับภาษาอังกฤษ) ไม่มีอะไรผิด แต่มันผิดหลักวิชาในการแบ่งกลุ่มความคิดเห็นของคน ถ้าผลลัพธ์มันออกมาว่าร้อยละ 60-70% เชื่อว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนเยอะจะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น แต่ในที่นี้มันแค่ 45% หรือไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่เห็นอย่างนั้น ดังนั้น สิ่งที่ควรสรุปก็ควรจะเหมือนที่ผมได้กล่าวมาแล้ว คือ “ชาวออสเตรเลียร้อยละ 46 เชื่อว่า เป้าหมายในการเพิ่มพลังงานหมุนร้อยละ 50% จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงหรือไม่มีผลทำให้ค่าไฟฟ้าแพง”

เช่นเดียวกันกับเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ทาง กฟผ.มักจะให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน และเป็นข้อมูลที่ไม่เห็นแนวโน้มของโลกในอนาคต เช่น เมื่อผมนำเสนอว่า ประเทศอินเดียมีแผนการจะติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 1 แสนเมกะวัตต์ภายในปี 2022 ทาง กฟผ.ก็ออกมาให้ข้อมูลว่า อินเดียมีโรงไฟฟ้าถ่านหินนับแสนเมกะวัตต์

ซึ่งก็อาจจะเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ไม่ครบถ้วน สิ่งที่ควรจะนำเสนอก็คืออินเดียลดการใช้ถ่านหินลงอย่างรวดเร็ว การที่เขายังใช้เยอะก็ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะถูกตำหนิ แต่สิ่งที่ควรยกย่องคือเขาพยายามลดลง และลดได้จริง

สิ่งที่ กฟผ.กำลังทำอยู่ในประเด็นการให้ข้อมูลกับสังคมนั้น ผมเห็นว่าเข้าข่ายที่นักเขียนดังคนหนึ่งสรุปว่า “ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในการสื่อสารคือมีการลวงทางปัญญาเกิดขึ้น” ผมนำรูปมาประกอบให้เห็นด้วยครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น