xs
xsm
sm
md
lg

บ้านของจินน่าห์บนเนินเขามาลาบาร์

เผยแพร่:   โดย: ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์

ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์
คณะนิเทศศาสตร์ และศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล ได้เขียนถึงเบื้องหลังของการประกาศเอกราชอินเดียและการแบ่งแยกสาธารณรัฐอินเดียและสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ว่ามีที่มาที่ไปอันซับซ้อนและส่งผลกระทบที่รุนแรงเพียงใด การประกาศเอกราชและการแบ่งแยกอันนองเลือดครั้งนั้น ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่หล่อหลอมทรรศนะและการรับรู้ของชาวเอเชียเอเชียใต้ต่ออัตลักษณ์และความสัมพันธ์ของผู้คนในภูมิภาค ทั้งในระดับชาติและในระดับปัจเจกสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ของนายนเรนทรา โมดี ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ และความขัดแย้งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของคฤหาสน์หลังหนึ่งในย่านเนินเขามาลาบาร์ ทางด้านใต้ของนครมุมไบเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนว่า เอเชียใต้คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งที่จะก้าวข้ามให้พ้นเหตุการณ์เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐
หน้าบ้านเซาท์คอร์ท หรือบ้านจินน่าห์ ณ นครมุมไบ (เครดิตภาพ HTTPS://WWW.DAWN.COM/NEWS/1323312)
คฤหาสน์เจ้าปัญหาที่ว่านั้นก็คือ เซาท์คอร์ท แมนชั่น บ้านของนายมูฮัมหมัด อลี จินนาห์ บิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ที่ในปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ “บ้านของจินน่าห์” จินนาห์สร้างบ้านหลังนี้ขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๙ เพื่อใช้เป็นที่พำนักในนครมุมไบด้วยจำนวนเงิน ๒๐๐,๐๐๐ รูปีซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่มากโขอยู่สำหรับสมัยนั้น บ้านหลังนี้ถูกใช้เป็นศูนย์กลางการดำเนินงานของสมาพันธ์มุสลิมแห่งอินเดีย และใช้เป็นสถานที่ในการเจรจาเกี่ยวกับการแบ่งแยกประเทศระหว่างจินนาห์และมหาตมะคานธีในเดือนกันยายนปี พ.ศ.๒๔๘๗ และระหว่างจินนาห์กับเนห์รูในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๔๘๘ อันเป็นเวลาหนึ่งปีก่อนการแบ่งแยกประเทศพอดี
จินน่าห์กับมหาตมะคานธี (ซ้าย) และจินน่าห์กับเนห์รูที่บ้านเซาท์คอร์ท (ขวา) (เครดิตภาพ: วิกีมีเดีย)
สำหรับชาวอินเดียแล้วคฤหาสน์หลังนี้จึงเป็นสัญญลักษณ์ของศัตรู และเป็นตัวแทนของความทรงจำที่เจ็บปวด ในขณะที่สำหรับชาวปากีสถานแล้วสถานที่แห่งนี้คือนิวาสถานของรัฐบุรุษและบิดาของชาติ แต่สำหรับจินนาห์และครอบครัวแล้วคฤหาสน์หลังนี้คือ “บ้าน” ที่ทนายธรรมดาๆ คนหนึ่งสร้างขึ้นมาสำหรับครอบครัวด้วยน้ำพักน้ำแรงของตน เล่ากันว่าเมื่อครั้งที่จินนาห์ต้องย้ายออกจากบ้านหลังนี้ภายหลังจากการแบ่งแยกประเทศ จินนาห์ได้ขอให้เนห์รูให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลบ้านหลังนี้และจะไม่ทุบมันทิ้ง และยังเล่ากันต่ออีกว่า เมื่อตอนที่จินนาห์จะเสียชีวิตเขาก็ยังได้แสดงความจำนงที่จะกลับมานอนตายที่บ้านหลังนี้

แรกเริ่มเดิมทีนั้น เนห์รูตั้งใจที่จะคืนบ้านหลังนี้ให้แก่จินนาห์และทายาท แต่กระแสเกลียดชังจินนาห์ในอินเดียนั้นกำลังรุนแรงเกินต้านทาน ในที่สุดรัฐบาลอินเดียจึงต้องประกาศให้บ้านหลังนี้เป็นทรัพย์สินของผู้อพยพ (Property of Evacuee) และให้รัฐบาลอังกฤษเช่าเป็นสถานที่ตั้งของสถานกงสุลอังกฤษประจำนครมุมไบ เมื่อสถานกงสุลอังกฤษย้ายออกไปตั้งสำนักงาน ณ สถานที่แห่งใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ รัฐบาลปากีสถานจึงได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลอินเดียให้มอบบ้านหลังนี้ให้แก่ปากีสถานเพื่อใช้เป็นสถานกงสุลในนครมุมไบ แน่นอนว่ารัฐบาลอินเดียย่อมที่จะปฏิเสธคำร้องขอดังกล่าวและปล่อยให้บ้านหลังนี้กลายเป็นสถานที่รกร้าง เป็นเหตุให้ความร้าวฉานระหว่างรัฐบาลทั้งสองประเทศนั้นยิ่งบาดลึกลงยิ่งกว่าเดิม

เป็นเวลาหลายสิบปีที่เรื่องราวเกี่ยวกับบ้านหลังนี้ดูเหมือนจะเงียบหายไป จนเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๖๐ มานี้เองที่เชื้อไฟของความขัดแย้งที่รายล้อมบ้านหลังนี้ก็ถูกโหมกระพือขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนักการเมืองชาตินิยมขวาจัดคนหนึ่งจากพรรคภารตียชนตาได้ออกมาเรียกร้องให้ทุบทำลายบ้านหลังนี้เสีย โดยให้เหตุผลว่าบ้านของจินนาห์นั้นเป็นทรัพย์สินของศัตรู (Property of Enemy) และเป็นสถานแห่งการสมคบคิดในทางร้ายและเป็นบ่อเกิดของการแบ่งแยกประเทศ ซึ่งนักการเมืองคนเดียวกันนี้เองก็ได้เสนอให้ใช้ที่ดินผืนดังกล่าวเป็นสถานที่ก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมของรัฐมหาราษฏระแห่งใหม่ “เพื่อเป็นสถานแห่งการเชิดชูและแสดงออกซึ่งวัฒนธรรมอันเจริญของอินเดีย” ทำให้รัฐบาลปากีสถานต้องออกมาขอร้องอย่างเสียงแข็งๆ ให้รัฐบาลอินเดียมอบกรรมสิทธ์ในบ้านหลังดังกล่าวให้แก่รัฐบาลปากีสถาน

นอกเหนือจากรัฐบาลอินเดีย รัฐบาลปากีสถาน และกลุ่มการเมืองต่างๆ แล้ว ตัวละครที่สำคัญมากอีกตัวหนึ่งที่ออกมาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือบ้านหลังนี้ ก็คือ ดิน่า วาเดีย บุตรสาวคนเดียวของจินนาห์กับ ระตันไบ “รุ้ตตี้” เปติ๊ต ภรรยาคนที่สองที่เป็นชาวมุมไบเชื้อสายปาร์ซี ระตันไบ เปติ๊ดเป็นบุตรสาวคนเดียวของเชอร์ดินชาห์ เปติ๊ต กับซิลล่า ทาทา ซึ่งทั้งตระกูลเปติ๊ดและตระกูลทาทาเป็นสองตระกูลนักธุรกิจใหญ่ระดับอภิมหาเศรษฐีของอินเดีย ระตันไบหรือรุ้ตตี้ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างผู้หญิงสมัยใหม่ท่ามกลางชีวิตที่หรูหรา ในวัย ๑๘ ปีระตันไบได้สร้างกระแสสั่นสะเทือนไปทั่วสังคมชั้นสูงในนครมุมไบ เมื่อเธอตัดสินใจแต่งงานกับจินนาห์ทนายความมุสลิมชื่อดังผู้ซึ่งเป็นเพื่อนรักของบิดาและมีอายุแก่กว่าเธอถึง ๒๔ ปี ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ การแต่งงานของคนทั้งสองได้รับการต่อต้านทั้งจากสังคมชาวปาร์ซีและสังคมมุสลิม หลายปีให้หลัง เมื่อถึงคราวที่บุตรสาวของจินน่าห์และระตันไบจะต้องแต่งงาน ดิน่า จินนาห์ก็สร้างความตื่นตะลึงให้กับประชาคมมุสลิมผู้สนับสนุนการเคลื่อนไหวของบิดาของเธอด้วยการแต่งงานกับเนวิลล์ วาเดีย นักธุรกิจชาวมุมไบเชื้อสายปาร์ซีและเลือกที่จะใช้ชีวิตต่อไปในอินเดียแทนที่จะติดตามบิดาไปยังปากีสถาน
ระตันไบ “รุตตี้” จินน่าห์ (เครดิตภาพ: วิกีมีเดีย)
ฟาติมะ จินน่าห์ (ซ้าย) มูฮัมหมัด อลี จินน่าห์ (กลาง) ดิน่า จินน่าห์ (ขวา) (เครดิตภาพ: วิกีมีเดีย)
ชีวิตส่วนตัวของมูฮัมหมัด อลี จินน่าห์นั้นคงจะสร้างความกระอักกะอ่วนให้กับการสร้างอัตลักษณ์ของของผู้นำมุสลิมแห่งสาธารณะรัฐอิสลามปากีสถานอยู๋ไม่น้อย เป็นที่รู้กันดีว่าจินน่าห์นั้นพูดไม่ได้ทั้งฮินดีและอูดูร์ คำปราศรัยของจินน่าห์ในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นจึงเป็นภาษาอังกฤษ โดยะมีคนคอยแปลเป็นภาษาอูดูร์อยู่ข้างๆ เพื่อให้มหาชนได้เข้าใจ เพิ่งจะมาในราว พ.ศ.๒๕๒๐ นี้เองที่คำปราศรัยทั้งหมดของจินน่าห์ได้รับเสียงพากษ์ให้เป็นภาษาอูดูร์ จนทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจไปว่าจินน่าห์นั้นพูดภาษาอูดูร์ได้อย่างคล่องแคล่ว เช่นเดียวกันกับระตันไบ จินน่าห์ที่นักประวัติศาสตร์แห่งชาติของปากีสถานคงไม่รู้จะทำอย่างไรกับเธอจึงไม่ค่อยจะได้พูดถึงเธอในยุคต้นๆ ของการสร้างประเทศ และยกฟาติมะ จินน่าห์น้องสาวของจินน่าห์ขึ้นมาให้อยู่ในฐานะสตรีผู้อยู่เคียงข้างรัฐบุรุษและมารดาแห่งปากีสถาน มาในยุคสมัยหลังๆ นี้เองที่เริ่มจะมีความพยายามสร้างภาพให้ระตันไบ จินน่าห์เป็นตัวแทนของมุสลิมะห์ที่ดี โดยมอบชื่อมุสลิมให้กับเธอว่า “มาเรียม จินน่าห์” และสร้างเรื่องเล่าให้เธอเป็นมุสลิมะห์ที่สงบเสงี่ยมเรียบร้อย ซึ่งขัดกับหลักฐานทะเบียนสมรสและการลงชื่อท้ายจดหมายที่เธอยังใช้ชื่อระตันไบหรือรุตตี้จวบจนเสียชีวิต และขัดแย้งกับการดำเนินชีวิตในนครมุมไบเยี่ยงชาวตะวันตกและชาวแองโกล-อินเดียนของคนทั้งสองที่เต็มไปด้วยงานสังคมและเต้นรำสังสรรค์ แม้กระทั่งการที่จินน่าห์เลือกที่จะสร้างบ้านในย่านเนินเขามาลาบาร์เองก็เป็นสิ่งที่สะท้อนว่า จินน่าห์นั้นน่าที่จะมองตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมตะวันตกและสังคมปาร์ซีมากกว่าที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมุสลิม

ย้อนกลับมาที่การอ้างกรรมสิทธิ์เหนือบ้านเซาท์คอร์ทบนเนินเขามาลาบาร์ นานนับสิบปีมาแล้วที่ดิน่า วาเดียได้พยายามต่อสู้ในทางกฏหมายกับรัฐบาลอินเดียเพื่อสิทธิในการเข้าไปพักอาศัยในบ้านที่เธอเคยอาศัยวัยเยาว์ โดยอ้างว่าบ้านหลังดังกล่าวไม่ใช่ทรัพย์สินของศัตรูแต่เป็นเป็นทรัพย์สินของผู้อพยพที่สามารถจะขอเรียกคืนกรรมสิทธิ์จากรัฐได้ นอกจากนี้แล้ว ตัวเธอเองก็เป็นคนอินเดียและเป็นทายาทเพียงคนเดียวของมูฮัมหมัด อลี จินน่าห์

ครั้งหนึ่งที่นักข่าวจากหนังสือพิมพ์ Times of India มาสัมภาษณ์ดิน่า วาเดียเกี่ยวกับ “บ้านของจินน่าห์” สตรีสูงวัยท่านนี้ ก็สวนกลับไปอย่างรวดเร็วว่า “ทำไมทุกคนถึงเรียกมันว่า บ้านของจินน่าห์? นั่นเป็นชื่อที่พวกอังกฤษใช้เรียกบ้านหลังนี้ ชื่อของมันจริงๆ คือ บ้านเชาท์คอร์ท ทำไม่เธอไม่เรียกมันด้วยชื่อดั้งเดิมของมัน”

คำพูดของดิน่า จินน่าห์สะท้อนให้เห็นว่า การต่อสู้เพื่อกรรมสิทธิ์เหนือบ้านหลังนี้ของทุกฝ่ายไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการครอบครองทรัพย์สิน แต่เป็นการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือความทรงจำและอำนาจในการสร้างความทรงจำใหม่ให้กับสังคม ในปากีสถานสตรีเชื้อสายปาร์ซีหัวตะวันตกจากมุมไบอย่างระตันไบจึงถูกจินตนาการขึ้นใหม่ให้เป็นมาเรียม จินน่าห์ หรือในอินเดียที่บอมเบย์จึงต้องกลายเป็นมุมไบ หรือมัทราสจึงต้องกลายเป็นเชนไนเพื่อลบความทรงจำและอัตลักษณ์ของอินเดียสมัยอาณานิคม

ความทรงจำเกี่ยวกับการแบ่งแยกประเทศนั้นเป็นความทรงจำที่เจ็บปวด แต่ก็เป็นความทรงจำร่วมที่ทั้งอินเดียและปากีสถานจะต้องเผชิญหน้าและพินิจพิเคราะห์ด้วยสายตาที่เป็นธรรม เพื่อที่ทั้งสองประเทศจะได้ก้าวข้ามความขัดแย้งและลัทธิชาตินิยมสู่สันติภาพในภูมิภาค บ้านเชาท์คอร์ท หรือ บ้านของจินน่าห์ทั้งในความหมายของ “ทรัพย์สินของศัตรู” “ทรัพย์สินของผู้อพยพ” “สถานที่ก่อการ” “บ่อเกิดแห่งการแบ่งแยกประเทศ” หรือ “บ้านของครอบครัว” สามารถที่จะเป็นสถานเรียนรู้อันสำคัญเกี่ยวกับการเรียกร้องเอกราชและการแบ่งแยกประเทศที่จะเป็นประโยชน์กับทั้งลูกหลานชาวเอเชียใต้และประชาคมโลก ความพยายามที่จะทุบทำลายสถานที่แห่งนี้และลบความทรงจำที่โลกควรจะได้จดจำด้วยความคิดแบบชาตินิยมคงจะเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น