ผู้จัดการรายวัน 360- “ประวิตร” โบ้ยเรื่องเลือกตั้งต้องรอกฎหมายลูก ย้ำเร่งตรวจสอบกรณี “ปูหนี” ด้าน “ศรีวราห์” ส่งข้อมูลลับให้กองทัพตามจับตัวคนพาหนี ด้านโหร คมช.ฟันธง “นายกฯ ตู่” อยู่ยาว ชี้ “ปู-แม้ว” ไปแล้วไปลับไม่ได้กลับไทยแน่ ยันไม่มีนารีขี่ม้าขาวมาเป็นนายกรัฐมนตรีอย่างโหรบางคนทำนาย ด้านโพลสถาบันพระปกเกล้า ชี้ความนิยม "ลุงตู่" ยังน่าพึงพอใจ ระบุคะแนนต่ำสุดของรัฐบาลคือ ปัญหาสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง ขณะที่ประชาธิปัตย์ถึงยุคตกต่ำสุดขีด
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้า การตรวจสอบเส้นทางหลบหนีออกนอกประเทศผ่านกล้องวงจรปิดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ขณะนี้มีแนวโน้มความชัดเจน แต่ยังบอกรายละเอียดไม่ได้ เพราะกล้องวงจรปิดไม่ได้ต่อเนื่องกัน ต้องให้ได้ภาพที่ต่อเนื่องกันตลอดเส้นทางก่อน เพื่อดูว่าใครไปทำอะไรบ้าง รอให้เจ้าหน้าที่ทำเสร็จก่อนแล้วจะมาชี้แจงทั้งหมด ตอนนี้กำลังไล่กล้องวงจรปิดกันอยู่ ส่วนการตรวจสอบคืบหน้ากี่เปอร์เซ็นต์นั้นยังไม่สามารถบอกได้
เมื่อถามว่า จะสามารถแก้ข้อครหาที่ว่าเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจ หรือขยิบตาให้ได้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ยืนยันไม่มีเรื่องกระพริบตาข้างหนึ่ง กระพริบสองข้างยังไม่ได้เลย ส่วนความคืบหน้าการประสานข้อมูลจากต่างประเทศ เราได้มีการสอบถามไปแล้ว แต่ยังไม่ได้คำตอบมา 190 กว่าประเทศ และตนจะเดินทางไปยังประเทศกัมพูชา เพื่อประชุมร่วมครม.ไทย-กัมพูชา ในวันที่ 7 ก.ย.ศกนี้ ส่วนจะประสานให้ทางทหารกัมพูชาตรวจสอบเส้นทางหรือไม่นั้น ขอตรวจสอบในส่วนของเราก่อน
พล.อ.ประวิตร ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุวันเลือกตั้งส.ส.เบื้องต้นที่เดือนส.ค.61 ว่า กกต. ก็กำหนดไป แต่ยังไม่รู้ว่ากฎหมายลูกจะเสร็จเมื่อใด ต้องรอกฎหมายลูกก่อน
เมื่อถามว่าที่ กกต.กำหนดเบื้องต้นใกล้เคียงกับตุ๊กตาที่รัฐบาลวางไว้หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้วางตุ๊กตา รัฐบาลตั้งไทม์ไลน์ออกมาเท่านั้นเอง ไม่ได้บอกว่าจะต้องเลือกตั้งเดือนไหน แต่ต้องรอกฎหมายลูก
เมื่อถามว่า สุดท้ายการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 61 แน่นอนหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่รู้ ถามได้อย่างไร ผู้สื่อข่าวตอบว่า ถามเพื่อประชาชนจะได้มั่นใจ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "จะไม่มั่นใจได้ยังไง ไม่มั่นใจตรงไหน ทำยังไงถึงไม่มั่นใจ"
ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะมีคนพูดว่าอาจจะไม่มีการเลือกตั้ง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ใครเป็นคนพูดก็ไปถามคนนั้น เมื่อถามย้ำว่าทำไมถึงไม่มั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งปีหน้าหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่าก็กฎหมายลูกยังไม่เสร็จ
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึง กรณีกกต.ระบุว่า มีความพร้อมจัดเลือกตั้งในเดือนส.ค.61 ว่า กฎหมายยังไม่ออก จึงไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าอะไรพร้อม หรือไม่พร้อม เพราะจะต้องรู้ว่าใครทำอะไร อย่างไร ต้องรอให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับออกมาก่อนถึงจะบอกได้ว่าพร้อม หรือไม่พร้อม แต่ยืนยันว่าในส่วนของกรธ. มีภาระต้องทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 240 วัน และเรายืนยันว่า ทำเสร็จตามกำหนดแน่นอน ส่วนนอกเหนือจากนั้นไม่ใช่หน้าที่ของกรธ. และเราไม่สามารถตอบแทนองค์กรอื่นๆ และถึงตอนนั้น กรธ. ก็อาจไม่อยู่ทำหน้าที่แล้วก็ได้
*** "ศรีวราห์" ชงข้อมูล "ยิ่งลักษณ์" ให้กองทัพร้องทุกข์ เอาผิดคนพาหนี
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. กล่าวถึง ความคืบหน้าในการติดตามตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้ามาขึ้นแล้ว สามารถต่อจิ๊กซอว์ได้ 80 เปอร์เซ็นต์แต่ยังไม่สุดทางซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงที่ต้องให้ทางกองทัพเป็นผู้ตอบ ขณะนี้ได้ส่งข้อมูลให้ทางกองทัพแล้วซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่ทางกองทัพมีอยู่ แต่ยังเป็นข้อมูลลับที่สุด หากมีการร้องทุกข์ดำเนินคดีเมื่อไรก็ทราบเอง ซึ่งจะดำเนินการร้องทุกข์หรือไม่ขึ้นอยู่กับทางกองทัพจะเป็นผู้พิจารณา
*** โหร คมช.ฟันธง“ปู-แม้ว”ไปแล้วไปลับ
นายวารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ นักโหรราศาสตร์ชื่อดัง หรือโหร คมช. ได้เปิดวิหารหลวงปู่ ในหมู่บ้านสุขิโต จังหวัดเชียงใหม่ ทำนายว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายทักษิณ ชินวัตร จะไม่ได้กลับประเทศไทยอย่างแน่นอน ซึ่งขณะนี้ได้รับผลกรรมไปแล้วและบ้านเมืองก็จะมีแต่ความสงบสุข
นายวารินทร์ บอกอีกว่า ขณะนี้หมดเวลาของกลุ่มอำนาจเก่าไปหมดแล้ว และมีโหรบางท่านทำนายว่าจะมีนารีขี่ม้าขาวคนใหม่กลับมาบริหารประเทศอีกนั้นไม่เป็นความจริง เวลานี้ยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาล คสช.อยู่ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีซึ่งได้ถูกกำหนดมาก็จะอยู่ยาวไม่มีกำหนดเวลาและรัฐบาล คสช. ก็จะประคับประคองประเทศชาติต่อไป
“ยุคนี้เป็นยุคแห่งระเบียบแบบแผนและข้าราชการก็จะได้รับความเป็นธรรม ทั้งยังจะเป็นยุคแห่งแดนศรีวิไลตามคำทำนายอย่างแท้จริง ส่วนการเลือกตั้งต้องมี หรือปรากฏขึ้นอย่างแน่นอน และทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนโรดแมป แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของบ้านเมืองด้วย”
*** ครม.สัญจร เตรียมจัดที่ "สุพรรณฯ-อยุธยา"
พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้แจ้งในที่ประชุมครม. รับทราบถึงกำหนดการประชุมครม.นอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ระหว่างวันที่ 18-19 ก.ย.ศกนี้ โดยวันที่ 18 ก.ย.60 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ติดตามงานของรัฐบาลที่ จ.สุพรรณบุรี และวันที่ 19 ก.ย.60 จะประชุมครม.สัญจร ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ลงพื้นที่ล่วงหน้าสำรวจจังหวัดนั้นๆ ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง จากนั้นจะให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อไป โดยพล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่าจะลงพื้นที่ให้ครบทั้ง 6 ภาค และไปให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ในส่วนของรัฐมนตรีคนอื่นๆ ช่วงก่อน หรือหลังประชุมครม. จะกระจายกันลงพื้นที่จังหวัดในภาคกลางเพื่อติดตามงานของรัฐบาลด้วย
*** โพลชี้เรตติ้ง "บิ๊กตู่" ยังสูง
ด้าน นายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดเผยแบบสำรวจความคิดเห็นประชาชน ปี 2560 เนื่องในโอกาสครบรอบ19 ปีสถาบันพระปกเกล้า โดยผลการสำรวจเกี่ยวกับผู้นำรัฐบาล ส่วนราชการ ศาล และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น โดยการสำรวจครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัย และพัฒนาของสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างความน่าจะเป็นของประชาชนไทยทั่วประเทศ อายุ 18 ปีขึ้นไป รวม 33,420 คน เก็บข้อมูลระหว่าง 24 เม.ย.-15พ.ค. 60 มีผลที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่รับทราบ ติดตามข่าวสารการเมืองกว่า 80 % ส่วนใหญ่ผ่านสื่อฟรีทีวี ขณะที่ติดตามจากหนังสือพิมพ์ วิทยุ วารสารต่างๆ น้อยลง
น.ส.ถวิลวดี บุรีกุล ผอ.สำนักวิจัยและการพัฒนา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงความเชื่อมั่นต่อองค์กรเปลี่ยนไปตามสถานการณ์การเมืองที่ประชาชนรู้สึกว่าไม่สามารถพึ่งพาองค์กรนั้นๆ ทั้งนี้ผลสำรวจแจกแจงความเชื่อถือของนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2545-2560 ผลที่น่าสนใจ เช่น นายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเชื่อมั่นสูงสุดในช่วง15 ปีที่ผ่านมาคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศขณะนั้น)ได้รับความนิยมถึง 92.9 % ในปี 46 แต่ก็ลดลงมาเหลือ 77.2 % ในปี 49 ก่อนจะมีการรัฐประหาร ขณะที่นายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในลำดับถัดมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 87.5 % ในปี 58 ซึ่งเป็นหนึ่งปีหลังรัฐประหาร โดยความนิยมลดลงมาเล็กน้อยในสองปีถัดมาที่ 84.6 % และ 84.8 %
สำหรับนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมต่ำสุดในช่วงดังกล่าวคือนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แค่ 37.6 % ในปี 51 ส่วนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 53 คือ 61.6 % ตกลงมาเหลือ 51.2 % ในปี 54 ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 55 คือ 69.9 % แต่ก็ตกลงมาเหลือ 63.4 % ในปี56-57 ซึ่งน่าสังเกตว่าความนิยมตกต่ำของนายกรัฐมนตรีที่มาจากพลเรือนนทั้ง 3 คนจะตกลงในช่วงที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองสูงสุดของยุครัฐบาลนั้นๆ
ส่วนความเชื่อมั่นที่ผู้ตอบแบบสำรวจ ที่มีต่อทหารอยู่ที่เฉลี่ย 77.98 % ในช่วง15 ปี โดยมีความเชื่อมั่นต่ำสุดในปี 50 ในสมัยที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี และความเชื่อมั่นสูงสุดในปี 58 สมัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อตำรวจอยู่ที่เฉลี่ย 60.42 % โดยตกต่ำที่สุดในปี 57 ช่วงคสช. ทำรัฐประหาร และสูงสุดในปี 48 ช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ผลสำรวจความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อบุคคล หรือคณะบุคคลพบว่า 5 อันดับแรกประกอบด้วย แพทย์ในโรงพยาบาลของรัฐ (86.4 %) แพทย์ในโรงพยาบาลของเอกชน (85.6 %) ทหาร (85.1 %) พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี (84.8 %) และคสช. (82.3 %)
ในขณะที่ความนิยมต่ำสุด 5 อันดับประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ (36.8 %) องค์กรพัฒนาเอกชน (38.3 %) พรรคเพื่อไทย (39.4 %) พรรคการเมืองโดยรวม (43.5 %) และคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) (47.6 %)
ทั้งนี้ ความพึงพอใจที่มีต่อนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันนั้นพบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ การปกป้อง เชิดชูพระมหากษัตริย์ (97.2 %) เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผู้พิการ (92.4 %) โครงการหลักสุขภาพถ้วนหน้า (92 %) การแก้ปัญหาบุกรุกที่ดิน ป่าไม้ ทะเล (89.7 %) และการควบคุมราคาสลากกินแบ่ง (89.4 %) ขณะที่จุดที่ประชาชนพึงพอใจน้อยที่สุดคือ เรื่องปัญหาสินค้าอุปโภค บริโภคราคาแพง (43.9 %) ราคาพืชผลเกษตร (54 %) สำหรับหน่วยงานองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดคือ ศาลยุติธรรม (83.6 %) ศาลรัฐธรรมนูญ (80.3 %) ศาลปกครอง (80.2 %) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (71.8 %) และ ป.ป.ช. (70.7 %) ส่วนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่ได้รับความพึงใจต่ำสุดก็ยังมีถึง (62.6 %)