ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ซึ่งจะเป็นการพบปะกันของผู้นำประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ประธานาธิบดี Michel Temer จากประเทศบราซิล, ประธานาธิบดี Vladimir Putin ผู้นำรัสเซีย, นายกรัฐมนตรี Narendra Modi แห่งอินเดีย และ ประธานาธิบดี Jacob Zuma ของแอฟริกาใต้ ซึ่งมีประธานาธิบดี Xi Jinping เป็นเจ้าภาพ ณ เมือง Xiaman ประเทศจีน นอกจากจะเป็นเวทีที่ทำให้ทั้ง 5 ประเทศได้มีโอกาสพบปะพูดคุยและวางแผนร่วมกันในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจแล้ว อีกประเด็นหนึ่งซึ่งถูกจับตามองมากเป็นพิเศษในการประชุมครั้งนี้คือ ประเด็นด้านความมั่นคงและการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างพญามังกรจีนกับพยัคฆ์เบงกอลอินเดีย
แน่นอนว่า วาระที่อินเดียพยายามผลักดันคือ ประเด็นเรื่องการยกระดับการป้องกันภัยจากการก่อการร้าย โดยเฉพาะจากประเทศที่อินเดียมองว่าเป็นโรงเรียนบ่มเพาะผู้ก่อการร้าย นั่นคือ ปากีสถาน ซึ่งในอีกมิติหนึ่งจีนเองก็เข้าไปให้การสนับสนุนการสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่ในประเทศนี้ภายใต้โครงการ China–Pakistan Economic Corridor (CPEC) อภิมหาโครงการมูลค่า 62 พันล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 ระเบียงเศรษฐกิจสำคัญภายใต้โครงการเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรษที่ 21 (ส่วนหนึ่งของ OBOR, หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง) ซึ่งอินเดียพิจารณาว่าเป็นโครงการที่ไม่ให้ความเคารพในเรื่องของอธิปไตยเหนือดินแดน โดยเฉพาะดินแดนที่กำลังเป็นข้อพิพาทระหว่างอินเดียและปากีสถาน
ทำให้หลายฝ่ายพิจารณาว่าอินเดียน่าจะดึงประเด็นการต่อต้านภัยก่อการร้ายขึ้นมาเพื่อให้กลุ่ม BRICS กดดันให้จีนมีลดการมีปฏิสัมพันธ์กับปากีสถานลง ซึ่งแน่นอนว่าทางการจีนเองก็ประกาศมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าจะไม่มีการเจรจาในประเด็นนี้ในการประชุม BRICS ในครั้งนี้
อีกประเด็นร้อนด้านความมั่นคงในการประชุม BRICS ในครั้งนี้คือ ประเด็น 2017 Doklam standoff หรือกรณีพิพาทระหว่างจีน-ภูฏาน-อินเดีย ในบริเวณที่เรียกกันว่า Doka La
Doka La เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูง Doklam (อ่านออกเสียงว่า โดครามสำหรับฝ่ายทิเบต, ภูฏาน และอินเดีย) และถูกเรียกว่า Donglang (อ่านออกเสียงว่า ตงหลาง) สำหรับฝ่ายจีน Doklam ตั้งอยู่ในบริวเณชายแดนของมณฑลทางซ้ายมือสุดด้านล่างของจีนนั่นคือ เขตปกครองตนเองทิเบต และประเทศภูฏาน ประเทศเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัย และรัฐสิกขิมของประเทศอินเดีย พื้นที่นี้ทางภูฏานถือเป็นส่วนหนึ่งของเขามาตั้งแต่ปี 1961
และเมื่อมิถุนายน 2017 ที่ผ่านมา ทางการจีนเข้ามาทำโครงการขยายถนนในพื้นที่ Doka La ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของที่ราบสูง Doklam แห่งนี้ ซึ่งทางภูฏานถือว่าเป็นการละเมินอธิปไตย นั่นเองทำให้กองทัพอินเดียเคลื่อนทหารเข้าสู่พื้นที่เนื่องจากอินเดียและภูฏานมีสนธิสัญญา 1949 Treaty ที่ตกลงกันว่าภูฏานจะให้รัฐบาลอินเดียเป็นผู้ดำเนินนโยบายการต่างประเทศและการป้องกันประเทศให้ แต่อย่างไรก็ตามสนธิสัญญานี้ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งในปี 2007 ที่เรียกว่า A New Friendship Treaty ซึ่งตกลงว่าจะให้อินเดียเป็นผู้แนะนำและเป็นที่ปรึกษาการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงเท่านั้น
โดยในกรณี Doka La นี้อินเดียกล่าวหาว่าทางการจีนละเมิดข้อตกลงสันติภาพโดยการเข้ามาสร้างถนนในพื้นที่พิพาท ในขณะที่ทางการจีนเองก็กล่าวหาว่าอินเดียไม่มีสิทธิในการส่งกองกำลังเข้ามาในพื้นที่ดังกล่าว
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการพบปะกันระหว่าง 2 มหาอำนาจแห่งเอเชีย นายกรัฐมนตรีโมดิ และประธานาธิบดี สี จิ้นผิงจะสามารถทำให้กรณีพิพาทต่างๆ เหล่านี้สามารถหาทางออกได้โดยสันติ