xs
xsm
sm
md
lg

จีนกับอารยธรรมแห่งนิเวศน์

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

<b>ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง</b>
ไหนๆ เมื่อวานนี้ร่อนไปไกลถึงเกาหลีเหนือ...วันนี้เลยถือโอกาสลองแวะมาแถวๆ จีนดูมั่ง และการแวะมาเมืองจีนเที่ยวนี้ คงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องความบ้า ความเคร่งเครียด ซีเรียส แต่อย่างใด แต่กลับออกไปทางสดชื่น เหมือนยืนอยู่บนเนินเขา คือลองแวะไปดู “ยุทธศาสตร์ชาติของจีน” ที่เขาเคยป่าวประกาศไว้ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 5 เมื่อช่วงเดือนตุลาฯ ปี ค.ศ. 2015 ว่าจะหาทาง “เดินหน้าประเทศจีน” ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “อารยธรรมแห่งนิเวศน์” (Ecological Civilization) ให้จงได้...

เผอิญว่าช่วงวันวานที่ผ่านมา...สำนักข่าว “Global Times” ของทางการจีน เขาได้ไปนำเอาคำชี้แนะ ชี้นำของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” มาย้ำเอาไว้อีกครั้ง ถึงยุทธศาสตร์ความเป็น “อารยธรรมแห่งนิเวศน์” ที่ว่า หลังจากที่จีนได้ประสบความสำเร็จอย่างน่าตื่นตะลึงพรึงเพริด กับการเนรมิตพื้นที่อันใหญ่โตกว้างขวางไม่น้อยไปกว่า 75,000 เฮกตาร์ หรือกว่า 500,000 ไร่ ที่เคยเป็นทุ่งโล่งล้านเตียน พอๆ กับน้องๆ ทะเลทราย ที่เรียกๆ กันว่า “Saihanba” ให้กลายมาเป็นป่าร่มครึ้ม แน่นขนัดไปด้วยต้นไม้ใหญ่ๆ หรือกลายเป็น “โล่แห่งนิเวศน์” ช่วยปกป้องพายุทรายที่มักพัดกระหน่ำเข้าสู่กรุงปักกิ่งและเมืองเทียนจิน ช่วยผลิตออกซิเจนให้กับพื้นที่รอบๆ ประมาณปีละกว่าครึ่งล้านตันเป็นอย่างน้อย ผลสำเร็จของโครงการดังกล่าว จึงถูกนำมาถ่ายทอดในที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อช่วงวันจันทร์ (28 ส.ค.) ที่ผ่านมา โดย “นายLiu Qibao” หนึ่งในคณะกรรมการโปลิตบูโร เพื่อตอกย้ำคำชี้แนะ ชี้นำของเลขาธิการพรรค ที่มุ่งให้ชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งหลาย เพียรพยายามมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิด “ความกลมกลืนระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ” หรือเพื่อสร้างสรรค์ “อารยธรรมแห่งนิเวศน์” ขึ้นมาในเมืองจีนให้จงได้ แม้จะเป็นภารกิจที่ยากลำบาก ยืดเยื้อยาวนาน ระดับจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งก็ตาม...

เหตุที่โครงการ “Saihanba” ถูกนำมาเป็นแบบอย่าง แนวทาง เป็นเข็มมุ่งสำหรับชาวคอมมิวนิสต์จีน พอๆ กับสรรนิพนธ์ประเภท “ชีวทัศน์เยาวชน” อะไรประมาณนั้น ก็เนื่องมาจากการลงทุน ลงแรง ระดับพอๆ กับ “ลุงโง่ย้ายภูเขา” ก็ว่าได้ คืออันที่จริง...พื้นที่บริเวณนี้ เคยเป็นพื้นที่ที่สวยสดงดงามเอามากๆ เพราะคำว่า “Saihanba” นั้น ถ้าว่ากันตามภาษาจีนผสมมองโกเลีย หมายถึง “ทุ่งราบอันงดงาม” ทำนองนั้น แต่เผอิญในช่วงยุคราชวงศ์ชิง หรือระหว่างประมาณปี ค.ศ. 1616-1912 ประเทศจีนกำลังบ่จี๊ ไม่ได้เซ็งลี้ฮ้อเหมือนอย่างทุกวันนี้ เลยต้องตัดไม้ทำลายป่า ลากเอาซุงแต่ละท่อนจากพื้นที่ “Saihanba” ไปขายฝรั่ง จนช่วงประมาณปี ค.ศ. 1960 ที่ทีมนักอนุรักษ์ประมาณ 6 คนของจีนเข้าไปสำรวจพื้นที่แห่งนี้พบว่าเหลือต้นไม้ใหญ่ๆ อยู่เพียง 1 ต้นเท่านั้น...

แต่ภายในช่วงเวลาแค่ครึ่งศตวรรษ ด้วยการระดมปลูกป่าอย่างจริงๆ จังๆ โดยเฉพาะช่วงปี ค.ศ. 2012 ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเริ่มหันมาให้คุณค่ากับระบบนิเวศน์และสภาวะสิ่งแวดล้อมขึ้นไปตามลำดับ อีก 5 ปีต่อมา หรือปี ค.ศ. 20171 พื้นที่อันกว้างขวางสุดลูกหูลูกตาแห่งนี้ จึงเต็มไปด้วยป่าไม้ประมาณ 83 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ กลายเป็น “สรรนิพนธ์” ของชาวคอมมิวนิสต์ยุคใหม่ ที่ต้องหยิบมาใช้ชี้แนะ ชี้นำ เพื่อการนำพาประเทศจีนไปสู่ “อารยธรรมแห่งนิเวศน์” ตามที่เลขาธิการพรรคและประธานาธิบดีจีน ได้กำหนดไว้เป็นเข็มมุ่ง หรือวางไว้เป็น “ยุทธศาสตร์ชาติ” นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา...

เรียกว่า...ไม่ว่าจีนจะเป็นศัตรูกับใคร หรือใครคิดจะเป็นศัตรูกับจีน แต่คงต้องยอมรับว่า...เมืองจีนทุกวันนี้ นับวันได้กลายเป็น “มิตรกับสิ่งแวดล้อม” ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อันสุดแสนจะแห้งแล้งอย่าง “Saihanba” ในจังหวัด Hebei ให้กลายเป็นป่าเขียวชอุ่ม ร่มครึ้ม ขึ้นมาจนได้ การเนรมิต “เมืองป่า” (Forest City) ขึ้นในแถบจังหวัด Liuzhou มณฑลกวางสี ถึงขั้นลงทุนจ้างสถาปนิกชาวอิตาลีมาออกแบบ ดีไซน์ เอาเลยถึงขั้นนั้น ยิ่งไปกว่านั้น...การหันมาหา “พลังที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” แบบจริงๆ จังๆ ชนิดเรียกว่า...ไม่ใช่เรื่องล้อเหล้นน์น์น์อีกต่อไปแล้ว ตัวเลขอัตราการเติบโตของการใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ แทนพลังงานฟอสซิลของจีนช่วงหลังๆ นี้ จึงออกอาการ “ก้าวกระโดด” อย่างน่าตื่นตะลึงพรึงเพริด เอามากๆ...
<b>ป่ามหัศจรรย์ Saihanba</b>
ถ้าว่ากันตามรายงานข่าวของสำนักข่าว “MintPress News” ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เพียงช่วงเวลาแค่ทศวรรษเดียวเท่านั้นเอง การหันมาใช้พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ของจีน เพิ่มพรวดๆ พราดๆ ขึ้นกว่า 2 เท่า 3 เท่า หรือจากช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่เคยอยู่ที่ประมาณ 35 Gigawatt พอถึงช่วงสิ้นสุดเดือนกรกฎาคมปีนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 112 Gigawatt เป็นปริมาณไฟฟ้ามาก-น้อยขนาดไหน ก็เอาพันล้านวัตต์ หนึ่งล้านกิโลวัตต์ หรือหนึ่งพันเมกะวัตต์คูณเอาเองก็แล้วกัน หรือยังไงๆ...ย่อมมากกว่าการใช้พลังงานประเภทนี้ในอเมริกาถึง 5 เท่าเป็นอย่างน้อย ไม่ต่างไปจากพลังงานลม ที่ถูกวางเป้าไว้โดยคณะบริหารพลังงานแห่งชาติ (National Energy Administration) ว่าต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ถึง 264 Gigawatt ภายในปี ค.ศ. 2020 ขณะที่พลังงานแสงอาทิตย์นั้น ถูกตั้งเป้าเอาไว้ที่ 213 Gigawatt...

สรุปเอาเป็นว่า...แบบประมาณนี้นี่แหละ ที่ต้องถือเป็น “ยุทธศาสตร์ชาติ” ฉบับของจริง-ของแท้ ถึงจะวางเอาไว้ 10 -20 ปี คงไม่ถึงกับก่อให้เกิดความอึดอัด ขัดข้องใจ ใครต่อใครมากมายซักเท่าไหร่ เพราะอย่างที่ประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ท่านได้กล่าวเอาไว้กับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนทั้งหลายนั่นแหละว่า “ถือเป็นภาระหน้าที่หลักของชาวพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ต้องส่งมอบสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นๆ ให้กับชาวจีนรุ่นต่อไปในอนาคต” ส่วนจะต่างไปจาก “ยุทธศาสตร์ชาติ” ในบ้านเรา หรือไม่ อย่างไร อันนี้...คงต้องลองไปถาม “คณะกรรมการยุทธศาสตร์” ที่ท่านนายกฯ “บิ๊กตู่” ท่านเพิ่งแต่งตั้งไปหมาดๆ โดยเฉพาะ “ยุทธศาสตร์พลังงาน” นั่นแหละ...น่าถามให้หนักๆ เข้าไว้ เพราะไม่รู้ว่าประเภทที่แทนที่จะชวนนักข่าวไปดูงานพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในเมืองจีน กลับพาไปทัวร์ที่ญี่ปุ่นซะนี่ แม้รู้ๆ อยู่แล้วว่า...คุณพี่ยุ่นปี่นั้น ถือเป็นนักลงทุนเหมืองถ่านหินรายเดียวโดดๆ เท่าที่ยังเหลืออยู่ในภูมิภาคเอเชียประเภททำนองนี้นี่แหละ...ไม่รู้ว่าจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์กะเขาด้วยหรือเปล่า???
กำลังโหลดความคิดเห็น