xs
xsm
sm
md
lg

15 สิงหาคม 1947 วันเอกราชอินเดียอันขื่นขม

เผยแพร่:

ผศ.สุรัตน์ โหราชัยกุล
คณะรัฐศาสตร์ และศูนย์อินเดียศึกษา จุฬาฯ


วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา หลายคนคงมีโอกาสได้ชมคลิปหรืออ่านข่าวเกี่ยวกับการเฉลิมฉลองเอกราช 70 ปีของอินเดียอันวิจิตรตระการตา ธงไตรรงค์อินเดียโบกสะบัดอยู่ทุกแห่งหน ชาวอินเดียจำนวนมากเข้าร่วมพิธี ณ ป้อมแดง เดลี เพื่อฟังนายกรัฐมนตรีนเรนทระ โมดีกล่าวสุนทรพจน์ในโอกาสนี้ แม้จะไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการเฉลิมฉลองเพราะเป็นวันที่อินเดียปลดแอกตนอย่างเป็นทางการจากอังกฤษ แต่ก็มิอาจปฏิเสธได้ว่า เมื่อ 70 ปีที่แล้ว ทั้งก่อนและหลังวันประกาศเอกราช มีผู้คนต้องล้มตายและพลัดถิ่นอีกมากมาย บทความนี้ประสงค์ที่จะอธิบายการได้มาซึ่งเอกราชอินเดียโดยสังเขป หวังว่า สารัตถะในบทความนี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความเป็นมาของเอกราชอินเดีย ซึ่งมีนัยสำคัญต่ออัตลักษณ์การเมืองการต่างประเทศอินเดียร่วมสมัยได้

ผู้นำอินเดียที่ร่วมต่อสู้เรียกร้องเอกราชในนามสวราช หรือขบวนการชาตินิยม ไม่ว่าคานธี ยวาฮัรลาล เนห์รู หรือคนอื่น ๆ ต่างก็เชื่อมั่นมาระยะหนึ่งแล้วว่า อินเดียต้องได้รับเอกราชอย่างแน่นอน แต่จะเป็นวันใดนั้นไม่มีใครทราบ การต่อสู้เพื่อเอกราชอินเดียใช้เวลานานพอสมควร ส่วนหนึ่งเพราะความแตกแยกในหมู่ผู้นำขบวนการชาตินิยม บางคนอาจจะเข้าใจว่าผู้นำขบวนการชาตินิยมอินเดียคือคานธีมาโดยตลอด ทว่า ในความเป็นจริงแล้ว คานธีก็ถูกท้าทายโดยกลุ่มอื่นๆ รวมถึงกลุ่มที่ประสงค์จะใช้กำลังในการเรียกร้องเอกราชด้วย หนึ่งในนั้นคือสุภาส จันทร โบส ซึ่งในที่สุดหันไปนำกองทัพอินเดียนอกประเทศในบางพื้นที่ในเอเชียที่ญี่ปุ่นครอบครองช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ดังที่สาวิตรี เจริญพงศ์ได้อธิบายไว้ในหนังสือ สัมพันธ์สยามในนามภารต...
ตัวคานธีเองก็ไม่ประนีประนอมกับสาวกของตนหากพวกเขาประพฤติขัดหลักอหิงสา งานเขียนสำคัญเล่มหนึ่งของคานธีชื่อ Hind Swaraj ระบุไว้ชัดเจนว่า การเรียกร้องเอกราชมิได้หมายถึงเปลี่ยนตัวผู้ปกครองจากชาวอังกฤษเป็นชาวอินเดียเท่านั้น แต่จะต้องเป็นชาวอินเดียในโครงสร้างการปกครองที่มีศีลธรรมจรรยาแบบคานธี กล่าวอีกนัยคือ การต่อสู้เพื่อเอกราชอินเดียนำโดยคานธีนั้น มีนัยสำคัญต่อการปกครองหลังอินเดียได้รับเอกราชด้วย และนี่ย่อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยตอบคำถามด้วยว่า ทำไมอินเดียจึงเลือกเดินตามหนทางประชาธิปไตย

เหตุผลอีกส่วนคือ อังกฤษใช้ ‘การแบ่งแยกและปกครอง’ ครองอินเดียมาเป็นเวลานาน และปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ไปตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างแยบยล เช่น เมื่อชาวมุสลิมต่อต้านอังกฤษมากเป็นพิเศษโดยเฉพาะไม่กี่ปีหลังเหตุการณ์กบฏซีปอยปี 1857 อังกฤษก็มีนโยบายเข้าข้างชาวฮินดู แต่หลังจากการสถาปนาอินเดียเนชั่นแนลคองเกรสในปี 1885 ซึ่งเริ่มเรียกร้องอิสรภาพและมีชาวฮินดูประกอบเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ อังกฤษก็มีนโยบายเข้าข้างชาวมุสลิมมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งอังกฤษก็ไม่อาจควบคุมการดำเนินแผนการของตนได้หมด การสังหารหมู่ยาเลียนวาลาบาค เมืองอมฤตสระ ปัญจาบ ในปี 1919 โดยการสั่งการของ อาร์. อี. เอช. ดาเยอร์ น่าจะสะท้อนความไร้ศักยภาพของอังกฤษที่ว่านี้ บ่อยครั้งด้วยที่อังกฤษปรับกลยุทธ์เล่นไม้อ่อน เพื่อลดแรงต้านของขบวนการชาตินิยมอินเดียที่เรียกร้องเอกราช เช่น การออกพระราชบัญญัติปี 1908, 1919, 1929 และ 1935 ให้ชาวอินเดียมีส่วนร่วมในการปกครองระดับรัฐและท้องถิ่นมากขึ้น

ในการประชุมประจำปีของอินเดียนเนชั่นแนลคองเกรส ณ ลาฮอร์ (ปัจจุบันอยู่ในปากีสถาน) เดือนธันวาคม 1929 แม้ว่าอินเดียยังไม่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ แต่ที่ประชุมได้ประกาศ ‘ปูรณสวราช’ (การปกครองด้วยตนเองอย่างสัมบูรณ์) และมีมติให้วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคมปีถัดไป ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มกราคมเป็นวันเอกราชอินเดีย นับตั้งแต่ปี 1930 ถึง 1946 คองเกรสได้ใช้ 26 มกราคมเป็นวันเอกราชอินเดียมาโดยตลอด

สงครามโลกครั้งที่สองมีผลต่อปากท้องของชาวอังกฤษอย่างมหันต์ และเมื่อผนวกกับแรงต้านของขบวนการสวราชนำโดยคานธีที่ยึดหลักสัตยาเคราะห์และอหิงสาในบริบทโลกที่ส่งเสริมให้ประเทศชาติกำหนดชะตากรรมด้วยตนเอง ทำให้การบริหารจัดการจักรวรรดิของอังกฤษทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นไปอย่างลำบากและไม่คุ้มค่ามากขึ้นเรื่อยๆ อังกฤษขณะนั้นจึงสำเหนียกแล้วว่า การครองราชย์อินเดียต้องสิ้นสุดในเร็ววัน การเลือกตั้งใหญ่ของอังกฤษในเดือนกรกฎาคม 1945 ทำให้พรรคอนุรักษนิยมนำโดยวินสตัน เชอร์ชิลพ่ายแพ้ต่อพรรคแรงงานนำโดยเคลเมนต์ แอทท์ลี ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผลเลือกตั้งเป็นเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เชอร์ชิลเป็นวีรบุรุษคนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง คือพรรคแรงงานตระหนักว่า อังกฤษจำต้องลดภาระของตนในฐานะเจ้าอาณานิคม แล้วหันมาใส่ใจความเป็นจริงเรื่องปากท้องภายในประเทศอังกฤษยิ่งขึ้น สโลแกนของพรรคแรงงาน ‘ร่วมกันท้าอนาคต’ ก็แลดูจะสะท้อนความต้องการของประชาชนไม่น้อยเลยทีเดียว

ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1947 แอทท์ลีแถลงต่อสภาผู้แทนราษฏรอังกฤษว่า การครองราชย์อินเดียโดยอังกฤษจะสิ้นสุดไม่เกินมิถุนายน 1948 และหากเนห์รูกับมูฮัมหมัด อลี จินนาห์ (ผู้นำสันนิบาตมุสลิมอินเดีย) ตกลงกันได้ ก็จะถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลกลางในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่ถ้าไม่เป็นไปตามนี้ ก็จะถ่ายโอนอำนาจในรูปแบบอื่นที่เหมาะสมที่สุด ในเดือนมีนาคม 1947 หลุยส์ เมานท์แบตเทนเดินทางไปอินเดียในฐานะอุปราชคนสุดท้ายของอังกฤษ ภารกิจของเมานท์แบตเทนคือถ่ายโอนอำนาจและรีบออกจากอินเดียให้เร็วที่สุด

ในสุนทรพจน์เดือนเมษายน 1947 เนห์รูแลดูจะหมดความอดกลั้นต่อจินนาห์ที่เรียกร้องให้เกิดประเทศปากีสถาน เนห์รูกล่าวในตอนหนึ่งของสุนทรพจน์ว่า “ข้าพเจ้าอยากให้ผู้ใดที่กีดขวางทางของเราจงไปตามทางของเขาเองเสีย” หลังจากการเจรจากับจินนาห์ล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง เมานท์แบตเทนจึงรู้แล้วว่าจินนาห์เป็นคนหัวแข็ง ไม่มีวันจะอ่อนข้อต่อเงื่อนไขใดๆ ที่ขัดต่อการก่อตั้งประเทศปากีสถาน เมานท์แบตเทนจึงตัดสินใจชักชวนให้ทุกฝ่ายคล้อยตามการแบ่งแยก ในต้นเดือนมิถุนายน 1947 เมานท์แบตเทนทำให้ทุกคนตะลึงเมื่อเขาประกาศถ่ายโอนอำนาจให้อินเดียในวันที่ 15 สิงหาคม 1947 นั่นคือประมาณ 10 เดือนก่อนกำหนด รามจันทรา คูหา นักประวัติศาสตร์อินเดีย เชื่อว่า วันดังกล่าวนั้นถูกเลือกเพื่อสะท้อนความภาคภูมิใจของจักรวรรดิมากกว่าความรู้สึกทางชาตินิยมของอินเดีย เพราะวันที่ 15 สิงหาคม 1947 ตรงกับวันครบรอบสองปีที่กองกำลังญี่ปุ่นจำนนต่อฝ่ายพันธมิตรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สันนิษฐานได้ด้วยว่า นอกจากอังกฤษจะต้องการออกจากอินเดียให้เร็วที่สุดแล้ว ยังประสงค์จะจี้ทุกฝ่ายที่กำลังถกเถียงกันให้สะดุ้งและฉุกคิดได้ว่าตนกำลังพุ่งตรงเข้าหาหุบเหวแห่งความแตกแยก ที่แน่ชัดคือ การรีบเร่งประกาศเอกราชยิ่งทำให้โกลาหลหนักกว่าเดิม และแล้วอังกฤษนำโดยพรรคแรงงานก็ออกพระราชบัญญัติเอกราชอินเดียในเดือนกรกฎาคม 1947

ในวันที่ 14 สิงหาคม 1947 จินนาห์ประกาศเอกราชปากีสถาน ในวันเดียวกันที่นิวเดลี สภาร่างรัฐธรรมนูญอินเดียนัดประชุมครั้งที่ 5 เวลา 23.00 น. ประธานการประชุมคือราเชนทระ ประสาท (ผู้จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของ(สาธารณรัฐ)อินเดียในปี 1950) ในการประชุมนี้ เนห์รูได้กล่าวสุนทรพจน์ ‘การนัดหมายกับชะตากรรม’ ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสุนทรพจน์ยอดเยี่ยมของโลกแห่งศตวรรษที่ 20 ใจความตอนต้นของสุนทรพจน์กล่าวว่า “เมื่อนาฬิกาตีบอกเวลาเที่ยงคืน ยามที่ทั้งโลกหลับใหล อินเดียจะตื่นขึ้นมาสู่ชีวิตและอิสรภาพ...” และเพื่อยืนกรานอีกครั้งว่า วันประกาศเอกราชเป็นความบังเอิญ เนห์รูกล่าวว่า “วันที่กำหนดไว้ได้มาถึงแล้ว – เป็นวันที่ชะตากรรมกำหนด...”
เนห์รูกล่าวสุนทรพจน์ ‘การนัดหมายกับชะตากรรม’ (เครดิตภาพ : วิกิมีเดีย)
น่าสังเกตด้วยว่า ในวันประกาศเอกราชอินเดียนั้น อินเดียยังคงให้พระเจ้าจอร์จที่หกของอังกฤษเป็นประมุขของตนอยู่ ทั้งๆ ที่แลดูขัดกับการมีเอกราชของตนอย่างสิ้นเชิง แต่ด้วยความจำเป็นที่ยังไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรของตน ก็จำต้องเลือกแก้ปัญหาสำคัญก่อน รัฐธรรมนูญฉบับถาวรเสร็จสมบูรณ์ในปลายปี 1949 ผู้นำอินเดียรอให้ถึงวันที่ 26 มกราคม 1950 เพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร ที่เลือกวันนี้เพราะเป็นวันเอกราชที่เคยตกลงกันไว้ในการประชุมที่ลาฮอร์ในปี 1929 จึงอาจกล่าวได้ว่า ในวันที่ 26 มกราคม 1950 อินเดียเลือกประกาศเอกราชอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เอกราชมีความเป็นปูรณสวราชมากที่สุด และเรียกวันนี้ว่าวันสาธารณรัฐอินเดีย โดยมีประธานาธิบดีราเชนทระ ประสาทเป็นประมุขของประเทศแทนพระมหากษัตริย์อังกฤษ

ในวันที่ 15 สิงหาคม 1947 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. ถึง 23.00 น. รัฐบาลเนห์รูได้จัดพิธีกรรมต่าง ๆ เชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ชาวอินเดียร่วมกันเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราชอินเดีย ปัจจุบันวันหยุดราชการสำหรับอินเดียทั้งประเทศมีเพียงสามวันเท่านั้น คือ (ก) 26 มกราคม วันสาธารณรัฐอินเดีย (ข) 15 สิงหาคม วันเอกราชอินเดีย และ (ค) 2 ตุลาคม วันเกิดคานธี ส่วนวันหยุดอื่นๆ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลประจำรัฐและท้องถิ่น

ดังที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าแม้วันเอกราชอินเดียหรือปากีสถานจะเป็นวันหยุดราชการที่มีการเฉลิมฉลองอย่างใหญ่โตมโหฬาร พร้อมกับระลึกถึงผู้เสียสละในการเรียกร้องเอกราชอยู่ไม่น้อย ทว่า ทั้งก่อนและหลังประกาศเอกราชเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและชาวซิกข์ฝ่ายหนึ่งกับชาวมุสลิมอีกฝ่ายหนึ่ง อันเป็นผลจากการแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษได้บังเกิดขึ้นแล้ว มีผู้คนต้องล้มตายประมาณ 1-2 ล้านคน และต้องอพยพออกจากบ้านเกิดหรือพลัดถิ่นอีกเกือบ 15 ล้านคน

มีวรรณกรรมจำนวนไม่น้อยที่กล่าวถึงภาพย้อนแย้งระหว่างการเฉลิมฉลองเอกราชและหายนะที่เกิดจากการห้ำหั่นระหว่างประชาชนที่มีอัตลักษณ์ต่างกัน งานเขียนที่ดีเลิศเล่มหนึ่งคือ Midnight’s Children โดย ซัลมาน รัชดี อีกเล่มที่น่าสนใจมากคือ Midnight’s Furies… โดย นิซีด ฮาซารี ซึ่งใช้ประวัติศาสตร์บอกเล่าพรรณนาภาพอันโหดร้ายของการแบ่งแยกประเทศออกเป็นปากีสถานกับอินเดีย ฮาซารีเขียนไว้ในตอนหนึ่งว่า ทหารและนักข่าวชาวอังกฤษบางพวกที่เคยเห็นภาพค่ายมรณะของพวกนาซีมาแล้ว ยืนยันว่าการแบ่งแยกประเทศครั้งนี้มีความโหดร้ายทารุณยิ่งกว่า
การอพยพของผู้คนอันเป็นผลจากการแบ่งแยกประเทศ (เครดิตภาพ : วิกิมีเดีย)
อาจจะจำเป็นต้องขยายความเพิ่มเติมด้วยว่า ก่อนอังกฤษจะเข้ามาในอนุทวีปอินเดีย แม้ผู้คนจะมีอัตลักษณ์ทางศาสนาและมีเรื่องราวขื่นขมอันเป็นผลแห่งความแตกต่างนี้อยู่บ้าง ทว่า สังคมอนุทวีปอินเดียก็มีวิธีสร้างความผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมต่างๆ แบบเฉพาะของตนได้ดีไม่น้อยเลยทีเดียว ตัวอย่างเช่น ความเชื่อทางศาสนาแบบซูฟีที่เกี่ยวพันกับการเผยแผ่อิสลามมักมองคัมภีร์ศาสนาฮินดูว่าได้รับแรงดลใจจากพระเจ้า ชาวฮินดูก็มักจะไปเยี่ยมเยือนหลุมศพของอาจารย์ลัทธิซูฟี และสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับทั้งลัทธิซูฟีและศาสนาซิกข์ ก็จะทราบดีว่าทั้งสองสำนักคิดนี้แยกจากกันยาก ทั้งยังชัดเจนด้วยว่า แม้ในศตวรรษที่สิบเก้า อนุทวีปอินเดียก็ยังคงเป็นสถานที่ที่คนจำนวนมากมิได้นิยามตนเองด้วยศาสนาที่ตนนับถือเป็นหลัก

สิ่งที่อังกฤษได้กระทำในอินเดีย ดังที่ อเล็กซ์ ฟอน ทันเซลมันน์ ตั้งข้อสังเกตในหนังสือ Indian Summer… คือ “...นิยาม ‘ชุมชน’ ด้วยฐานของอัตลักษณ์ทางศาสนา และผูกการเป็นตัวแทนทางการเมืองเอาไว้ด้วย” ทำให้ชาวอินเดียจำนวนมากค่อยๆ เริ่มปฏิเสธความหลากหลายที่ได้หยั่งรากในสังคมตนมาเนิ่นนาน “และเริ่มถามตนเองว่า ต้องบรรจุตนไว้ในกล่องไหน” ในทำนองเดียวกัน คุชวันต์ ซิงห์ นักเขียนชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งของอินเดีย กล่าวในหนังสือ We Indians ว่า “พวกอังกฤษสนับสนุนให้พวกมุสลิมแยกตัว ด้วยการเสแสร้งวางตัวเป็นกลาง พวกอังกฤษให้อภิสิทธิ์แก่ชาวมุสลิมมากกว่าในการรับราชการเป็นตำรวจทหาร เกินกว่าโควต้าที่พวกเขาได้รับ” ซิงห์กล่าวต่อว่า พวกอังกฤษยังสนับสนุนให้แบ่งแยกสถาบันการศึกษาด้วย มีการตั้งโรงเรียนและวิทยาลัยตามศาสนา แม้แต่สาธารณสถานก็มีภัตตาคารและซุ้มน้ำดื่มแยกสำหรับชาวฮินดูและมุสลิม

อย่างไรก็ตาม การโยนบาปทั้งหมดไปให้การแบ่งแยกและปกครองของอังกฤษ โดยไม่พินิจพิเคราะห์ว่าผู้คนที่ร่วมใช้ความรุนแรงนั้นกระทำโดยขาดมโนสำนึกและขันติธรรม ไม่น่าจะเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ นี่คือเหตุผลสำคัญที่นักวิชาการจำนวนหนึ่งปรารถนาให้วันประกาศเอกราชปากีสถานและอินเดียเป็นวันแห่งบทเรียนของประชาชนในภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อทบทวนภูมิคุ้มกันในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยหวังว่า คนรุ่นต่อไปจะช่วยป้องกันมิให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

จำต้องตระหนักด้วยว่า การแบ่งแยกอันนองเลือดและดูจะไม่จบสิ้นนี้ได้กลายเป็นอัตลักษณ์สมัยใหม่ที่สำคัญของชาวเอเชียใต้ โดยเฉพาะชาวปากีสถานและชาวอินเดียหลังยุคอาณานิคมไปเสียแล้ว มันมีอิทธิพลกำหนดทรรศนะของพวกเขาต่ออดีต ปัจจุบัน และอนาคต สงครามและความขัดแย้งในรูปแบบอื่นระหว่างอินเดียกับปากีสถานจำนวนไม่น้อยน่าจะเป็นตัวชี้วัดของการคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่ว่านี้ แม้ทั้งสองประเทศจะไม่เคยนำอาวุธนิวเคลียร์ที่ตนครอบครองออกมาใช้ในความขัดแย้งระหว่างกัน แต่สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างทั้งสองก็น่ากังวลไม่น้อย ในปัจจุบัน ถึงแม้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการแบ่งแยกประเทศจะล้มหายตายจากไปมากแล้ว แต่การส่งต่ออัตลักษณ์ดังกล่าวไปสู่ลูกหลานยังคงประจักษ์ชัดแจ้งอยู่ นี่ย่อมเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักการเมืองยังคงวาระนี้ไว้ในการเมืองอยู่ กล่าวได้ด้วยว่า การแบ่งแยกประเทศอันนองเลือดนี้ฝังลึกอยู่ใต้จิตสำนึกของผู้คน ส่วนหนึ่งในสุนทรพจน์ของโมดีในวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมาได้ยืนยันอีกครั้งแล้วว่า 15 สิงหาคม 1947 จะยังดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุด
กำลังโหลดความคิดเห็น