xs
xsm
sm
md
lg

4+2 อสูรที่จะทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้าหายนะเร็วกว่าที่เราเคยคิด

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในตำนานความเชื่อของชาวคริสต์ซึ่งเล่าขานกันมาว่า จะมีคนขี่ม้า 4 ตัวมาทำลายโลกให้หายนะอย่างสิ้นเชิง (Four Horsemen of the Apocalypse) คนขี่ม้าดังกล่าวได้แก่ สงคราม ความอดอยาก โรคระบาดและความตาย ใครจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่นะครับ

ต่อมาเมื่อเร็วๆ นี้นักวิชาการด้านนโยบายพลังงานที่ชื่อว่า “สถาบันเพื่อการพึ่งตนเองของท้องถิ่น (Institute for Local Self-Reliance)” ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้เพื่อทำนายอนาคตของบริษัทผลิตไฟฟ้าทั่วโลกว่า บริษัทผลิตไฟฟ้าจะถูกทำลายอย่างชิ้นเชิงด้วยเทคโนโลยี 4 ชนิด หรือ “4 อสูร” คือ แบตเตอรี่สมาร์ทโฟน แผงโซลาร์เซลล์ และ รถยนต์ไฟฟ้า ในที่นี้ผมขอเพิ่มอีก 2 อสูร คือ กังหันลม และ หลอดไฟฟ้า LED ซึ่งในบทความเมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เรียนว่า ในช่วงปี 2008-2015 ต้นทุนในสหรัฐอเมริกาของแผงโซลาร์เซลล์ กังหันลม แบตเตอรี่ และหลอด LED ได้ลดลง 54-64%, 41%, 73% และ 94% ตามลำดับ

เพื่อให้เกียรติกับเจ้าของแนวคิด “4 อสูร” และง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมขอนำภาพมาลงในที่นี้ด้วย แต่อย่าลืมอีก 2 อสูรที่ผมได้เสริมเข้ามาใหม่ด้วยนะครับ

คราวนี้มาถึงประเด็นที่ผมว่า “มาเร็วกว่าที่เราเคยคิด”

เท่าที่ผมได้ติดตามความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ผมเป็นห่วงม้าตัวแรกมากที่สุด คือแบตเตอรี่ ซึ่งผมเกรงว่ามันจะมาช้า แต่ล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ได้มีข่าวเกี่ยวกับความก้าวหน้าของแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้ของเหลว (ซึ่งมีความเสี่ยงจากการระเบิด) แต่เป็นของแข็ง (Solid-State Battery) สามารถบรรจุพลังงานต่อหน่วยปริมาตรได้มากกว่าเดิม 2-3 เท่าตัว ระยะเวลาในการชาร์จลดลง และถ้าใช้กับรถยนต์จะสามารถวิ่งได้ไกลถึง 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง

ข่าวระบุว่า บริษัทโตโยต้าจะก้าวข้ามบริษัทเทสลา โดยจะใช้แบตเตอรี่แบบใหม่นี้ภายในปี 2022 ในขณะที่บริษัทเทสลาที่ถือว่าก้าวหน้ามากแล้วยังคงใช้แบตเตอรี่แบบเดิม คือลิเธียมไอออน ซึ่งยังเป็นของเหลว

อนึ่ง ประมาณ 1 ใน 3 ของราคารถยนต์ไฟฟ้าเป็นค่าแบตเตอรี่ (ซึ่งยังเป็นแบบลิเธียมไอออน) ดังนั้นเมื่อราคาแบตเตอรี่ลดลงและมีขนาดเล็กลง ราคารถยนต์ไฟฟ้าก็คงจะลดลงมากกว่าที่เราเคยคิดกัน

นอกจากนี้ บริษัท Samsung ซึ่งผลิตสมาร์ทโฟน ก็ประกาศว่า คาดว่านำแบตเตอรี่แบบใหม่นี้ไปใช้กับ Samsung Galaxy S9 ก่อนที่โตโยต้าจะนำไปใช้กับรถยนต์ (S7 มีปัญหาเรื่องเกิดระเบิด) ท่านที่สนใจลองเข้าไปดูได้ที่ http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20170630000615

ข่าวเรื่องแบตเตอรี่ในรูปแบบใหม่ที่ผมได้นำเสนอมานี้ ได้ส่งผลไปถึงอีก 2 อสูร คือ สมาร์ทโฟน และรถยนต์ไฟฟ้าไปแล้วนะครับ รวมเป็น 3 อสูร อย่าลืมนะครับว่า สมาร์ทโฟนจะช่วยให้เราสามารถควบคุมและสั่งการเปิด-ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าในบ้านของเราเองด้วย

ในที่นี้ผมจะไม่ขอกล่าวถึงหลอดไฟฟ้า LED (ซึ่งช่วยให้เราสามารถประหยัดไฟฟ้าจากแสงสว่างได้นับ 10 เท่าของหลอดไฟฟ้าแบบเดิม) ดังนั้นจึงยังคงเหลืออีก 2 อสูร คือ แผงโซลาร์เซลล์ และกังหันลม

กลุ่มพ่อค้าพลังงานฟอสซิลได้กล่าวโจมตีมาตลอดว่า พลังงานแสงอาทิตย์และลมมีมากก็จริง แต่ในเวลากลางคืนและในช่วงที่ไม่มีลมจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ คำตอบก็คือก็เอาที่ได้เก็บไว้ในแบตเตอรี่นั่นเอง ซึ่งราคาแบตเตอรี่ก็ได้ถูกลงมากแล้ว และจะยิ่งถูกลงมากกว่านี้อีกในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเมื่อแบตเตอรี่รูปแบบใหม่มาถึง

ผมได้มีโอกาสชมภาพยนตร์เชิงสารคดีเรื่อง An Inconvenient Truth ภาค 2 (ซึ่งจัดทำโดยอดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ อัล กอร์ ขณะนี้กำลังฉายในโรงครับ) เขาได้กล่าวชื่นชมความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของประเทศอินเดียในด้านการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนี้เพื่อช่วยกันลดปัญหาโลกร้อนที่เป็นปัญหาวิกฤตของโลกตามข้อตกลงปารีส

หลังจากได้ดูหนังแล้ว ผมจึงได้ทำการค้นคว้าเพิ่มเติม พบว่า

ในปี 2010 อินเดียได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์จำนวนเพียง 161 เมกะวัตต์ โดยที่ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยสูงถึง 2.5 เท่าของการผลิตจากถ่านหิน แต่นับถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2017 กำลังการผลิตจากโซลาร์เซลล์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 13,110 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้น 81 เท่าตัว โดยที่ต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าที่ผลิตจากถ่านหินถึง 18% นี่คือความจริงที่หน่วยงานของรัฐบาลไทยยังตามไม่ทัน

ผมมีรายละเอียดและแหล่งอ้างอิงอยู่ในแผ่นภาพครับ

แผนของรัฐบาลอินเดียชุดก่อน (ปี 2010) ได้ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2020 จะติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้ได้จำนวน 20,000 เมกะวัตต์ แต่ต่อมา (2016) ได้ขยายเพิ่มเป็น 100,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2022 ในจำนวนนี้เป็นการติดตั้งบนหลังคาอาคารทั้งบ้าน สถานที่ราชการ สถานศึกษา โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์จำนวน 40,000 เมกะวัตต์

นับถึงเดือนมีนาคม 2017 มีการติดตั้งบนหลังคาไปแล้ว 1,396 เมกะวัตต์ โดยเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วประมาณ 100% ดังนั้น ด้วยอัตราการเติบโตดังกล่าว เราสามารถคำนวณได้ว่าในปี 2022 จำนวนการติดตั้งทั้งหมดก็จะประมาณ 4.4 หมื่นเมกะวัตต์ดังนั้นเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ได้สูงเกินจริง

นโยบายที่ประเทศอินเดียนำมาใช้ก็คือ Net Metering ที่อนุญาตให้ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากหลังคาแต่ไม่ได้ใช้ให้สามารถไหลเข้าสู่สายส่งได้ เมื่อถึงเวลากลางคืนก็ให้ไฟฟ้าไหลกลับมาได้ ถึงเวลาคิดเงินก็ว่ากันตามตัวเลขที่เหลือจริง

แต่มาตรการ Net Metering ดังกล่าวเป็นของต้องห้ามสำหรับประเทศไทยครับ

นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังมีนโยบายลดภาษีนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ลง 5% และลดภาษีสรรพสามิต (Excise Duty) ส่งผลให้ต้นทุนโซลาร์รูฟลดลง 15-20% พร้อมๆ กับการขึ้นภาษีถ่านหินอีก 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ในปี 2015 รัฐบาลอินเดียได้ลงทุนสำรวจความเข้มข้นของแสงแดดทั่วประเทศอย่างละเอียด โดยจัดทำข้อมูลทุก 9 ตารางกิโลเมตร โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท

ในช่วงปีงบประมาณ 2015-16 อินเดียผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ได้ 7,450 ล้านหน่วย ถือเป็นการลดถ่านหิน 3.7 ล้านตัน หรือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 10 ล้านตัน

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านคงจะไม่เชื่อว่า “4+2 อสูรที่จะทำให้บริษัทผลิตไฟฟ้าหายนะ” ได้จริง ก็คงไม่ว่ากันครับ แต่ผมอยากให้ดูภาพข้างล่างนี้ เป็นภาพถ่ายในที่เดียวกัน ถนนเดียวกัน เมืองเดียวกัน แต่เวลาห่างกันนานถึง 13 ปี ภาพบนมีรถม้าเต็มถนนจนนายกเทศมนตรีต้องคิดหาวิธีกำจัดขี้ม้าแบบใหม่เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ที่เพิ่มขึ้นในเชิงปริมาณ แต่แล้วในอีก 13 ปีต่อมาสถานการณ์ดังกล่าวก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงเป็นคุณภาพใหม่ มีรถม้าเหลือเพียง 1 คัน ที่เหลือเป็นรถยนต์ครับ ปัญหาเรื่องขี้ม้าที่เคยกังวลหายไปเลย

กระทรวงพลังงานของไทยกำลังใช้ความพยายามอย่างมากที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ให้ได้ ทั้งที่กระบี่ 800 เมกะวัตต์ และอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา 2,200 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีข่าวว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจากเกาะกง ประเทศกัมพูชา 2,400 เมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่ประเทศอินเดีย ประเทศรายได้ปานกลางเหมือนกับเรา ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ต้นทุนจากถ่านหินแพงกว่าและก่อมลพิษทั้งต่อชุมชนและต่อโลกแต่กระทรวงพลังงานของไทยก็ยังจะดึงดันต่อไปไม่ดูกระแสโลกที่ได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ผู้ศึกษาเรื่องอนาคตคนหนึ่งชื่อ Gerd Leonard ได้บอกว่า “โลกในอีก 20 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไปมากกว่าเมื่อ 300 ปีที่ผ่านมา”

ในความเห็นของผม ความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในยุคนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับกรณี “โครงการรับจำนำข้าว” ที่ผ่านมาคือจะนำความเสียหายจำนวนมหาศาลมาสู่ประเทศ

อ้อ ผมลืมบอกถึงประเด็นที่สำคัญของหนังที่ผมดู เขาบอกว่า “Truth to Power” ซึ่งผมแปลว่า “ความจริงสู่อำนาจ” ไม่ใช่ “เงินสู่อำนาจ” ทุกสังคมควรตั้งอยู่บนความจริง ประชาชนควรช่วยกันทำความจริงให้ปรากฏ และขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางกับคนที่ยังไม่รู้ความจริง ประชาชนจึงจะมีอำนาจที่แท้จริงและยั่งยืนได้ ช่วยกันครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น