หนึ่งความคิด
สุรวิชช์ วีรวรรณ
“ผมจะทำให้เต็มที่จะอยู่ถึงเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นผมว่ามันเป็นลิขิตที่ผมมายืนตรงนี้เพราะถูกลิขิตมาอะไรจะเกิดต่อไป จะเป็นลิขิตของประเทศไทยว่าจะเจริญหรือไม่เจริญ จะล่มสลายหรือไม่ล่มสลายอยู่ที่มือคนไทยทุกคน” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพิ่งจะกล่าวเมื่อไม่นานมานี้ถึงบทบาทในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของตนเอง
คำถามว่าใครลิขิตให้ พล.อ.ประยุทธ์มาถึงวันนี้
เรารู้กันว่า พล.อ.ประยุทธ์ มาจากการรัฐประหาร เพราะสถานการณ์ทางการเมืองไม่มีทางออก ประชาชนกลุ่มหนึ่งไม่ยอมรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลและไม่ต้องการให้การเมืองกลับไปสู่รูปแบบเก่าอีกนำมาสู่การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจนบ้านเมืองมาถึงทางตัน แต่เงื่อนไขสำคัญที่ใช้เป็นข้ออ้างก็คือ มีการใช้อาวุธสงครามเข้ามายิงถล่มผู้ชุมนุมจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลยิ่งลักษณ์
แต่การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์แม้จะมีกองทัพหนุนหลังก็ใช่ว่าราบรื่น ดังจะได้ยินเสียงบ่นตัดพ้ออยู่บ่อยๆ
“สิ่งที่ทำวันนี้ทำเพื่อไม่ให้เกิดการปฏิวัติอีกในอนาคต ต้องเอาประเทศชาติเดินหน้าไปให้ได้ ผมพร้อมจะลาออก อยากจะลาออกทุกวัน แต่เห็นประชาชนเดือดร้อนทนไม่ได้ และไม่ได้อยากอยู่เกินแม้แต่วันเดียว ทุกวันนี้ผมสู้รบทุกวัน ในบ้านกลับมาก็ทะเลาะกับเมีย เมียถามว่าทำไมอันนี้ไม่ทำ ผมบอกทำแล้ว บางเรื่องทำไม่ไหวก็หงุดหงิด สรุปว่าไม่มีความสุข ทุกคนไม่มีความสุข จึงต้องคืนความสุขให้ประชาชน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557
และเสียงบ่นตัดพ้อก็มีเรื่อยๆ จนครั้งหนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ถึงกับพูดว่า “ผมไม่อยากเป็นสักวันเลย”
ตอนหนึ่งเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าอยากจะเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งบ้างไหม พล.อ.ประยุทธ์ส่ายหน้าพร้อมกับกล่าวว่า ไม่เอา ไม่เอา ถามต่อว่าจะรอรัฐประหารอย่างเดียวหรือเปล่า นายกฯ กล่าวว่า “เดี๋ยวทุ่มเลย (จับโพเดียม) พอแล้ว”
เมื่อไม่อยากเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งครั้งหนึ่งผู้สื่อข่าวถามอีกว่า จะเป็นนายกฯ คนกลางไหม ตอนนั้นรัฐธรรมนูญยังไม่ออก พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ทำได้หรือไม่เล่า นายกรัฐมนตรีคนกลางเขาเขียนเขียนไว้อย่างไร นายกฯ คนกลางมาจากไหนอย่างไร แล้ววันนี้มันเลือกตั้งได้หรือยัง รู้กันหรือยังว่ามันเลือกไม่ได้ วันนี้รัฐธรรมนูญก็ยังไม่ออกมา การเลือกตั้งก็ยังไม่เกิด แล้วจะมาบอกว่าถ้าเลือกตั้งไม่ได้จะต้องมีนายกฯ คนกลางอย่ามาพูดกับผมตรงนี้มันสร้างความขัดแย้ง ขี้เกียจตอบ”
เมื่อผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า แต่มีการเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนกลางจะเป็นไปได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “มันจะเป็นได้อย่างไรผมจะไปเป็นได้อย่างไร รัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไร นายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกจะต้องเป็นช่วงที่สถานการณ์ไม่ปกติ จะต้องได้คะแนนเสียง 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 หรือ 4 ใน 5 ก็ว่ากันไป”
แต่ถึงตอนนี้หลังรัฐธรรมนูญ2560ประกาศใช้แล้ว เราก็รู้กันว่า มีการเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้ ดังนั้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนกลางหลังการเลือกตั้งสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์นั้นเปิดรออยู่แล้ว เพราะที่ พล.อ.ประยุทธ์ถามนักข่าวกลับว่า มันจะเป็นไปได้อย่างไร มันเป็นไปได้แล้วนั่นเอง
ครั้งหนึ่งที่มีโพลออกมาสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ส่วนตัวยังไม่คิดถึงตรงนั้น คิดเพียงว่าวันนี้จะแก้ไขปัญหาราชการแผ่นดินอย่างไร เรามีรัฐธรรมนูญแล้ว วันนี้อยู่ในขั้นตอนจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และคิดว่าหลายอย่างจะมุ่งเน้นที่เรื่องการเมืองไม่ได้เพราะการเมืองเป็นเรื่องของแม่น้ำ 5 สายที่ต้องช่วยกันทำออกมา ไม่ว่ากฎหมายลูกและกฎหมายต่างๆ และมีองค์กรอิสระอีกมาก ในเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่จะทำให้ได้รัฐบาลมี ธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของกฎหมาย
“อย่ามากังวลกับผมว่าจะอยู่ต่อหรือเปล่า หรือตั้งพรรคหรือเปล่า แต่จะทำวันนี้ให้ผ่านไปก่อน สถานการณ์จะเป็นตัวชี้ชัดต่อไปเองว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต เราต้องคาดหวังแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่ทำได้ ทำสำเร็จ อย่าไปคิดว่าจะต้องทำโน่นทำนี่ให้สมาธิเสีย วันหน้า ก็อยู่ที่ประชาชน เรื่องโพลก็ขอบคุณผู้สนับสนุน ส่วนผู้ไม่สนับสนุนผมก็ขอบคุณเช่นกัน โดยจะรับฟังความคิดเห็นทั้งสองทาง” พล.อ. ประยุทธ์กล่าว
จะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์มีน้ำเสียงที่แบ่งรับแบ่งสู้มากขึ้น ไม่ได้ปฏิเสธหนักแน่นแบบตอนแรกๆ แล้ว
ในวันที่ไป ครม.สัญจรที่โคราช พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาได้คนไม่ดีมาตลอด เพราะคนดีไม่ได้ไปเลือก ส่วนจะเลือกใครก็ไปเรื่องของประชาชน อย่าเลือกคนผิดอีก ทุกอย่างเป็นเรื่องชะตากรรมของบ้านเมือง และส่วนตัวก็ต้องรับชะตากรรมอยู่แล้ว ในเมื่อได้เข้ามาอยู่ตรงนี้แล้ว แต่ความหมายของการเลือกตั้ง คือจะต้องได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล
พล.อ.ประยุทธ์ยังได้สอบถามประชาชนว่าจะเลือกใครเข้ามาเป็นรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีประชาชนตอบว่า “จะเลือก พล.อ.ประยุทธ์” จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้จะเข้าไปได้อย่างไร เพราะทุกอย่างเป็นเรื่องชะตากรรมของบ้านเมือง และถึงอย่างไรผมก็ต้องรับชะตากรรมอยู่แล้ว ในเมื่อได้ก้าวเข้ามาอยู่ตรงนี้ แต่ความหมายของการเลือกตั้ง คือจะต้องได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล
ชัดแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปฏิเสธอีกแล้ว แค่ออกตัวว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรเท่านั้น เมื่อมาดูเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญ2560วางไว้ก็ฟันธงไปได้เลยว่า คนที่มีโอกาสมากที่สุดของนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คนเดิมนี่แหละ
เงื่อนไขเดียวที่พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้เป็นก็คือ พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งมาถล่มทลายเกิน375ที่นั่งมากกว่าครึ่งของจำนวนส.ส.และส.ว.รวมกัน หรือพรรคเพื่อไทยรวบรวมเสียงส.ส.จากทุกพรรคได้เกิน375เสียง ซึ่งโอกาสที่จะเป็นไปได้น้อยมาก หรืออีกทางก็คือพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ต้องจับมือกันซึ่งจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลยในทางปฏิบัติ แม้จะเป็นไปได้ในทางทฤษฎีก็ตาม
แต่แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะระบุไว้ในช็อตแรกว่า ให้ส.ส.และส.ว.2สภาเลือกจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอก่อน คือรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคเสนออย่างน้อย3รายชื่อ แต่เชื่อเถอะว่า หากไม่มีรายชื่อ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในรายชื่อพรรคการเมืองตั้งแต่แรกก็ยากที่จะมีคนได้รับเลือก
แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์เลือกช่องทางนี้คือยอมให้เสนอชื่อตัวเองก็จะเป็นช่องทางที่สง่างามด้วย เพราะเอาไปพูดได้เต็มปากว่าเป็นนายกฯจากการเลือกตั้งไม่ใช่นายกฯ คนกลาง ก็มีเงื่อนไขอยู่ดีว่า ต้องได้เสียงส.ส.250คนขึ้นไปมาสนับสนุนอยู่ดี แม้จะมีเสียง ส.ว.อยู่250เสียงแล้วก็ตาม เพราะถ้ามีเสียงส.ส.ไม่ถึงครึ่งแม้จะรวมกับ ส.ว.250คนเลือกนายกฯได้ต้องการเสียงส.ส.เพียง126ก็เกินครึ่งหนึ่งของสองสภาแล้วก็จริง แต่ถ้าไม่ได้เสียง ส.ส.เกิน251เสียงสนับสนุนรัฐบาลก็ทำงานไม่ได้อยู่ดี
แต่ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ไม่อยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอตั้งแต่ต้น และส.ส.และส.ว.ไม่สามารถเลือกนายกฯจากรายชื่อได้ก็จะมีขั้นตอนที่ยุ่งยากตามมากว่าจะได้นายกรัฐมนตรีคนกลาง เพราะขั้นแรกต้องให้ ส.ส.และส.ว. จำนวนกึ่งหนึ่งคือเกิน375คนเห็นว่าให้งดเว้นเลือกนายกฯจากรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอ จากนั้นให้มีประชุมร่วมสองสภาให้ได้เสียง2ใน3เสียงคือ500เสียงขึ้นไปเพื่อให้ยกเว้นเลือกนายกฯจากคนนอกได้ ซึ่งดูแล้วไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
เพราะแม้จะมีเสียงส.ว.อยู่ในมือแล้ว จะผ่านด่านที่สองคือเสียง2ใน3ของสองสภาได้ต้องมีส.ส.ไม่น้อยกว่า250คนอยู่ดี ดังนั้นจะเห็นว่า ไม่ว่าจะเลือกมาจากเส้นทางไหนถ้าหากฝ่ายพรรคเพื่อไทยสามารถรวบรวม ส.ส.ได้เกิน250คนการเมืองก็จะมาถึงทางตันทันที แบบที่เลือกนายกฯจากรายชื่อที่พรรคเสนอ ต้องการเสียงสองสภาแค่ 375เสียงก็จริง แต่ถ้ามีเสียงส.ส.ไม่ถึงครึ่งคือเกิน250เสียงหากได้เป็นรัฐบาลก็บริหารไม่ได้
ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งหน้ามีโจทย์สำคัญต้องทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งไม่ถึงครึ่ง เพราะถ้าพรรคเพื่อไทยได้เกิน250เสียงก็ไปสู่การขอมตินายกฯค นนอก2ใน3ไม่ได้ อำนาจการต่อรองจะอยู่ในพรรคเพื่อไทยทันที
แต่จากกลไกที่ คสช.วางไว้ด้วย พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติที่สร้างซุปเปอร์บอร์ดให้มีที่มาจากกองทัพและกลุ่มทุนซึ่งจะเป็นฝ่ายกำหนดทิศทางของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์20ปีและบังคับให้รัฐบาลต้องเดินตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แม้จะให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง แต่บอกได้เลยว่า ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ใช่คนที่กองทัพวางใจก็เดินกันไปได้ยาก
ถึงตอนนี้ถ้าใจอยากเป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้ง ผมเชื่อว่า เส้นทางที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ง่ายที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็คือ การลิขิตตัวเองให้ไปอยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอตั้งแต่ต้นซึ่งจะง่ายกว่าการลุ้นเป็นนายกฯคนกลาง